เขียนถึงน้อง ๆ จบใหม่และคนอยากทำกิจการส่วนตัว

อยากเขียนอะไรสั้น ๆ ง่าย ๆ ถึงน้อง ๆ ที่จบใหม่ น้อง ๆ ที่เริ่มทำงาน และคนที่อยากทำกิจการส่วนตัว ว่ามีประเด็นอะไรที่น่าจะต้องลอง ต้องรู้บ้าง  แท็กหลายหัวข้อนิดนึงนะคะ  ประสบการณ์การทำงานก็ใช่ การลงทุนก็ใช่  ครอบครัว การสอนลูก เผลอ ๆ ก็น่าจะใช่อีก เพราะมันเกี่ยวข้องกับหลายส่วนหลายแง่ของชีวิตค่ะ
 

                       กระทู้นี้ เขียนโดยคนที่จบมาแล้ว 20 กว่าปี ผ่านประสบการณ์ทำงานมาพอสมควร ถึงแม้จะออกจะจับฉ่ายไปบ้าง  เลยอยากมาแชร์แลกเปลี่ยนประสบการณ์ บางคำแนะนำอาจยังคงใช้ได้อยู่ ในขณะที่บางมุมมองอาจฟังดูโบราณและเชย ๆ ก็ถือว่า เล่าสู่กันฟังสนุก ๆ นะคะ
 
 
สาเหตุของการมีกิจการส่วนตัว
เท่าที่เห็นมามี 3-4 สาเหตุค่ะ
- เป็น passion อยากทำมานานแล้ว หาบริษัทฯถูกใจ offer งานที่เราอยากทำไม่ได้ เปิดมันเองซะเลย
- อยากรวยเอง ไม่อยากเป็นลูกจ้างคนอื่น 
- อยากอิสระ อยากเป็นนายตัวเอง คิดว่าอยากตื่นเมื่อไรก็ได้ (555 คิดแบบนี้ ถ้าไม่มีวินัยในตัวเองสูงจริง ๆ ตายสนิททั้งน้านนนนนน)
- ตกกะไดพลอยโจน มีประเด็นกับที่ทำงาน อยู่ไปก็จะโดนบีบออกหรืออึดอัด ออกมาเปิดมันเองซะเลย
 
 
ต้องเตรียมอะไรบ้าง
 
- สิ่งสำคัญมากกว่าเงินตั้งต้นกิจการ คือ ลูกค้าหรืออุปสงค์ค่ะ ก่อนจะบอกว่าจะออกมาทำอะไรขาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ ต้องแน่ใจก่อนว่า “มีคนซื้อ” หรือ “มีความต้องการ” สิ่งที่คุณจะขาย  
ถ้าตรงนี้แน่น ... เราไปกันต่อค่ะ  
 
- know how และ know who  คุณต้องรู้ก่อนว่า คุณทำอะไรได้บ้าง และทำอะไรไม่เป็นบ้าง ? คุณรู้จักใครบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้มันเอื้อเฟื้อต่อยอดกันไป  
 

คำว่า know who หรือ connection ไม่ได้มีความหมายลบเสมอไป แต่หมายถึงว่า คุณรู้จักใครที่จะแนะนำ ผลักดัน สนับสนุน หรือ ชี้ทางให้คุณได้บ้างไหม ? เพราะบางเรื่อง การมีไมตรีจิตของคุณ ความรู้จักคนเยอะของคุณอาจช่วยให้คุณเข้าถึงข้อมูลหรือบุคคลที่เอื้อต่อการทำงานได้มาก
 
แค่จะเปิดแผงขายของในตลาดนัดแบบง่าย ๆ คุณยังต้องรู้เลยว่าต้องไปติดต่อที่ไหน อะไรอย่างไร  อันนี้ มิพักต้องพูดถึงการขายงานแบบซับซ้อนและเป็นระบบเช่น การติดต่อราชการ โรงพยาบาล หรือ บริษัทเครือข่ายใหญ่ ๆ ทั้งหลาย พักหลัง ๆ ในเฟสบุ๊ค ดิฉันจึงเริ่มเห็นหลายคนออกมาเปิดคอร์ส วิธีติดต่องานราชการ หรือ วิธีเข้าไปขายอุปกรณ์การแพทย์ตามโรงพยาบาลแล้ว
 
