สุวรรณภูมิคือ เคดาห์โบราณ

คำนำ
1.  สุวรรณภูมิ คือเมืองเคดาห์โบราณ  ไม่ใช่ดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
       คำว่า “สุวรรณภูมิ”ควรจะสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า Suvarnabhumไม่ควรต่อท้ายด้วยสระ i ตามที่ชาวต่างชาติบัญญัติคำศัพท์นี้ขึ้นมาจากคัมภีร์ชาดกภาษาบาลี-สันสกฤตของอินเดียแต่โบราณ เนื่องจากมิได้ออกเสียงว่า mi หลังคำศัพท์นี้คำว่า สุวรรณภูมิ มิได้มีอยู่จริงในความหมายของดินแดนในภาคกลางหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นการอุปโลกน์กันไปเองของนักประวัติศาสตร์ของไทยเราด้วยความเข้าใจผิด  และมีการสั่งสอนให้คนไทยเชื่อว่าคือดินแดนในที่ราบภาคกลางหรือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว  คำว่า สุวรรณภูมิ ตามคัมภีร์ชาดกโบราณของทางอินเดียและศรีลังกานั้นเป็นการเรียกชื่อเมืองท่าเคดาห์โบราณ  เท่านั้น  เพราะตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลนั้น  มีการขนถ่ายทองคำซึ่งเป็นสินแร่อันล้ำค่า  ที่ถลุงได้จากบริเวณคาบสมุทรมลายู   จากนั้นจึงจะนำทองคำมาขึ้นที่ท่าเรือเมืองนี้เพื่อขนส่งต่อกลับไปยังอินเดียหรือศรีลังกา  คำว่า สุวรรณภูมินี้  จึงมิได้มีความหมายถึงดินแดนตามรูปศัพท์แต่อย่างใด  สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการตีความหมายของคำนี้ผิดไป  เพราะนักประวัติศาสตร์เอาคำนี้ไปโยงกันกับคำในภาษาจีนที่ว่า กิมหลิน หรือจินหลิน(Chin-lin)  ทั้งที่ความหมายของคำ กิมหลิน หรือจินหลินนี้ ก็มิได้แปลว่าดินแดนทองหรือสุวรรณภูมิ  แต่มีความหมายว่า ขอบเขต หรืออาณาเขต หรือ พรมแดนทอง(Frontier of Gold)ซึ่งจากการค้นคว้าพบว่าคือเมืองเวียงสระโบราณในจ.สุราษฎร์ธานี
  สาเหตุเหล่านี้ล้วนเป็นความผิดพลาดของการตีความที่เป็นมาในอดีตนับตั้งแต่มีการศึกษาถึงคำๆนี้  และยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้เช่นกัน  สมควรจะได้รับการแก้ไขและทำความเข้าใจกันเสียใหม่เพื่อให้เกิดความกระจ่าง  การศึกษาประวัติศาสตร์ยุคโบราณของไทยเราจึงจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้โดยสอดคล้องกับเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง

2.  อู่ทองมิใช่ศูนย์กลางของอาณาจักรสุวรรณภูมิ
     ในปีพ.ศ. 2507  ทางกรมศิลปากรได้เชิญศาสตราจารย์  ชอง  บัวเซลิเยร์ (Prof. Jean Bosselier) แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์  ประเทศฝรั่งเศส  มาช่วยสำรวจโบราณวัตถุสถานในประเทศไทย  การสำรวจดำเนินไปปีละ 4 เดือน  เป็นเวลา 3 ปี  คือในพ.ศ. 2507, 2508  และ2509  ผลการสำรวจขุดค้นมีหลายข้อ  แต่มีอยู่ข้อความหนึ่งที่เป็นข้อสรุปในหนังสือ  “สุวัณณภูมิ” , ธนิต  อยู่โพธิ์  ในหน้า  60 ว่า
    “ ท่านศาสตราจารย์  ชอง  บัวเซลิเยร์ระบุถึงราชธานีของสุวัณณภูมิไว้ว่า  เท่าที่ทราบจากหลักฐานต่างๆกันทางด้านประวัติศาสตร์  ข้าพเจ้าคิดว่าเมืองอู่ทองคงเป็นเมืองสุพรรณบุรีเมืองแรก  คือเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิ  และเขตแดนทางด้านตะวันตกของอาณาจักรนี้ (คือทางทิศตะวันตกของอาณาจักรฟูนัน)  ก็ตรงกับ“เขตทอง” หรือ “จินหลิน” (Chin-lin)  ของนักประวัติศาสตร์จีนนั่นเอง  และท่านศาสตราจารย์ผู้นี้ให้ข้อสันนิษฐานว่า ในครั้งนั้นเมืองอู่ทองเป็นเมืองสำคัญทางการเมืองและการปกครอง   แต่นครปฐมเป็นเมืองสำคัญในทางศาสนา”
