หลังจากได้อ่านและดู One Punch Man

กระทู้สนทนา
เมื่อตัวเอก lv 999
สำหรับหลายๆ คนที่เคยอ่านการ์ตูนเรื่องนี้มาก็คงจะทราบพล็อตเรื่องดีอยู่แล้ว แนวความคิดต่างๆ เกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้ก็มีคนวิเคราะห์ไว้หลายแนว สิ่งที่ผมจะเขียนถึงการ์ตูนเรื่องนี้เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่ผมยังไม่เคยเห็นใครพูดถึงนะครับ
 
one punch man การ์ตูนแฝงธรรมะ ???
 
เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมตัวเอกในเรื่องถึงต้องใส่ชุดสีเหลืองและหัวล้าน (ไม่มีคิ้วอีกตะหาก)
เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมตัวเอกฝึกฝนแบบธรรมดาแต่เก่งได้แบบสุด ๆ
เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมตัวเอกดูเฉยชากับเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัว
 
ไซตามะ  จากคนหนุ่มธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีความสามารถพิเศษอะไร กลายเป็นบุคคลที่แข็งแกร่งที่สุด จากการฝึกฝนแบบธรรมดาสุดๆ
ถ้าถามว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรก็ ก็อาจจะตอบว่าเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติก็ได้

แต่ไอเดียเกี่ยวกับไซตามะในเรื่อง one punch man  ของผมมีดังนี้
1. การกระทำที่ดูเหมือนธรรมดาในสายตาของคนหนึ่งอาจไม่ธรรมดาในสายตาของอีกคนหนึ่ง  
- สำหรับฮีโร่คนอื่นๆ การฝึกวิ่ง 10 กม ยึดพื้น 100 ซิตอัพ 100 สควอต 100 (รวมถึงเรื่องไม่ใช้แอร์และฮีตเตอร์) อาจเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่สำหรับบางคนที่ไม่เคยทำมาก่อน มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากทั้งกับร่างกายและจิตใจ ยกตัวอย่างเช่นคนที่ว่ายน้ำเป็นก็มองว่าการว่ายน้ำนั้นง่าย แต่กับคนที่ว่ายไม่เป็นการว่ายน้ำนั้นเป็นเรื่องยากและอาจอันตรายถึงชีวิต การฝึกของไซตามะอาจง่ายสำหรับคนทั่วไปแต่สำหรับตัวไซตามะเองเค้าอาจเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากที่สุด และเชื่อว่าหากทำสิ่งเหล่านี้ได้เค้าจะกลายเป็นบุคคลที่แข็งแกร่งที่สุด ทั้งนี้เมื่อเราสามารถก้าวข้ามสิ่งที่เราคิดว่ายากลำบากที่สุดในชีวิตไม่ว่าจะด้านร่างกายหรือจิตใจ เราจะพบกับเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในตัวเอง ส่วนจะเปลี่ยนได้มากเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับจิตใจของตนเอง

