งานเลื่อย 8 ประเภท ที่ควรมีติดบ้านไว้เรื่อยๆ



งานเลื่อย หากต้องการทำงาน DIY หรือ งานช่าง สักงานคงเป็นอุปกรณ์หลักที่ขาดไม่ได้เลย แต่หลายๆบ้านเป็นกังวล แม้ว้าเลื่อยจะเป็นอุปกรณ์พื้นฐาน แต่ปัญหาคือไม่รู้ว่าจะเลือกใช้เลื่อยประเภทไหนให้เหมาะกับ การใช้งานเลื่อย ที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ HomeGuru มีคำตอบและคำแนะนำการใช้ งานเลื่อย มาฝากทุกบ้านที่ต้องทำงาน DIY และงานช่างกันครับ



ประเภทของเลื่อย เลือกอย่างไรให้เหมาะกับงานช่าง

เลื่อยลันดา (Hand Saw)
คุณพ่อบ้านแทบทุกบ้านที่ชอบงานเลื่อย ต้องรู้จัก และมี เลื่อยลันดา ติดบ้านไว้ใช้สอย ด้วยลักษณะของเลื่อยลันดาที่มีลักษณะเป็นแผ่น โคนใหญ่ปลายเรียว และมีซี่ฟันที่เรียงกันเป็นระเบียบตลอดความยาวของใบเลื่อย และมีมือจับ จึงทำให้เหมาะกับงานช่างไม้ และงานช่างก่อสร้าง โดยใช้สำหรับเลื่อยตัดซอยแปรรูปไม้ได้อย่างสะดวกสบาย ส่วนใหญ่แล้วเลื่อยลันดาจะมีความยาวให้เลือกใช้ตั้งแต่ 16-24 นิ้ว ตามความเหมาะสม เช่น

- เลื่อยลันดาชนิดตัด มีความถี่ของฟันประมาณ 8-12 ซี่ ใช้สำหรับไม้ตามขวางของเสี้ยนไม้
- เลื่อยลันดาชนิดโกรก ใช้สำหรับโกรกหรือผ่าไม้ ความเอียงของฟันเลื่อยจะมีองศาที่เอียงมากกว่าเลื่อยตัด มีจำนวนฟันประมาณ 5-8 ซี่



เลื่อยหางหนู (Keyhole Saw)
สำหรับใครที่ชอบทำงาน DIY ประเภทงานฉลุ หรือเลื่อยส่วนโค้งที่มีความยาวไม่มากนัก อย่างการเลื่อยส่วนโค้งเพื่อประกอบรูปทรงเฟอร์นิเจอร์ หรือใช้เจาะฝ้า ผนังยิปซัม เลื่อยหางหนู หรือหลายๆ คนเรียกว่าเลื่อยฉลุ ฝ้าสามารถใช้งานได้ เพราะด้วยลักษณะของตัวเลื่อยที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ลักษณะใบเลื่อยยาวไปจนถึงด้ามจับ ปลายเรียวแหลมและคมมาก โดยสามารถถอดเก็บ และเปลี่ยนใบเลื่อยได้ จึงทำให้ งานเลื่อย สะดวกสบายในการใช้งาน หรือบางบ้านอาจจะนำไปเป็นเครื่องมือตัดแต่งกิ่งไม้เลื้อยได้อีกด้วยครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


เลื่อยตัดเหล็ก หรือเลื่อยมือ (Hack Saw)
เลื่อย ชนิดนี้เหมาะสำหรับ งานเลื่อย หรืองาน DIY ที่เน้นตัดโลหะเป็นส่วนมาก เช่น น็อต ตะปู เหล็กฉาก สกรู หรือ ท่อพีวีซี การใช้งานเลื่อย ไม่เหมาะกับงานไม้ เพราะฟันของเลื่อยค่อนข้างละเอียด ใบเลื่อยทำด้วยเหล็กกล้ามีความเหนียวมาก ปลายสุดของใบเลื่อยมีรูสำหรับยึดกับตัวเลื่อย เพื่อบังคับให้เลื่อยมีความแน่นยิ่งขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วเลื่อยจะมีขนาดความยาว 12 นิ้ว และสามารถถอดเก็บหลังการใช้งานได้

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


เลื่อยฉลุ (Coping Saw)
หากต้องการสร้างงาน DIY ด้วยลวดลายบนไม้ เลื่อยฉลุ เป็นตัวเลือกที่ดีที่นิยมใช้กันมาก ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ฉลุไม้ งานตัดมุมโค้ง มุมแคบ เหมาะกับงานชิ้นไม่ใหญ่ เพราะลักษณะของเลื่อยมีขนาดบาง และเล็ก ใบเลื่อยมีความอ่อนตัว เหมือนเส้นลวด การใช้งานเลื่อย จึงต้องขึงใบเลื่อยกับด้าม และคันเลื่อยให้ตึงก่อนใช้งานทุกครั้ง และเมื่อใช้งานเสร็จแนะนำให้คลายความตึงของใบเลื่อยทันทีก่อนเก็บเข้าที่ครับ



