*** The Ongoing Wars: "24 สงคราม" ที่ดำเนินอยู่ ณ ตอนนี้ ***

สงครามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ บทความนี้จะเสนอ 24 สงครามที่กำลังรบพุ่งกันอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ โดยเรียงลำดับตามจำนวนคนตายในปีที่ผ่านมาของแต่ละสงครามนะครับ
 
แม้ปัจจุบันเราจะอยู่ในยุคที่เรียกว่า "Long Peace" หรือสันติภาพยาวนาน แต่นั่นก็เป็นเพียงเพราะเทคโนโลยีอาวุธมีการพัฒนามากเกินไปจนประเทศมหาอำนาจไม่ทำสงครามกันตรงๆ แท้จริงพวกเขาได้เปลี่ยนรูปแบบไปใช้สงครามตัวแทน โดยใช้ประเทศเล็กกว่าเป็นตัวหมากรบกัน
 
นี่ยังไม่นับสงครามกลางเมือง, สงครามที่เกิดจากการก่อการร้ายสากล, หรือสงครามที่ทำกับกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ เช่นเจ้าพ่อยาเสพติด
  
หากวัดจำนวนสงครามที่ยังรบกันอยู่จริงๆ จะมีหลายร้อยสงครามไม่อาจลงได้หมด บทความนี้จึงจะขอเสนอ "24 สงคราม" หลักๆ ที่ยังรบกันอยู่ โดยนับจากสงครามที่มีคนตายเกิน 500 คนในปี 2020 ที่ผ่านมาเท่านั้น
 
 จะเสนอจากคนตายน้อยถึงมาก มีสงครามไหนบ้างไปดูกันเลยครับ

อันดับที่ 24 "สงครามนาซาไลต์"
  
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
  
สู้ระหว่าง: รัฐบาลอินเดียกับกองโจรนาซาไลต์
  
เกิดที่ประเทศ: อินเดีย
 
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1967
 
คนตายรวม: 12,877-14,369 คนขึ้นไป
 
คนตายปี 2020: 500 คนขึ้นไป
 
 กองโจรนาซาไลต์คือกองโจรนับถือลัทธิเหมาอิสต์-คอมมิวนิสต์ของอินเดีย ตั้งชื่อตามหมู่บ้านนาซัลบาริซึ่งเป็นสถานที่เริ่มต้นก่อการ
  
ทางหนึ่งมองได้ว่ากองโจรนี้เป็นหนึ่งในมรดกจากยุคสงครามเย็น อีกทางพวกเขาก็เกิดจากความต้องการต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคมอินเดียโดยเฉพาะระบบวรรณะ จนปัจจุบันพวกนาซาไลต์ถูกปราบไปมาก จนต้องลดระดับทำการเป็นการก่อการร้ายระดับต่ำ อย่างไรก็ตามปีที่แล้วก็ยังสังหารคนได้มากกว่า 500 คน

ภาพแนบ: นักรบนาซาไลต์

อันดับที่ 23 "สงครามแอมบาโซเนีย"
  
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
  
สู้ระหว่าง: รัฐบาลคาเมรูนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
 
เกิดที่ประเทศ: คาเมรูน
 
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2017
  
คนตายรวม: 3,000 คนขึ้นไป
 
 คนตายปี 2020: 527 คนขึ้นไป
 
 สงครามแอมบาโซเนียเกิดจากคนในภูมิภาคคาเมรูนใต้ต้องการแยกตัวจากประเทศคาเมรูน เพราะมีความแตกต่างกันทางภาษาและวัฒนธรรม
 
 ในอดีตคาเมรูนใต้เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (เรียกว่าคาเมรูนใต้เพราะมันเคยเป็นส่วนใต้ของบริติซคาเมรูน ซึ่งส่วนเหนือรวมกับไนจีเรียไปแล้ว), ส่วนคาเมรูนที่เหลือนั้นเป็นอาณานิคมของเยอรมันและฝรั่งเศส

อันดับ 22 "สงครามตุรกี-เคิร์ด"
  
