จับตา! คลัสเตอร์ค่ายอาสาเชียงใหม่ ติดโควิด 34 คน กระจาย 13 จว.



"นพ.เฉวตสรร นามวาท" เผย สธ.พบคลัสเตอร์ ค่ายอาสาของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดเชื้อแล้ว 34 คน กระจายใน 13 จังหวัด ขณะที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเตรียมเอาผิดสถานพยาบาลพบผู้ติดเชื้อแล้วไม่แจ้ง หรือไม่รับรักษา
วันนี้ (15 เม.ย.2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีคลัสเตอร์ค่ายอาสาของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วม 77 คน โดยพบเชื้อ 34 คน คิดเป็น 44.2% ไม่พบเชื้อ 41 คน รอผลอีก 2 คน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีทั้งอาจารย์ 8 คน นักเรียนในโรงเรียนที่ไปออกค่าย 52 คน และภารโรง 1 คน

อย่างไรก็ตาม นพ.เฉวตสรร ระบุว่า เมื่อกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวมีกิจกรรม จะมีการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ทำให้ขณะที่มีความเชื่องโยงไปจังหวัดอื่นถึง 13 จังหวัด โดยเชียงใหม่ 21 คน ตาก 2 คน และจังหวัดอื่น ๆ อีก จังหวัดละ 1 คน
นอกจากนี้ที่ จ.นนทบุรี ยังพบผู้ป่วย COVID-19 เชื่อมโยงงานสัมมนาซึ่งจัดขึ้นในช่วงวันที่ 3-4 เม.ย.2564 โดยมีผู้เข้าร่วมงาน 80 คน ติดเชื้อ 14 คน ไม่มีอาการป่วย 8 คน โดยกระจายไป 8 จังหวัด คือ อยุธยา ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ซึ่งผู้ร่วมงานทำกิจกรรมบางคนมีการถอดหน้ากาก และรับประทานอาหารโต๊ะจีนร่วมกันด้วย

"คลินิก - รพ." ไม่แจ้ง - ประสานเตียงมีโทษ
ส่วนกรณีสถานพยาบาลพบผู้ติดเชื้อแล้วไม่แจ้งกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่รับรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 นั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรค COVID-19 เป็นโรคฉุกเฉิน ดังนั้น สถานพยาบาลทุกแห่งต้องให้บริการ อีกทั้งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ออกประกาศอย่างชัดเจนให้ดูแลคนไข้อย่างเหมาะสม ซึ่งหากผู้ป่วยพบติดเชื้อ COVID-19 สถานพยาบาลทุกแห่งต้องดำเนินการประสาน รับดูแล หรือส่งต่อ

ส่วนกรณีคลินิกและโรงพยาบาลที่ตรวจแลปพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 แล้วพบเชื้อ แต่คนไข้ไม่ทราบว่าจะไปรักษาที่ใดนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ออกประกาศกำหนดมาตรการ ดังนี้
คลินิกและโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบให้คำปรึกษาถึงวิธีการปฏิบัติตัวของคนไข้ก่อน
ต้องเป็นคลินิกที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เมื่อตรวจผลเป็นบวกแล้วต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประสานเตียงให้คนไข้พร้อมส่งต่อ หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม กรณีพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เจ้าของบ้าน ผู้รับผิดชอบในโรงพยาบาล ผู้ประกอบกิจการ มีหน้าที่ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 3 ชั่วโมง หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 
ส่วนผู้ติดเชื้อ COVID-19 หากเจ้าหน้าที่สั่งให้ไปรักษา แต่ไม่ไป หรือสั่งให้อยู่บ้าน Home Quarantine แล้วไม่ทำตาม มีความผิดโทษสูง เพราะอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายโรค จำคุกไม่เกิน 2 ปี รับไม่เกิน 40,000 บาท การปกปิดไทม์ไลน์ก็มีความผิดโทษปรับเช่นกัน ดังนั้น ขอให้ประชาชนช่วยกันเพื่อควบคุมโรค เจ้าหน้าที่จะได้ไม่ต้องใช้กลไกทางกฎหมาย

https://news.thaipbs.or.th/content/303349

https://www.youtube.com/watch?v=2Vdt8FWyRj4&ab_channel=ThaiPBS
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่