JJNY : 4in1 พท.นำสิ่งของมอบมูลนิธิดวงประทีป│เชื่อมั่นนักลงทุนวูบรอบ6เดือน│เชื่อมั่นค้าปลีกQ1ลด│แจ๊ค แฟนฉันประกาศขายบ้าน

พท.ลุยคลองเตย นำสิ่งของมอบมูลนิธิดวงประทีป แนะรัฐเร่งตรวจหาเชื้อเร็วที่สุด
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6380505
 
 

เพื่อไทย ลุยคลองเตย นำสิ่งของจำเป็น มอบมูลนิธิดวงประทีป แนะรัฐเร่งตรวจหาเชื้อเร็วที่สุด พร้อมให้กำลังใจประชาชนที่โรงพยาบาลสนามด้วย
 
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรค น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. รวมทั้งว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.พรรคเพื่อไทย ได้แก่ น.ส.ทัดดาว ตั้งตรงเจริญ นายกวี ณ ลำปาง นายบดินทร์ วัชโรบล นายเมธา ขำโสภา และนายใจพิชญ์ สุขุมาลจันทร์ ลงพื้นที่ชุมชนคลองเตย นำข้าวสาร อาหารแห้งและของใช้จำเป็นบริจาคให้กับมูลนิธิดวงประทีป เพื่อให้มูลนิธิส่งต่อไปยังชุมชนแออัดคลองเตยที่มีความเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ พร้อมให้กำลังใจประชาชนที่โรงพยาบาลสนามด้วย
 
ด้านนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ประธานมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อมีไม่ต่ำกว่า 300 คน โดยมูลนิธิได้สร้างเครือข่ายในชุมชนสืบค้นหาผู้ป่วยถึงบ้าน หากพบมีผู้ป่วยจะพาไปกักตัวเบื้องต้นที่วัดใกล้เคียง หากผู้ติดเชื้ออยู่ในขั้นสีแดงจะส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล แต่หากครอบครัวใดไม่มีผู้ติดเชื้อ ประธานชุมชนจะจ่ายบัตรคิวเพื่อให้ไปรับการฉีดวัคซีน ซึ่งฉีดได้ 1,500 คนต่อวัน
 
ด้านนายสายัณห์ นามนิล ผู้นำชุมชน 70 ไร่ กล่าวว่า ตอนนี้ความสามารถในการตรวจหาเชื้อค่อนข้างล่าช้าโดยในชุมชน 70 ไร่ ได้โควตาตรวจหาเชื้อ 300 คนต่อวัน เมื่อรวม 41 ชุมชนในคลองเตย จะได้คิวตรวจหาเชื้อไม่เกิน 3,000-4,000 คนต่อวัน ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 20 วันจึงจะตรวจหาเชื้อครบถ้วน ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ยังเดินทางเข้าออกไปทำงาน จึงมีความกังวลว่าระหว่างรอตรวจหาเชื้อ อาจเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวได้
 
ด้าน น.ส.อรุณี กล่าวภายหลังลงพื้นที่ห้างสรรพสินค้าโลตัสพระราม 4 สังเกตการณ์จุดบริการฉีดวัคซีนว่า ประชาชนในคลองเตยที่เข้ารับการฉีดวัคซีนขณะนี้ มีผู้ที่ยังไม่ผ่านการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด ขณะที่การตรวจเชื้อในพื้นที่ยังทำได้ล่าช้าหลักร้อยคน ไม่สัมพันธ์กับจำนวนประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีเกือบ 1 แสนคน ส่วนการแจ้งผลการตรวจคัดเชื้อยังล่าช้า จึงอยากให้รัฐระดมสรรพกำลังในการตรวจหาเชื้อ ทั้งรถตรวจเคลื่อนที่หรือแลปเคลื่อนที่ที่มีศักยภาพ ลงมาตรวจในพื้นที่และแจ้งผลการตรวจให้เร็วขึ้น เชื่อว่าจะช่วยควบคุมการระบาดในคลัสเตอร์คลองเตยได้อย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
 

 
‘เฟทโก้’ ชี้ความเชื่อมั่นนักลงทุนวูบรอบ 6 เดือน ย้ำวัคซีนเป็นหัวใจ-ชงรัฐนำเข้าเพิ่มควบผลิตในประเทศ
https://www.matichon.co.th/economy/news_2707700
 
‘เฟทโก้’ ชี้ความเชื่อมั่นนักลงทุนวูบรอบ 6 เดือน ย้ำวัคซีนเป็นหัวใจ-ชงรัฐนำเข้าเพิ่มควบผลิตในประเทศ
 
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ประจำเดือนเมษายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 124.37 ปรับตัวลดลง 14.6% จากเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน แต่ยังสามารถอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก 5 ข้อ คือ 
 