เรื่องพวกนี้เป็น know how และ know who จริง ๆ ค่ะ เงอะ ๆ งะ ๆ เข้าไปแบบไม่รู้อะไรเลย     เริ่มต้นได้ยากมาก
เพราะงั้น เด็กจบใหม่หลายคน จึงเริ่มจากการเข้าไปทำงานตามบริษัทก่อน  ถือกระเป๋าตามลูกพี่ เข้าไปเรียนรู้ขั้นตอนและสร้างเครือข่ายคนรู้จัก  ผ่านไปสักพัก สบช่อง สบโอกาสถึงค่อยออกมาเปิดกิจการของตนเอง
 
 
- เงินทุน 
เม่าออมห่านทองคำ
ถ้าจะพูดแบบอุดมคตินิยมว่า ขอให้มีไอเดียดี ๆ จริง ๆ เดี๋ยวเงินทุนมาเอง ?
ในความเป็นจริง คำพูดนี้ถูกแค่ครึ่งเดียว   กว่าที่น้องจะพิสูจน์ให้คนเห็นว่าไอเดียธุรกิจน้องมันดี จับต้องได้ ทำได้จริง  อย่างไรเสีย ก็ต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้นในการทำให้มันเป็นรูปเป็นร่าง
 
ตอนดิฉันเริ่มทำธุรกิจ แม้รัฐบาลจะโหมประกาศโฆษณาว่า แบงค์รัฐพร้อมปล่อยเงินกู้ช่วยรายย่อย รายเล็ก รายน้อย ขอเพียงแค่มีไอเดียเท่านั้น ... 
แต่จากที่ตระเวนคุยจนเหนื่อยอ่อน ... แบงค์ทั้งหลายมักจะถามตบท้ายทุกครั้งว่า “เอิ่ม... แล้วคุณ *** มีหลักทรัพย์อะไรมาค้ำประกันไหมครับ ?”
 
   
เงิน เงิน เงิน ไปหาเงินมาจากไหนนิ ?
 
- มี 2 ทางให้เลือก ระหว่าง “เงิน ku” และ “เงินกู้” ค่ะ  ถ้าคุณเกิดมาในบ้านที่มีฐานะ ใช้อย่างแรกดีกว่า เพราะจะได้ไม่มีภาระเรื่องดอกเบี้ย แต่หากคุณไม่โชคดีขนาดนั้น   จะใช้บริการธนาคาร ก็จะมีคำถามอีกแหละว่า “แล้วจะใช้อะไรค้ำประกันเงินกู้”
 
แบงค์เดี๋ยวนี้ไม่นิยมที่ดินเปล่านะคะ ยกเว้นที่ดินเปล่าของคุณหมายถึงที่ 1 งาน หรือถ้าจะให้เจ๋งก็ที่สัก 1 ไร่  ย่านทองหล่อ สาทร หรือ อโศก ที่ดินเปล่าหลายที่แบงค์ตีราคาประมาณ 50% เท่านั้น เช่น ที่เปล่า 10 ไร่ คุณมูลค่า 16 ล้าน แบงค์อาจจะใช้หลักทรัพย์นี้ และให้เงินกู้คุณประมาณแค่ 8 ล้าน
 
 
- ระดมทุนล่ะทำได้ไหม ?
ได้ค่ะ นั่นหมายถึง คุณสเกลใหญ่พอเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วเท่านั้น and if that is the case คุณคงไม่มีเวลามานั่งอ่านกระทู้นี้ดอก 555
 
ในตำราจะบอกว่า เราระดมทุนได้จากการเข้าตลาด และถ้าเข้าตลาดได้แล้ว คุณอาจออกหุ้นกู้ระดมทุนได้เพิ่มอีก  แต่เชื่อว่า ถ้าคุณไปถึงจุดนั้นแล้ว กระทู้นี้ก็ไม่จำเป็น 
 
สำหรับ SME (อย่างของดิฉันก็ด้วย) การระดมทุนแปลบ้าน ๆ ว่า หยิบยืมเอาจากญาติมิตรและเพื่อนฝูง ซึ่งต้นทุนเชิงเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ต่ำนะคะ  แต่ต้นทุนที่สูงลิ่วมากไปกว่านั้น คือต้นทุนทางใจที่จะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณกันไปตลอด  อันนี้ก็ลองชั่งน้ำหนักเอา
 
