สัพเพเหระ.........การเว้นวรรค

กระทู้สนทนา

.

          
            วันหนึ่งผีปอบเข้ามากินตับปู่ในบ้านคุ้มบ้านใต้  ด้วยความอยากรู้ของคูน  จึงแอบเข้าไปดูไกล ๆ  แล้วคูนก็เห็นคนหนึ่งถือแส้ตีปู่ ที่นอนร้องอยู่แล้วเอาน้ำรดลงตัวปู่  แล้วคนที่ถือแส้ก็ถามปู่ว่า เป็นผีปอบตัวไส  ซื่ออีหยังบอกมาไว ๆ  แล้วปู่ก็ตอบว่า กูบ่แมนผีปอบ กูเป็นไข้ป่า พอแล้ว ๆ อย่าอาบน้ำให้กู   ต่อมาไม่นานคูนก็ร้องไห้โห่ง ๆ เพราะคูนได้ยินเสียงคนข้างบนร้องไห้  พอมาดูก็พบว่าคุณปู่ไม่ลืมตา  แล้วคุณปู่ก็หายหน้าไปตั้งแต่คราวนั้น
  
             เช้ามืดวันหนึ่งมีเสียงเซ็งแซ่ที่หน้าบ้าน  คูนตื่นขึ้นก็เห็นพ่อแม่กำลังร่ำลาลุงสี, ลุงแก้วและภรรยา  เนื่องจากว่าพวกเขาจะย้ายไปอยู่ที่บ้านดินดำน้ำชุ่ม  ด้วยความสงสัยของคูน  จึงไปถามแม่ว่าบ้านดินน้ำชุ่มคืออะไร  แม่ตอบว่าคือที่ทำนาได้ทุกปี  คูนจึงไปถามพ่อว่า ทำไมเราไม่ย้ายไปอยู่ที่นั้นบ้าง  พ่อก็ตอบว่าปู่ของลูกสั่งเสียว่า อย่าย้ายไปไหน...

 
            ที่มา  :  ส่วนหนึ่งของ ลูกอีสาน งานของ ของคำพูน บุญทวี
            เอามาวางทำไม  : เอามาวางกวน ๆ เท่านั้น

 
    โควิด 19 ทำให้เกิดการเว้นช่องไฟ ระหว่างตัวบุคคล ทำให้รู้สึกว่าโลกกำลังจะล่มสลาย วันนี้มีโควิด วันข้างหน้า ไม่แน่ว่าไวรัสที จากอัมเบรลลาคอร์ปอเรชัน จะระบาด หลุดออกมาสู่โลกภายนอกเมื่อไร ถ้าไวรัสทีระบาดแบบควบคุมไม่ได้ โลกนี้คงเต็มไปด้วยซอมบี้ หนักกว่าโควิดอีก  จะเป็นอย่างไรนะ ถ้าเดินชมวิวอยู่ดี ๆ  ผู้คนรอบข้างเริ่มพากันมีอาการแปลกประหลาด ค่อย ๆ กลายสภาพ

             ช่างเถอะ วันนี้ยังไม่มีไวรัสที
 
            มาพูดเรื่องเรื่อยเปื่อยไปตามประสา เรื่อง
 

การเว้นระยะ

            บางท่านเรียก การเว้นวรรคตอน แต่ฟังแล้วรู้สึกสยองลึก ๆ เป็นลางสังหรณ์ ไม่อยากจะตอนวันลอยกระทง) จึงขอให้คำว่า การเว้นระยะ เพื่อความปลอดภัยทางอารมณ์  แท้น แท้น แท้น แทนนนน...(เสียงดนตรีประกอบ)
 
            วรรค คือ คำ ข้อความ หรือประโยคช่วงหนึ่ง ๆ การเว้นวรรค หมายถึง การเว้นช่องว่างระหว่างวรรค