1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ชัดเจนว่าจะสามารถฟื้นบวกได้แน่นอน ขึ้นอยู่กับการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 แผนการกระจายวัคซีนต้านไวรัสจะมาได้เร็วเท่าใด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 
2. การฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย 
3. อัตราเร่งในการฉีดวัคซีน ที่หากทำได้เร็วก็จะส่งผลให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นตาม
4. การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ถือเป็นหัวใจหลัก เพราะไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้หากสามารถเปิดนำร่องภูเก็ตโมเดลได้ก่อน จะส่งผลเชิงบวกต่อดัชนีได้สูง 
และ 5. การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายจะเห็นไหลกลับเข้ามาได้ ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การระบาดโควิดระลอก 3 ในไทย รองลงมาคือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน ส่วนสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง มองว่าไม่ได้มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก
 
การระบาดโควิดรอบนี้ เชื่อว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก ประเมินจากมาตรการคุมเข้มของรัฐบาล และการฉีดวัคซีนควบคู่ไปด้วย จึงเชื่อว่าสถานการณ์จะทยอยดีขึ้น ซึ่งเป็นมุมมองเดียวกับนักลงทุนส่วนใหญ่ด้วย สะท้อนได้จากดัชนีที่ปรับลดลงไม่มาก เทียบกับการระบาด 2 ระลอกที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศ แม้จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อวันละกว่า 2,000 คน แต่หากเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลก ไทยยังถือว่าติดเชื้ออยู่ในระดับน้อย ทำให้เห็นเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นในอาเซียนได้อยู่ แม้แต่อินเดียก็ยังเห็นปริมาณฟันด์โฟลว์ไหลเข้าอยู่บ้าง โดยนักลงทุนต่างชาติจะให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐาน ในด้านกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย หลังจากมีการฉีดวัคซีนได้ชัดเจนมากขึ้น” นายไพบูลย์ กล่าว
 
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนต้านไวรัส ที่ถือเป็นหัวใจหลักนั้น ต้องติดตามแผนจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทย ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพราะมีการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนก้าในประเทศไทยเองเป็นครั้งแรกด้วย โดยจำนวนวัคซีนตามเป้าหมายวางไว้รวม 100 ล้านโดส ถือว่าสร้างความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ตั้งจำนวนวัคซีนไว้เพียง 65 ล้านโดส แต่ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับว่า จำนวน 100 ล้านโดสนี้ จะได้รับจริงหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ในจำนวน 100 ล้านโดสนี้ แบ่งเป็นซิโนแวคเพียง 2 ล้านโดส อีก 61 ล้านโดสเป็นแอสตราเซเนก้าเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัทอื่นที่อยู่ระหว่างเจรจากัน ซึ่งความเสี่ยงของแอสตราเซเนก้าคือ เป็นการผลิตวัคซีนในประเทศ ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้ตามแผนที่วางไว้ว่าจะต้องผลิตให้ได้ 10 ล้านโดสต่อวันหรือไม่ หากได้ก็ถือว่าดี แต่หากไม่ได้ก็จะเป็นความเสี่ยงใหม่ขึ้น และสร้างความกังวลเพิ่มได้ เพราะจะมีช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ที่ไทยต้องเร่งฉีดวัคซีนและต้องพึ่งพาวัคซีนแอสตราเซเนก้าเกือบ 100% โดยหากเกิดเหตุไม่คาดคิดทำให้การผลิตวัคซีนในประเทศทำไม่ได้ตามเป้าหมาย รัฐบาลได้เตรียมแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมืออื่นๆ ไว้หรือไม่ อาทิ การนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่นเข้ามาเพิ่มได้หรือไม่ รวมถึงหากนำยี่ห้ออื่นเข้ามาสมทบ ควบคู่กับการผลิตในประเทศด้วย จะถือว่าดีมากๆ เพราะเป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจทำให้ไม่สามารถผลิตวัคซีนตามเป้าหมายได้
 
หากเป็นไปได้อยากเสนอให้รัฐจัดหาวัคซีนเกินจำนวน 100 ล้านโดส เนื่องจากขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่า การระบาดโควิดจะอยู่อีกนานเท่าใด และวัคซีนจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ถึงช่วงใด อาจเกิดความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มการป้องกันโควิดอีกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีแพทย์ในต่างประเทศออกมาระบุว่า อาจต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันเข็มที่ 3 เพิ่มทำให้แผนจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสของไทยอาจไม่เพียงพอรองรับจำนวนประชากรทั้งหมดได้ ส่วนจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ก็ต้องวางแผนกันต่อไป” นายไพบูลย์ กล่าว
 
