อบจ เทศบาล อบต มีไว้ทำไม

กระทู้สนทนา
การเลือกตั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
อบจ เทศบาล และ อบต. มีไว้ทำไม

ด้วยความที่ผมเคยมีคำถามที่กว่าจะเข้าใจ เวลาก็ผ่านไปนานพอสมควร เมื่อการเลือกตั้ง อบจ. ช่วงปลายปี 63 ที่ผ่านมา ผมจึงทดลองถามคนใกล้ชิดหลายคน ครอบคลุมหลายอาชีพ ครอบคลุมทุกวุฒิการศึกษา ว่าแต่ละคนจะตอบคำถามที่ผมเคยถามตัวเองแล้วตอบไม่ได้ ได้หรือไม่ คำถามของผมมีอยู่ว่า เมื่อมีนายก อบจ. แล้ว ทำไมต้องมีผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย ทั้งสองคนนี้มีหน้าที่ต่างกันอย่างไร และในสเกลที่เล็กลง เมื่อมีนายก อบต. หรือ นายกเทศมนตรีแล้ว ทำไมต้องมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านด้วย ทั้งสองคนนี้มีหน้าที่ต่างกันอย่างไร แล้ว อบจ. มีไว้ทำไม เทศบาลมีไว้ทำไม และ อบต. มีไว้ทำไม ผลที่ได้รับคือ ไม่มีใครตอบถูกแบบชัดๆ เลยซักคนเดียว มีตอบถูกบางส่วนไม่กี่คน พอถามว่า เมื่อไม่ทราบแล้วทำไมจึงไปเลือก ส่วนใหญ่ตอบว่า ไปเลือกตามหน้าที่ (ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความรับผิดชอบ เพราะแม้ไม่รู้ ก็ไป) ถามต่อว่า แล้วใช้อะไรเป็นเหตุผลในการตัดสินใจเลือก คำตอบส่วนใหญ่บอกว่า เพราะเห็นว่าเค้าดีกว่าคนอื่น แต่พอถามต่อว่า ดีอย่างไร คำตอบจะเริ่มหลากหลาย แต่ไม่มีซักคนเดียวที่ตอบว่า เพราะเค้าทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ดี ซึ่งน่าแปลกมาก เพราะนี่คือหัวใจของการตัดสินใจที่จะบอกว่า เค้าดี หรือ ไม่ดี แต่ก็ไม่น่าแปลกใจหากกลับไปดูที่คำถามแรก ๆ ที่ไม่มีใครตอบได้ ก็เข้าใจได้ว่า เพราะไม่มีใครเลยที่จะตอบได้ชัดๆ ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. มีหน้าที่อะไร

เพื่อทำความเข้าใจหน้าที่ของ อปท. ทุกระดับ ตั้งแต่ อบต. เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร และ อบจ. อาจสรุปอย่างง่าย ๆ ว่า อปท. มีหน้าที่สำคัญคือการให้บริการประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง 7 เรื่อง ได้แก่การทำให้ประชาชนมีความ 1 สะดวกสบาย 2 สะอาด 3 ปลอดโรค 4 ปลอดภัย 5 ทำให้บ้านเมืองสวยงาม 6 อนุรักษ์วัฒนธรรมและสาธารณสมบัติ และ 7 ประชาชนมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น โดย อำนาจหน้าที่ในเรื่องต่าง ๆ ข้างต้น จะมีรายละเอียดมากน้อยแตกต่างกันไปตามขนาดของ อปท. กล่าวคือ อบต. จะมีอำนาจจำกัดที่สุด แล้วค่อยๆ มากขึ้นตามขนาดของ อปท. โดยมี อบจ. ทำหน้าที่คล้ายพี่เลี้ยงของทุก อปท. ในจังหวัด

แล้วต่างจาก ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อย่างไร

ถ้าว่ากันตามกฎหมาย ผมสรุปของผมเองเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สายปกครอง ตั้งแต่ ผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปถึงผู้ใหญ่บ้าน มีอำนาจปกครอง แต่ไม่มีหน้าที่ในเรื่องการให้บริการประชาชนทั้ง 7 ด้านข้างต้น ในขณะที่ อปท. มีหน้าที่ในด้านการบริการ แต่ไม่มีอำนาจปกครอง

