ผู้หญิงไทยในสมัยก่อนเขาไม่มีงานทำเลยหรือคะ ละครไทยสร้างกี่เรื่องก็เห็นมีอยู่แค่เกิดมาเพื่อเป็นเมียหลวง เมียน้อยแค่นั้น

ผู้หญิงไทยในสมัยก่อนในช่วงอยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนกลางเขาไม่มีงานนอกบ้านทำเลยหรือคะ ละครไทยสร้างกี่เรื่องก็เห็นมีอยู่แค่เกิดมาเพื่อเป็นเมียหลวง เมียน้อยแค่นั้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 13
ตรงกันข้ามเลยครับ

ชนชั้นมูลนายที่มีฐานะดี  ผู้หญิงรับผิดชอบดูแลเรื่องในบ้านทั้งหมดแทนสามี ทั้งการจัดเตรียมสิ่งของข้าวปลาอาหารเลี้ยงคนในครอบครัวและบริวาร ทำงานฝีมือเช่นเย็บปักถักร้อย  บางคนที่มีทุนทรัพย์อาจประกอบธุรกิจหารายได้เพิ่มเติม

สำหรับชนชั้นที่ไม่ได้เป็นมูลนายเช่นไพร่   ในสังคมไทยสมัยอยุทธยาผู้ชายถูกเกณฑ์แรงงานเดือนเว้นเดือนปีละ ๖ เดือนไม่เอื้อประกอบอาชีพส่วนตัว เมื่อผู้ชายว่างราชการแล้วก็ไม่ทำงานทำการอะไร ผู้หญิงที่มีอิสระมากกว่านอกจากดูแลเรื่องในบ้านแล้วยังต้องเป็นคนประกอบอาชีพหลักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว รวมถึงต้องจัดข้าวปลาอาหารให้ผู้ชายในครอบครัวที่ถูกเกณฑ์ด้วย    ดังที่ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์บันทึกว่า

       "ในระหว่างที่พวกผู้ชายถูกเกณฑ์ไปเข้าเวรยามมีกำหนด ๖ เดือนนั้น  เป็นงานหลวงที่เขาจะต้องอุทิศถวายเจ้าชีวิตทุกปี ก็เป็นภาระของภรรยา. มารดาและธิดาเป็นผู้หาอาหารไปส่งให้ และแม้เมื่อพ้นกำหนดเกณฑ์แล้วและกลับมาถึงบ้าน ผู้ชายส่วนมากก็ไม่รู้ที่จะทำงานอะไรให้เป็นล่ำเป็นสัน เพราะไม่ได้ฝึกงานอาชีพอย่างใดไว้ให้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษสักอย่างเดียว ด้วยพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงใช้ให้พวกนี้ทำงานหลายอย่างต่างๆ กัน แล้วแต่พระราชประสงค์ เช่นนี้จึงพออนุมานได้ว่าชีวิตตามปกติขิงชาวสยามนั้นดำเนินไปด้วยความเกียจคร้านเป็นประมาณ เขาแทบจะไม่ได้ทำงานอะไรเลยเมื่อพ้นจากราชการงานหลวงมาแล้ว เที่ยวก็ไม่เที่ยว ล่าสัตว์ก็ไม่ไป ได้แต่นั่ง, เอนหลัง, กิน, เล่น, สูบยาสูบแล้วก็นอนไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น ภรรยาจะปลุกให้เขาตื่นขึ้นราว ๗ โมงเช้า เอาข้าวปลาอาหารมาให้บริโภค เสร็จแล้วก็ลงนอนต่อไปใหม่ พอเที่ยงวันก็ลุกขึ้นมากินอีก แล้วก็มื้อเย็นอีกคำรบหนึ่ง. ระหว่างเวลาอาหารมื้อกลางวันกับมื้อเย็นนี้ เขาก็เอนหลังลงพักผ่อนเสียพักหนึ่ง เวลาที่เหลืออยู่นอกนั้นก็หมดไปด้วยการพูดคุยและเล่นการพนัน. พวกภรรยานั้นไปไถนา ไปขายของหรือซื้อของที่ในเมือง"


การประกอบอาชีพของผู้หญิงสมัยอยุทธยา ปรากฏในจดหมายเหตุของนิโกลาส์ แฌร์แวสว่า

       "หญิงผู้มีฐานะดีทำงานอยู่ในบ้านเรือนของตนเพื่ออำนวยความผาสุกแก่สมาชิกในครัวเรือน บงการให้ทำอาหารการกินหรือลงมือปรุงอาหารด้วยตนเองให้สามีบริโภค และใช้เวลาที่เหลือปักสะดึงกลึงไหมทอง, ไหมเงินและไหมธรรมดา ซึ่งลาทีก็ประณีตเทียมเท่าที่ทำกันในทวีปยุโรปเหมือนกัน

         หญิงที่มีฐานะต่ำลงมาก็ปั่นฝ้ายและทอผ้า ทำเป็นผ้านุ่งของสามีและเครื่องนุ่งห่มของตนเอง ถ้านางยากจนไม่มีด้ายจะทอผ้าหรือเมล็ดพันธุ์ผักที่จะเพาะปลูกแล้ว ก็ไปรับจ้างเขาทำงานเพื่อได้เงินมาจุนเจือทางครอบครัว หรือช่วยเขาทำไร่ทำสวน หรือนวดข้าวฝัดข้าว ผู้หญิงชาวสยามชอบสนทนาเหมือนผู้หญิงฝรั่งเศส มีการไปมาหาสู่บ่อยเหมือนกัน"



สภาพเช่นนั้นยังสืบทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในวรรณกรรมต่างๆ กล่าวถึงผู้หญิงที่ทำอาชีพเป็น "แม่ค้า" จำนวนมาก ในขณะที่ไม่ได้กล่าวถึง “พ่อค้า” เท่าไหร่ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่