“อรุณสวัสดิ์ครับ ตอนนี้ผมอยู่ที่บ้านเกิดของผมที่เวลส์ ในวันนี้ที่ผมอายุ 83 ปี ผมไม่คิดเลยครับว่าผมจะได้รับรางวัลนี้ ผมรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณมากเลยครับ ผมอยากจะเอ่ยคำระลึกถึงแชดวิก โบสแมน ผู้ซึ่งจากลาเราไปก่อนล่วงหน้าอย่างรวดเร็วเหลือเกิน และอีกครั้งหนึ่งครับ ขอบคุณทุกคนมากครับ ผมไม่คิดเลยจริง ๆ เป็นเกียรติของผมอย่างยิ่งครับ ขอบคุณครับ”
ท่ามกลางทุ่งหญ้าเขียวขจีในฟาร์มแห่งหนึ่งที่เวลส์ เช้าวันที่ 26 เมษายน 2021 คงจะเป็นวันที่สดใสและพิเศษมาก ๆ สำหรับเซอร์แอนโทนี ฮ็อปกินส์ (Anthony Hopkins) เพราะในวันนี้เขาตื่นมาและทราบผลว่าเขาได้รับรางวัลอะคาเดมี อะวอร์ดส หรือที่เรียกแบบลำลองว่า ‘ออสการ์’ ครั้งที่ 93 ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากบทคุณพ่อผู้มีภาวะโรคสมองเสื่อมในภาพยนตร์เรื่อง The Father ซึ่งเป็นรางวัลออสการ์สาขานี้รางวัลที่สองที่เขาได้รับ หลังจากที่เมื่อ 29 ปีที่แล้ว เขาเคยได้รางวัลนี้จากบท ดร.ฮันนิบาล เล็กเตอร์ ฆาตกรต่อเนื่องอันเลื่องชื่อ จากภาพยนตร์เรื่อง The Silence of the Lambs
ในวันที่เขาทราบว่าได้รับรางวัลนี้ แม้จะยินดีกับตัวเอง แต่ก็ไม่ลืมที่จะแสดงความยินดีกับแชดวิก โบสแมน นักแสดงผู้ล่วงลับที่เข้าชิงสาขาเดียวกันจากภาพยนตร์เรื่อง Ma Rainey’s Black Bottom อันแสดงให้เห็นถึงสปิริตของนักแสดงที่แม้ว่าตนเองจะเป็นผู้ชนะ แต่ก็เห็นเกียรติกับนักแสดงคนอื่นที่เป็นผู้ถูกเสนอชื่อแข่งขันในเวทีเดียวกัน
ภาพเบื้องหน้า แม้ว่าผู้คนจะยกย่องบทบาทการแสดงอันหลากหลายและยอดเยี่ยมของเขา แต่จุดเริ่มต้นชีวิตของฮ็อปกินส์ตั้งแต่วัยเด็ก
เขาไม่ใช่คนที่คิดว่าตัวเองนั้นเก่งกาจเรื่องอะไรเท่าไรนัก
• นอกจากการแสดงแล้วผมไม่เก่งอะไรอีกเลย
กาซีโมโด คนค่อม ผู้ตีระฆังแห่งน็อทร์ ดาม จากวรรณกรรมของวิคตอร์ อูโก ในภาพยนตร์ The Hunchback of Notre-Dame (ภาพยนตร์ทางทีวีเมื่อปี 1982), ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้อื้อฉาวจากภาพยนตร์ Nixon (1995), พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ในเรื่อง The Two Popes (2019) ไปจนถึงโอดิน เทพองค์สำคัญแห่งนอร์ส พระบิดาแห่งธอร์ ใน Thor: Ragnarok (2017)
บทบาทอันหลากหลายตั้งแต่ คนธรรมดา ฆาตกรต่อเนื่องอัจฉริยะ ชายผู้มีภาวะสมองเสื่อม ประธานาธิบดี สันตะประปา ไปจนถึงเทพนอร์ส ล้วนแล้วแต่เป็นการเสกสรรปั้นแต่งมาจากฝีมือของเซอร์ ฟิลลิป แอนโทนี ฮ็อปกินส์ (Sir Phillip Anthony Hokins หรือ แอนโทนี ฮ็อปกินส์ ทั้งสิ้น ซึ่งส่งให้เขาประสบความสำเร็จในอาชีพด้านการแสดงมากมาย