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง และสงครามปราบชนกลุ่มน้อยข้ามรัฐ
  
สู้ระหว่าง: รัฐบาลตุรกีกับชนกลุ่มน้อยเคิร์ด
 
 เกิดที่ประเทศ: ตุรกี ซีเรีย และอิรัก
 
 เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1984
  
คนตายรวม: 45,000 คนขึ้นไป
 
คนตายปี 2020: 533 คนขึ้นไป
  
สงครามตุรกี-เคิร์ดเริ่มจากตุรกีต้องการปราบชนกลุ่มน้อยเคิร์ดในประเทศตนเองเพราะไม่ต้องการให้แบ่งแยกดินแดน แต่ผู้นำเคิร์ดตุรกีได้ประกาศอุดมการณ์สังคมนิยมทำให้มีชาวเคิร์ดทั้งในตุรกี ซีเรีย อิรัก เชื่อฟังเป็นอันมาก จนเชื่อมโยงกลายเป็นองค์กรเดียวกัน
  
ในปี 2015 เคิร์ดซีเรียรบชนะ ISIS สามารถตั้งรัฐเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ตุรกีเลยต้องข้ามพรมแดนไปปราบ จนบัดนี้ยังต่อสู้กันอยู่

ภาพแนบ: ทหารหญิงเคิร์ด

อันดับ 21 "สงครามไซนาย และสงครามปราบกลุ่มก่อการร้ายอียิปต์"
 
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
 
สู้ระหว่าง: รัฐบาลอียิปต์กับกลุ่มก่อการร้ายในแนวทางญิฮัดสากล
  
เกิดที่ประเทศ: อียิปต์
 
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2011
 
คนตายรวม: 5,800 คนขึ้นไป
  
คนตายปี 2020: 595 คน
 
สงครามไซนายเกิดขณะอียิปต์วุ่นวายจากการปฏิวัติอียิปต์ในปี 2011 ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ กลุ่มก่อการร้ายจึงฉวยโอกาสก่อการ ต่อมาปี 2014 กลุ่มก่อการร้ายในไซนายได้สวามิภักดิ์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ISIS ตั้งชื่อว่า "จังหวัดไซนาย"
 
สงครามนี้มีการปราบการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วอียิปต์ แต่เฉพาะในคาบสมุทรไซนายนั้นกลุ่มก่อการร้าย ISIS มีศักยภาพถึงขั้นสู้ชิงเมืองทีเดียว

อันดับ 20 "สงครามระหว่างชนเผ่าในไนจีเรีย"
  
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
  
สู้ระหว่าง: ชนเผ่าต่างๆ ในไนจีเรียรบกันเอง และรบกับรัฐบาลไนจีเรียที่ต้องการปราบความไม่สงบ
 
เกิดที่ประเทศ: ไนจีเรีย
 
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1998
  
คนตายรวม: 17,156 คน
  
คนตายปี 2020: 600 คนขึ้นไป
  
ประเทศไนจีเรียนั้นมีคนหลายเผ่าพันธุ์ หลากศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกัน ที่ผ่านมาวิกฤตสิ่งแวดล้อม และภัยธรรมชาติทำให้มีการสู้แย่งชิงกันอยู่แล้ว ความรุนแรงในปัจจุบันหลักๆ เริ่มจากชาวไร่ชาวนาเผ่าโบโรโรฟูลานิทางเหนือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย บีบให้พวกเขาต้องอพยพลงใต้ และรบกับเผ่าโยรูบาเพื่อชิงทรัพยากรอันจำกัดนั่นเอง

อันดับ 19 "สงครามดาร์ฟูร์"
  
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
 
สู้ระหว่าง: รัฐบาลซูดาน และกลุ่มกบฏ
 
เกิดที่ประเทศ: ซูดาน
 
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1998
  
คนตายรวม: 300,000 คนขึ้นไป
  
คนตายปี 2020: 650 คนขึ้นไป
 
ประเทศซูดานมีคนอยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ คือคนเชื้อสายอาหรับ และคนที่ไม่ใช่อาหรับ (ส่วนใหญ่เป็นคนดำ) ที่ผ่านมาชาวอาหรับซึ่งเจริญกว่าสามารถยึดอำนาจรัฐได้ จึงทำการกดขี่พวกคนดำในภูมิภาคดาร์ฟูร์ทางใต้ถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
  