            การเว้นระยะในที่นี้ มิได้หมายถึงการนั่งห่างกัน เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด มิได้หมายถึงการเว้นวรรคของหัวใจ มิได้หมายถึงการนั่งห่างกันของคนรักกัน  ไม่ได้หมายถึงการเว้นวรรคทางการเมือง (ไม่เอา ไม่พูด)  แต่หมายถึงการเว้นวรรคอักษราในงานเขียน  หลายท่านที่เป็นผู้ชำนาญการ หรือผู้เชี่ยวชาญการเว้นระยะอยู่แล้ว หรือจอมดรามา ก็เว้นวรรคกระทู้นี้ไปเลย 
 
            การเว้นวรรค เว้นระยะ จำเป็นต้องมี ถ้าไปห่างกับคนแปลกหน้าแบบไม่เว้นระยะ อาจนำพามาซึ่งการเจ็บตัว การอ่าน การเขียน ก็ต้องมีการเว้นระยะไม่ว่าจะเป็นงานหนังสือราชการ หรืองานเขียนทั่วไป

            เว้นระยะระหว่างข้อความ แน่นอนว่ามันก็มีหลักการเว้นระยะ ให้เราปวดหัวเล่นแก้เซ็ง

            จำเป็นต้องเป๊ะไหม  ใช่และไม่ใช่  แบบว่าไม่จำเป็นเป๊ะทุกอย่าง มีบางข้อสามารถยืดหยุ่น แต่หลายอย่างก็ต้องเป๊ะ  หนังสือหลายเล่มที่ตีพิมพ์ออกมา ก็มีส่วนที่ไม่ได้เป๊ะตามหลักการทุกข้อเสมอไป  ไม่ว่าจะเป็นตำรา หรือนวนิยาย บางทีรูปของภาษาที่ต้องการศิลปะ ก็ไม่ต้องยึดติดรูปแบบหลักการตรงทุกอย่าง เพียงแต่น่ารู้ไว้ ใช่ว่า ใส่บ่า ไปทิ้งน้ำ
 
            บอกไว้ก่อนว่า กฏเกณฑ์ เรื่องราว ในกระทู้นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้คิดค้นขึ้นมาเอง เพียงแต่รวมรวม ศึกษา มาเล่าสู่ฟังเท่านั้น ผิดถูกอย่างไร ใช้วิจารณญาณตามสมควรครับป๋ม เพราะคิดว่าอาจมีประโยชน์กับท่าน ๆ ที่รักงานเขียน บ้าง ไม่มากก็น้อย  หรือไม่มีเลย ก็ถือว่าเสียงนกเสียงอึ่งอ่างก็แล้วกัน คนที่คิดว่าตัวเองเก่งเหนือใคร ก็ควรผ่านเลยไป ไม่ควรแวะมาดรามา^^
 
ประเภทของการเว้นวรรค ว่ากันว่า มีสองประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
 
            การเว้นวรรคใหญ่ 

            ทางทฤษฏีคือ ให้เว้นระยะเท่ากับความกว้างของตัวอักษร  ก ไก่ สองเท่า  คือเอาตัว ก ไก่สองตัวรวมกันด้านข้าง เป็นมาตรฐาน ทำไมต้องเอา ก ไก่ เพราะ ก ไก่เกิดก่อนไข่  ฮา ไม่ใช่  เพราะ ก ไก่ อยากมาก่อนหน้าเพื่อนทำไม  ลองพิมพ์เทียบกันดูก็ได้ครับ จะพบว่าตัวอักษรแต่ละตัวจะกว้างไม่เท่ากัน เหมือนคน มีอ้วน มีผอม จึงต้องมีค่าคงที่ เพื่อเปรียบเทียบอ้างอิง  การเว้นวรรคใหญ่ ใช้เมื่อจบประโยคที่สมบูรณ์ เด็ดขาดไร้น้ำใจ
 
            ความกว้างของตัวอักษร  ก ไก่ สองเท่า 
            อ้าว ถ้างั้น เวลาพิมพ์งาน เราไม่ต้องเคาะมา ที่ ก ไก่ แล้วจึงเคาะ เว้นวรรค หรือต้องเอาไม้บรรทัดความแม่นยำสูง มาวัดตัวอักษรหน้าจอหรือ 
 
