GoC32 Side Story “Emulator War”

ในยุค 1990s ที่คอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลายถือเป็นปีทองของการเรียนรู้รวมถึงการกำเนิดของเทคโนโลยีที่สร้างโดยประชาชนคนธรรมดาทั่วไปซึ่งหลาย ๆ อย่างนั้นเป็นการศึกษาจากเทคโนโลยีหรือสิ่งที่มีอยู่เดิมแล้วทำการวิศวกรรมย้อนกลับเพื่อเลียนแบบสร้างสิ่งที่สามารถทำงานได้เยี่ยงเดียวกันกับต้นแบบด้วยกระบวนการ, เทคนิคหรือเทคโนโลยีของตนเอง เช่น กรณี Mod Chip ของ ps ที่ได้เขียนถึงไปในบทความที่แล้ว
 
ผู้อ่านสามารถอ่านย้อนหลังบทความดังกล่าวได้ที่ Link ข้างล่าง
Part1
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=uptomejournal&set=a.805456663368006
Part2
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=uptomejournal&set=a.809342459646093
 
โดยหนึ่งในสิ่งที่มีผู้คนหลายต่อหลายคนพยายามที่จะศึกษาเลียนแบบจำลองการทำงานของมันออกมาให้ได้นั้นก็คือเครื่องเกมคอนโซลและกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเทคโนโลยี “Emulator” (อีมูเลเตอร์)
 

 
ในทางคอมพิวเตอร์แล้ว อีมูเลเตอร์ หมายถึง Software หรือ Hardware ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ระบบหนึ่งสามารถทำงานเสมือนคอมพิวเตอร์ในอีกระบบหนึ่งได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีมานานแล้วในวงการคอมพิวเตอร์แต่ก็ยังรู้จักในวงที่จำกัดมาก
 
เมื่อเข้าสู่ยุค 90s ที่คอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลาย ประชาชนทั่วไปก็เริ่มศึกษาเทคโนโลยีด้วยการวิศวกรรมย้อนกลับสิ่งต่าง ๆ ที่มี ทำให้เครื่องเกมคอนโซลซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสิ่งหนึ่งในยุค 80-90s นั้นกลายเป็นเป้าหมายของการศึกษาและพยายามที่จะสร้าง “อีมูเลเตอร์” ที่ “เลียนแบบ” การทำงานของเครื่องเกมคอนโซลออกมาให้ได้
 
ประวัติศาสตร์ของอีมูเลเตอร์ของเกมคอนโซลนั้นย้อนกลับไปได้เก่าที่สุดคือช่วงปี 1990 โดยอีมูเลเตอร์ตัวที่เก่าที่สุดที่ค้นพบนั้นเป็นอีมูเลเตอร์สำหรับเล่นเกมของ Famicom หรือ Nintendo Entertainment System (NES) ชื่อว่า Family Computer Emulator V0.35 พัฒนาโดย "Haruhisa Udagawa" ซึ่งเป็นนักพัฒนาที่เคยทำงานกับบริษัทเกมชั้นนำอย่าง Namco และ SEGA Sonic Team มาก่อน Timestamps ของไฟล์นั้นระบุวันที่ไว้ว่า 12 December 1990
แน่นอนว่ามันยังไม่สมบูรณ์พอที่จะใช้งานได้จริงได้อย่างครบฟีเจอร์ เช่น ไม่สามารถสร้างเสียงประกอบของเกมออกมาได้และตัวอีมูเลเตอร์ก็ทำงานได้ช้ามากแต่ก็พอที่จะเล่นเกมของ NES บางเกมที่ไม่ซับซ้อนได้ เช่น Donkey Kong
 
Famicom นั้นวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 1983 จะเห็นได้ว่ากินเวลานานทีเดียวกว่าจะเกิดอีมูเลเตอร์ออกมาได้
สาเหตุหลักคือการเลียนแบบการทำงานของระบบอีกนั้นพื้นฐานแล้วจำเป็นต้องอาศัยพลังในการประมวลผลที่สูงกว่าเครื่องต้นแบบ กว่าที่เครื่องคอมพิวเตอร์ตามบ้านจะเริ่มมีพลังการประมวลผลที่มากพอจะเลียนแบบการทำงานของเครื่องเกมคอนโซลได้ก็อีกหลายปีให้หลัง
 

