💖🌷 17 พฤษภาคม วันสากลยุติความเกลียดกลัว : อย่ามองฉันเป็น 'เหยื่อ' หยุด Social Bullying กันเถอะ

 
กฎข้อแรกของการเล่นอินเตอร์เน็ต คือ ห้ามอ่านคอมเมนต์
 
ประโยคทิ่มแทงใจใครหลายคนจากภาพยนตร์เรื่อง Wreck It Ralph ราล์ฟ วายร้ายหัวใจฮีโร่ เป็นอย่างดี 
และยังชวนสะกิดความจริงบางอย่างของสังคมออนไลน์ ที่ "บางคน" กลายเป็น "นักเลงคีย์บอร์ด" 
ล้อเลียน บดขยี้ รุมเหยียบย่ำ ด้วยคำเหยียดหยาม คำด่าทอ และเลยเถิดคุกคามความรู้สึกของคนที่ไม่ชอบได้รวดเร็ว
เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสบนแป้นพิมพ์อย่างไม่แยแส
 
ทั้ง ๆ ที่บางคนไม่เคยรู้จักกันด้วยซ้ำ เป็นคนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์
ที่อาจเป็นพฤติกรรมที่บางคน "ลืมตัว" "ไม่รู้ตัว" ว่า สิ่งที่ทำนั้น เป็น "การกลั่นแกล้งกันผ่านโลกไซเบอร์" หรือที่เรียกว่า "Cyber Bullying" 
การกลั่นแกล้ง การเหยียดหยาม ความเกลียดชังที่สร้างรอยแผลภายในจิตใจ
จนเลยเถิดถึงขนาด "ขู่ฆ่า" ที่ยากเกินเยียวยา หาก "เหยื่อ" ที่ถูก Bully ไม่เข้มแข็งพอ
 
Cyber Bullying ภัยใหม่ ที่มากับโลกออนไลน์
Cyber Bullying ภัยใหม่ ที่มากับโลกออนไลน์ กลับสร้างหายนะทางความรู้สึกให้กับ "เหยื่อ" ที่ถูก Bully (บูลลี่) ได้มหาศาล
คล้ายถูกพายุทอร์นาโดถล่มจนความรู้สึกพังจนราบคาบ
 
อย่างกรณีข่าวดังของนักร้อง "คุณไข่" สมาชิก BNK48 เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา หลายคนอาจจำได้ดี
เพราะเป็นอีกหนึ่งกระแสดังที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา และเหตุการณ์ในครั้งนี้กลายเป็นการจุดชนวนให้เกิดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ขึ้น
รวมทั้งยังเป็นกรณีศึกษาให้ในการนำเสนอที่บางครั้งอาจสร้างผลลัพธ์ที่ไม่ดีเสมอไป แถมอาจกระทบจิตใจของผู้ที่ตกเป็น "เหยื่อ" โดยที่ไม่รู้ตัว
 
หรือกรณีข่าวคู่รักชายรักชาย จัดงานแต่งงาน ท่ามกลางญาติและเพื่อนร่วมยินดี ภาพงานวิวาห์ดังกล่าวถูกแชร์ต่อในโลกออนไลน์อย่างมาก 
จนเกิดกระแสดราม่าข้ามประเทศ เมื่อชาวเน็ตอินโดนีเซียจำนวนมาก ต่างเข้ามาคอมเมนท์ในเชิง Bully (บูลลี่) เหยียดหยามและดูถูก 
เหตุการณ์เริ่มบานปลาย มีการตอบโต้ระหว่าคนไทยและคนอินโดนีเซีย และคู่รักสีม่วงยังถูกขู่ทำร้าย คุกคามครอบครัว อีกด้วย 
 
จากเคสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการ Cyber Bullying ภัยร้ายที่มีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ให้คนบนโลกออนไลน์ใช้กลั่นแกล้งคนอื่น ทุกเพศ ทุกวัย
ในเวลาอันรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา นั่นเพราะ โลกออนไลน์สามารถแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารได้เร็วมาก
ซึ่งฝ่ายที่ตกเป็น "เหยื่อ" การถูก Bully เกิดความอับอาย เกิดความบั่นทอน เกิดแผลในจิตใจ
หรือหากทนไม่ได้ อาจเป็นการจุดชนวนให้เป็นปัญหาบานปลายจนทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจนำไปสู่การ "ฆ่าตัวตาย" ก็เป็นได้
 
