บทสัมภาษณ์ "กฤษณา อโศกสิน" เจ้าของบทประพันธ์ "กระเช้าสีดา"

40 ปีที่นวนิยายขายดี "กระเช้าสีดา" ออกสู่สายตาผู้อ่าน จนนำมาสู่ภาคของละครโทรทัศน์ กระแสความนิยมกลับยิ่งพุ่งทะยาน ล่าสุด "กฤษณา อโศกสิน" เปิดใจถึงเบื้องหลังการเขียนเรื่องสุดอมตะ พร้อมวิจารณ์เวอร์ชั่นละครโทรทัศน์เป็นครั้งแรก

มาแรงจริงๆ สำหรับละครเรื่อง “กระเช้าสีดา” ฝีมือของผู้จัดคนดัง “ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” แห่ง change2561 ออกอากาศทางช่องวัน 31 ซึ่งถ้าไม่เบรกการถ่ายทำเพราะโควิด-19 เชื่อว่าคงสร้างสถิติใหม่แซงละครทุกเรื่องแน่นอน

แต่หากย้อนกลับไปดูต้นทาง ต้องบอกว่า นี่เป็นหนึ่งในผลงานประพันธ์ชั้นบรมครูนาม “กฤษณา อโศกสิน”!

ซึ่งคุณกฤษณา อโศกสิน หรือ คุณสุกัญญา ชลศึกษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เล่าว่าเรื่องนี้เขียนไว้นานมาก นานจนจำปี พ.ศ.ที่เขียนไม่ได้ แต่จำได้ว่าเคยตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ใน นิตยสารลลนา จนมาจบตอนสุดท้ายในปี 2525 และมีการจัดพิมพ์รวมเล่มหลังจากนั้นอีกหลายครั้ง

แม้ “กระเช้าสีดา” จะเป็นนวนิยายที่เขียนมานานร่วม 40 ปี และนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์มาแล้ว ในปี 2537 แต่ทว่า ผ่านมานานถึง 27 ปี เหตุใดเมื่อนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เรื่องราวยังคงร่วมสมัย และทำให้คนดูอินได้ถึงขนาดนี้

“เพราะแก่นเรื่องมันเป็นโศกนาฏกรรมของสัตว์เมืองค่ะ”

คำตอบจากคุณกฤษณา ชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ยังคงมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย พร้อมกับไล่เรียงถึงจุดเริ่มต้นที่จะลงมือเขียนว่า ต้องมีอะไรมากระทบใจจริงๆก่อน

“ก็แต่งจากกิเลสมนุษย์ทั้งนั้น แล้วมาผูกเป็นเรื่องราว เพราะฉะนั้นเวลาเห็นสิ่งเหล่านี้ในสังคม ก็จะเก็บๆไว้ เอามาปรุงให้เป็นเนื้อเรื่อง แต่ต้องมีเค้าโครงที่แน่นก่อน พอวางโครงได้ ก็จะมาสานตัวละครอีกทีค่ะ”



คำอธิบายนี้ จึงน่าจะทำให้หายสงสัยได้ว่า ทำไม น้ำพิงค์, รำนำ, ลือ และ อำพน ถึงได้โลดแล่นอยู่ในใจของใครหลายคน เพราะนอกจากความสนุก แซบครบรสแล้ว เหนืออื่นใดยังได้แง่คิด ให้กลับไปย้อนมองดูตัวเอง และสะท้อนถึงสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมด้วย

“ความฟุ้งเฟ้อ ยั่วกิเลส ความทะเยอะทะยานของเด็กสาว ที่รักษากฎ-กติกาไม่เป็น เป็นคนที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล อยากได้อะไรก็ต้องได้ทันที โดยไม่คำนึงว่าจะทรยศต่อผู้มีพระคุณ หรือความถูกต้องต่างๆ มันมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย” ผู้เขียนแจกแจงความคิด

หากมองให้เห็นภาพ ชีวิตของ “รำนำ” ก็ไม่ต่างจาก “กระเช้าสีดา” ที่คุณกฤษณาตั้งชื่อเรื่องไว้อย่างแยบยล และบ่งบอกถึง เรื่องราวทั้งหมด...

เพราะลักษณะของ “กระเช้าสีดา” เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง เสมือนกาฝากที่ต้องคอยเกาะตามต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด!

ดังนั้น ทั้งตัวรำนำ และกระเช้าสีดา จึงเป็นความสวยงาม ที่มาพร้อมกับความเลือดเย็น และพร้อมจะกลืนกินทุกอย่าง!!



ได้เห็นถึงที่มาที่ไปของนวนิยาย และความหมายที่ลึกซึ้งแล้ว อยากรู้ต่อไปว่า ผู้ประพันธ์คิดอย่างไร กับการนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ซึ่งเจ้าตัวบอกความในใจอย่างตรงไปตรงมาว่า

“เห็นละครดัง ก็ตั้งใจจะหยิบมาอ่านอีกครั้งนะ แต่ยังไม่มีเวลาเลย (หัวเราะ) ที่จริงละครกับเรื่องที่เขียนไม่แตกต่างกันมากหรอกค่ะ เพราะส่วนใหญ่เป็นกิเลสมนุษย์ท้งสิ้น แต่เขาก็ปรับไปตามยุคสมัย ...

ต้องชมผู้จัด คุณสายทิพย์ เจ้าของ Change2561 ที่ดึงบทบาทของตัวละครบางตัวให้เด่นขึ้นมา ซึ่งเป็นผลดีกับละคร อย่างเราเขียนก็จะเรื่อยๆ เป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวันของคน มีทั้งเรียบและตื่นเต้นสลับกันไป แต่ละครไม่ได้ ต้องหาทางให้บทบาทเข้มข้นทุกขณะ ฉับไว เวลาออกมาโลดแล่นต้องเห็นชัด ตัดช่วงจืดๆ ออกไป เพราะเขาต้องคอยกระตุ้นให้คนติดตามตลอด ก็สนุกดี ทำให้เรื่องเข้มข้นขึ้นค่ะ”

เจ้าของบทประพันธ์เอ่ยปากชมขนาดนี้ แสดงว่าถูกใจกับละครโทรทัศน์เวอร์ชั่นนี้เอามากๆ ทีเดียว

แต่ถึงอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในภาคของละครหรือหนังสือ คุณกฤษณา อโศกสิน ก็ฟาดแรงๆ ไปที่ด้านมืดของคนได้อย่างถึงแก่นจริงๆ และเป็นกระจกเงาให้เราเห็นถึง "ชีวิต" ที่ชัดเจนที่สุด

เปิดใจนักเขียนกันไปแล้ว แต่ถ้าสนใจอยากอ่านนวนิยาย “กระเช้าสีดา” ลองถามหาได้ที่สำนักพิมพ์แสงดาว ซึ่งจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 5 ในปี 2556 น่าจะยังพอมีอยู่

งานวรรณกรรมเป็นศิลปะสำคัญอีกแขนงหนึ่ง ที่ผู้เสพจะซึมซับเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก และแง่คิดต่างๆ เชื่อว่าจะได้รับอรรถรสที่สนุกไม่แพ้กันค่ะ



เรื่องโดย ....นันทพร ไวศยะสุวรรณ์

ลิ้งค์ข่าว : https://www.komchadluek.net/news/ent/466888
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่