2. ปกติ ว่าง ไม่ปรุงแต่ง ไม่มีกรอบ
- ไซตามะเป็นคนที่มีความปกติของตัวเอง มีความว่าง(ปล่อยวาง) มีความไม่ปรุงแต่ง และไม่มีกรอบจำกัดตัวเอง สังเกตุได้ตั้งแต่ต้นเรื่องเลยว่าไซตามะไม่ค่อยรีแอคกับสิ่งรอบข้าง ไม่กลัว ไม่คิดเยอะ ไม่ปรุงแต่งจิตเยอะ มีพื้นฐานของจิตใจในทางที่ดีแต่ก็ไม่ได้ซีเรียสในเรื่องความดีอะไรมากมาย (อยากช่วยก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็คือไม่ได้) ในช่วงก่อนหัวโล้นไซตามะก็ทำตัวเป็นคนธรรมดาๆ คนนึง ที่มีความว่างเปล่าหรือความปล่อยวางระดับหนึ่ง ตกงานก็หางานหาไม่ได้ก็หาไปเรื่อย ๆ เจอสัตว์ประหลาดก็เข้าไปสู้เพื่อแค่อยากช่วยเด็กทั้ง ๆ ที่เป็นคนธรรมดา (ไม่ได้สนว่าจะชนะหรือแพ้ ฆ่าหรือถูกฆ่า) แต่หลังจากได้ช่วยเด็กก็เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต เพื่อฝึกฝนตนเองโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น?? (ตอนนั้นสู้แล้วเจ็บตัวมันเลยฝึกให้ร่างกายแข็งแกร่งจะได้ไม่เจ็บตัวอีก) จนกระทั่งวันหนึ่งที่ผมร่วงหมดหัวเปรียบเหมือนกับการบรรลุอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำให้ไซตามะก้าวเข้าสู่ความแข็งแกร่งแบบสุด ๆ พร้อมกับความรู้สึกว่างเปล่ายิ่งขึ้นไปอีก ข้อสังเกตุที่ว่าไซตามะเมื่อหัวล้านแล้วบรรลุธรรมคือ เป็นคนที่ปล่อยวางมากขึ้น มีวิธีคิดตามสิ่งที่เห็นจริงและไม่ปรุงแต่ง ใช้ชีวิตในแบบธรรมดาที่สุด อารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง อาจมีบ้างแต่ก็ไม่ได้รุนแรงอะไร เมื่อเกิดอารมณ์ก็ดับอารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว สู้แต่ละครั้งก็ไม่ได้อยากชนะหรืออยากฆ่าใคร(แค่อยากมีคู่ต่อสู้สนุกๆ) เป็นฮีโร่ก็ไม่ได้จริงจังเรื่องการเป็นฮีโร่แต่อย่างใด  สังเกตุได้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้มีคนตายเยอะมาก จีนอสเองที่ใกล้ชิดกับไซตามะก็เกือบตายบ่อยๆ ศัตรูก็เก่งแบบหลุดโลก และเหตุการณ์อื่นๆ หลายๆ อย่าง แต่ไซตามะไม่เคยหวั่นไหวกับอะไรเลย สิ่งสำคัญอีกข้อคือไซตามะไม่เคยมีกรอบ ไม่สนว่าใครจะเก่งกว่าใคร ใครจะบอกว่าอสัตว์ประหลาดตัวไหนเก่งอย่างไร บอกว่าให้ทำสิ่งนี้สิ่งนั้น หรือคนอื่นจะคิดกับเค้าอย่างไร ไม่เคยมีผล(หรือมีผลน้อยมาก ๆ)กับไซตามะ เค้าเชื่อและทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อเท่านั้น

3. พลังแห่งจิตหรือพลังแห่งความคิด
- พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไซตามะไม่ใช่ความแข็งแกร่งของร่างกาย แต่เป็นความแข็งแกร่งของจิตใจ(หรือพลังใจ) ต้นกำเนิดพลังของไซตามะคือพลังจากจิตใจ ด้วยการที่ไซตามะมีความว่างและจิตใจที่เข้มแข็งแบบสุดๆ ไซตามะเชื่อว่าเมื่อตนเองฝึกแบบนี้แล้วตัวเองจะแข็งแกร่งที่สุดเค้าก็กลายเป็นบุคคลที่แข็งแกร่งที่สุด ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นแบบไหนก็ไม่สามารถกระทบจิตใจไซตามะได้เลย ยกตัวอย่างความแข็งแกร่งของจิตใจไซตามะ ปกติแล้วไซตามะจะต่อยศัตรูครั้งเดียวจอด(ต่อยไปงั้นๆ) แต่ถ้าต่อยไปงั้น ๆ ไม่จอดก็แต่ใส่ความตั้งใจในหมัดให้มากยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น .... เป็นอินฟินิตี้ นี่แหละความแข็งแกร่งของจิตใจของไซตามะ ถึงแม้ดูเหมือนว่าไซตามะรู้สึกว่างเปล่าและต้องการคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อ แต่ในความเป็นจริงแล้วในความคิดลึกๆ ของไซตามะเชื่อว่าตนเองนั้นแข็งแกร่ง ไม่มีใครสามารถต้านทานพลังของตนเองได้ ถ้าทนได้ก็แค่ใส่ความตั้งใจในหมัดให้มากกว่าเดิม ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตามไซตามะไม่มีวันพ่ายแพ้ตราบใดที่ใจไม่คิดยอมแพ้
 
สรุปได้ว่าตัวตนของไซตามะจะเป็นไปแนวความคิด simple is the best + ทางสายกลาง + ความว่าง(ปล่อยวาง) ภายใต้จิตใจ(หรือพลังใจ)ที่แข็งแกร่งที่สุด การจะอธิบายแนวทางของไซตามะให้สมบูรณ์สามารถเปรียบเทียบกับตัวละครอื่นๆ ได้
 