  ประโยคนี้ทำให้เกิดการสรุปและยอมรับอย่างกว้างขวางว่า  สุวรรณภูมิเป็นดินแดนในที่ราบภาคกลางหรือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  โดยมีศูนย์กลางที่เมืองอู่ทองซึ่งสรุปว่าเป็นราชธานีของอาณาจักรสุวรรณภูมิ และตรงกับคำในภาษาจีนว่า “จินหลิน”  ข้อความนี้มีการยอมรับและนำเสนอกันในหนังสืออื่นๆอีกหลายๆเล่ม  จากนักประวัติศาสตร์ของไทยที่ศึกษาเรื่องนี้กันในสมัยนั้น  ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงนั้น  คำว่า “จินหลิน”แปลว่า  เขตทองหรืออาณาเขตทอง (Frontier of  Gold)  มิได้แปลว่าดินแดนทอง หรือ สุวรรณภูมิ แต่อย่างใด    ท่านผู้รู้ให้ข้อมูลมาว่า  คำว่าดินแดนทองจะตรงกับคำในภาษาจีนว่า  “จินเจียง”  แต่คำว่าจินเจียงนี้มิได้มีปรากฏในบันทึกใดๆของจีน  แต่จีนกลับบันทึกเรียกชื่อแคว้นหนึ่งในทักษิณรัฐของไทยว่า  จินหลิน  ซึ่งชาวจีนรู้จักคุ้นเคยและเข้ามาติดต่อค้าขายด้วยนับตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 8   ดังปรากฏอยู่ในบันทึกของราชทูตจีน “คังไถ”ซึ่งเข้ามาเยือนอาณาจักรฟูนันในระหว่างพ.ศ. 788-793   บันทึกกล่าวว่า      จินหลินเป็นแหล่งแร่เงินอันเป็นทรัพยากรสำคัญ   ชาวเมืองยังมีอาชีพจับคล้องช้างที่มีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของชาวจินหลิน  ถ้าได้ช้างเป็นก็นำมาขี่  เมื่อช้างตายก็ถอดเอางา”   ประโยคเหล่านี้นั้น  ระบุไว้โดย   ศ. พอล  วีทลีย์ในหนังสือThe Golden Khersonese  ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่วางตำแหน่งของจินหลินไว้ที่ปากอ่าวสยาม  (Bangkok Bight) แต่ก็ยอมรับว่าในลุ่มน้ำสยามนี้ไม่ใช่แหล่งแร่เงินแต่กลับไปนำเสนอว่า  แร่เงินคงนำล่องลงมาขายจากรัฐฉาน (ประเทศเมียนมา)   ผ่านดินแดนล้านนาลงมาสู่เมืองท่าในอ่าวสยาม??
 ข้อมูลที่ถูกนำเสนอดังกล่าวข้างต้นนั้น ทั้งข้อสรุปของศ.บัวเซลิเยร์และศ. วีทลีย์  นับว่าเป็นข้อผิดพลาดและขัดแย้งกับบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแคว้น จินหลิน  และเป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปทำให้มีการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า  จินหลินคือดินแดนทองหรือสุวรรณภูมิ  และอยู่ในที่ราบภาคกลางของไทย  ในข้อเท็จจริงนั้นจินหลินจะต้องมีบ่อแร่เงินอันเป็นทรัพยากรที่ติดอยู่ในพื้นที่  ดังนั้นลุ่มเจ้าพระยาในภาคกลางจะเป็นจินหลินไปไม่ได้   และเช่นเดียวกัน  สุวรรณภูมิจะต้องสัมพันธ์กับการค้นพบทองคำหรือเกี่ยวเนื่องกันกับแหล่งแร่ทองคำ   คำว่าสุวรรณภูมิจึงไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างใดกับที่ราบภาคกลางหรือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา   เพราะเป็นการโยงคำกันไปเองของนักประวัติศาสตร์ดังที่ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
    หลักฐานเรื่องเมืองสุวรรณปุระ(สุวรรณภูมิ) จากทางศรีลังกา