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2564 ดัชนีหุ้นไทยผันผวนอยู่ระหว่าง 1,541.12  –1,596.27 จุด โดยถูกแรงกดดันจากการระบาดโควิดรอบใหม่ และผลกระทบจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงอย่างหนัก หลังจากการประกาศข้อเสนอเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนเพิ่มเกือบเท่าตัว แต่ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกหลังจากรัฐบาลไทยประกาศแผนการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท รวมถึงมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมีนาคม ที่สามารถขยายตัวได้กว่า 8.5% ทำให้ ณ สิ้นเดือนเมษายน หุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,583.13 ปรับตัวลงเพียง 0.26% จากเดือนก่อนหน้าเท่านั้น โดยหากประเมินจากเกณฑ์ดัชนีราคาหุ้นชั้นนำของโลก (เอ็มเอสซีไอ เวิร์ด) พบว่าตลาดหุ้นโลกปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9% ซึ่งหุ้นไทยก็ปรับขึ้นประมาณ 9% เช่นกัน ส่วนตลาดหุ้นที่ดูแย่มากๆ ในปีนี้คือ ตลาดหุ้นอื่นๆ ในอาเซียน ยกเว้น สิงคโปร์ และเวียดนาม อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดหุ้นไทยกลับมาเป็นขาขึ้นแล้ว เพราะสามารถปรับขึ้นได้ดีกว่าภาพรวมตลาด ไม่ได้ปรับขึ้นได้ต่ำกว่าภาพรวมตลาดเหมือนปี 2563


 
ความเชื่อมั่นค้าปลีก Q1 ลดลงครั้งแรกเหตุกังวลโควิด-19
https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/478566
 
ดัชนี Modern Trade ไตรมาสแรก  แตะ 46.3 ลดลงครั้งแรก และต่ำสุด 3 ไตรมาส เหตุกังวลโควิด-19
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ประจำไตรมาส 1 ปี2564 ว่า หอการค้า ทำการสำรวจจากผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด  จำนวน 116 ตัวอย่าง ทำการสำรวจวันที่ 26 มีนาคม-16 เมษายน2564 พบว่าดัชนีอยู่ที่ 46.3 ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 ลดจาก 47.3 ในไตรมาส 4/2563 และลดจาก 47.2 ในไตรมาส 1/2563 ซึ่งสัญญาณปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกและต่ำสุดในรอบ 3 ไตรมาส
 
ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ โมเดิร์นเทรด มาจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 และรอบ 3 ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการต่างๆ ความกังวลเรื่องของการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจประสบปัญหา หรือแรงงานขาดรายได้
 
ด้านการส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภาระหนี้สินของครัวเรือน อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูงส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ แต่ผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนการขายมาเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ยังมีการใช้จ่าย
 
สถานการณ์ ยังจับจ่ายใช้สอยได้ ยังไม่ปลดคนงาน กำลังซื้อชะลอตามสถานการณ์ ถ้ารัฐกระตุ้นการใช้จ่ายกลับมาจะมีเงินกลับมาสะพัดในระบบ 2-4 แสนล้านบาท
 
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ยังเรียกร้องต่อภาครัฐ 1.เร่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรมากขึ้น 2.เปิดเสรีให้เอกชนนาเข้าวัคซีน เพื่อเป็นทางเลือกในการกระจายวัคซีน 3.ออกมาตราการสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารรายย่อย และธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ลดลง  4.ออกมาตราการกระตุ้นการ ท่องเท่ียวและการจับจ่าย ภายในประเทศ   เช่น มาตรการคนละครึ่ง ที่พบว่าก่อนหน้านี้ได้ผลตอบรับสูงและเร็ว อย่างเฟส 3 ที่กำลังจะออกมานั้นต้องดูวงเงินที่ให้ ระยะเวลาที่ใช้ จำนวนคนที่มีสิทธิ์ จำนวนร้านค้า หากครอบคลุมทุกกลุ่มเพื่อดึงเงินคนที่มีเงินออมมาช่วยคนรายได้น้อย กระจายไปร้านค้า จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจเร็ว ช่วยเศรษฐกิจได้ 2-3%
 
  ทั้งนี้หากประเมิณผลกระทบจากโควิด-19 รอบ 3 นี้ มาตรการการหยุดกิจกรรมไม่เข้มข้นเท่าปีที่แล้ว แต่จะครอบคลุมไปทุกกลุ่มมากกว่ากระทบระดับ S และ M  เช่น หมวดบริการ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สันทนาการกลางคืนที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ จึงประเมินว่าถ้ายังปิดกิจกรรมในกิจการเหล่านี้ประมาณครึ่งเดือนจะ เสียหาย 3 แสนล้านบาท ปิดเดือนเสียหาย 4.5 แสนล้านบาท ปิด 2 เดือนเสียหาย 6 แสนล้านบาท หากรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นความเสียหายจะลดลงและจะมีเงินหมุนกลับเข้ามามนระบบอีก 2-4 แสนล้านบาท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่