Covid เป็นเหตุสังเกตได้ บ้านหลายหลังมีความเขียวขจี เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์มากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการใช้เวลาว่างในช่วงกักตัวหรือ Work frome home ทำให้มีเวลาดูแลบ้าน ดูแลสวน นับเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนเวลาว่างให้กลายเป็นพื้นที่สวย ๆ ซึ่งการจัดสวนมีหลากหลายสไตล์ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบและความเหมาะสมกับสไตล์บ้านเป็นหลัก
สำหรับใครที่ชื่นชอบสวน ZEN แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน SCG Home Expert มีเคล็ดลับวิชาจัดสวนญี่ปุ่นมาฝากกัน รับรองว่าทำตามได้ไม่ยาก สามารถนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องตลาดเมืองไทยมาประยุกต์ใช้ได้ แม้แต่คนที่ไม่เคยลงมือจับจอบจับเสียมก็สามารถเนรมิตสวน ZEN ให้เหมือนอยู่ญี่ปุ่นได้ในพริบตาครับ
ออกแบบโดย : Kenzo Makino
สวนสไตล์ญี่ปุ่นหรือสวน Zen หน้าตาเป็นแบบไหน และมีเอกลักษณ์อย่างไร?
สวนแต่ละสไตล์มีหลักการจัดที่แตกต่างกันไปครับ สำหรับการจัดสวนสไตล์ญี่ปุ่น (Japanese Garden) มีจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ คือ เป็นการจัดสวนที่ได้รับอิทธิพลจากวัด ที่ผนวกเอาความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณของนิกายเซนเข้ามารวมกับธรรมชาติ การจัดสวนถือเป็นหนึ่งในการฝึกปฏิบัติให้เคารพในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ โดยมีลักษณะการจำลองบรรยากาศให้เหมือนจริง และใช้ของตกแต่งแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นตัวแทนของดิน ภูเขา ลำธาร ทำให้สวนญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์และลุ่มลึกไปด้วยปรัชญาแฝงที่ต้องใช้จินตนาการและคิดตาม
การจัดสวนแบบญี่ปุ่นมีหลายแบบ เช่น Tsukiyama (สวนเนินเขา), Karesansui (สวนเซน), และ Chaniwa (สวนน้ำชา) สำหรับแบบที่มีคนรู้จักมากที่สุดและนิยมในบ้านเรา เป็นสวนแบบพื้นที่แห้ง (Dry Landscape Garden (Karesansui) ไม่ต้องใช้พืชและน้ำ มีลักษณะเป็นสวน แบบ Minimalism เพียงนำวัสดุธรรมชาติไม่กี่อย่างมาจัดวางด้วยกันอย่างเป็นจังหวะ ตัดสิ่งฟุ่มเฟือยออก แต่ทุกอย่างล้วนมีความหมายทั้งสิ้นครับ
การตกแต่งสวนสไตล์ญี่ปุ่น ทำได้จริง ทำตามได้ไม่ยาก
1. ปูทางเดินด้วยกรวด ตกแต่งด้วยก้อนหิน