 ตำนานสุวรรณปุรวงศ์ ซึ่งภิกษุศรีลังกาจดไว้มีว่า จักรวรรดิสุวรรณปุระตั้งขึ้นโดยเจ้าชายสุมิตรแห่งเมารยวงศ์ ได้เสด็จตามพระนางสังฆมิตตาเถรีพระมารดาผู้เป็นธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช(พ.ศ. 270-311)ในสมัยนั้นพระนางสังฆมิตตาเถรีได้นำกิ่งศรีมหาโพธิ์มาสู่ศรีลังกา   และภายหลังเจ้าชายสุมิตรได้นำกิ่งศรีมหาโพธิ์ไปประดิษฐานไว้ที่ กรุงสุวรรณปุระ (คือเมืองสุวรรณภูมิในรัฐเคดาห์)และได้เป็นปฐมกษัตริย์ของเมารยวงศ์ (คือราชวงศ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช)  ครองราชย์อยู่ ณ เมืองสุวรรณภูมิ(ยังมีบันทึกอยู่ในคัมภีร์มหาโพธิวงศ์ด้วย)ในบันทึกของทางศรีลังกาในคัมภีร์ชาดกชื่อ “สิงหลวัตถุปกรณ์” ในสมัยของพระเจ้าสัทธาติสสะ พ.ศ. 406-424 มีชาดกเรื่องของ มหาเทวะ ผู้ซึ่งจะมานำเอาทองคำจำนวนมากจาก  สุวรรณภูมิ ไปสร้างพระสถูปทองคำถวายแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า  และอีกเรื่องกล่าวถึงการมานำเอาทองคำจากสุวรรณภูมิของช่างทองที่ชื่อ กุนตะ เพื่อนำไปชดใช้คืนแก่พระราชา  ดังนั้นบริเวณที่มานำเอาทองคำควรเป็นท่าเรือที่เมืองเคดาห์และจะต้องใช้เส้นทางลำเลียงทองคำ (trans peninsular  route) มาจากทางฝั่งอ่าวไทยบริเวณเหมืองทองคำที่นราธิวาส,กลันตัน,ไปจนจดรัฐปาหังในประเทศมาเลเซีย 
  บันทึกเรื่องของเมืองสุวรรณภูมิ (Fu-kan-tu-lu) ตามจดหมายเหตุจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นพงศาวดารจีน เฉียนฮั่นชู (Chien Han Shu) ระบุว่าในพ.ศ.544-548 มีการเดินทางของหัวหน้าล่ามจากกรมขันที (The Department of Eunuchs)  นำคณะทูตเดินทางไปยังประเทศอินเดีย (จีนเรียกฮวงจื้อ) ผ่านคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยไปตามหาสิ่งของหายาก อาทิ เครื่องแก้ว, อัญมณี ฯลฯ เพื่อแลกกับทองคำและผ้าไหมของจีน บันทึกกล่าวว่าบรรดาเมืองที่คณะของกรมขันทีแวะพักล้วนส่งบรรณาการไปจีนแล้วตั้งแต่สมัยจักรพรรดิ วู (Wu) ซึ่งครองราชย์ในช่วงปีพ.ศ. 402-456   Harrison ระบุว่า กองเรือจีนถูกส่งมายังทะเลใต้แล้ว ในช่วงพ.ศ.427-433 (Brian Harrison,1967 : 10)  บันทึกการเดินทางของคณะทูตกรมขันทีกล่าวว่าเดินทางเรือจาก จิหนาน, ซูเวิน, และฮูโป(อยู่ในจีนทั้งหมด) ในระยะ 5 เดือนมายังตู้หยวน (Tu-yuan, เวียดนาม) และอีก 4 เดือนมายัง อี้หลูม้อ (I-lu-mo, หรือ จูโหล่วมี่ คือจามปาตามชื่อ จุฬนีพรหมทัตในตำนานพระธาตุพนม)  แล่นใบไปอีกราว 21 วัน ถึงประเทศ เฉินหลี (Shen-li)  เดินเท้าข้ามคาบสมุทรอีกกว่า 10 วัน มีประเทศ ฟูกานตูลู (Fu-kan-tu-lu)    และต่อเรือไปอีก 2 เดือนเศษถึง ฮวงจื้อ(อินเดีย) 
ข้อมูลเหล่านี้มาจาก  พอล วีทลีย์ ในหนังสือ The Golden Khersonese, p.8-9 ซึ่งศ.วีทลีย์ให้ทัศนะว่า คณะทูตเดินทางบกจากบริเวณอ่าวไทย (ตามแผนที่ในหนังสือThe Golden Khersonese) ข้ามไปยังอ่าวเมาะตะมะ แล้วจึงเดินเรืออีก 2 เดือนไปอินเดีย ......ความเห็นนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะการเดินทางบกข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเป็นความคิดเห็นของศ.