 
- ดิฉันมักแนะนำรุ่นน้องตลอดว่า  ถ้ารู้สึกว่าเก็บเงินไม่อยู่ ใช้เงินเก่ง อาจจะพิจารณาเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องน้อยเช่น การผ่อนซื้อบ้านไว้ ถ้าเลือกทำเลที่สะดวก เหมาะสมกับการใช้สอย และค่อย ๆ ผ่อนไป  วันหนึ่ง จะเปิดกิจการตัวเอง คุณสามารถใช้บ้านนั่นแหละ เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันขอเงินกู้ออกมาทำธุรกิจได้
 
บ้านทาวน์เฮ้าส์หลังน้อยหลังแรกของสามีและดิฉัน หลังจากผ่อนหมดเพียง 2 เดือน ก็ถูกนำเข้าจำนอง เพื่อเอาโอดีมาใช้ทำธุรกิจทันที 
 
หลานสาวสามีแต่งงาน ทั้งหลานและสามีอยู่ตึกแถวของเรามาเกือบสิบปี โดยที่เราไม่คิดค่าเช่า แต่เมื่อสองคนจะเปิดธุรกิจของตัวเองและมองหาการกู้เงินจากธนาคาร   ดิฉันแนะนำไปตรง ๆ เลยว่า ทั้งสองควรสร้างสินทรัพย์ของตัวเองได้แล้ว เพื่ออีกหน่อย ต้องการกู้เงินจะได้มีอะไรไปค้ำ เลยยื่นข้อเสนอไปว่า ถ้าจะซื้อตึกที่ตอนนี้ทั้งสองอยู่ ดิฉันลดให้ 5% จากราคาตลาด ถ้าชอบโลเคชั่นอื่น ดิฉันขายตึกนี้ได้เงินเท่าไร จะแบ่งให้ทั้งสอง 5% เอาไปดาวน์บ้านใหม่   อย่างไร ก็ต้องเริ่มสร้างทรัพย์สินได้แล้ว เพื่อเอาไปต่อยอดธุรกิจได้ในวันข้างหน้า
 

 
หนัก ๆ ที่เจอ เคยเจออะไรมาบ้าง ?
 
- โดนเบี้ยวหนี้
- ลูกน้องโกง
- วัตถุดิบขึ้นราคาแบบไม่ทันตั้งตัว
- ผู้รับเหมารายย่อยทิ้งงาน
- เช็คออกช้า แทบจะไม่มีเงินจ่ายลูกน้องและซัพพลายเออร์
- ทำงานหนักมาก ... สิ่งที่ลูกน้องรู้คือ เราเข้าออฟฟิศเมื่อไรก็ได้  แต่สิ่งที่ลูกน้องอาจไม่เห็นคือ ชั่วโมงทำงานหลัง 2 ทุ่มไปจนถึงเที่ยงคืนโดยไม่มีโอที มีอยู่จริงนะจ๊ะ 
- เวลาส่วนตัวและเวลาป่วยเหลือน้อยที่สุด ... ตอนที่หนัก ๆ ดิฉันเพิ่งคลอดลูกคนที่ 3 คลอดมาลูกต้องผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น วันที่ตัวดิฉันเองออกจากโรงพยาบาล ซัพพลายเออร์โทร.มาทวงเงิน ด้วยความที่กลัวจะเสียเครดิต ระหว่างทางกลับบ้าน บอกสามีว่าช่วยแวะธนาคารหน่อย ตัวเองต้องกระย่องกระแย่งรีบไปโอนเงิน (สมัยนั้นยังไม่มี internet banking เหมือนเดี๋ยวนี้นะฮับ) 
 
 
ปัจจัยด้านการเงินอะไรสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ  ?
 
