เดอะซันจัด 5 แคนดิเดตผู้สืบทอด “วู้ดเวิร์ด” & กระแสหนุน'ป๋า'นั่งเก้าอี้แทนวู้ดเวิร์ด & วู้ดเวิร์ดได้เลือกทายาทก่อนวางมือ

แฟนแมนยูเลือกใคร? เดอะซันจัด 5 แคนดิเดตผู้สืบทอด“เอ็ด วู้ดเวิร์ด”

การลาออกของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด รองประธานกรรมการบริหาร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถือเป็นข่าวใหญ่หลังทีมบิ๊กซิกซ์พรีเมียร์ลีกถอนตัวจาก ซูเปอร์ลีก โดยเขาทำงานกับสโมสรมานานถึง 16 ปีซึ่ง 9 ปีหลังสุดเป็นการขึ้นสืบทอดตำแหน่งของ เดวิด กิลล์ เมื่อปี 2012 เขาจะทำงานจนถึงสิ้นปี 2021 ดังนั้นตระกูลเกลเซอร์ในฐานะจ้าของสโมสรคงต้องหาตัวแทนในตำแหน่งนี้และนี่คือ 5 คนที่สื่อดังผู้ดีอย่าง “เดอะ ซัน” เลือกมาให้เป็นแคนดิเดตผู้สืบทอดต่อจาก วู้ดเวิร์ด



1.เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์



น่าจะเป็นตัวเลือกที่แฟนผีแฮปปี้ไม่น้อยเพราะ เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ เป็นอดีตนายด่านขวัญใจแฟนบอลซึ่งปัจจุบันรับตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารของ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งเวที เอเรดิวิซี่ ฮอลแลนด์ แน่นอนว่าเขามีความสัมพันธ์อันดีกับสโมสรแถมยังมีประสบการณ์ด้านการบริหารมาแล้ว น่าจะเป็นแคนดิเดตที่เหมาะสมเหลือเกิน

เมื่อมีตำแหน่งที่เกี่ยวกับการบริหารใน แมนฯ ยูไนเต็ด ว่างทีไรก็มักจะมีชื่อคนนี้โผล่มาเป็นข่าวเชื่อมโยงทุกครั้ง ก่อนหน้านี้เจ้าตัวปฏิเสธที่จะกลับมา โอลด์ แทรฟฟอร์ด เพื่อมาเป็นผู้อำนวยการกีฬาก่อนที่ “ผีแดง” จะแต่งตั้ง จอห์น เมอร์เท่อห์ ครั้งนี้ก็มีข่าวว่า แมนฯ ยูไนเต็ด พิจารณา ฟาน เดอ ซาร์ อยู่มารับตำแหน่งเช่นกัน รอดูกันว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

2.ริชาร์ด อาร์โนลด์



ริชาร์ด อาร์โนลด์ เป็นตัวเต็งที่จะขึ้นมาแทน เอ็ด วู้ดเวิร์ด ในตอนนี้ เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด และเขาเป็นหนึ่งในทีมงานที่ วู้ดเวิร์ด เชื่อใจมาตลอด อาร์โนลด์ ทำงานกับ “ผีแดง” มาตั้งแต่ปี 2007 ในเรื่องฝ่ายการตลาดและคอยดูแลเรื่องสเปอนเซอร์, โฆษณา และการค้าต่างๆ

ในเมื่อตอนนี้ แมนฯ ยูไนเต็ด มีผู้อำนวยการกีฬาอย่าง จอห์น เมอร์เท่อห์ แล้ว พวกเขาก็ควรจะหาคนที่เก่งในเรื่องการบริหารธุรกิจแบบ เอ็ด วู้ดเวิร์ด ไม่แปลกใจที่ อาร์โนลด์ จะเป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ ก่อนหน้านี้ ปีเตอร์ เคนย่อน, เดวิด กิลล์ หรือ เอ็ด วู้ดเวิร์ด ต่างได้รับการเลื่อนขั้นมาแล้ว นี่จึงเป็นทางเลือกที่มีความไปได้มากทีเดียว 

นอกจากนี้อีกหนึ่งคนที่มีโอกาสได้รับการเลื่อนขั้นคือ คลิฟฟ์ บาตี้ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน

3.ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์



“เดอะ ซัน” ใส่ชื่อของ เฟล็ทเชอร์ เข้ามาด้วยซึ่งก็ดูจะแปลกตาไปสักนิดเพราะเขาเพิ่งเข้ามาทำงานกับสโมสรเมื่อปีที่แล้วในฐานะโค้ชทีม ยู-16 และต่อมาในเดือนมกราคมปี 2021 นี้เอง เขาได้รับการโปรโมทขึ้นมาเป็นสต๊าฟฟ์โค้ชในทีมชุดใหญ่ของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา

ฝ่ายบริหารน่าจะประทับใจการทำงานของ ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์ ไม่น้อยเพราะเมื่อเดือนที่แล้วเจ้าตัวขยับขึ้นมาเป็นผอ.ฝ่ายเทคนิคของสโมสรเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าเขาอาจจะได้ตำแหน่งใหม่ในอีก 9 เดือนข้างหน้า 

แต่เมื่อดูจากความเป็นไปได้แล้วอาจจะยากสักนิดเพราะในมุมของการบริหารเจ้าตัวยังไม่มีประสบการณ์เลย ถ้าจะหาข้อดีของเขาก็คงจะเป็นความรู้ในเรื่องฟุตบอลอย่างเต็มเปี่ยมรวมถึงการรู้จักแฟนบอลทีมนี้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม จอห์น เมอร์เท่อห์ ที่เพิ่งขึ้นเป็นผอ.กีฬา ยังดูเป็นแคนดิเดตที่ดีกว่า เฟล็ทเชอร์ มากกว่าอีก

4.ไมเคิ่ล เอเมนาโล่



เปลี่ยนมาดูแคนดิเดตคนนอกที่ไม่เกี่ยวกับ แมนฯ ยูไนเต็ด บ้าง ไมเคิ่ล เอเมนาโล่ เป็นอดีตผู้อำนวยการทางเทคนิคของ "สิงโตน้ำเงินคราม" เชลซีซึ่งทำงานรับใช้สโมสรยาวนานถึง 10 ปี เขาเข้ามารับงานกับ เชลซี เมื่อปี 2007 ในตอนที่  อัฟราม แกรนท์ กุนซือชาวอิสราเอลเป็นผู้จัดการทีม โดยรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมแมวมอง 

ต่อมาเขาถูกเลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมในปี 2010 และขยับเป็น ผอ. ฝ่ายเทคนิคในปีถัดมา เขาถือเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาที่ โรมัน อบราโมวิช ห้ความเชื่อใจมากที่สุด เอเมนาโล่ ตัดสินใจบอกลาทีมแบบสุดช็อก พื่อไปรับงานผู้อำนวยการทางเทคนิคกับ โมนาโก ก่อนจะแยกทางในปี 2019

ที่เขาถูกนำมาเชื่อมโยงกับ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นเพราะว่า เอียน ไรท์ ตำนานดาวยิงของ อาร์เซน่อล เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วว่า แมนฯ ยูไนเต็ด จะแต่งตั้ง เอเมนาโล่ แทนที่ของ วู้ดเวิร์ด 

“เรากำลังพูดถึงผู้อำนวยการกีฬาที่รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร เขาสร้างวัฒนธรรมในการเลือกนักเตะที่ถูกต้อง นำผู้จัดการทีมที่ถูกต้องคนนั้นเข้ามา และทีมก็จะสามารถไปต่อได้ นี่แหละเป็นสิ่งที่ แมนฯ ยูไนเต็ด จำเป็นต้องมี และเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่มีในตอนนี้"

5.อันเตโร่ เอ็นริเก้



คนสุดท้ายเคยมีข่าวเชื่อมโยงกับ แมนฯ ยูไนเต็ด มาแล้ว เขาคือ อันเตโร่ เอ็นริเก้ ประวัติคร่าวๆของเขานั้นเคยทำงานกับ ปอร์โต้ มาตั้งแต่ปี 1990 จนกระทั่งได้ขยับมาเป็นผู้อำนวยการกีฬาของสโมสรในปี 2005 โดยในขณะที่เขาดำรงตำแหน่ง ปอร์โต้ เซ็นสัญญา ราดาเมล ฟัลเกา ในปี 2009 และ ฮาเมส โรดริเกซ ในปี 2010 ซึ่งต่อมาทั้งสองก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ดังของวงการลูกหนัง