จนในปี 1993 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัศวินจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะที่เขาได้ทำคุณประโยชน์ทางด้านศิลปะ หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงวางปลายดาบลงบนไหล่ทั้ง 2 ข้างของแอนโทนี นับแต่นั้นมาเขาจึงเป็นที่เรียกขานอย่างกว้างขวางว่า ‘เซอร์ แอนโทนี ฮ็อปกินส์’
แต่เมื่อไหร่ที่เขาถูกถามถึงยศศักดิ์อัศวินและคำนำหน้าว่า ‘เซอร์’ เขากลับตอบว่า
“เรียกผมแค่ โทนี ก็พอ ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าเขาให้ยศนี้กับผมทำไม แต่มันก็เป็นเรื่องดีนั่นแหละครับ แต่ผมแค่ใช้คำนี้ (คำว่า เซอร์) ที่อเมริกันเท่านั้นนะ คือพวกคนอเมริกันยืนกรานว่าจะเรียกผมแบบนี้ แล้วถ้าผมไม่ให้เขาเรียก เขาจะรู้สึกไม่ดีกัน”
เซอร์แอนโทนี เดิมทีเป็นชาวเวลส์ เขาเกิดที่เวลส์ ในวันที่ 31 ธันวาคม วันสุดท้ายของปี 1937 เราได้เห็นภาพเขาในวันที่ประสบความสำเร็จมากมาย แต่ในวัยเด็กนั้น เด็กชายแอนโทนีไม่ค่อยจะมั่นใจในตัวเองในเรื่องความเก่งเท่าไรนัก
เขามองตัวเองว่าเป็นคนเรียนไม่เก่ง ทำอะไรก็ไม่ค่อยจะสำเร็จในโรงเรียน
“ครูของผมคนหนึ่งเคยพูดถึงผมว่า ตอนเป็นเด็กผมเป็นเด็กที่ดูลึกลับ ผมไม่ค่อยพูดกับเด็กคนอื่น ผมไม่เล่นกีฬา (กับเพื่อน ๆ) ผมไม่ไปงานแสดงละครเวทีของโรงเรียนด้วยซ้ำ ก็ตอนนั้นผมเบื่อกับการที่ต้องถูกเรียกว่า ไอ้หน้าโง่ ตอนนั้นผมคิดว่า วันหนึ่งผมจะทำให้ทุกคนเห็น แล้วตอนนี้ผมเป็นคนคนนี้ ผมประสบความสำเร็จในงานของผมแล้ว”
แม้แต่อาชีพนักอบขนมที่สืบต่อมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่มาถึงคุณพ่อ แต่พอมาถึงรุ่นของเซอร์แอนโทนี เขากลับเป็นนักอบขนมที่ไม่ได้เรื่องเอาซะเลย
“มีแค่พระเจ้าเท่านั้นละครับที่รู้ ว่าผมถูกลิขิตมาให้เป็นนักแสดง ผมอบขนมไม่เก่งเหมือนพ่อและปู่ของผม หนำซ้ำตอนผมเป็นเด็ก ผมทำอะไรก็ไม่ได้เรื่องสักอย่าง ตอนอยู่ที่โรงเรียนน่ะหรอ ผมถูกมองเป็นพวกเด็กโง่ด้วยซ้ำนะครับ แล้วอยู่ดี ๆ ผมก็ได้เข้ามาอยู่ในวงการนี้แบบตกกระไดพลอยโจน”
• เพชรก็คือเพชร ที่รอวันเปล่งประกาย
ปี 1955 มีการเปิดรับผู้เข้าสมัครเพื่อชิงทุนการศึกษาของโรงเรียนสอนดนตรีและการแสดง Cardiff’s College of Music & Drama ไม่มีใครรู้ได้ว่า อะไรที่จุดประกายความคิดให้หนุ่มน้อยแอนโทนี ซึ่งในขณะนั้นตัดสินใจไปสมัครชิงทุนนี้ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เคยเรียนรู้ศิลปะการแสดงใด ๆ มาก่อนเลย แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่ดลใจให้เด็กหนุ่มแอนโทนีไปสมัครทุนนี้ เราทุกคนคงต้องกล่าวขอบคุณกับสิ่งนั้น
เพราะนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกใบนี้
อย่างที่เซอร์แอนโทนีได้กล่าวไว้ คงจะมีเพียงแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่า เซอร์แอนโทนีได้ถูกลิขิตมาเพื่อให้เกิดมาเป็นนักแสดง หากแต่ความลับในการเข้าถึงบทบาทที่ทำให้พวกเราต่างเชื่อในทุก ๆ บทบาทที่เขาแสดงนั่นก็คือ การด้นสด (improvise)
การด้นสด คืออาวุธสำคัญของเขาในการทำมาหากินในสายอาชีพนี้
หากแต่การด้นสดของเซอร์แอนโทนี ไม่ใช่การแสดงสดแบบฉาบฉวยเอาหน้างาน แต่กลับตรงกันข้าม การด้นสดแบบเซอร์แอนโทนี คือการด้นสดแบบธรรมชาติที่มีการตระเตรียมตัวมาก่อนการเข้าฉากเป็นอย่างดี
“คือผมเป็นคนประเภทที่จะศึกษาบทของตัวเองอย่างลึกซึ้งซะจนผมรู้สึกว่าบทหรือคำพูดนั้นน่ะทำปฏิกิริยาเคมีบางอย่างกับสมองผม...ผมเชื่อในเรื่องการศึกษาบทนะ คือถ้าคุณเข้าใจบทอย่างถ่องแท้แล้วคุณจะด้นสด (improvise) จนมันดูเสมือนเหตุการณ์จริงได้ ซึ่งจริง ๆ มันง่ายนะ คุณจะไม่ต้องเสแสร้งว่าแสดงเลย คือจะให้ผมทำเป็นแสดง ผมทำไม่ได้นะ”
ฉะนั้นแล้วการด้นสดแบบฉบับเซอร์แอนโทนี บังเกิดจากความมีวินัยและรับผิดชอบในการเรียนรู้บทที่ตัวเองได้ บวกกับความใส่ใจเข้าอกเข้าใจตัวละครนั้น ๆ การแสดงของเขาเลยดูเป็นธรรมชาติจนกล่าวได้ว่า ไม่ได้ดูเหมือนเป็นการแสดงเลย แต่เหมือนเป็นตัวละครตัวนั้นจริง ๆ ทั้งหมดนี้เซอร์แอนโทนีเคยกล่าวเอาไว้ว่า เขาคงต้องยกเครดิตให้กับนักแสดงและทีมงานคนอื่นด้วยที่อนุญาตและสนับสนุนให้เขาสามารถแสดงในแบบด้นสดได้ ยกตัวอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Thor เขาสามารถเล่นเป็นเทพโอดินได้เพราะองค์ประกอบรอบข้างเป็นใจให้เขาคิดว่าตัวเองด้นสดเป็นโอดินได้โดยอัตโนมัติ
“ในเรื่อง Thor (ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า) คุณมีคริส เฮมส์เวิร์ธ (Chris Hemsworth) ซึ่งดูเหมือนเทพเจ้าธอร์ตัวเป็น ๆ แถมผู้กำกับยังจับผมใส่ชุดเกราะ จัดการเติมหนวดเคราให้ผม ให้ผมนั่งอยู่บนบัลลังก์ ให้ผมตะโกนสั่งใครก็ได้อีก”
องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เขาเป็นโอดินได้อย่างแนบเนียน
เซอร์แอนโทนีก็คงจะบอกเป็นนัยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาแสดงมันออกมาได้อย่างแนบเนียนเช่นนี้ เกิดจากทั้งตัวเขา ทั้งบรรยากาศรอบข้างอย่างผู้ร่วมแสดงและจากทีมงาน