แต่แม้จะทำให้ง่ายแบบนี้แล้ว ก็อาจจะยังยากอยู่ ผมก็เลยลองเปรียบเทียบเพื่อให้ง่ายสำหรับตัวเองเข้าไปอีก ก็คือ ผู้ว่าฯ เปรียบเหมือนเจ้าของบ้าน (ในความเป็นจริง คือ ตัวแทนของเจ้าของที่ดิน หรือรัฐบาลกลาง ที่เจ้าของที่ดินมอบหมายมาดูแลบ้านในที่ดินของตน ซึ่งปัจจุบันมี 77 หลัง เล็กใหญ่ต่างกัน) ในขณะที่ อบจ. เปรียบเหมือน พ่อบ้าน เจ้าของบ้าน เป็นผู้มีอำนาจปกครอง แต่พ่อบ้าน ไม่ใช่เจ้าของบ้าน จึงไม่มีอำนาจปกครอง

และเนื่องจากในบ้านมีหลายห้องใหญ่ (อำเภอ) เจ้าของบ้าน จึงมอบให้ลูกๆ ของตน เป็นเจ้าของห้องใหญ่ เรียกว่า นายอำเภอ และในแต่ละห้องใหญ่ ก็แบ่งเป็นหลายห้องเล็ก (หมู่บ้าน) เนื่องจากในห้องเล็กแต่ละห้องมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก เจ้าของที่ดินจึงกังวลว่า ถ้าไม่มีใครช่วยดูแล สมาชิกในห้องจะอยู่กันอย่างไม่สงบเรียบร้อย (ซึ่งในสมัยโบราณ เป็นแบบนั้น เพราะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยในแต่ละห้องย่อย) จึงต้องมีคนปกครองห้องย่อยที่เรียกว่าผู้ใหญ่บ้านโดยเลือกมาจากสมาชิกในห้องเล็กนั้น ๆ เอง และเพื่อให้นายอำเภอทำงานง่ายขึ้น จึงต้องมีตัวแทนของนายอำเภอเรียกว่า กำนัน มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงผู้ใหญ่บ้านดูแลกลุ่มของห้องเล็กแทนนายอำเภออีกทีนึง และเรียกกลุ่มของห้องเล็กว่าตำบล จะสังเกตได้ว่า คนดูแลห้องเล็กและกลุ่มของห้องเล็กไม่ใช่ข้าราชการ (ลูกของผู้ว่าฯ หรือเจ้าของบ้าน) เหมือนกับนายอำเภอ แต่เป็นตัวแทนของสมาชิกในห้องด้วยกันเองที่ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาและเป็นลูกน้องของเจ้าของห้องใหญ่ในการปกครองดูแลสมาชิกของห้องให้ทั่วถึง (เพราะสมัยก่อน ไม่มีเทคโนโลยี การดูแลอย่างทั่วถึงทำได้ยาก จึงต้องแบ่งกันดูแล) เพื่อให้ภารกิจในการดูแล “ความสงบเรียบร้อย” ของเจ้าของห้อง (นายอำเภอ) บรรลุเป้าหมาย (ซึ่งน่าแปลกมาก เพราะสมัยนี้ เทคโนโลยี และ connectivity ถูกพัฒนาไปมากแทบจะเรียกได้ว่า คนละบริบทแล้ว แต่การแบ่งแบบเดิมครั้งสมัยอยุธยาก็ยังคงอยู่ ยังไม่คิดนำเทคโนโลยีมาลดขั้นตอนและลดคนทำงาน)

