JJNY : เชื่อมั่นค้าปลีกม.ค.64ดิ่ง│ดาวเรืองราคาตก│สวนกล้วยไม้9จว.ปิดกิจการ│จิราพรชวนจับตาประชุมสภา│เก่งชี้สิระดีใจเก้อ

โควิดระลอกใหม่ กระทบแรง "ดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีก" ม.ค.64 ดิ่งหนัก
https://www.prachachat.net/marketing/news-609380

 

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกไทยในเดือนมกราคม 2564 ปรับลดลงต่อเนื่อง ผลพวงโควิดระลอกใหม่ กระทบทุกพื้นที่ ทุกประเภทร้านค้า ยกเว้นร้านค้าวัสดุก่อสร้าง หวังรัฐเร่งคลอดมาตรการเยียวยากระตุ้นมู้ดจับจ่าย
 
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า จากข้อมูลผลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index : RSI) เดือนมกราคม 2564 (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 มกราคม 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า
 
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ
 
ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนมกราคม 2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม และเป็นการปรับลดลง จากความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด
 
ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ที่ภาครัฐมีมาตรการ Lock Down ทั้งประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ มองว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น รวมทั้งหวังว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นน่าจะมีทิศทางเดียวกับดัชนีเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563
 
2. ดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมแยกตามภูมิภาค
 
ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาค ปรับลดลงจากเดือนธันวาคมในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างชัดเจน
 
โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งได้รับผลกระทบจาก super spreader ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องจากจังหวัดสมุทรสาคร
 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มการบริโภคที่ขยายตัวได้ปานกลาง เนื่องจากประชากรส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากอุตสาหกรรมสู่ภูมิลำเนา ผสานกับแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนสภาพคล่องและการใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ
 
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการมองว่าแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเช่นกัน เนื่องจากมั่นใจว่าภาครัฐมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อไตรมาสที่สอง 2563 และคาดหวังว่าคงต้องมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐเช่นที่ผ่านมา
 
3. ดัชนีความเชื่อมั่นแยกตามประเภทร้านค้า
 
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ จำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคมและเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกประเภทของร้านค้าปลีกลดลงอย่างชัดเจน
 
โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบของมาตรการภาครัฐที่ประกาศปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในเวลา 3 ทุ่ม
 
อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้มาตรการการทำงานจากบ้าน (WFH) ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ซ่อมบำรุง เฟอร์นิเจอร์ กลับมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสวนทางกลับดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าปลีกอื่น ๆ
 
ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า มีความวิตกต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม 2564 ที่ลดลงอย่างทันที ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างชัดเจน
 
ขณะที่ในเดือนธันวาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 ทั้งนี้สำหรับแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ายังคงมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยกลาง สะท้อนว่าผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ามีความมั่นใจว่าภาครัฐต้องมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง 3 เดือนข้างหน้า
 
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกประเภท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และ ร้านสะดวกซื้อ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม ลดลงมากและรวดเร็ว
 
จากที่ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนธันวาคมยังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก เมื่อเทียบดัชนีประเภทร้านค้าทั้งสามประเภท ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต รู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มากกว่าผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตกลับมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น สูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า
 
แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนของผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อยู่มาก สะท้อนถึงผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อไม่มีความมั่นใจในมาตรการภาครัฐที่ผ่านมา อาทิเช่น โครงการคนละครึ่ง ซึ่งร้านค้าสะดวกซื้อไม่ได้รับประโยชน์เลย
 
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการประเภท ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ในเดือนมกราคม มีความเชื่อมั่นดีขึ้นสวนทางกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่ลดลงอย่างรุนแรง
 
สะท้อนได้ว่า ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับวิถี New Normal ทำงานจากที่บ้าน (WFH) ทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัย ประกอบกับช่วงจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณก่อสร้างภาครัฐ และวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างมีการปรับราคาที่สูงขึ้น อาทิ เหล็ก ปูนซีเมนต์ ไม้อัดต่างๆ จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นในธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ จึงดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ
 
ผลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประเภทร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม มีความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมีนัยยะชัดเจน มากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมาก
 
และเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นในเดือนธันวาคม 2563 ก็ยังลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะร้านอาหารมักเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดเวลาการให้บริการและจำนวนการให้บริการแต่ละรอบที่ลดลงจากมาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing
 
อีกทั้ง ผู้ประกอบร้านอาหารและเครื่องดื่มที่กรอกแบบสอบถามเป็นการบริหารแบบเชนสโตร์ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ปริมาณการสัญจรยังอยู่ระดับที่ลดต่ำลงมาก
 
ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นผู้ประกอบการร้านอาหารภัตตาคาร เครื่องดื่ม ในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ดีขึ้นกว่าเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ภาครัฐน่าจะควบคุมด้วยมาตรการที่เข้มข้นได้ดี
 
สมาคมฯ คาดการว่า การฟื้นตัวในระยะข้างหน้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจค้าปลีก ที่สำคัญ หากการระบาดของโควิด-19 กินระยะเวลายาวนานขึ้น ความแตกต่างของการฟื้นตัวนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
4. ประเด็นพิเศษ “การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ”
 
1. ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านยอดขาย ที่ลดลง 10-30%
 
2. ผู้ประกอบการกล่าวว่า ด้วยยอดขายที่หายไปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อต้นปีที่แล้วจนมาระลอกใหม่เมื่อต้นปีนี้ สภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 6 เดือน หากไม่มีมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงเป้า
 
3. ผู้ประกอบการกว่า 80% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงมากว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2563
 
4. หากเปรียบเทียบยอดขายจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 (วงเงิน 30,000 บาท) เมื่อเทียบกับมาตรการช้อปช่วยชาติ (วงเงิน 15,000 บาท) ในปี 2561-2562 ผู้ประกอบการ 55% ตอบว่า มียอดขายเท่าเดิมและน้อยกว่าเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการ 43% ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% และมีเพียง 2% ที่ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 25%
 
5. ผู้ประกอบการกว่า 90% อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ โครงการคนละครึ่ง
 
6. ผู้ประกอบการเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน ด้วยมาตรการภาษีลดภาระค่าใช้จ่าย และ สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว เนื่องจากด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือน
 
7. ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร เป็นการเฉพาะก่อน
 


ขายไม่ออก! ดาวเรืองราคาตก เกษตรกรช้ำพิษโควิด กำลังซื้อของไหว้ปีนี้เงียบ
https://www.prachachat.net/economy/news-609458
 
ดอกดาวเรืองราคาตก เกษตรกรช้ำพิษโควิด กำลังซื้อของไหว้ปีนี้เงียบ
 
วันที่ 8 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ราคาดอกไม้ของเกษตรกรผู้ปลูกดาวเรืองโอด ราคาดอกดาวเรืองวูบเหลืออยู่ที่ 20-40 สตางค์ต่อดอก จากช่วงปกติที่มีราคาประมาณดอกละ 1 บาท จากพิษโควิด ระลอกใหม่ มาตรการงดจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ดาวเรืองที่เคยเป็นที่นิยม ขายไม่ได้ ไม่สามารถแบกรับกับต้นทุนค่าดูแลและเก็บเกี่ยว วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหา
 
ล่าสุด กรมส่งเสริมการเกษตร ขอชี้แจงว่า กรมส่งเสริมการเกษตรสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเกษตรกรในพื้นที่พบว่าพื้นที่ปลูกดาวเรือง ของ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย ต.ลำเพียก เกษตรกรจำนวน 8 ราย พื้นที่ปลูกรวมประมาณ 60 ไร่ และ ต.ตะแบกบาน (บ้านหนองผักไร) ตามที่ปรากฎเป็นข่าว เกษตรกรจำนวน 2 ราย พื้นที่ปลูกรวมประมาณจำนวน 19 ไร่ สำหรับสถานการณ์ตลาดดาวเรือง
ช่วงนี้พบว่าเกษตรกรมีการตัดจำหน่ายที่ปากคลองตลาด กรุงเทพฯ และมีพ่อค้ามารับซื้อประจำ และนำไปใช้สำหรับการกราบไหว้บูชา แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วัดบางแห่งปิด และวัดที่สั่งซื้อเป็นประจำ ลดจำนวนการซื้อลง ทำให้ไม่รับซื้อจากเกษตรกร
 
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การปลูกดาวเรือง เป็นฤดูกาลปลูกปกติ คือ เกษตรกรปลูกช่วงหลังฝน (ฤดูแล้ง) หรือหลังนา เพราะจะเลี่ยงเรื่องโรคเน่า อายุการปลูก ประมาณ 2 เดือน (55 – 70 วัน) จากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ปี 2563 พบว่าดาวเรืองตัดดอก ทั้งประเทศ มีเกษตรกรปลูกพื้นที่ปลูก 1,788 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 4,212.90 ไร่ กระจายทั่วประเทศ โดยมีแหล่งผลิตสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรจำนวน 102 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 464 ไร่ 2.จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรจำนวน 80 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 137 ไร่ 3.จังหวัดตาก เกษตรกร จำนวน 87 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 734 ไร่ 4.จังหวัดราชบุรี เกษตรกร จำนวน 83 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 135 ไร่ 5.จังหวัดสุพรรณบุรี เกษตรกร จำนวน 62 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน 133 ไร่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาคุณภาพการผลิตมาโดยตลอด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่