 
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอีมูเลเตอร์นั้นเป็นที่รับรู้จำกัดเพียงในวงแคบ ๆ เท่านั้น แต่ก็ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยฝีมือของโปรแกรมเมอร์หลายต่อหลายคนโดยพัฒนาแยกเป็นเอกเทศจากกัน
 
ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ทดลองใช้อีมูเลเตอร์ครั้งแรกประมาณช่วงปี 1997-99 ซึ่งเป็นอีมูเลเตอร์ของเครื่อง Super Famicom หรือ Super Nintendo (SNES) โดย PC ที่ใช้ในขณะนั้นใช้ CPU ของ intel Pentium mmx 200 Mhz ผลคือแม้จะสามารถโหลดเกมได้แต่ CPU ยังเร็วไม่พอทำให้เกมช้าจนเล่นไม่ได้ ซึ่งต่อมาประมาณปลายปี 1998 หรือช่วงกลางปี 1999 จากความกังวลเรื่อง y2k ทำให้ผู้เขียนได้เปลี่ยน Main Board ของเครื่องและถือโอกาสอัพเกรด CPU ไปใช้ AMD K6-2 ความเร็ว 400MHz แทนซึ่งเร็วเพียงพอสำหรับใช้งาน SNES อีมูเลเตอร์แล้ว
 
อีมูเลเตอร์นี้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ผู้เขียนเลิกไปเล่นเกมที่ร้านเกมแล้วหันมาเล่นเกมของ SNES บนคอมพิวเตอร์แทน เพราะอีมูเลเตอร์ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้เล่นเกมหลาย ๆ เกมที่อยากเล่นแต่ไม่มีที่ร้าน, เกมที่ไม่เคยรู้จัก, เกมเก่าที่พลาดโอกาสเล่นไปหรือเล่นไม่จบ, เกมที่ไม่ค่อยมีคนนิยมเล่นกันแต่ผู้เขียนอยากเล่น
รวมถึงได้สัมผัสกับโอกาสใหม่ ๆ  ที่ไม่สามารถหาได้จากเกมที่ออกวางจำหน่ายตามกระบวนการปกติ
เกมพวกนั้นถูกเรียกว่า “Fan translation”
 

 
เกมของเครื่องเกมคอนโซลโดยเฉพาะในยุคของ NES และ SNES นั้นมักถูกสร้างเพื่อตอบสนองตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นเองเป็นอันดับแรก ทำให้หลาย ๆ เกมถูกประเมินว่าประเภทของเกม, เรื่องราวหรือเนื้อหานั้นไม่เหมาะสมหรือตรงความต้องการของตลาดต่างประเทศจึงไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนแปลงเป็นภาษาอังกฤษเพื่อจำหน่าย
ตัวอย่างเช่น Final Fantasy 5 ฉบับ SNES ที่ออกวางตลาดภาษาญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 1992 แต่ไม่ได้รับการแปลภาษาอังกฤษแต่อย่างไรจนกระทั้ง Square ย้ายค่ายมาสร้างเกมให้กับ Sony จึงมีการแปล ff5 ลงเครื่อง PlayStation ภายหลัง  
 
ทำให้ในปี 1996 แฟน ๆ ได้รวมตัวกันเพื่อแปลเนื้อหาภายในเกมจากนั้นก็ Hack เกมต้นฉบับเพื่อแก้ไขข้อมูลในเกมแทนที่เนื้อหาดั่งเดิมด้วยเนื้อหาที่แปลแล้ว ตัวเกมแปลสำเร็จและมีการเผยแพร่ในเดือนตุลาคม 1997 ช่วงเดียวกับที่ Final Fantasy 7 ภาษาอังกฤษวางจำหน่ายที่อเมริกาพอดี
เกมที่เคยได้รับการแปลโดยแฟน ๆ เองก่อนหน้า ff7 ก็เช่น SD Snatcher ที่ได้รับการแปลโดยแฟน ๆ เมื่อปี 1993 เป็นต้น
 

 
สิ่งที่ทำให้ “Fan translation”สามารถเกิดได้ในยุคที่เกมยังใช้ตลับที่ผลิตได้ยาก, ราคาแพงก็คือ “หัวโปร” ที่ทำให้ตัวเกมสามารถบรรจุอยู่ใน Floppy disk ที่หาง่ายและราคาถูกอีกทั้งยังเผยแพร่ได้ง่ายกว่ามาก