หน่วยที่มีชื่อเสียงของสงครามนี้คือหน่วยจันจาวีด หรือหน่วยทหารบ้านอาหรับที่รัฐบาลใช้มาช่วยรบ พวกนี้ดุมาก ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนดำไปเยอะมาก พวกคนดำก็รวมกันก่อกบฏโดยมีอุดมการณ์ต้องการสร้างรัฐที่ยอมรับคนหลากหลาย
ภาพแนบ: กลุ่มจันจาวีด

อันดับ 18 "สงครามชนกลุ่มน้อยพม่า"
  
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
  
สู้ระหว่าง: รัฐบาลพม่า และกบฏชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉาน โรฮิงญา
  
เกิดที่ประเทศ: พม่า
 
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1948
 
คนตายรวม: ประมาณ 130,000 - 210,000 คน
 
คนตายปี 2020: 650 คนขึ้นไป
 
พม่าเป็นประเทศที่ประกอบด้วยคนหลายเผ่า ในปี 1947 นายพลอองซานผู้นำตอนนั้นได้โน้มน้าวชนเผ่าต่างๆ ให้ทำสัญญาปางหลวง เพื่อรวมตัวกันชั่วระยะหนึ่งให้มีพลังในการตั้งประเทศและขอเอกราชจากอังกฤษ
 
หากต่อมาอองซานถูกลอบสังหาร และหลังพม่าได้รับเอกราชในปี 1948 เผ่าต่างๆ เกิดความไม่พอใจว่าถูกกีดกันอำนาจทางการเมือง จึงแยกย้ายกันตั้งกองกำลังของตนเองทำสงครามแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลกลางจนปัจจุบัน

ภาพแนบ: ทหารกะเหรี่ยง

อันดับ 17 "สงครามกลางเมืองโคลัมเบีย"
  
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
 
สู้ระหว่าง: รัฐบาลโคลัมเบีย, กบฏคอมมิวนิสต์, กองกำลังเจ้าพ่อค้ายาเสพติด, และกองกำลังชาวบ้าน
  
เกิดที่ประเทศ: โคลัมเบีย
 
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1964
 
คนตายรวม: ประมาณ 220,000 คน
  
คนตายปี 2020: 765 คนขึ้นไป
  
ใครดูซีรีย์เรื่อง Narcos จะเห็นว่าโคลัมเบียเป็นประเทศที่ค่อนข้างวุ่นวาย คือมีรัฐบาลที่คอรัปชันเยอะ มีกลุ่มกบฏที่ยึดถือแนวทางคอมมิวนิสต์ และมีกลุ่มเจ้าพ่อค้ายาเสพติด ทั้งหมดนี้ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอด ชาวบ้านตาดำๆ ถูกรังแกไม่อาจพึ่งรัฐบาลได้ (หรือถูกรัฐบาลรังแกเสียเอง) จึงต้องจัดตั้งกองกำลังทหารบ้านมาป้องกันตัว เป็นสถานการณ์วุ่นวายต่อเนื่องจนทุกวันนี้

ภาพแนบ: ทหารฝ่ายคอมมิวนิสต์

อันดับ 16 "สงครามปราบกลุ่ม Allied Democratic Forces"
 
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง และสงครามปราบกลุ่มก่อการร้ายข้ามรัฐ
 
สู้ระหว่าง: รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, รัฐบาลยูกันดา, และกลุ่มก่อการร้าย Allied Democratic Forces (ADF)
  
เกิดที่ประเทศ: สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และยูกันดา
  
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1996
 
คนตายรวม: 3,353 คนขึ้นไป
 
คนตายปี 2020: 900 คนขึ้นไป
 
 เรื่องเริ่มจากมีชาวยูกันดาคนหนึ่งชื่อเดวิด สตีเวน ตอนแรกนั้นนับถือคริสต์ ต่อมาเกิดศรัทธาในบินลาเดน จึงเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม และเปลี่ยนชื่อเป็นจามิล มูคูลู
 