ต่อมาเมื่อสังคมพัฒนาขึ้น สมาชิกของแต่ละห้อง แต่ละบ้าน เริ่มเรียกร้องขอดูแลตัวเอง แต่หากเป็นเช่นนั้น เจ้าของที่ดินจะหมดอำนาจการปกครอง และในที่สุด ที่ดินอาจหลุดมือไป ดังนั้น เพื่อเป็นการลดแรงกดดัน แทนการมอบการดูแล “ความสงบเรียบร้อย” ให้กับสมาชิกของบ้าน เจ้าของที่ดินจึงมอบภารกิจการดูแล “ความเป็นอยู่” ของสมาชิกในห้องให้ดูแลกันเอง โดยกำหนดให้สมาชิกในกลุ่มห้องเล็กของห้องใหญ่ (ระดับตำบล หรือ หลายตำบลรวมกัน) เลือกตัวแทนขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ 7 ด้านให้กับสมาชิกในกลุ่มห้องเล็กของตัวเอง โดยเจ้าของที่ดินจากส่วนกลาง มอบเงินให้ก้อนนึง (ซึ่งมาจากการเก็บค่าเช่าบ้าน หรือ ภาษี จากสมาชิกที่อยู่ในบ้าน) สำหรับใช้จ่ายในการดูแล และให้อำนาจในการเก็บค่าเช่าบ้านอีกบางส่วน (ภาษีท้องที่) จากสมาชิกในห้องเพื่อนำเงินมาสมทบกับเงินที่เจ้าของที่ดินจากส่วนกลางมอบให้ และให้อำนาจในการออกกฎเกณฑ์ (เทศบัญญัติ) เพื่อบังคับใช้เฉพาะภายในกลุ่มห้องเล็กของตน เพื่อให้ภารกิจในการดูแล “ความเป็นอยู่” ของกลุ่มห้องเล็กบรรลุผลตามเป้าหมาย (ด้วยหลักการนี้ การจะดูว่า อปท. ใดมีประสิทธิภาพทางการเงินมากเพียงใด ก็สามารถดูได้อย่างง่าย ๆ จากการนำรายจ่ายประจำซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนและค่าสาธารณูปโภคขององค์กรหารด้วยเงินงบประมาณทั้งหมด หากตัวเลขที่ได้ยิ่งเข้าใกล้ศูนย์ ก็แสดงว่า อปท. นั้นยิ่งมีประสิทธิภาพ แต่ถ้ายิ่งเข้าใกล้ 1 ก็แสดงว่าขาดประสิทธิภาพ ควรยุบไปรวมกับ อปท. อื่น)

นอกจากการใช้เงินงบประมาณที่ได้มาจากส่วนกลางและได้จากการเก็บภาษีท้องที่แล้ว หากเงินไม่พอในการทำภารกิจทั้ง 7 ด้านให้บรรลุเป้าหมาย เจ้าของที่ดินยังอนุญาตให้ อปท. มีอำนาจในการทำภารกิจเชิงพาณิชย์ หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า เทศพาณิชย์ เพื่อให้การบริการแก่ประชาชนครอบคลุมมากขึ้นโดยการลงทุนและเก็บรายได้จากการให้บริการนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การให้บริการรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น แต่การดำเนินการทำนองนี้ นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ดูเหมือน อปท. อื่น แทบจะไม่ค่อยทำกันเลย ซึ่งจากที่เข้าไปศึกษาทำความเข้าใจ พบว่ามาจากสาเหตุหลัก ๆ คือ ไม่เข้าใจ กลัวความผิด และคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตน

แล้วหน้าที่ปกครองดูแล “ความสงบเรียบร้อย” ต่างจากหน้าที่ให้บริการดูแล “ความเป็นอยู่” อย่างไร ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ ถ้าลูกบ้านทะเลาะวิวาทกัน หรือ เกิดเหตุกระทำผิดกฎหมาย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ มีอำนาจในการระงับเหตุนั้น ไม่ใช่อำนาจของ อบต. หรือ เทศบาล (หลายคนคงสงสัยว่า แล้วทำไมไม่ใช้ตำรวจเลย อันนี้อาจตอบได้ว่า เพราะอยู่บ้านเดียวกัน ต้องเจอกันไปตลอดชีวิต ถ้าไกล่เกลี่ยให้มาคืนดีกันได้ ก็จะกลับมาอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ถ้าใช้กฎหมาย ใช้ตำรวจ ถึงจะจบ แต่ไม่มีความสุข) ในด้านความปลอดภัย หากเกิดเหตุดักทำร้าย จี้ปล้น เป็นอำนาจของ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ที่ทำงานร่วมกับตำรวจ แต่การทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น เช่น การจัดให้มีแสงสว่างเป็นหน้าที่ของ อปท.