เขาขยับขึ้นมาเป็นรองประธานสโมสรของ ปอร์โต้ แต่ต่อมาเจ้าตัวมีความทะเยอทะยานจึงออกจากทีมไปทำงานเป็น ผอ.กีฬา ให้ เปแอสเช ในปี 2017 แน่นอนว่าเขาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างดีลสถิติโลกอย่าง เนย์มาร์ รวมถึงโน้มน้าม คีลิยัน เอ็มบั๊ปเป้ เข้าสู่ทีม ก่อนจะแยกทางกับ เปแอสเช ในปี 2019 ดูจากประวัติก็รู้เลยว่าประสบการณ์โชกโชนแค่ไหนในวงการฟุตบอล เขาน่าจะเป็น วู้ดเวิร์ด แบบเวอร์ชั่นอัพเกรดขึ้นมา

credit : www.siamsport.co.th โดย "Zvo"

กระแสหนุน'ป๋า'นั่งเก้าอี้แทนวู้ดเวิร์ด

ดิ แอธเลติก สื่อเจ้าดังเผยว่า เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตนายใหญ่ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้รับการสนับสนุนให้รับตำแหน่งแทนที่ของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด ที่ประกาศอำลาทีมไป

ผู้บริหารวัย 49 ปีประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าจะอยู่ในตำแหน่งจนสิ้นปี 2021 เท่านั้น ก่อนที่จะแยกทาง ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าตัวถือเป็นคนสำคัญของตระกูลเกลเซอร์ในการบริหารจัดการสโมสร โดยเฉพาะเรื่องของการเข้าเทคโอเวอร์ "ปีศาจแดง" เมื่อปี 2005 ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งปัจจุบันในปี 2013 แทนที่ เดวิด กิลล์ ที่อำลาทีมไป

จากรายงานของสื่อเจ้าดังเผยว่าตอนนี้มีกระแสเรียกร้องจากภายในสโมสรให้ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เข้ารับตำแหน่งแทนที่ วู้ดเวิร์ด ที่เตรียมอำลาทีม ซึ่งนับตั้งแต่อำลาสโมสรทาง "ป๋า" ไม่ได้มีส่วนร่วมในการแต่งตั้งผู้บริหารใดๆและไม่ได้มีการปรึกษาเกี่ยวกับทิศทางของสโมสร

ยูไนเต็ดไม่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกมานาน 8 ปีนับตั้งแต่ เซอร์ อเล็กซ์ วางมือ ซึ่งแฟนบอลมองว่าชื่อเสียงของ "ป๋า" น่าจะมีประโยชน์ในการโน้มน้าวบรรดาแข้งดังให้ย้ายมาอยู่กับสโมสรได้

credit : www.thsport.com

เรื่องอะไร?เผยเหตุผลทำวู้ดเวิร์ดตัดสินใจลาแมนยู

เอ็ด วู้ดเวิร์ด ตัดสินใจที่จะหันหลังให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด เพราะรับไม่ได้กับแนวคิดการร่วม ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก โดยคนที่กระสันให้ "ปีศาจแดง" ไปร่วมกับโปรเจ็กต์ดังกล่าวคือตระกูลเกลเซอร์ ไม่ใช่ วู้ดเวิร์ด แต่อย่างใด ตามการเปิดเผยของ เดอะ ซัน สื่อของอังกฤษ

เอ็ด วู้ดเวิร์ด ตัดสินใจที่จะลาออกจากตำแหน่งรองประธานบริหารของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพราะไม่สนับสนุนแผนของตระกูลเกลเซอร์ ที่จะให้สโมสรไปรวมตัวกับทีมอื่นเพื่อจัดศึก ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก โดยเขาไม่รู้เรื่องใดๆ เกี่ยวกับแผนงานช่วงสุดท้ายของโปรเจ็กต์ดังกล่าวเลย ตามรายงานของ เดอะ ซัน สื่อของอังกฤษ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา แมนฯ ยูไนเต็ด ประกาศตัวเป็น 1 ใน 12 สโมสรยักษ์ใหญ่ของทวีปยุโรปที่ต้องการแยกตัวออกจากรายการระดับทวีปของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) เพื่อไปจัดรายการใหม่กันเอง โดยที่ตั้งเป้าจะเล่นเกมลีกกับเกมฟุตบอลถ้วยภายในประเทศต่อไป ซึ่งมันมีหลายฝ่ายที่คัดค้านกับเรื่องดังกล่าวอย่างรุนแรง
 
ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา จู่ๆ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ประกาศว่า วู้ดเวิร์ด จะแยกทางกับทีมในช่วงสิ้นปีนี้ ก่อนที่ไม่นานหลังจากนั้น "ปีศาจแดง" จะแถลงการณ์ว่าพวกเขาถอนตัวจากโปรเจ็กต์การจัด ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก แล้ว ซึ่งนั่นทำให้หลายคนมองว่า วู้ดเวิร์ด ลาออกเพื่อรับผิดชอบกับไอเดียดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม เดอะ ซัน ระบุว่าที่จริงการไปร่วม ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก มันเป็นแนวคิดของตระกูลเกลเซอร์ และ วู้ดเวิร์ด ไม่สนับสนุนแผนงานดังกล่าวเลย จนกระทั่งเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา เขาก็ตัดสินใจว่าจะก้าวลงจากตำแหน่ง ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในวันต่อมา โดยที่จริง วู้ดเวิร์ด กับตระกูลเกลเซอร์สนิทกันอย่างมาก และมักจะหารือเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ กันอยู่บ่อยๆ



credit : www.siamsport.co.th

แฟนผีเบ้หน้า!เหตุวู้ดเวิร์ดได้เลือกทายาทก่อนวางมือ

เอ็ด วู้ดเวิร์ด ฐานะผู้บริหารระดับสูง/รองปธ.สโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด จะยังได้สิทธิ์ขาดในการเลือกผู้มีมีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อมารับตำแหน่งเขาที่จะลาออกในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตามกระแสจากแฟนบอลเร้ด เดวิลส์ ต่างรุมยี้เนื่องจากมองเป็นการสืบทอดอำนาจโดย ผู้บริหารวัย 49 ปียังชักใยเบื้องหลัง

รายงานจาก ‘แมนเชสเตอร์ อีฟนิ่ง นิวส์’ ถึงการประกาศก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอ ‘ปีศาจแดง’ของ วู้ดเวิร์ด เพื่อแสดงความรับผิดชอบฐานเป็นผู้ร่วมผลักดันโปรเจคต์ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ร่วมกับ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ปธ.สโมสร เรอัล มาดริด และ อันเดรีย อันเญลลี่ ประธานสโมสร ยูเวนตุส แล้วล้มเหลวจนกลายเป็นเรื่องฉาวของวงการ 

ตลอดเวลากว่า 16 ปีที่ วู้ดเวิร์ด อยู่บนตำแหน่งผ่านการร่วมงานผจก.ทีมฟูลไทม์/รักษาการ ทั้งหมด 6 ราย สถานภาพลอยตัวยุค เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เพราะทีมยังประสบความสำเร็จ แต่กลับถูกด่าจมหูหลังปี 2013 เป็นต้นมาเพราะสโมสรไม่เป็นแชมป์ลีกอีกเลย 
 
นอกจากนั้นยังผิดพลาดเชิงนโยบายหลายอย่างไม่ว่าการเลือกแต่งตั้งผจก.ทีม, การผูกขาดอำนาจตัดสินใจซื้อ-ขายนักเตะ และโฟกัสเรื่องทำธุรกิจมากกว่าสร้างผลงานบนสนาม 
 
เป็นเหตุให้แฟนบอล รวมถึงศิษย์เก่าซึ่งผันตัวเป็นสื่อมวลชนโจมตีตลอดว่าความล้มเหลวของสโมสรส่วนหนึ่งเพราะเขา กระทั่งกรณี ซูเปอร์ลีก ที่สร้างความอับอายแก่กองเชียร์อย่างที่สุดเนื่องจากเป็นแผนงานเอาแต่ได้ของพวกทีมใหญ่ ส่งผลต่อการตัดสินใจลาออกเมื่อจบฤดูกาล 2020-21 
 
ทว่าสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคืออำนาจในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงคนใหม่ยังเป็น วู้ดเวิร์ด คัดสรร จนอาจนำมาซึ่งการครอบงำซีอีโอคนใหม่จากภายนอก จนขาดความเป็นอิสระสำหรับกำหนดทิศทางสู่อนาคต 
 
ประวัติศาสตร์สโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด มีประธานผู้บริหารระดับสูงมาแล้ว 3 คนคือ วู้ดเวิร์ด, เดวิด กิลล์ และ ปีเตอร์ เคนย่อน ทั้งหมดถูกแต่งตั้งเป็นการภายใน



credit : www.thsport.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่