 
วัคซีนที่หยุด Social Bullying ภัยร้าย ได้ คือ พ่อแม่
Social Bullying เป็นภัยจากออนไลน์ที่พ่อแม่มีส่วนสำคัญ เสมือนเป็นวัคซีนขั้นพื้นฐานในการสร้างเกราะคุ้มกันให้ลูกน้อง ตั้งแต่วัยเด็ก 
เพื่อป้องกันภัยร้ายดังกล่าวได้
 
จากการค้นข้อมูล กรมสุขภาพจิต ได้ลงผลการวิจัย เรื่อง “ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้น ม.1-3” 
ซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติ 14 ประเทศทั่วโลก 
ของ นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 
โดยระบุ 4 ข้อหลักที่พ่อแม่ต้องเตรียมป้องกันภัยใกล้ตัวลูกจาก Cyber Bullying ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
 
ประการแรก - ต้องตระหนักถึงปัญหา
สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำ นั่นคือ ต้องปรับความคิดก่อนว่า การรังแกกันบนโลกออนไลน์มีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ระหว่างลูกกับเพื่อน 
และไม่ควรมองว่าเป็นเพียงแค่เรื่องเด็กทะเลาะกัน เดี๋ยวก็คืนดีกันเท่านั้น 
แต่หากลูกมาเล่าว่าถูกรังแกผ่านทางออนไลน์ พ่อแม่อย่าปล่อยผ่าน ควรหันหน้ารับฟัง และพยายามหาทางช่วยเหลือเมื่อลูกร้องขอ
  
ประการที่สอง - หาทางช่วยเหลือ
เมื่อรู้ว่าลูกมีปัญหา สิ่งที่พ่อแม่ควรทำต่อมาก็คือ สอบถามความรู้สึกของลูกว่าเป็นอย่างไร พยายามช่วยหาทางออกและแนะนำ 
เช่น ให้ลูกลองพูดกับเพื่อนตรง ๆ ว่าไม่ชอบให้ทำแบบนี้ หรือบอกเพื่อนว่า อย่ามาแกล้งกันแบบนี้เลยนะ เพราะเราไม่ชอบอย่างไร 
ถ้าลูกใช้วิธีดังกล่าวแล้วไม่สำเร็จ ค่อยใช้ตัวช่วย เช่น ขอให้คุณครูช่วยเจรจา หาต้นตอของปัญหา และช่วยแนะนำหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันได้
  
ประการที่สาม - ฝึกให้รับมือกับปัญหา 
และพ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกว่าเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร นอกจากการให้กำลังใจ ควรสร้างความเข้าใจ เพิ่มมุมมองที่ดี 
หรืออาจชี้ให้เห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ที่เราจะไปสนใจที่เพื่อนมาแกล้ง เพราะเมื่อเขาแกล้ง แล้วเราโกรธหรือมีปฏิกิริยา ก็อาจยิ่งทำให้เขาแกล้งมากยิ่งขึ้น 
แต่ถ้าในทางตรงข้าม เราไม่สนใจ เขาก็จะเลิกสนใจไปเอง หรือพ่อแม่อาจสอนให้ใช้วิธีจัดการและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 
เช่น ปิดเครื่องมือสื่อสาร ปิดแอคเค้านท์ บล็อกคนนั้นไปเลย
 
ประการสุดท้าย - พร้อมรับฟัง  
สิ่งที่สำคัญในการสร้างวัคซีนที่ดีให้ลูก ควรบอกให้ลูกรู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่พร้อมรับฟัง เวลาคับข้องใจหรือไม่พอใจ ไม่อยากรับมือเรื่องนั้น ๆ 
โดยลำพัง พ่อแม่พร้อมเพื่อลูกเสมอ การทำแบบนี้เป็นการตอกย้ำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่พร้อมจะยืนเคียงข้างเขาทุกเมื่อ
 
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว อธิบายต่อว่า ทั้งหมดนี้จะประสบผลสำเร็จได้ ต้องผ่านด่านปราการที่เข้มแข็งมาในระดับหนึ่งแล้ว 
คือพื้นฐานครอบครัวอบอุ่น มีความรักความเข้าใจกันในระดับสำคัญ จะเสมือนเป็นวัคซีนใจให้กับลูกได้เป็นอย่างดี
 
 แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันและสำคัญอย่างมาก พ่อแม่ต้องสอน ให้ลูกรู้จักเคารพตัวเองและเห็นคุณค่าในตัวเอง 
พ่อแม่ไม่ควรละเลย การทำให้ลูกเห็นคุณค่าของตัวเอง ซึ่งไม่ว่าลูกจะเป็นเพศไหน เพศหญิง เพศชาย LGBT คนรักเพศเดียวกัน หรือรักข้ามเพศ 
ลูกทุกเพศมีคุณค่าในตัวเองทั้งนั้น และพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา เท่ากับเป็นการรับมือกับปัญหาได้ทุกสถานการณ์
 
รวมทั้ง หารหยุดการเหยียดหยาม หยุดเกลียดชัง คนอื่น
พ่อแม่ควรสอนลูกด้วยว่า เมื่อไม่อยากให้ใคร Cyber Bullying รังแกเราบนโลกออนไลน์ ก็ไม่ควรจะไปรังแกใครเช่นกัน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม 
เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่า เมื่อไม่ต้องการให้ใครทำกับเราอย่างไร เราก็อย่ามีพฤติกรรมนั้น ๆ กับคนอื่นเช่นกัน
 
อย่างไรก็ตาม อย่าให้ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่รู้ตัว มาสร้างรอยแผลในจิตใจของผู้อื่น 
เพราะเมื่อใครคนนั้นถูก Bully แล้ว รอยแผลเป็นยากที่จะลบออกจากใจและไม่มีวันลืมไปได้ง่าย ๆ เพียงแค่คำขอโทษ 
และมันอาจกลายเป็นรอยแผลที่พร้อมจะสร้างความเจ็บปวดได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา 
เมื่อเขา หรือเธอ เหล่านั้น ตกเป็น "เหยื่อ" Cyber Bullying ซ้ำซากอีกครั้ง
 
มาร่วมเริ่มต้น หยุด Social Bullying โดยใช้วันที่ 17 พฤษภาคม วันสากลเพื่อยุติความเกลียดกลัว คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ
และคนรักสองเพศ (International Day against Homophobia, Transphobia and Biphobia) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ วัน “IDAHOT”
เป็นวันหนึ่งที่เป็นการสะท้อนสถานการณ์ความรุนแรง การแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ ที่คนเหล่านี้ต้องเผชิญ กันเถอะ
ด้วยเรื่องใกล้ตัว และใช้เทคโนโลยีอย่างรู้ทัน 
 
17 พฤษภาคม  ทำไมต้องเป็นวันนี้
เนื่องจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2533 เป็นวันที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) 
ได้ถอดเรื่องการรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีความผิดปกติทางจิต 
หลังจากนั้น ในปี 2547 จึงได้กำหนดให้วันที่ 17 ของทุกปี เป็นวันสากลเพื่อยุติความเกลียดกลัว คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ
 
 ปัจจุบันสังคมมีความก้าวหน้าในการเปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ยกตัวอย่างในหลายๆ ประเทศ มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กับความหลากหลายทางเพศ เช่น  ประเทศไต้หวัน ถือเป็นประเทศแรกใน0เอเชียที่รัฐสภาผ่านกฎหมายแต่งงานของคนเพศเดียว 
ซึ่งทำให้คู่รักเพศเดียวกันในไต้หวันออกมาจดทะเบียนสมรสกันจำนวนมาก
 
สำหรับประเทศไทย แม้ความหลากหลายทางเพศจะได้รับการยอมรับ เปิดกว้างมากขึ้น
และ ได้มีผลสำรวจของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อปี 2562 พบว่า คนไทยสนับสนุนให้มีกฎหมาย
หรือนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่สุดท้าย พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 หรือ มี พ.ร.บ. คู่ชีวิต
ได้ถูกผลักดันออกมาเพื่อให้คนคู่รักเพศเดียวกันได้รับการรับรองสิทธิด้านต่างๆ แล้ว และแม้ว่าจะกฎหมายออกมารองรับคนรักเพศเดียวกัน
แต่ก็ยังมีคนกลุ่มบางส่วนไม่เห็นได้วย ไม่ยอมรับ ในอีกหลายประเทศ ซึ่งในอนาคตหวังว่า คนทุกเพศต้องเท่าเทียมกัน

แต่ สิ่งที่ทุกคนทำได้เลยในตอนนี้ นั่นคือ 
 
อย่ามองฉันเป็น 'เหยื่อ' หยุด Social Bullying กันเถอะนะ!!!
 
#LGBT  #Social Bullying  #เพศทางเลือก


 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่