เจนอส มนุษย์ไซบอก เป็นตัวแทนความแข็งแกร่งทางกาย เป็นตัวละครที่เก่งตัวหนึ่ง มีจิตใจที่ดีและแข็งแกร่ง เจนอสเรียกได้ว่ามีร่างที่แกร่งที่สุด (เทียบกับเลือดเนื้อของคนแบบปกติ) เจนอสเก่งก็จริงแต่ข้อจำกัดของเจนอสคือร่างไซบอก การที่เป็นไซบอกทำให้เกิดข้อจำกัดของร่างกายเพราะโดยพื้นฐานแล้วเจนอสไม่สามารถทำอะไรได้นอกเหนือจากสเปกหรือประสิทธิภาพของร่างกายที่ถูกออกแบบมา จินตนาการด้านความแข็งแกร่งของตนเองจึงถูกจำกัด ไว้เท่านั้นและยังถูกจำกัดด้วยความคิดที่ว่าตนเองไม่ได้แข็งแกร่งที่สุด ต่างกับไซตามะที่ร่างกายปกติธรรมดาแต่ไม่ถูกจำกัดด้วยความคิดหรือความเชื่อในทุกๆ ด้าน
 
ทัตสึมากิ เป็นตัวแทนความแข็งแกร่งทางจิต เป็นผู้ที่มีพลังจิตแข็งแกร่งสุดๆ แต่เป็นเพียงความแข็งแกร่งภายนอก ทัตสึมากิสามารถใช้พลังจิตบังคับสิ่งของภายนอกได้เกือบทุกอย่าง ทั้งบุคคลและสิ่งของ แต่ไม่สามารถบังคับจิตใจตนเองได้ ยังมีอารมณ์ที่รุนแรงและมีความหวั่นไหวจากเรื่องราวในอดีต เมื่อเทียบกับไซตามะ ไซตามะมุ่งใช้พลังจิตกับตนเองเท่านั้น ไม่พยามเปลียนแปลงสิ่งใดหรือเปลี่ยนแปลงใคร อีกทั้งยังมีจิตใจที่ว่างและแข็งแกร่ง ดังนั้นเมื่อทัตสึมากิพยายามใช้พลังจิตกับไซตามะจึงไม่สามารถทำอะไรไซตามะได้
 
ซิลเวอร์ แฟง ผู้ที่มีศิลปการต่อสู้ขั้นสุด เป็นตัวแทนความแข็งแกร่งจากการฝึกฝนศาสตร์ต่าง ๆ หากดูทางด้านฝีมือแล้วเรียกได้ว่าก็มีความสามารถเหนือมนุษย์ ด้านจิตใจก็มั่นคงแข็งแกร่ง สิ่งที่แฟงต่างกับไซตามะคือความยึดติดในวิชา หรือในศิลปการต่อสู้นั่นเอง ข้อจำกัดของแฟงคือวิชาที่ใช้ เมื่อใช้ครบทุกวิชาที่มีแล้ว(ใช้ศาสตร์ทั้งหมดของตนเองแล้ว) ยังปราบคู่ต่อสู้ไม่ได้ก็ทำอะไรต่อไม่ได้ (เหมือนมี limit) แต่ไซตามะไม่มีสิ่งเหล่านี้ ไม่มีระดับ ไม่มีท่วงท่า มีเพียงท่าการต่อยธรรมดาที่ใส่ความตั้งใจเข้าไปเรื่อย ๆ ไร้ที่สิ้นสุด ทำไห้ไร้ขีดจำกัด (และตัวละครอื่น ๆ อีกหลายตัวที่อยู่ใน category นี้)
 
จักรพรรดิ์เด็ก ตัวแทนความแข็งแกร่งที่มาจากความฉลาด แต่เพราะมีความรู้มาก ใช้สมองคิดหนทางได้มากและคิดเป็นตรรกะ จึงเกิดเป็นข้อจำกัดหรือเป็นกรอบของทั้งความคิดและการกระทำในหลาย ๆ เรื่อง เทียบกับไซตามะที่ไม่คิดมากข้อจำกัดจึงน้อยกว่า ทำอะไรที่ซับซ้อนน้อยกว่า

ก็มีเพียงเท่านี้ที่อยากเล่าสูกันฟัง เผื่อจะดูการ์ตูนสนุกขึ้นครับ
เห็นด้วยช่วยโหวตหน่อยนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่