เจาะยึดผนัง อิฐและคอนกรีตอย่างมืออาชีพ



บ่อยครั้งไหมที่อยากจะแขวนรูปหรือติดตั้งชั้นวางของต่างๆ ไม่รู้ว่าจะเจาะยึดด้วยอะไร หรืออาจประสบปัญหาเมื่อเจาะยึดแล้วหลวมหรือรับน้ำหนักไม่ได้ ก่อนอื่นเราต้องทราบว่าผนังที่จะเจาะทำด้วยอะไร สำหรับบ้านและคอนโดส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผนังอิฐ ผนังคอนกรีตบล็อก ผนังคอนกรีตมวลเบา และผนังคอนกรีต ซึ่งผนังแต่ละประเภทต้องเลือกใช้สกรูและพุกที่เหมาะสม มาดูกันเลยครับว่า มีตัวเลือกในการ เจาะยึดผนัง แบบใดที่เหมาะกับการใช้งานของคุณ HomeGuru จะพาไปดูครับ



สกรูเกลียวปล่อยและพุกตัวหนอน

สกรูและพุกตัวหนอนหรือพุกพลาสติกพีวีซีนี้เหมาะสำหรับการเจาะยึดผนังก่ออิฐและผนังคอนกรีตใช้งานทั่วไปที่รับน้ำหนักไม่มาก โดยเฉลี่ยสกรูและพุกประเภทนี้สามารถรับน้ำหนักได้ประมาณไม่เกิน 10-20 กก. ต่อจุด เช่น ชั้นวางของขนาดเล็กหรือการแขวนกรอบรูป ติดตั้งโดยใช้สว่านเจาะรูที่มีขนาดเท่ากับตัวพุก เมื่อขันสกรูแล้วสกรูจะไปขยายพุกให้แนบในผนัง

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


สกรูเกลียวปล่อยพุกคอนกรีตบล็อก

ความแตกต่างของพุกคอนกรีตบล็อกคือผลิตจากพลาสติกประเภทไนล่อนที่เหนียวทนทานกว่าพีวีซี และมีร่องฟันถี่จำนวนมากที่ออกแบบมาสำหรับการยึดเกาะบล็อกคอนกรีตที่มีความพรุน ใช้การติดตั้งเช่นเดียวกับสกรูและพุกพลาสติก แต่สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าพุกพีวีซี โดยประมาณไม่เกิน 30 กก. ต่อจุด

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้



สกรูและพุกคอนกรีตมวลเบา

อุปกรณ์เจาะยึดประเภทนี้ออกแบบเฉพาะสำหรับผนังคอนกรีตมวลเบาที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และเข้ามาทดแทนผนังก่ออิฐในการก่อสร้าง ตัวพุกมีลักษณะเป็นฟันเลื่อยปลายแหลมคมเล็กที่เหมาะสำหรับการเจาะยึดคอนกรีตมวลเบาที่มีเนื้อละเอียดคล้ายฟองน้ำ ชุดสกรูและพุกชนิดนี้รับน้ำหนักได้สุดสุดถึง 35 กก. ต่อจุด การติดตั้งทำวิธีเดียวกับสกรูและพุกพลาสติก




สกรูยึดคอนกรีต

สกรูชนิดนี้ออกแบบให้เกลียวสกรูมีขนาดใหญ่ และทำจากเหล็กคุณภาพสูงที่มีความแข็ง การติดตั้งใช้สว่านเจาะรูนำร่อง โดยเลือกดอกสว่านที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าตัวสกรูประมาณ 1.5-2 มม. จากนั้นก็ขันสกรูด้วยไขควงหรือประแจได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งพุกใดๆ เพราะเกลียวสกรูที่แข็งและออกแบบเพิเศษให้เซาะเกาะกับเนื้อคอนกรีต แต่ไม่สามารถใช้ได้กับผนังอิฐที่ไม่แกร่งเท่าผนังคอนกรีตได้ เนื้ออิฐจะแตกหลุดออกมา

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


ข้อดีของสกรูชนิดนี้คือไม่จำเป็นต้องเจาะรูขนาดใหญ่ในผนังคอนกรีตที่แข็ง ซึ่งมีความยากพอควร อีกทั้งรับน้ำหนักได้มาก เช่น สกรูเบอร์ 10 ที่มีขนาด 4.8 มม. ยาว 20 มม. รับน้ำหนักได้ 100 กก.



น๊อตหัวขยายพร้อมพุกสำหรับผนังคอนกรีต

อุปกรณ์เจาะยึดประเภทนี้ออกแบบสำหรับใช้กับคอนกรีต เน้นจุดที่ต้องการรับน้ำหนักมาก รวมถึงการติดตั้งบริเวณพื้นหรือเพดานคอนกรีต ตัวพุกใช้วัสดุที่หลากหลาย พุกเหล็กเหมาะกับการใช้งานภายใน พุกตะกั่วและพุกสเตนเลสสตีลเหมาะกับการใช้งานภายนอก สำหรับการใช้งานใน โดยทั่วไปจะใช้ 2 รูปแบบ แบบแรกได้แก่ ชุดน๊อตพร้อมพุกปลอกสลีพ สามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 90 กก. ต่อจุด ติดตั้งด้วยการเจาะรูขนาดเท่ากับตัวพุก ใส่พุกแล้วขันน็อตซึ่งจะขยายปลอกพุกให้ถ่างยึดกับผนัง

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


สำหรับแบบที่สองนั้นเป็นพุกดร็อปอิน ที่สามารถรับน้ำหนักได้สูงมากเมื่อเทียบกับขนาด ตัวอย่างเช่น พุกขนาด ¼ นิ้ว ยาว 1 นิ้ว รับน้ำหนักได้มากถึง 400 กก. แต่ว่าจะใช้การเจาะรูแล้วฝังพุกเช่นเดียวกับอุปกรณ์เจาะยึดอื่นๆ แต่พุกดร็อปอินต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะตอกเพื่อขยายตัวพุก



คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ในการเจาะยึดผนังทุกประเภทที่กล่าวมา แม้ว่าสกรู น๊อต และพุกสามารถรับน้ำหนักได้มากเพียงใด ยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่ต้องคำนึง อย่างเช่น ขนาดและความยาวของสกรูและพุก จำนวนจุดเจาะยึดที่มีส่วนช่วยกระจายแรงยึด และอีกตัวแปรที่สำคัญคือคุณสมบัติความแข็งแรงของผนังที่เจาะยึดนั่นเอง 

ไม่ว่าอุปกรณ์เจาะยึดจะแข็งแรงเพียงใด หากผนังไม่สามารถรับได้ก็จะหลวมหลุดได้เช่นกัน ดังนั้นควรศึกษาพิจารณาองค์ประกอบเหล่านี้ก่อนติดตั้ง หรือใช้ช่างที่ชำนาญในการติดตั้งอุปกรณ์หรือสิ่งของที่ต้องการติดบนผนังจะดีกว่า




HomeGuru by HomePro
อุ่นใจทุกเรื่องบ้านไปกับโฮมโปร และติดตามเคล็ดลับดีๆ เพื่อบ้านได้ทาง http://bit.ly/HomeGuru_Homepro
และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาเรื่องบ้านกับ HomeGuru เพิ่มเติมได้ทาง https://bit.ly/3dQm4XE
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่