วีทลีย์ เท่านั้น   และนักประวัติศาสตร์ของไทยเราก็เห็นคล้อยตามนี้   แต่ในความเป็นจริงบริเวณนี้ในสมัยนั้นไม่มีเมืองท่าเรือใดๆอยู่เลย   การจะเดินทางข้ามคาบสมุทรจะต้องมีท่าเรืออยู่ทั้งสองฝั่ง   หนังสือ ทาริค  ปัตตานี (Tarikh Petani) หรือประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีกล่าวไว้ว่า ลังกาสุกะ(ยะรัง,ปัตตานี)  กำเนิดตั้งแต่ก่อนสมัยคริสตกาล  ดังนั้นที่ควรเป็นไปได้คือ คณะทูตมาขึ้นที่ท่าเรือเมืองลังกาสุกะ(เฉินหลีคือเมืองยะรัง)   แล้วเดินบกข้ามคาบสมุทรมลายูไปยังเมืองสุวรรณภูมิ(จีนเรียกฟูกานตูลู) หรือ   ซึ่งมีมาก่อนแล้วและมีบันทึกในตำนาน สุวรรณปุรวงศ์ของทางศรีลังกา  ประพันธ์ขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ามหาเสนะ (พ.ศ.819-846) เรียกสุวรรณภูมิในชื่อของเมืองสุวรรณปุระ   แต่การเดินทางบกนั้นต้องใช้เวลามากกว่า 10 วันอีกเป็นหลายเท่า   ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าชายสุมิตรและสุวรรณปุระก็ดูจะมีน้ำหนักสอด คล้องกับข้อเท็จจริง แต่ในสมัยนั้นคงเป็นแค่ท่าเรือเล็กๆหรือ way stationคือท่าเรือจอดพักค้าขาย และต่อมา ในราวพุทธศตวรรษที่ 7 จึงเกิดเป็นเมืองใหญ่ขึ้นทั้ง 2 ฟากฝั่งทะเล นอกจากนั้นควรสังเกตว่าชื่อเมือง ฟูกานตูลู ตามบันทึกจีนนั้น  มาจากคำ สุวรรณภูมิ นั่นเอง (ฟูกาน =สุวรรณ, ตูลู=ภูมิ) 
บทวิเคราะห์การเดินทางของคณะทูตจากกรมขันที
บันทึกในจดหมายเหตุจีนที่ส่งเรือมาค้าขายทางทะเลใต้นั้น   Brian  Harrison อ้างหลักฐานจากจดหมายเหตุจีนระบุว่า   กองเรือของจีนถูกส่งมาติดต่อค้าขายกับหมู่เกาะทะเลใต้ในช่วงพ.ศ.427-433 (Brian Harrison, 1967 : 10) ส่วนเรื่องคณะทูตจากกรมขันทีที่เดินทางไปประเทศอินเดียตกในราวปีพ.ศ.544-548  บันทึกระบุว่าชาวพื้นเมืองในประเทศทางทะเลใต้รู้จักชาวจีนกันมาตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ. 544 แล้ว  ตามบันทึกของคณะทูตบอกว่าทุกเมืองที่เดินทางไปถึง  ให้การต้อนรับรวมถึงอาหารการกินและยังอำนวยความสะดวกในการเดินทางเป็นอย่างดี  แสดงว่าพวกชาวทะเลใต้เป็นผู้เจริญแล้ว   เมืองยะรังกับเคดาห์เป็นเมืองท่าที่ควรจะอยู่ตรงนี้จริง  มิใช่ไปขึ้นบกแถวแม่กลองแล้วเดินป่าข้ามเทือกเขาตะนาวศรีไปถึงอ่าวเมาะตะมะตามแผนที่ของ ศ. วีทลีย์ ซึ่งไม่มีเมืองท่าใดๆเลย  แล้วพุทธศตวรรษที่ 7 คือต่อมาอีก 100 ปีจะเกิดมีเมืองท่าที่เติบโตขึ้นซึ่งทางแม่กลองและเมาะตะมะไม่มี  เพราะเป็นที่รกร้างไร้ผู้คนหรือผู้คนเบาบาง  เมืองที่ว่านี้ก็ควรอยู่ที่เมืองยะรัง(เตี๋ยนซุน) กับสุวรรณภูมิหรือสุวรรณปุระคือเมืองเคดาห์   นับเป็นความเห็นตามหลักฐานที่สืบค้นมาได้  ซึ่งไปขัดกับทางนักประวัติศาสตร์ของไทยเราที่ไปเชื่อตามศ. พอล วีทลีย์มาโดยตลอด เส้นทางระหว่างเคดาห์และเมืองยะรังนี้นี้  ต่อมาในสมัยที่แคว้นเตี๋ยนซุน(คือเมืองยะรัง) ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรฟูนันในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 8ตามบันทึกของทูตคังไถนั้น  ก็ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าที่เชื่อมระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย  เมืองชิวชีหรือคูหลี (เคดาห์)  ยังเป็นเมืองท่าที่ราชทูตฟูนันชื่อ ซูวู (Su-wu) มาต่อเรือเพื่อเดินทางไปเจริญไมตรีกับประเทศอินเดียในราวปีพ.ศ. 783-787 (ดูราย ละเอียดจากหนังสือ“อาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยา”,หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ  รัชนี : 19)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่