นี่เป็นคำถามแรกที่อาจารย์ด้านการเงินในคลาสเรียนปริญญาโทถามพวกเรา 
นิสิตหน้าละอ่อน ตอบกันสลอนอย่างมั่นอกมั่นใจว่า “กำไร” 
อาจารย์หัวเราะแล้วบอกว่า ผิดครับ คำตอบคือ “สภาพคล่อง หรือ liquidity” 
ตอนเรียน ยังงง ๆ ว่า “อะไรฟะ ??? ทำไมไม่เป็นกำไร ?”
มาทำธุรกิจเอง ถึงได้ถึงบางอ้อ ซาบซึ้งเลยว่า สภาพคล่อง หรือความเร็วจากการเปลี่ยนบิลมาเป็นเงินในกระเป๋าเราน่ะ มันสำคัญขนาดไหน
 
เวลาทำธุรกิจขายของให้ห้างร้านต่าง ๆ ร้อยละร้อย ต้องให้เครดิต จะ 2 อาทิตย์ 30 วัน 60 วัน 90 วัน ไปถึง 120 วัน ช่วงรอเงินนั่นล่ะ แปลว่า ช่วงขาดสภาพคล่อง ...
การเติมสภาพคล่องเพื่อให้หมุนไปได้ นั่นละ ต้องอาศัยเงินกู้
 
แต่ถ้าใครทำธุรกิจที่รับเงินสด ๆ ผ่านมือได้ทุกวัน และมากพอที่จะจ่ายบิล จ่ายลูกน้องได้ด้วยเงินสดนั้น ๆที่ได้รับทุกวันแบบ cashie cashie   ต้องบอกว่า ธุรกิจคุณหอมหวานมาก คุณเก่งมาก หรือไม่คุณก็ทำบุญมาดีมาก

 
จริง  ๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจคืออะไรกันแน่ ?
 
คำถามนี้จะมองว่าเป็นคำถามเชิงปรัชญาหน่อย ๆ ก็ได้นะคะ 
 
หลักการดำเนินธุรกิจ จะว่าไปก็ไม่ต่างกับหลักการดำเนินชีวิต จะไปได้ สิ่งที่สำคัญมากกว่าแค่เรื่องเงิน หรือเรื่อง know how ทั้งหลาย คือ เรื่อง character และ mindset ที่ดี
 
อยากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ประกอบ  “ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปีด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น”
โดย ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือบางคนอาจติดตามในเพจของอาจารย์ในชื่อ เกตุวดี Marumura 



ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะเติบโตเป็น MNC หรือ Multi-National Company แต่หลายธุรกิจสามารถเติบโตได้แบบต้นสน อาจจะช้าสักนิด อาจจะใหญ่หรือไม่ใหญ่มาก   แต่ยั่งยืนและสร้างความสมดุลย์ ความสุข ให้กับทั้งผู้ประกอบการ พนักงานและสังคม
 
หนังสือธุรกิจหลายเล่มมักแนะนำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ล้วนน่าสนใจเช่น การพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับตัว ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น
 
แต่สำหรับดิฉัน ถ้าจะให้สรุปอย่างง่าย ๆ สั้น ๆ ถึงสิ่งที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้อย่างต้นสนนั้น ส่วนประกอบสำคัญที่อาจจะกลายเป็น common sense เสียจนหลายคนมองข้ามหรือลืมที่จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของมันก็คือ “ความรับผิดชอบ” และ “การเป็นที่ชื่นชอบ” (likability) 
 
หลักการนี้ใช้ได้กับทุกอย่างในชีวิต และอาจเป็นใบเบิกทางไปสู่อะไรดี ๆ หลายอย่าง อย่างไม่น่าเชื่อ 
 
ฝรั่งบอกว่า “คำว่า มีวุฒิภาวะ หรือเป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้วัดกันที่อายุ แต่วัดกันที่ความรับผิดชอบ” 
เรื่องนี้ จริงแน่แท้ทรู หลายครั้ง การที่คุณแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบ มันก็นำไปสู่การเป็นที่ชื่นชอบและไว้วางใจได้ไม่ยาก
 
 
ยกตัวอย่างสัก 2 กรณี เกี่ยวกับสองหัวข้อนี้พอเป็นกระสาย
 
เอาเรื่องสเกลเล็ก ๆ ส่วนตัวของดิฉันก่อนก็แล้วกัน 

หลายปีก่อน ดิฉันเคยเข้ามุมอับ หาเงินมาจ่ายเงินเดือนไม่ได้ มันกะทันหัน ช็อตเสียจนไม่รู้จะทำยังไง ? ตอนนั้น ทุกข์มาก เพราะต้องหามาประมาณ 1 ล้านและต้องได้ภายในวันนี้พรุ่งนี้ด้วย  จะขอวงฉุกเฉินจากแบงค์ก็ไม่สามารถอีก ? 
มองรอบตัวไม่เห็นทางเลย ... เข้าตาจนจริง ๆ ก็เลยบากหน้ายืมพี่สาว