            ไม่ครับ ไม่ต้องขนาดนั้น (หรือใครอยากทำอยากหาเรื่องเครียดไส่ตัว ก็ไม่ว่าอะไร สนุกดี หรือไม่ก็ประสาทกินไปเสียก่อน) นั่นมันทางทฤษฏี ในทางปฏิบัติ เราใช้การเคาะ Spacebar สองครั้ง ก็พอแล้วครับ ให้มันรู้ไปว่า บก. สำนักพิมพ์ไหน จะเอาไม้บรรทัด หรือเลเซอร์เซนเซอร์สำหรับวัดระยะความละเอียดสูง มาวัด  
 
            การเว้นวรรคเล็ก

            ทางทฤษฏี คือระยะเว้น ก ไก่ หนึ่งตัวอักษร (เท่ากับ ความกว้างของ ก ไก่ หนึ่งตัว)  คือน้อยกว่าเว้นวรรคใหญ่ครึ่งหนึ่ง แน่นอนว่า เราก็ใช้การเคาะ Spacebar หนึ่งครั้ง ก็พอแล้วครับ ให้มันรู้ไปว่า บก. สำนักพิมพ์ไหน จะเอาไม้บรรทัดมาวัด หรือเอาไม้หน้าสามมาตีหัวใคร การเว้นระยะเล็กจะใช้ในการเขียนงานประพันธ์เป็นประจำ  จนอาจเรียกได้ว่า เมื่อนึกถึงการเว้นวรรคในนิยาย เรามักคิดถึงเว้นวรรคเล็ก เพราะงานเขียนเป็นงานศิลปะ ไม่จำเป็นต้องเขียนทื่อ ๆ แบบหนังสือราชการ 

            ความอ้วนของอักษร ก ไก่ ปัจจุบัน คงมักแทนด้วยการเคาะ Spacebar
            ร..........
            ก..........
            ข้างบนนี้ มิใช่ แมวมาเดินเหยียบคีย์บอร์ด แต่เป็นการแสดงให้ดูว่า ตัวอักษรอ้วนผอมไม่เท่ากันทุกตัว

            แน่นอนว่า จริง ๆ ไม่ต้องเลื่อนไปเคาะด้านหลัง ก ไก่ เพราะข้อแตกต่างกันที่ปรากฏให้เห็นมันน้อย นี่เป็นหลักการทั่วไป ส่วนสำนักพิมพ์ไหน จะยังไง ก็อีกเรื่อง บางที่ก็กำหนดละเอียด บางที่ก็ไม่กำหนดละเอียด เพราะปัจจุบัน เราพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เครื่องพิมพ์ดีดบรรพกาล เวลาจัดหน้าออกมา มันยากมากครับ ที่จะมากำหนด วรรคเล็กวรรคใหญ่ ผมยังเคยเห็นนิยายวางแผง เว้นวรรคกันครั้งละ 4-7 เคาะ ทั้งเล่ม ก็เคยเจอมาแล้ว บางครั้งต่อให้เราจัดหน้าดีขนาดไหน เวลาพิมพ์ออกมา แทบจำหน้าตางานตัวเองไม่ได้ก็มี เพราะการปรับของโปรแกรม
 
            สรุปว่าไม่ต้องกังวลเรื่องยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก เพราะนิยาย ไม่ใช่หนังสือวิชาการ  มันสำคัญที่ว่า  การเว้นวรรคจำเป็นต้องมี  
 
            ตอนไหนบ้าง ต้อง  เคาะ Spacebar  ก็เวลาเขียนงาน พิมพ์งานนั่นละครับ หัวใจสำคัญของการเว้นวรรค ให้คิดว่า การอ่านหนังสือ คือการอ่านออกเสียง ต้องมีระยะหยุดหายใจ เรียกว่าลมหายใจแห่งความคิดถึง เอ้ย การอ่าน จะติดเป็นพรืดไม่ได้ เพราะคนพูดอาจจะหน้ามืด เนื่องจากไม่ได้หายใจ ทดลองพูดไม่หยุดก็ได้ครับ ต่อให้พูดเป็นต่อยหอย ท่านก็ต้องหยุดหายใจเป็นระยะอยู่ดี ถ้าไม่โดนคนข้าง ๆ ทุบหัวเสียก่อน

