รู้จักหลังคาโปร่งแสง เพื่อเลือกใช้งานได้ตรงจุด

          หากพูดถึง “แสง” คงรู้สึกถึงความร้อนขึ้นมาทันทีเลยใช่ไหมครับ ด้วยความที่บ้านเราเป็นเมืองร้อน (จัด) ทำให้หลายคนเป็นต้องขยาดกับแสงแดดเลยทีเดียว ถ้าหลบได้ก็ต้องหลบ ทั้งที่จริงแล้ว แสงธรรมชาติ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับบ้าน เพราะนอกจากช่วยเพิ่มความสว่าง ลดชื้น ฆ่าเชื้อโรคแล้ว ยังทำให้พื้นที่ทางสถาปัตยกรรมหรือตัวบ้านดูมีชีวิตชีวาได้อีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำจึงไม่ใช่การปิดช่องทางรับแสง แต่ต้องสร้างช่องแสงในตำแหน่งที่เหมาะสมและตรงกับพื้นที่ที่ต้องการใช้งานครับ จึงมักจะมีคำถามตามมาเสมอว่าส่วนไหนของบ้านที่เหมาะกับการติดตั้งหลังคาโปร่งแสงบ้าง และแต่ละพื้นที่ควรติดตั้งด้วยวัสดุอะไรดี วันนี้ SCG HOME Expert มีไอเดียรวมถึงคำแนะนำมาฝากทุกท่านกันครับ

ตารางสรุปคุณสมบัติวัสดุโปร่งแสงยอดนิยม

          1.อะคริลิกแผ่นเรียบ มีน้ำหนักเบากว่ากระจกครึ่งหนึ่ง แต่มีความใสเหมือนกระจก แสงสามารถส่องทะลุได้ถึง 92% สามารถกันความร้อนได้ดี กันรังสี UV และรังสี Infrared ช่วยลดความร้อนได้ถึง 50% (หมายเหตุ :- ปริมาณป้องกันความร้อนดังกล่าว เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น ไม่ใช่ค่าคงที่ โดยปริมาณช่วยลดความร้อนขึ้นอยู่กับสี และรุ่นที่เลือกใช้) อีกทั้งยังทนต่อการรับแรงกระแทกมากกว่ากระจกธรรมดา โดยอะคริลิกแผ่นเรียบนั้น ได้แก่
แผ่นอะคริลิคโปร่งแสง ShinkoLite แต่ด้วยคุณสมบัติที่สามารถกันความร้อนได้ดี ราคาจึงสูงกว่าแผ่นโปร่งแสงประเภทอื่น  
          ข้อควรระวังคือ ต้องหมั่นทำความสะอาด เนื่องจากเป็นกระจกใสจะมองเห็นคราบสกปรกได้ชัด อีกทั้งไม่ป้องกันรอยขีดข่วนจากวัตถุมีคม เมื่อเกิดริ้วรอยจะทำให้ดูไม่สวยงาม
          การติดตั้ง ต้องเว้นระยะแผ่นตามผู้ผลิตกำหนด และด้วยความใส ความหรู บวกกับดีไซน์ที่ทันสมัย ทำให้เหมาะกับหลังคาโรงจอดรถ ระเบียง หรือพื้นที่ที่ต้องการโชว์ความโปร่งของบ้าน
ภาพ : โรงจอดรถที่ติดตั้งด้วยวัสดุอะคริลิกแผ่นเรียบ

        2.โพลีคาบอเนต แบบลูกฟูก แบบตัน มีคุณสมบัติเด่น คือ น้ำหนักเบา สวยงาม มีความยืดหยุ่น ดัดโค้งได้ มี 3 รูปแบบคือ แบบลอนลูกฟูก (แผ่นเรียบมีช่องว่าง) แบบตันเรียบ (โพลีชีทตัน) และแบบลอน มีให้เลือกหลากหลายสีสัน ทั้งแบบสีใสและสีขุ่นหรือผิวส้ม มีระดับความโปร่งแสงดีมาก แสงสามารถส่องผ่านได้ 25-90% (ขึ้นอยู่กับสีและความหนาของแผ่น)  บางรุ่นมีการเคลือบสารกัน UV และมีหลายเกรดให้เลือกได้ตามงบประมาณ 
          แต่มีข้อจำกัดหรือข้อควรระวัง คือ สำหรับแผ่นโพลีคาร์บอเนตแบบลอนลูกฟูกซึ่งมีช่องว่าง และแบบลอนซึ่งมีช่วงที่แต่ละแผ่นซ้อนทับกัน จะเป็นจุดที่ทำให้น้ำและความชื้นเกิดการสะสม จนทำให้เกิดตะไคร่และคราบสกปรกได้ง่าย เมื่อใช้งานไปนาน ๆ พื้นผิวแผ่นจะขุ่นมัว และสีอาจซีดจางไปตามอายุการใช้งาน อีกทั้งด้วยความบางและแข็งของแผ่นจึงมีเสียงดังเมื่อฝนตก จึงเหมาะกับการนำไปใช้ส่วนต่อเติมหรือภายนอกบ้าน ได้แก่ หลังคาโรงจอดรถ ครัว หรือโรงเรือนเพาะปลูก
ภาพ : โรงเรือนเพาะปลูกที่ติดตั้งด้วยวัสดุโพลีคาบอเนต