ตอนนั้น ก็แปลกใจเหมือนกันที่พี่สาวก็โอนมาให้ทันทีไม่ลังเล ไม่ใช่เพราะรวย พี่สาวดิฉัน ตอนนั้นเป็นคนกินเงินเดือนและเงินเดือนก็ไม่สูงด้วย  เก็บหอมรอบริบทีละน้อย จนเรียกว่า โอน 1 ล้านนั้นให้ดิฉัน เธอก็ไม่มีเงินเก็บเหลือแล้ว  
ก็พอแก้ปัญหาไปได้ ดิฉันก็ผ่อนจ่ายไปจนจบ 

นานต่อมา พี่สาวดิฉันก็มาถามดิฉันว่า “รู้ไหมว่าทำไมตอนนั้น ชั้นถึงยอมให้แกยืม”
“ก็เราเป็นพี่น้องกัน แล้วก็คงสงสารชั้นด้วยมั้ง ?”

พี่สาวดิฉันบอกว่า “ไม่ใช่”  เม่าเซย์โน

แล้วเธอก็เล่าเรื่องที่ดิฉันก็ลืมไปแล้วว่า
“แกจำตอนแกอยู่ม.ต้นได้ไหม ? ที่แกไปเช่าหนังสือที่ร้าน (นี่บอกอายุมากเลยนะคะเนี่ย ... ทันร้านเช่าหนังสือเนี่ย) แล้วแกทำหนังสือเค้าหาย เป็นหนังสือปกแข็งเป็นชุด แกทำเล่มสองหาย แต่ต้องซื้อทั้งชุดคืนเค้า   ตอนนั้น ร้านเค้าก็ลืมไปแล้วด้วยว่าแกยืมเล่มนั้นไป  และทำของเค้าหาย   แต่แกนั่นแหละ ดันเดินไปบอกเค้าว่าแกทำหาย และซื้อคืนให้ ทั้งที่ตัวแกก็ไม่ค่อยมีเงิน  เงินในธนาคารแกมีแค่ 200 แกถอนมาซื้อหนังสือคืนเค้า 180 บาท เงินแกก็เกือบเกลี้ยงบัญชี”
 
พี่สาวบอกดิฉันว่า ตอนนั้นเห็นความรับผิดชอบของดิฉัน เลยเชื่อใจว่าดิฉันจะไม่โกง
 
 
ให้ตายเถอะเจ้ ... ถ้าตอนนั้น ดิฉันไม่ยอมชดใช้ 180 บาท ค่าหนังสือที่ทำหาย วันนั้น คงไม่มีปัญญามีเครดิตยืมได้ถึงล้านนึงจากเจ้แน่ ๆ 
555  
 
สเกลใหญ่กว่านี้ที่จะยกตัวอย่างคือ เรื่องที่ดิน

ปีที่แล้ว มีโอกาสซื้อที่ดินแปลงเล็ก ๆ แล้วก็ได้คุยเจ๊าะแจ๊ะกับเจ้าหน้าที่ที่ดินของจังหวัดที่อยู่นี้ เรื่องสภาพทั่วไป นู่น นี่ 

เจ้าหน้าที่เล่าให้ดิฉันฟังว่า “จังหวัดเรา สภาพคล่องซื้อขายที่ดินยังดีอยู่ เนี่ย ... แปลงใหญ่ที่ขายไปเนี่ย ของพวก ***** เจ้านี้ เค้าไม่ได้สนใจเรื่องราคาขายเท่าไรนะ ชอบใจขายเค้าก็ขาย ไม่ชอบใจเค้าก็ไม่ขาย”

สรุปสั้น ๆ คือ เจ้าของที่ดินยอมขายที่ให้กับ developer เจ้าที่ตัวเองชื่นชอบในราคาต่ำกว่าที่อีกเจ้าเสนอมาถึงไร่ละเกือบ 5 ล้าน แล้วมันไม่ใช่ไร่เดียวด้วยนะคะ หลายสิบไร่เลยเจียว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่