            การเขียนหนังสือก็เหมือนกัน เหมือนอารมณ์การอ่าน ต้องมีการเว้นระยะให้พองาม ดูดี มีเสน่ห์ เว้นบ่อยไปก็ไม่ลื่น เว้นน้อยไปก็ใจจะขาด
 
 
หลักการเว้นวรรค

            อย่างแรกที่มามีเอี่ยว คือ คำสันธาน (มิใช่คำซันดาน)
            การเว้นวรรค มักเกิดข้างหน้าคำสันธาน

            คำสันธานหมายถึง คำที่ใช้เชื่อมประโยค หรือข้อความกับข้อความ  เช่น และ แล้ว จึง แต่  มิฉะนั้น  ถึงแม้ว่า  หรือ  หรือไม่ เพราะ  เพราะว่า  แม้ แม้ว่า  บลา ๆ ...พอก่อน เพราะนี่ไม่ใช่ตำราวิชาภาษาไทย  ในบรรดาหลักการการเว้นวรรค เรื่องของการเว้นวรรคด้วยตำสันธาน มีการยืดหยุ่นมากที่สุด ยกเว้นมากที่สุด  เมื่อประโยคย่อยมารวมกันเป็นประโยคใหญ่ และประโยคย่อยนั้นเชื่อมกันด้วยคำสันธาน  ความเป็นไปได้ของการเว้นวรรค ก็เริ่มปรากฏให้เห็น เอาเป็นว่า ถ้าเห็นคำสันธาน ให้เตรียมกระแทก  Spacebar แต่...ต้องมีแต่ด้วย กฏทุกข้อมีข้อยกเว้น ถ้าคำสันธานนั้นมันอยู่ในข้อความสั้นเกินไป  ก็ไม่ต้องเคาะ จะกลายเป็นคนพูดตะกุกตะกัก ติดอ่างอาบน้ำไป 

            ตัวอย่าง

            ลิงกับแมวแม้ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรัก แต่ฉันก็รักแมวมากกว่าลิง
            (แต่-ตามหลักสากลต้องเว้นวรรค เพราะ ‘แต่’ เป็นคำเชื่อม ข้อความทั้งหมดเป็นข้อความที่มีความหมายเกี่ยวกับการรักสัตว์เลี้ยง) จึงควรจะเว้นวรรคที่คำว่า ‘แต่’ เพื่อความสวยงาม

            แต่ถ้าเป็นประโยคสั้น ๆ และจบประโยค ก็ไม่ต้องเว้นวรรคให้เสียเวลา

            เช่น   

            ฉันเกลียดลิงและค่าง   
           ไม่จำเป็นต้องเป็น  “ฉันเกลียดลิง และค่าง”  เพราะประโยคนี้ มันก็ลงตัวสมบูรณ์อยู่แล้ว และสั้น ถ้ามาเว้นวรรคก็น่าเกลียดน่าชังพิลึก  แต่ถ้าต้องการเขียนรูปแบบกวนบาทาชาวบ้านเล่นก็ได้

          ฉันและเธอเป็นบ้า  
          ไม่จำเป็นต้องเขียนฉัน และเธอเป็นบ้า   

          เธอกินจุแต่ตัวผอม

            แต่ถ้าประโยคยาว ๆ การเว้นวรรคจะโผล่มาถามหาทันที เช่น

            เธอเป็นผู้หญิงที่สุดแสนจะบรมสวย จึงทำให้ผู้ชายเป็นบ้าเมื่อมองเธอ  
จึง เว้นวรรคด้านหน้าเพราะ จึง มาเชื่อมสองข้อความนี้เข้าด้วยกัน จึงจะได้ใจความสมบูรณ์
 