เขาตั้งกลุ่ม ADF ขึ้นก่อการในยูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกโดยหวังจะตั้งรัฐอิสลามขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

ภาพแนบ: คนกลางคือมูซา บาลูกู คนนี้เป็นเอมีร์ หรือผู้นำกบฏคนปัจจุบัน

อันดับ 15 "สงครามลิเบีย"
  
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
  
สู้ระหว่าง: กลุ่มอำนาจต่างๆ ของลิเบียที่อ้างตนเป็นรัฐบาล
 
เกิดที่ประเทศ: ลิเบีย
 
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2011
 
คนตายรวม: 29,859 – 42,253 คน
 
คนตายปี 2020: 1,486 คน
 
สงครามลิเบียเริ่มจากการโค่นล้มเผด็จการกัดดาฟีในช่วงอาหรับสปริงปี 2011 นับแต่นั้นลิเบียก็แตกเป็นหลายฝักฝ่ายชิงอำนาจกันเรื่อยมา โดยมีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงมาแทรกแซงเป็นระยะ
 
ปัจจุบันผู้เล่นหลักคือ House of Representatives ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มประเทศอาหรับและรัสเซีย มีศูนย์กลางที่เมืองโทบรูก กับ Government of National Accord ที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี มีศูนย์กลางที่เมืองตริโปลี นอกจากนั้นมี ISIS อัลเคดาโผล่มาลุยด้วยเรื่อยๆ

อันดับ 14 "สงครามทิเกรย์"
 
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
 
สู้ระหว่าง: รัฐบาลเอธิโอเปีย และรัฐทิเกรย์
  
เกิดที่ประเทศ: เอธิโอเปีย
 
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2020
 
คนตายรวม: 1,600 คนขึ้นไป
 
คนตายปี 2020: 1,600 คนขึ้นไป
 
เอธิโอเปียมีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ รัฐบาลเอธิโอเปียนับแต่ปี 1991 มีรากฐานจากการร่วมมือของสี่รัฐที่ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาลเก่า คือรัฐโอโรเมีย, รัฐอัมฮารา, รัฐเซาเทิร์น เนชันส์, และรัฐทิเกรย์ ส่วนรัฐอื่นๆ จะถูกสี่รัฐนี้ครอบงำ
 
นายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาห์เม็ดที่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2018 ได้พยายามปฏิรูปสิ่งนี้ โดยตั้งพรรคที่เป็นการรวมคนจากหลากหลายฝ่ายมากขึ้น แต่กลุ่มทิเกรย์ปฏิเสธเข้าร่วม และทำการต่อต้านรัฐบาลกลางหลายประการ จนในที่สุดจึงรบกัน

ภาพแนบ: นายเดเบรซัน เกเบรมิคาเอล ประธานาธิบดีรัฐทิเกรย์

อันดับ 13 "สงครามคาโบ เดลกาโด"
 
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
 
สู้ระหว่าง: รัฐบาลโมซัมบิก และกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
 
เกิดที่ประเทศ: โมซัมบิก
  
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2017
 
คนตายรวม: 3,593 คนขึ้นไป
 
คนตายปี 2020: 1,717 คนขึ้นไป
 
คนโมซัมบิกส่วนใหญ่เป็นคริสต์ แต่มีที่นับถืออิสลามอยู่ 17.9% ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐทางเหนือโดยเฉพาะจังหวัดนิอาสซา และคาโบ เดลกาโด
 
ในปี 2017 กลุ่มก่อการร้ายซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ ISIS และขบวนการญิฮัดสากลได้มาก่อการที่คาโบ เดลกาโด สามารถยึดบางพื้นที่ได้ จึงสู้รบกับรัฐบาลอยู่

ภาพแนบ: จังหวัดคาโบ เดลกาโด พื้นที่สีเทาคือที่ๆ กบฏยึดครอง

*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่