สวน ZEN มักใช้กรวดเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำ มหาสมุทร หากเป็นทรายสีขาวแสดงออกถึงเมฆ เริ่มจัดสวนด้วยการโรยหินหรือทรายตามทางเดิน เป็นเส้นกระแสน้ำที่ลื่นไหล แล้วใช้คราดหรือไม้วาดลวดลายเป็นวง ๆ ให้มองเห็นเป็นภาพลวงตาของผิวน้ำที่กระเพื่อมเป็นวงขยายออกลักษณะเหมือนคลื่น กรวดหรือทรายที่ใช้สามารถเลือกสีและขนาดได้ตามชอบ จะเป็นสีขาว สีดำ ใช้หินกรวดแม่น้ำ หินแกลบก็ได้ แต่ควรเลือกชนิดหินที่ผิวเรียบไม่มีคม เป็นก้อนเล็ก ๆ ที่ขนาดเท่า ๆ กัน เพื่อให้การวาดลวดลายทำได้ง่าย และเดินสบายไม่เจ็บเท้า หากมีงบประมาณแนะนำใช้หินกรวดแม่น้ำ สีขาว เบอร์ 3 ราคาประมาณ 70บาท/ 1 กิโลกรัม
เคล็ดลับก่อนโรยหินบนพื้น ในกรณีที่พื้นไม่เสมอกันให้ลงทรายแล้วปรับพื้นให้เท่ากัน จากนั้นรองด้วยพลาสติกที่มีรูขนาดเล็กหรือตาข่ายพลาสติกก่อน เพื่อไม่ให้หินแกลบจมลงไปกับพื้นดิน เวลาฝนตกจะระบายน้ำได้เร็ว และต้องโรยให้มีความหนาพอสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้หินกระจายตัวจนมองเห็นพลาสติกด้านล่าง
หลังจากโรยกรวดเต็มพื้นที่ที่ต้องการแล้ว นำก้อนหินที่รูปร่างสูงต่ำต่างกันมาวางเป็นระยะ เป็นการจำลองธรรมชาติให้ดูเหมือนธารน้ำที่ไหลเรื่อย ๆ ลัดเลาะแก่งเกาะ บางจุดใช้ก้อนหินที่สูงมากขึ้นกว่าก้อนอื่น ๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนภูเขาที่โดดเด่นกลางธรรมชาติ
2. เขียวชะอุ่มด้วยพืชโตช้า
ตามปกติสวนญี่ปุ่นแบบแห้ง จะเน้นพื้นทรายเป็นบริเวณกว้างและตกแต่งด้วยก้อนหินเป็นจุด ๆ แล้วเลือกตำแหน่ง Highlight ของสวน โดยปลูกต้นไม้ขนาดกลางรูปทรงสวยเพียงต้นหรือสองต้นเท่านั้น โดยแบ่งพื้นที่เอาไว้สำหรับทำเป็นเนินดินเตี้ย ๆ ข้างทางเดินกรวด ปลูกพืชสีเขียวที่โตช้าทั้ง 2 ฝั่งให้ไล่ระดับความสูงกัน เพื่อให้เห็นมิติจากความต่างระดับ
พืชที่ใช้คลุมดินและหิน ได้แก่ มอส หนวดปลาดุก ต้นที่สูงขึ้นมาอีกระดับใช้ต้นไม้ทรงพุ่มเตี้ย เช่น เฟิร์น ต้นหนวดปลาหมึก โกศล เป็นต้น ส่วนระดับสูงที่สุดควรเลือกต้นไม้ที่จัดรูปทรงได้สวย ซึ่งจะมีผลต่อภูมิทัศน์ของสวน ส่วนต้นที่นิยมใช้ อาทิ ต้นชาฮกเกี้ยนหรือชาดัด ต้นไทรเกาหลีตัดทรงมน สนใบพาย มีไม้ดอกแทรกแซมได้บ้างเพื่อความสดใส อย่างเช่น พุดศุภโชคและดอกเข็มที่หาได้ง่ายมากในบ้านเรา
3. จัดสวนน้ำเล็ก ๆ ด้วยอ่างน้ำหินและกระบอกไม้ไผ่
แม้ชื่อจะบ่งบอกว่าเป็นสวนแห้งหรือสวนหินตามวิถีของเซน แต่การจัดสวนที่ไม่มีน้ำก็ทำให้ภาพรวมดูแห้งแล้งเกินไป บางมุมสามารถประยุกต์หยิบยืมการจัดสวนแบบอื่น ๆ มาปรับใช้ ใส่ธาตุน้ำและพืชน้ำเข้าไปเพิ่มความชุ่มฉ่ำได้โดยไม่ต้องลงแรงขุดสระ เพียงเลือกมุมที่ชอบจัดวางอ่างน้ำหินและรางน้ำไม้ไผ่ บริเวณรอบ ๆ วางหินก้อนขนาดกลางและแทรกด้วยไม้พุ่มเล็ก เสียงของสายน้ำที่ผ่านกระบอกไม้ไผ่ลงมากระทบอ่างหินช่วยสร้างสมาธิและความรู้สึกสงบเย็น ซึ่งอ่างหินและรางไม้ไผ่หาได้ไม่ยากครับ สามารถซื้อได้ตามร้านจำหน่ายของตกแต่งสวนสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งราคามีให้เลือกตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่นกันเลย