           คำที่เป็นปัญหาคือคำว่า  และ

            เป็นคำที่มีปัญหา เพราะบางทีก็เว้นวรรค บางทีก็ไม่ต้องเว้นวรรค บางทีข้อความหลักทั้งสองข้อความสมบูรณ์ เมื่อ ‘และ’ มาเชื่อมก็อาจไม่ต้องเว้นวรรค อันนี้ไม่ต้องซีเรียส เพราะหลาย ๆ ครั้ง ที่ไม่ต้องเว้นวรรคเพราะการเขียนเป็นงานศิลปะ การฉีกรูปแบบบ้างเป็นเรื่องธรรมดา หลายครั้งที่เราเห็นการเชื่อมคำสันธานแบบไม่มีการวรรค รู้สึกว่าข้อความนั้นมันก็ดูดีไม่ขัดความรู้สึกแบบนี้มีบ่อยไป จึงคิดว่าตามความเหมาะสมนั่นแล ดีที่สุด บางอย่างยึดหลักการมากไป ก็ขาดความเป็นศิลปะ

            ตัวอย่าง ‘และ’ ที่ไม่เว้นวรรค แต่อ่านแล้วดูดี

            *คู่มือการเขียนมีเป้าหมาย เพื่อทำให้การใช้วิกิพีเดียง่ายขึ้นโดยการส่งเสริมความชัดเจนและถูกต้อง” อ่านดูก็ OK เลย เพราะถ้าเว้นวรรค และ ข้อความสุดท้ายจะดูขาด ๆ สั้น ๆ ชอบกล ให้มันต่อกันดีกว่า
 
หลักการเว้นวรรค ต่อไปนี้สำคัญ เพราะความยืดหยุ่นน้อยกว่าที่ผ่านมา

           หลังพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ พระนามและฐานันดรศักดิ์ (และ ไม่เว้นเพราะข้อความสั้น) ต้องเว้นวรรค

           ตัวอย่าง
           สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
           สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
 
            เว้นวรรค ระหว่างชื่อบริษัท กับคำว่า จำกัด ที่อยู่ท้ายชื่อ
            ตัวอย่าง
            บริษัทอ่อมหอยใส่แมงจินูน  จำกัด
            ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไซโคจีเจริญพันธ์ เป็นต้น
 
            ปกติคำหน้านาม  ชื่อยศ ต้องเว้นวรรค แต่คำนำหน้าชื่อที่เป็นตำแหน่งหรืออาชีพกับชื่อ ไม่ต้องเว้นวรรค  (ยศ หมายถึง ฐานะหรือบรรดาศักดิ์ เช่น สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น  ส่วนตำแหน่ง หมายถึง หน้าที่ที่รับผิดชอบ  ตำรวจมีทั้งยศและตำแหน่ง ดั่งคำที่ว่า ตำแหน่งชั้นยศของตำรวจ ให้ท่องจำง่าย ๆ ว่า ตำแหน่ง 13 ยศ 14 แต่ในทางปฏิบัติงานเขียนนิยาย ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องนี้ จะเห็นว่าในนิยาย จะเจอทั้ง ร้อยตำรวจเอกมารผจญ และ ร้อยตำรวจเอก มารผจญ  เป็นต้น จะเห็นเคร่งครัดในหนังสือราชการมากกว่า

            ตัวอย่าง

            จอมพล ป่วน พิลึกคน (ยศ ต้องเว้น)
            นายแพทย์น้อย  หนุงหนิง (คำนำหน้าชื่อที่เป็นตำแหน่งหรืออาชีพกับชื่อ)
            รองศาสตราจารย์ตู่ศักดิ์  ลำยองใย

            ดังนั้นเรื่องนี้ผ่านครับ ไม่ได้เน้นเรื่องการเขียนหนังสือราชการ เพราะไม่ใช่ถนนนักราชการ แต่เป็นถนนนักเขียน

.
 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่