          3.กระจกนิรภัยลามิเนต  ประกอบด้วยกระจก 2 แผ่นประกบกันแบบแซนวิชโดยมีฟิล์มกัน UV อยู่ตรงกลาง จึงมีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ภายใน สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้มากกว่า 99% ในขณะที่เนื้อกระจกใสมองเห็นบรรยากาศภายนอกได้ชัดเจน  
          ข้อดี คือ หากเกิดการกระแทกจนกระจกแตก กระจกจะเกาะกับชั้นฟิล์ม ไม่ร่วงหล่นลงมาทำอันตราย เวลาฝนตกจะไม่ค่อยมีเสียงรบกวนมากนัก
กระจกลามิเนตยังมีหลายสีให้เลือกทั้งสีฟิล์มและสีกระจก  
          แต่มีข้อควรระวังคือ ด้วยความหนาของกระจกแต่ละชั้นที่มีความหนา 4 หรือ 5 มม. ยิ่งหนามากก็จะมีน้ำหนักมาก  จึงต้องเตรียมโครงสร้างรองรับที่แข็งแรง ทำให้ราคาวัสดุรวมการติดตั้งสูงขึ้นตามไปด้วย และต้องหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ เพราะกระจกจะสกปรกได้ง่าย
เหมาะกับการนำไปใช้ในพื้นที่ที่ต้องการแสงและต้องการนำเสนอความสวยงามไปพร้อมกัน อย่างหลังคากันสาดแบบกระจกใส ระเบียง สระว่ายน้ำ หรือบริเวณที่ต้องการแสงค่อนข้างมากแต่ไม่ต้องการเสียงรบกวน เช่น หลังคา skylight ตรงคอร์ทกลางบ้านหรือในห้องน้ำ เป็นต้น
ภาพ : หลังคา skylight ในห้องน้ำที่ติดตั้งด้วยกระจกนิรภัยลามิเนต

          4.ไฟเบอร์กลาส (Fiberglass) มีทั้งแบบลอนลอนลูกฟูก แบบเรียบ มีหลากหลายสีให้เลือก มีส่วนผสมของเส้นใยไฟเบอร์กลาส และโพลีเอสเตอร์เรซิน ทำให้แผ่นวัสดุมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานต่อทุกสภาพอากาศ
          ข้อดี คือ ทำให้แสงที่ส่องผ่านลงมาด้านล่างกระจายตัวได้ดีและดูนุ่มนวลสบายตา และบางรุ่นออกแบบให้ป้องกันความร้อนได้เป็นพิเศษ สามารถป้องกันรังสียูวีได้ถึง 99% จึงไม่ต้องกังวลอันตรายจากรังสียูวี อีกทั้งราคาไม่สูง น้ำหนักเบา ดัดโค้งได้ เลือกขนาดความยาวได้ตามต้องการและมีสีสันหลากหลายให้เลือกตามดีไซน์ของบ้าน ติดตั้งง่ายไม่เป็นภาระต่อโครงสร้าง ช่วยกระจายแสงจากธรรมชาติ ให้เข้ามาในอาคารโดยที่ไม่ต้องเปิดไฟในเวลากลางวัน มีอายุการใช้งานยาวนาน ทำให้ลดต้นทุนได้ในระยะยาว สามารถเลือกขนาดความยาวได้ตั้งแต่ 2 เมตร ขึ้นไปหรือขนาดตามความต้องการ (ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตบางราย)
          ข้อควรระวัง คือ อาจเกิดความชื้นสะสมได้ระหว่างรอยต่อของแผ่น  ในกรณีที่ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน  และอาจมีเสียงรบกวนจากฝนที่ตกกระทบอยู่บ้าง  แต่ไม่ดังเท่าแผ่นเมทัลชีท  สำหรับสีนั้น สามารถซีดจางได้ตามกาลเวลา (ขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้าในแต่ละผู้ผลิต)
เหมาะกับการนำไปใช้เป็นกันสาด  หลังคาห้องครัว ห้องน้ำ ซุ้มระแนงนอกชานบ้าน หรือสระว่ายน้ำ เป็นต้น และมีให้เลือกหลายรุ่น อาทิ
          •  กลุ่มลอนมาตรฐาน (Conventional Profile) เหมาะสำหรับใช้เป็นวัสดุมุงหลังคาใช้งานร่วมกับกระเบื้องหลังคาแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องให้แสงส่องผ่านในบริเวณที่ต้องการ 
          •  กลุ่มลอนกันสาด เหมาะสำหรับใช้ต่อเติมส่วนต่าง ๆ ภายนอกของบ้าน เช่น กันสาด โรงจอดรถ มีให้เลือกทั้งแบบแผ่นลอนและแผ่นเรียบ ประกอบไปด้วย 2 รุ่น คือรุ่น UV Shield ป้องกันรังสียูวี และรุ่น Heat Shield  ป้องกันรังสียูวีและป้องกันความร้อน สามารถช่วยลดอุณภูมิได้ 3-4 องศา 
          •  กลุ่มลอนเมทัลชีท เหมาะสำหรับติดตั้งร่วมกับหลังคาเหล็กเพื่อเพิ่มแสงสว่างในพื้นที่ ๆ ต้องการแสงสว่าง 

ภาพ : กันสาด หรือ โรงรถที่ติดตั้งด้วยแผ่นโปร่งแสงไฟเบอร์กลาส

ภาพ : แผ่นโปร่งแสงทำหลังคาอาคาร เพิ่มช่องแสงให้กับพื้นที่

สำหรับใครที่สนใจแผ่นโปร่งแสง สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเอสซีจีได้เลย  คลิก https://bit.ly/3u8OcOB
เพี้ยนร้อน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่