4.ไม้ไผ่ ราคาถูก แต่สื่อสารความเป็นญี่ปุ่นได้ชัดเจน
วัสดุตกแต่งสวนที่บ่งบอกถึงความเป็นเอเชียและญี่ปุ่นได้ดีโดยแทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่มคือ ไม้ไผ่ อาจใช้เฉพาะลำไผ่เปล่า ๆ ลิดใบออกแล้วนำมาใช้เป็นฉากหลัง ประตูทางเข้า งานรั้ว หรือปลูกเป็นแนวไผ่ริมกำแพง ส่วนสายพันธุ์ไผ่ที่ใช้ เช่น ต้นไผ่มังกรทอง ต้นไผ่หยก ไผ่เลี้ยง ไผ่หลอด ไผ่เพ็ก เลือกรูปใบเรียวเล็ก ทรงพุ่มไม่เกิน 1.50 เมตร ใบไม่คัน กอแน่นแต่ตัดแต่งง่าย และปลูกไว้ในจุดที่กวาดใบร่วงง่าย ๆ อย่างบริเวณชิดแนวกำแพงสวน นอกจากดูแลง่ายแล้วยังช่วยบดบังกำแพงบ้านที่ดูไม่เข้ากับสวนด้วย ราคาไผ่ประดับต่อกิ่งจะต่างกันไป เช่น ไผ่ปักกิ่ง ราคากิ่งละ 130 บาท ไผ่ดำ 150 บาท ไผ่สีทอง 150 บาท ไผ่จีน 70 บาท เป็นต้น
จัดสวนโดย : คุณเปรมฤดี ชีวะโกเศรษฐ
5. สร้างจุดเด่นให้กับสวนด้วยสะพานไม้ทรงโค้ง
ถ้าใครพอจำภาพยนตร์เรื่อง Memory Of Geisha ได้ จะเห็นฉากหนึ่งในสวนญี่ปุ่นที่มีบ่อปลาคาร์พขนาดใหญ่และมีสะพานโค้งเหนือสระน้ำ พื้นที่สาธารณะและบ้านญี่ปุ่นเก่าแก่มักจัดสวนน้ำชาแบบนี้ไว้ มีสะพานให้ข้ามไปอีกฝั่งของสวนได้ง่าย ๆ และหยุดยืนชื่นชมปลาสวยงามได้อย่างใกล้ชิด แต่สวนในบ้านที่มีแต่กรวด ไม่มีสระน้ำ ก็สามารถวางสะพานไม้จำลองเล็ก ๆ ในลานกรวดได้เช่นกัน ซึ่งสะพานไม้แบบนี้ไม่จำเป็นต้องทำเองให้ยุ่งยาก เพราะมีจำหน่ายในร้านขายของตกแต่งสวน ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 2,500 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้และขนาดของสะพานครับ
6. ใส่ตะเกียงหินเข้าไป เติมบรรยากาศความเป็นญี่ปุ่น
ตะเกียงหินเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสวนสไตล์ญี่ปุ่น ให้มองหามุมเล็ก ๆ สัก 1 มุม (ญี่ปุ่นเรียกว่าทสึโบะนิวะ) จัดองค์ประกอบด้วยการวางหินสลับกับต้นไม้ในระดับสายตา แล้ววางตะเกียงหินลงไปแล้วพรางด้วยต้นไม้ให้บดบังตะเกรียงเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและกลมกลืนไปกับสวน และเมื่อจุดไฟในตะเกียงบรรยากาศยามค่ำคืนจะยิ่งงดงามและชวนมองยิ่งขึ้น
7. ปูพื้นทางเดินด้วยวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุทดแทนอารมณ์ธรรมชาติ
ออกแบบโดย : Kenzo Makino
