“พาณิชย์” แจง “ผ้ายันต์หลวงพ่อคูณ” มีลิขสิทธิ์ หลัง Supreme นำไปใช้ในคอลเลกชันใหม่


“พาณิชย์” แจง “ผ้ายันต์หลวงพ่อคูณ” มีลิขสิทธิ์ หลัง Supreme นำไปใช้ในคอลเลกชันใหม่

เผยแพร่: 18 ก.พ. 2564 10:03   ปรับปรุง: 18 ก.พ. 2564 10:03   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงกฎหมายลิขสิทธิ์ กรณี Supreme แบรนด์สินค้าแฟชั่นชื่อดัง นำ “ผ้ายันต์รูปหลวงพ่อคูณ” ไปใช้ในคอลเลกชันใหม่ ยันเป็นงานลิขสิทธิ์ ได้รับการคุ้มครอง แต่จะละเมิดหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ส่วนการนำงานมาประยุกต์ หรือสร้างสรรค์ผลงานใหม่ สามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับ Supreme แบรนด์สินค้าแฟชันชื่อดัง เปิดตัวคอลเลกชัน Spring/Summer 2021 โดยปรากฏภาพเสื้อสกรีนลายผ้ายันต์รูปหลวงพ่อคูณ เกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และเกิดประเด็นคำถามว่าการนำผ้ายันต์รูปหลวงพ่อคูณไปใช้ลักษณะนี้เข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ว่า กรมฯ ขอให้ข้อมูลตามกฎหมายลิขสิทธิ์ว่ารูปหลวงพ่อคูณที่ปรากฏในผ้ายันต์ ถือเป็นงานศิลปกรรม จัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทหนึ่ง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันที เมื่อสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา ซึ่งกฎหมายจะให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณะ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นนำงานไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น ดังนั้น การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้

โดยจากการตรวจสอบในฐานข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมฯ พบว่า มีผู้มายื่นแจ้งข้อมูลงานลิขสิทธิ์เกี่ยวกับหลวงพ่อคูณไว้ 21 รายการ ประกอบด้วย ผลงานเพลง 15 รายการ งานวรรณกรรม 1 รายการ (หนังสือเจาะลึกข้อมูลเหรียญรุ่นพิเศษ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ ปี 2517) งานโสตทัศนวัสดุ 1 รายการ (สารคดีเรื่องแรงศรัทธาแด่หลวงพ่อคูณ) และงานศิลปกรรม 4 รายการ ได้แก่ รูปปั้น รูปหล่อ เหรียญ โดยไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับผ้ายันต์รูปหลวงพ่อคูณลักษณะดังกล่าวในระบบ

 
ทั้งนี้ หากวัดบ้านไร่ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นผู้จัดทำผ้ายันต์รูปหลวงพ่อคูณนี้ขึ้นมา โดยมีหลักฐานยืนยันการสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์นี้ จะได้รับความคุ้มครองเป็นระยะเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่สร้างสรรค์ขึ้น ส่วนการพิจารณาว่ากรณีใดๆ จะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ อาจต้องพิจารณาในรายละเอียดข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป สำหรับการนำงานลิขสิทธิ์มาประยุกต์ใช้หรือสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ สามารถทำได้ โดยสามารถเจรจาในการขออนุญาตใช้สิทธิ์ หรือทำการตกลงเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับกรณีหากมีข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น กรมฯ มีบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาและยุติข้อพิพาทโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล รายละเอียดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.ipthailand.go.th หรือติดต่อกองกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 02 547 5029 ในวันและเวลาราชการ

ข่าวจาก : MGR Online
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่