เลื่อยคันธนู (Bow Saw)
คุณพ่อบ้าน และคุณแม่บ้านที่ชอบทำสวน ไม่ควรมองข้าม งานเลื่อย และควรมี เลื่อยคันธนู ไว้ติดบ้าน เพื่อใช้สำหรับเลื่อยตัดกิ่งไม้ ทั้งไม้สดและไม่แห้ง หรือจะใช้ตัดลำต้นไม้ขนาดเล็ก เพื่อตกแต่ง รวมถึงใช้ทำเป็นไม้ฟืน ลักษณะของตัวเลื่อยมีความคล้ายกับคันธนู ใบเลื่อยมีความแกร่ง และความคมเป็นพิเศษเพราะผลิตจากเหล็กกล้า และชุบแข็งที่ฟันเลื่อย ขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา พกพาได้สะดวก มีให้เลือกใช้หลากหลายขนาดขึ้นกับความต้องการใช้งาน อาทิ 12 นิ้ว 21 นิ้ว 24 นิ้ว และ 30 นิ้ว เลยครับ



เลื่อยโค้งตัดกิ่งไม้ (Pruning Saw)
ไม่ต้องเสียเวลาจ้างคนดูแลสวนให้สวยเนียนกริบในทุก ๆ อาทิตย์ เพียงแค่มีเลื่อยโค้งตัดกิ่งไม้ ก็สามารถตัดแต่งกิ่งไม้ หรือตัดก่อไผ่ให้บ้านไม่รกได้แล้วนะครับ ด้วยลักษณะของตัวเลื่อยที่มีลักษณะโค้ง ใบเลื่อยทำจากเหล็กชุบแข็งให้ความแข็งแรง และทนทาน ฟันเลื่อยแต่ละซี่มีความถี่จึงทำให้รอยการตัดละเอียด แถมน้ำหนักเบา ง่ายต่อการใช้งานอีกด้วยครับ

หากต้องการตัดแต่งกิ่งไม้ในที่สูง การใช้งานเลื่อย ก็ง่ายนิดเดียวครับเพียงต่อด้ามเลื่อยเข้ากับลำไม้ไผ่ ก็ช่วยให้สะดวกสบาย และไม่เป็นอันตรายระหว่างใช้งานอีกด้วยครับ



เลื่อยพลูซอ (Pull Saw)
เลื่อยพลูซอ เป็นเลื่อยอเนกประสงค์ที่สามารถพกพาไว้ในกระเป๋าสำหรับเดินทางไปแคมป์ปิ้ง และใช้งานสำหรับตกแต่งกิ่งไม้ งานพลาสติก และงาน PVC ที่มีขนาดไม่หนามาก หรือใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์ ลักษณะของเลื่อยมีขนาดเล็ก สามารถพับเก็บได้ ตัวฟันเลื่อยเป็นแบบฟันดึง แม้ใบเลื่อยจะสั้น แต่มีความคมของใบเลื่อยสูง ทำให้ตัดแต่งกิ่งไม้ได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นเลื่อยอีกประเภทหนึ่งที่ควรมีไว้ติดบ้าน และทำงาน DIY หรือ งานเลื่อย ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วนะครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


เลื่อยบังตอ หรือเลื่อยลอ (Dovetail Saw)
งานที่ประณีตการใช้ เลื่อยบังตอ จะช่วยให้งานมีความละเอียดเป็นพิเศษมากขึ้น ลักษณะของเลื่อยคล้ายคลึงกับเลื่อยสันแข็ง แต่ด้ามจับจะเป็นด้ามยาว ใบเลื่อยมีให้เลือกความยาวหลายขนาดขึ้นอยู่กับความต้องการส่วนใหญ่แล้วจะนิยมใช้ 10 นิ้ว มากกว่า 8 นิ้ว และ 12 นิ้ว การใช้งานแนะนำให้ใช้ร่วมกับปากกาจับชิ้นงานเพื่อให้ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือใช้ร่วมกับกล่องตัดปรับมุมก็ได้ครับ



เมื่อทราบความต้องการ และรายละเอียด การใช้งานเลื่อย แต่ละประเภทแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากในการสร้างสรรค์งานช่าง งานเลื่อย งานไม้ งานก่อสร้าง หรืองาน DIY ที่สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้านกันแล้วนะครับ แต่ไม่ว่าจะเป็นเลื่อยประเภทไหน สิ่งสำคัญที่ HomeGuru อยากแนะนำให้ทุก ๆ บ้านไม่ควรมองข้ามเลยคือ การบำรุงรักษาเลื่อย หลังการใช้งานเลื่อยทุกครั้ง

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


ควรทำความสะอาดด้วยแปรงบริเวณใบเลื่อยเพื่อให้เศษขี้เลื่อยหลุดออกจากฟันเลื่อย และป้องกันการเกิดสนิมด้วยการทาน้ำมันป้องกันสนิม และไม่ควรใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด-ด่าง ในการทำความสะอาด หากต้องการให้เลื่อยคมอยู่เสมอ แนะนำให้ใช้ตะไบตกแต่งฟันเลื่อยให้คม โดยเลือกตะไบที่พอดีกับฟันเลื่อย ที่สำคัญไม่ควรเก็บไว้ในที่ชื้น เพื่อป้องกันการเกิดสนิมนะครับ


HomeGuru by HomePro
อุ่นใจทุกเรื่องบ้านไปกับโฮมโปร และติดตามเคล็ดลับดีๆ เพื่อบ้านได้ทาง http://bit.ly/HomeGuru_Homepro
และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาเรื่องบ้านกับ HomeGuru เพิ่มเติมได้ทาง https://bit.ly/3dQm4XE
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่