พื้นสวนที่โรยด้วยกรวด นอกจากเพื่อใช้ตกแต่งแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นทางเดินไปในตัวด้วย แต่อาจมีบางจุดที่จำเป็นต้องปูด้วยพื้นทางเดิน เพื่อเชื่อมการก้าวเดินจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งให้ต่อเนื่องและสะดวก ควรเลือกวัสดุธรรมชาติให้เข้ากับภาพรวม เช่น แผ่นหิน ไม้หมอน ซึ่งวัสดุเหล่านี้มีข้อจำกัดในเรื่องความทนทานต่อสภาพอากาศ ความลื่นในช่วงหน้าฝน และอาจชำรุด ผุพังไปตามกาลเวลา สามารถแก้ได้โดยการเปลี่ยนมาใช้วัสดุทดแทนที่ให้อารมณ์เหมือนธรรมชาติ อย่างเช่น กระเบื้องปูพื้นรุ่นใหม่ ๆ ที่ถอดลวดลายของธรรมชาติมาสร้างสรรค์ลงบนผิวหน้ากระเบื้อง ซึ่งมีหลายแบบ หลายสไตล์ให้เลือก อาทิเช่น
- กระเบื้องลายหินธรรมชาติ (Stone Series)
มีร่องลายและผิวขรุขระเสมือนหินธรรมชาติ สามารถรับน้ำหนักได้สูงและป้องกันการลื่นไถลได้ มีให้เลือกหลายแบบให้เข้ากับสวนสไตล์ญี่ปุ่น อย่างเช่น กระเบื้องลายหินอ่อนโทนเทา ลายหินอ่อนสีดำที่ผสานโทนสีเข้มอ่อนภายในแผ่น ลายหินแกรนิตสีเทา และลายหินโทนสีน้ำตาลส้ม เป็นต้น
- กระเบื้องลายไม้ (Wood Series)
ถอดรหัสลวดลายจากความงดงามของเนื้อไม้ โดยการออกแบบที่มีลักษณะเหมือนไม้เซาะร่องและร่องลายบนพื้นกระเบื้องที่เหมือนเนื้อไม้ เมื่อนำมาตกแต่งแล้วมีความสวยงามให้อารมณ์เหมือนธรรมชาติ แต่มีความแข็งแรง ทนทานต่อทุกสภาวะอากาศ เนื่องจากวัสดุทำมาจากกระเบื้องซีเมนต์นั่นเอง ซึ่งนอกจากนำมาใช้เป็นแผ่นปูทางเดินในสวนสไตล์ญี่ปุ่นแล้ว ยังสามารถใช้ปูพื้นบริเวณลานพักผ่อนหน้าบ้าน ทางเดินรอบบ้าน ก็นับเป็นอีกไอเดียที่น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ
เห็นไหมครับว่า การจัดสวนแบบญี่ปุ่นนั้นไม่ยากเลย ด้วยความเรียบง่ายมีองค์ประกอบไม่เยอะ ทำให้สามารถใช้เวลาค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ตกแต่งไปทีละน้อย เผลอแป๊บเดียวก็ได้สวนสวยสมใจ สำหรับผู้อ่านที่สนใจวัสดุปูพื้นนอกบ้าน เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับทางเดิน สามารถคลิกชมข้อมูลได้ที่
https://bit.ly/2T38GuO
จัดสวนสไตล์ Zen ทำตามได้จริง เหมือนยกญี่ปุ่นมาไว้ที่บ้าน
สำหรับใครที่ชื่นชอบสวน ZEN แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน SCG Home Expert มีเคล็ดลับวิชาจัดสวนญี่ปุ่นมาฝากกัน รับรองว่าทำตามได้ไม่ยาก สามารถนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องตลาดเมืองไทยมาประยุกต์ใช้ได้ แม้แต่คนที่ไม่เคยลงมือจับจอบจับเสียมก็สามารถเนรมิตสวน ZEN ให้เหมือนอยู่ญี่ปุ่นได้ในพริบตาครับ