เมื่ออีมูเลเตอร์เป็นที่รู้จักและแพร่หลายก็ทำให้ Fan translation ได้รับอานิสงค์จากอย่างมากและทำให้ Fan translation เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นรวมถึงการเป็นรากฐานในการ Patch เกมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เล่น 

ตัวอย่างเช่นเกม Valkyrie profile ที่ออกภาคภาษาอังกฤษมาในยุคที่ทักษะการพากย์ของผู้ให้เสียงภาษาอังกฤษยังไม่ชำนาญทำให้เสียงพากย์นั้นไม่ค่อยถูกใจผู้เล่นส่วนใหญ่นักจึงมีการ Patch เกมเพื่อเอาเสียงพากย์ฉบับภาษาญี่ปุ่นลงไปในเกมแทน ซึ่งการ Patch เกมด้วยจุดประสงค์ประเภทนี้นั้นได้หายไปแล้วในปัจจุบันเนื่องจากสื่อมีขนาดใหญ่พอที่จะจุเสียงพากย์ได้มากกว่า 1 ภาษาแต่การ Patch เกมด้วยจุดประสงค์อื่น ๆ ยังคงอยู่ เช่น เพื่อ uncensored การแสดงผลของกราฟฟิก
 
ในรูปคือ Last Boss ของ Final Fantasy 6 ซ้ายคือฉบับญี่ปุ่น ขวาคือฉบับอเมริกา
ผู้อ่านลองเล่นเกมจับผิดภาพดูว่ามีจุดแตกต่างตรงไหนบ้าง
 

 
อย่างไรก็ตามอีมูเลเตอร์ของเครื่องเกมคอนโซลนั้นเป็นที่รู้จักในวงจำกัดมาก ผู้คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้ถึงการมีอยู่ของมันเลย
แล้วอีมูเลเตอร์ของเครื่องเกมคอนโซลนั้นเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อไหร่
 
สิ่งที่ทำให้อีมูเลเตอร์เป็นที่รู้จักและแพร่หลายนั้นมาจากการที่มีบริษัทพยายามสร้างอีมูเลเตอร์ที่เลียนแบบการทำงานของ PlayStation(ps) เครื่องเล่นเกมของ Sony ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในยุคนั้น โดยเป้าหมายของธุรกิจคือเพื่อขายโปรแกรมที่จะทำให้ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโลกสามารถเล่นเกมของ ps ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากได้
 
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งนี้จะทำเงินให้แก่บริษัทมากแค่ไหน
 

 
ในทางกลับกัน Sony ก็มองว่าสิ่งนี้นอกจากจะซ้ำเติมปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เกมที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้วยังจะมาทำลายธุรกิจเครื่องเกมคอนโซลที่กำลังรุ่งเรืองสุดขีดในขณะนั้นอีกด้วย ลองคิดเล่น ๆ ดูว่าถ้าคุณเป็น Sony แล้วรู้ว่ากำลังจะมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งโลก ซึ่งประมาณกันว่าในช่วงปี 1999 นั้นมีจำนวนมากกว่า 150 ล้านเครื่อง สามารถแทนที่ ps ซึ่งเป็นสินค้าของคุณได้ดู
 
ทั้งที่ในการใช้งานจริงแล้วอีมูเลเตอร์ในยุคนั้นไม่ได้สมบูรณ์พอที่จะสามารถเล่นเกมของ ps ได้ทุกเกม อีกทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถเล่นได้ก็มีราคาแพงมากเพราะจำเป็นต้องมีพลังการประมวลผลที่สูงรวมถึงกราฟฟิกการ์ดที่ดีด้วย ทำให้เครื่องที่ใช้งานอีมูเลเตอร์ได้จริง ๆ นั้นมีจำนวนน้อยมาก  
 
แต่ด้วยโชคชะตาหรือความบังเอิญก็ไม่ทราบได้ ทำให้ Sony เข้าใจว่าอีมูเลเตอร์สามารถทดแทนเครื่อง ps ได้จริง ๆ
 Sony จึงตัดสินใจเปิดศึกกับบริษัทผู้สร้างจนในที่สุดเรื่องของอีมูเลเตอร์ก็เป็นที่รับรู้ไปทั่ว
และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของ Emulator War
 

 
ปล.ตอนนี้ผมได้เปิด Facebook Page “บทความตามใจฉัน” 
โดยบทความจะหลายหลากคละประเภทกันไปความตามความสนใจนั้นขณะนั้น ถ้าสนใจก็กดติดตามได้ครับ
https://www.facebook.com/uptomejournal/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่