ด้วยเหตุที่ อปท. ในทุกระดับ ไม่ได้มีอำนาจปกครอง (แต่กลับพบว่า ในหลายหมู่บ้าน เวลามีปัญหาด้านการปกครอง แทนที่จะไปบอกผู้ใหญ่บ้าน กลับไปบอก นายก อบต. หรือ นายกเทศบาล) ดังนั้น หากจะเรียกให้ถูกต้องตามหน้าที่ ควรจะต้องเรียกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า องค์กรพ่อบ้านส่วนท้องถิ่นจึงจะถูกต้อง เพราะทำงานพ่อบ้าน ไม่ใช่ปกครอง หลายคนอาจจะค้านว่า มีอำนาจปกครองสิ เพราะออกกฎหมายได้ แต่ในความเป็นจริง กฎหมายนั้น มีไว้เพื่อประโยชน์ให้การทำหน้าที่ 7 ด้านในการดูแลความเป็นอยู่ของลูกบ้านสำเร็จลุล่วงเท่านั้น ไม่ใช่อำนาจปกครองเหมือนกับที่ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มี

28 มีนาคม 2564 ที่กำลังจะมาถึง จะมีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกันอีกครั้งนึง แต่ครั้งนี้ เป็นระดับเทศบาล (ระดับกลุ่มห้องเล็ก) ตอนนี้ มีป้ายโฆษณาหาเสียงเต็มไปหมด แต่เท่าที่ผ่านตา ผมยังไม่เห็นเลยว่ามีผู้สมัครนายกเทศมนตรีคนไหนประกาศนโยบายว่าจะเข้าไปทำหน้าที่แต่ละด้านของทั้ง 7 ด้านให้ดีขึ้นหรือแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร และก็ยังไม่มีลูกบ้านที่จะไปทำหน้าที่เลือกตั้งคนไหน ที่ลุกขึ้นมาถามผู้สมัครว่า จะเข้าไปทำหน้าที่นี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ประเทศนี้ ผ่านการเลือกตั้ง อปท. มานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว แต่ผู้เลือก ก็ดูเหมือนยังไม่ทราบเลยว่า จะเลือกเข้าไปทำอะไรบ้าง และที่แย่กว่านั้นคือ ผู้สมัครจำนวนนึง (อาจจะมากด้วย เพราะน้อยคนมาก ที่จะบอกว่าจะทำอะไรบ้างในบางด้านของ 7 ด้าน และไม่เห็นใครเลยที่หาเสียงว่าจะทำอะไรบ้างครบทั้ง 7 ด้าน) ก็ยังไม่ทราบเลยว่า หน้าที่ที่ตนเองต้องเข้าไปทำหากได้รับเลือก คืออะไร นี่แค่การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใกล้ตัวมากๆ เรายังมีปัญหาความไม่รู้อยู่มากขนาดนี้ (ซึ่งไม่เกี่ยวกับวุฒิการศึกษา ไม่เกี่ยวกับอาชีพการงาน) คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ ทำไมรัฐบาล (ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา) มหาดไทย และ กระทรวงศึกษา ไม่เคยให้ความรู้แก่ประชาชนและเยาวชนอย่างถูกต้องและต้องรู้ เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย หรือถ้าให้ ก็ให้อย่างไม่จริงจัง ไม่หวังผล (เพราะถ้าให้อย่างจริงจังและหวังผล จะไม่มีคนไม่รู้มากขนาดนี้ อาจจะเรียกได้ว่า แทบจะไม่รู้กันเลย ด้วยซ้ำไป)

หลายคนบอกว่า ประเทศไทย ยังไม่พร้อมเป็นประชาธิปไตย ถ้าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกนี้ ผมก็คงเห็นด้วย แต่เมื่อหันไปมองประเทศด้อยพัฒนาในทวีปอาฟริกาอย่างรวันดา ที่เมื่อก่อน มีสงครามกลางเมืองเพราะประชาชนถูกยุยงให้เกลียดฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับตน เกิดการแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย ประเทศเค้าเกือบล่มจม แต่เมื่อการเมืองกลับมาดีขึ้น ประเทศก็เริ่มดีขึ้นอย่างมาก ทุกวันนี้ เด็กประถมของรวันดาเขียนโค้ดดิ้งได้ ผู้นำเค้าประกาศพารวันดาเป็นสิงคโปร์แห่งอาฟริกา ก็เลยมีคำถามที่ผุดขึ้นมาอีกคำถามหนึ่งคือ ที่ไม่พร้อมนั้น เป็นเพราะประชาชนไม่พร้อมด้วยตัวประชาชนเองดังที่หลายคนคิด หรือไม่พร้อมเพราะถูกทำให้ไม่พร้อม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่