ข้อจำกัดการเกิดยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย



มาตรการผลักดัน "ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) " ของรัฐบาลถือเป็นหนึ่งใน"วาระแห่งชาติ" ที่จะปฏิวัติวงการยานยนต์ไทย โดยจะหันมาส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ รวมทั้ง "นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า" หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริมอย่างจริงจัง ยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นคลื่นลูกแรกในการปฎิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์คลื่นลูกที่สองคือ ยานยนต์ไร้คนขับที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

สำหรับโรดแมป ไทยแลนด์ สมาร์ท โมบิลิตี้ 30@30 ของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและต้องผลิตได้โดยประมาณ 750,000 คัน ภายใน 10 ปี ตั้งแต่ 2020-2030 ประกอบไปด้วย เริ่มต้นระยะสั้น (2020-2022) ผลิตสำหรับรถของหน่วยงานราชการ รถสาธารณะ (xEV ประชารัฐ) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ (โครงการวินสะอาด) รวม 60,000 คัน จากนั้นในระยะกลาง (2021-2025) เร่งต่อยอดจากเฟสแรกด้วยการส่งเสริมการผลิต ECO-EV หรือรถยนต์ขนาดเล็กเพิ่มเติมจากจำนวน 100,000 คัน ไปถึง 250,000 คัน พร้อมๆ กับการ Smart City Bus รวมจำนวน 300,000 คัน และในระยะยาว (2026-2030) จะให้มีการขยายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อเนื่องจนครบจำนวนตามแผนงานที่วางไว้ 
 


ในขณะที่ภาคการสนับสนุนและแนวทางการแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ก็ดำเนินการควบคู่ไปกับระยะเริ่มต้นสำหรับโรดแมปนี้ เช่น การกำหนดอายุการใช้งานของรถยนต์ 15 ปี ปรับภาษีจดทะเบียน ระบบการจัดการซากรถ แผนบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยสารมลพิษ EURO 5 และ EURO 6 และอัตราค่าไฟฟ้า 2.56 บาทต่อหน่วย สำหรับสถานีชาร์จ ตลอดจนการแก้ปัญหานโยบายการค้าเสรี ASEAN-CHINA FTA ต่อจากนั้นในระยะเร่งแผนดำเนินการด้วยการจัดสรรงบประมาณสำหรับสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์ ATTRIC ส่งเสริมการวิจัย การพัฒนาบุคลากรและสถานประกอบการ และตามด้วยมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนสู่ยานยนต์สมัยใหม่ การปรับปรุงกฎระเบียบในรูปแบบการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยที่ธุรกิจเดิมอยู่ได้และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค 

นอกจากนี้ การกําหนดมาตรฐานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้านั้นจําเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานอาทิ เช่น สํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ต้องมีบทบาทในการเตรียมความพร้อมด้านนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสร้างมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่จะเป็นผู้กําหนดนโยบายเกี่ยวกับมาตรฐาน การใช้พลังงานของยานยนต์ไฟฟ้า และการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง สํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ที่จะต้องกําหนดอัตราค่าไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้าและกําหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับการอนุญาตจําหน่ายไฟฟ้าสําหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น 
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณา คือ ผลกระทบด้านการบริหารจัดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า การเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นจากยานยนต์ไฟฟ้านั้น อาจจะส่งผลกระทบในการบริหารจัดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า โดยทั่วไปการบริหารจัดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ต้องการให้โรงไฟฟ้าเดินให้อยู่ในค่าที่กําหนด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ในกรณีที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจําเป็นต้องมีการบริหารจัดการประกอบการเดินเครื่อง เช่น การพยากรณ์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า รวมถึงการจัดแผนการเดินเครื่องโดยมีเครื่องที่สามารถปรับเพิ่มลดความต้องการได้อย่างรวดเร็วให้สํารองอยู่ในระบบให้มีความมั่นคงเพียงพอ 
สำหรับในประเทศไทยรถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ทั่วไปการจะออกรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่จึงยังคงไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะต้องนำเข้าและต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทั้งนี้ กฟผ. และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกันทำ “โครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง(EV Kit & Blueprint Project)” ขึ้นโดยมีเป้าหมายที่ต้องการให้คนไทยสามารถดัดแปลงรถยนต์คันเก่าให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ในต้นทุนไม่เกินคันละ 200,000 บาท (ไม่รวมแบตเตอรี่) ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่  อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ใช้รถคู่ใจคันเดิมและช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ได้อีกด้วย นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟผ. สำนักงานกลาง และโรงไฟฟ้าของกฟผ. จำนวน 23 สถานี เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้าง 


     แน่นอนว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าบำรุงรักษา พื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น ความสะดวกสบายในระหว่างขับขี่และแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อเทียบกับรถยนต์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ฐานการผลิต EV จากประเทศจีนที่มีต้นทุนต่อหน่วยการผลิตที่ถูกมาก กำลังแพร่กระจาย EV ไปทั่วโลก พวกเราควรจะได้ใช้ EV ในราคาถูกตามเทรนของนวัตกรรมหรือไม่ อยู่แค่เอื้อม

บทความโดย 
ดร.วรภัทร กอแก้ว รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
>>>>>>>>>
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่