• ดนตรี ศิลปะ ตัวโน้ตและชีวิต
เรื่องการแสดงไม่เป็นสองรองใคร แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชายผู้นี้มีเสน่ห์มากขึ้นอีก ก็ตรงที่เขามีความสามารถทางศิลปะด้านอื่นๆ อีก เช่นการเล่นเปียโน การแต่งเพลง และการวาดรูปอีกด้วย
โดยเฉพาะการเล่นเปียโน หากเราติดตามเซอร์แอนโทนี ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว คงจะได้เห็นเซอร์แอนโทนีบรรจงพรมนิ้วลงบนแป้นเสียงของเปียโนอย่างนุ่มนวลให้ได้ฟังกันอยู่บ่อย ๆ บางครั้งก็จะมีเจ้าเหมียวนิปโล – Niblo แมวน้อยของเซอร์แอนโทนีนั่งอยู่บนตักเป็นผู้ฟังอย่างเคลิบเคลิ้มอีกด้วย
เซอร์แอนโทนีเรียนเปียโนตั้งแต่เด็ก อาจจะเพราะว่าเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง คุณแม่ของเด็กชายแอนโทนีเลยคิดจะผลักดันลูกชายให้เดินทางสายดนตรีแทน เธอจึงส่งเสียให้ลูกชายได้เรียนเปียโนตั้งแต่ยังเด็ก แถมยังลงทุนซื้อเปียโนมาตั้งไว้ที่บ้านเพื่อให้ลูกชายได้ฝึกซ้อม
“ผมเริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่ยังเด็กเลยนะ น่าจะสักตอน 5 ขวบได้ แม่ผมส่งผมเรียนเปียโน แล้วผมก็พยายามเล่นเพลงที่มันยาก ๆ นะ แต่ผมไม่เคยมีความทะยานอยากจะไปเล่นที่คาร์เนกีฮอลล์เลย ผมแค่อยากเล่นเปียโนเพื่อความรื่นรมย์ของตัวผมเองมากกว่า”
เราอาจจะคุ้นตากับเซอร์แอนโทนีในฐานะนักแสดง แต่นักฟังเพลง โดยเฉพาะคอเพลงคลาสสิกน่าจะรู้จักเซอร์แอนโทนีในฐานะนักแต่งเพลงเพิ่มเข้าไปด้วยอีกหนึ่งบทบาท เพราะแท้จริงแล้วเซอร์แอนโทนีเคยแต่งเพลงไว้มากมายหลายเพลง เช่น Distant Star (1986) จนปี 2012 เซอร์แอนโทนีแต่งเพลงคลาสสิกไว้หลายเพลงจนสามารถรวบรวมเป็นอัลบั้มได้ (อัลบั้ม Composer)
“ผมชอบการแต่งเพลงนะ ถ้าตอนนั้นผมเรียนเก่งพอ ผมคงได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยดนตรีไปแล้ว”
คงจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่พระเจ้ากำหนดไว้แล้วให้หนุ่มน้อยแอนโทนีเรียนหนังสือไม่เก่งที่โรงเรียน จนไม่ได้เข้าเรียนโรงเรียนดนตรี มิเช่นนั้นเราคงจะไม่ได้เห็นนักแสดงชายเจ้าบทบาทคนนี้
แม้จะมีงานด้านนี้ออกมาบ้าง แต่ที่สุดแล้วแม้เซอร์แอนโทนีจะไม่ได้เป็นนักเปียโนคลาสสิกแบบฟูลไทม์ตามที่คุณแม่ของเขาคาดหวังเอาไว้ อย่างไรก็ตาม เขายังคงเล่นเปียโนวันละ 4 ชั่วโมง เขายังคงอ่านหนังสือ วาดรูป เพื่อฝึกจิตใจและสมองให้แจ่มใสอยู่เสมอ
"เซอร์ แอนโทนี ฮ็อปกินส์" 29 ปีแห่งการรอคอยดับเบิลออสการ์ จากฮันนิบาล สู่ผู้ป่วยสมองเสื่อม