JJNY : ยางร่วงหนัก/ไอลอว์ยันร่างรธน.เลิกยุทธศาสตร์/พลทหารผูกคอตายอีกศพ พ่อแม่ไม่เชื่อ/วีระบี้วิษณุรับผิดให้ข้อมูลเท็จ

ยางร่วงหนัก หลุดราคาประกัน ชาวสวนอ่วม ขาใหญ่ทุบเก็งกำไร
https://www.prachachat.net/economy/news-554692
 
CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP
 
น้ำยางสด-ยางแผ่นราคาร่วงหนัก แค่สัปดาห์เดียวราคาลงไปถึง 20 บาท/กก. เหตุเดือนที่ผ่านมาทั้งน้ำยางสด-ยางแผ่น ถูกพ่อค้ายางปั่นราคาเกินจริง กว้านซื้อส่งตลาดซื้อขายล่วงหน้า หวังบีบพ่อค้าท้องถิ่น “คาย” ยางในสต๊อก ก่อนรวมหัวกดราคา เผยยอม “ถัว” ขาดทุนเดือนตุลาคม เตรียมไว้ขายเก็งกำไรในอีก 3 เดือนข้างหน้า ด้านชาวสวนโอดตามเกมไม่ทัน จำต้องเทขายน้ำยางราคาถูก จนน้ำยางสด “ต่ำกว่า” ราคาประกันไปแล้ว 10 บาท/กก.
 
หลังจากที่ราคายางปรับตัวสูงขึ้นจนทะลุ 80 บาท/กก. ไปได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ ล่าสุดราคายางกลับผันผวนหนักเฉลี่ยลดลงถึง 20 บาท/กก. โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคา “น้ำยางสด” ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญของโรงงานผลิตถุงมือยางปรับตัวลดต่ำลงด้วย “ราคาดิ่งรายวัน” หรือราคาตกลงมากกว่าราคายางแผ่นรมควันชั้น 3
 
ในขณะที่ราคาส่งออก (FOB RSS3 Bangkok) ใน 2 สัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 66-78 บาท/กก. โดยราคายางที่ร่วงลงหนักขณะนี้ได้สร้างความกังวลให้กับชาวสวนยาง จากความเชื่อที่ว่าจะได้เห็นราคายาง 1 กก. 100 บาทนั้น “เป็นอันสิ้นสุดความหวังลง
 
น้ำยางสดร่วงหนัก
 
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความเคลื่อนไหวของราคาน้ำยางสด ณ หน้าโรงงาน จากการรายงานของการยางแห่งประเทศไทยพบว่า ราคากำลังร่วงลงอย่างหนักจากที่เคยขายได้ถึง กก.ละ 74.50 บาท (30 ตุลาคม) ในวันนี้ราคาน้ำยางสดเหลือเพียง กก.ละ 47 บาท หรือภายในสัปดาห์เดียว ราคาลดลงมาถึง 27 บาท/กก. นับเป็นสถานการณ์ที่ผิดปกติเอามาก ๆ ส่วนราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ก็ลดลงเช่นเดียวกัน จากราคาสูงสุดที่ 82.80 บาท/กก. (28 ตุลาคม) ก็ลดลงมาเหลือ 61.05 บาท/กก.ในวันนี้ (10 พฤศจิกายน) หรือลดลงประมาณ 21 บาท/กก.
 
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังสหกรณ์ยางหลายแห่งในภาคใต้ต่างพูดตรงกันว่า ราคาน้ำยางผันผวนหนักมาก เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน โรงงานผลิตถุงมือยางรายใหญ่ต่างพร้อมใจกัน “กดราคา” รับซื้อน้ำยางลง เพียงสัปดาห์เดียวราคาร่วงลงไปถึง 20 บาท/กก. สหกรณ์หลายรายจำเป็นต้องขายน้ำยางสดให้โรงงาน เนื่องจากขาดแคลนแรงงานทำยางแผ่น ประกอบกับมีความต้องการเงินเพื่อนำมาหมุนเวียนรับซื้อน้ำยาง ราคาน้ำยางจะลงอย่างไรก็ต้องขาย
 
พร้อมกับแสดงความวิตกว่า ในช่วงปลายปีต่อต้นปี 2564 ซึ่งจะเป็นช่วงหมดฝนจะมีปริมาณน้ำยางออกมามาก ถึงตอนนี้ราคายางจะตกลงไปมากกว่านี้อีก
 
“ความผันผวนของราคายางที่เกิดขึ้นในตลาดตอนนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา “ราคายาง” ของประเทศไทย ถูกกำหนดโดย 5 เสือยักษ์ใหญ่ในวงการไม่กี่ราย ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาราคายางที่ขยับขึ้นสูงเกิดจากการ “ปั่นราคา” ทางการตลาด ส่วนหนึ่งต้องการยางไปส่งมอบ ไม่ใช่กลไกตลาดที่แท้จริง แต่ 2-3 เดือนต่อจากนี้ ราคายางจะลดต่ำลงแน่นอน เพราะน้ำยางออกมากตามฤดูกาลด้วย”
 
เก็งราคายางตลาดล่วงหน้า
 
แหล่งข่าวจากวงการค้ายางระหว่างประเทศกล่าวว่า ราคายางขยับขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 โดยเฉพาะสัปดาห์สุดท้ายของเดือนที่ขยับสูงมากถึงวันละ 4 บาท/กก. ต่อจากนั้นราคาน้ำยางและราคายางแผ่นก็ขยับลดลงมาทันที โดยมีแนวโน้มจะลดลงไปตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน
 
สาเหตุเป็นเพราะช่วงเดือนตุลาคม กลุ่มผู้ค้ายางตลาดซื้อขายล่วงหน้า นักลงทุนในตลาดฟิวเจอร์มาร์เก็ต ต้องการซื้อยางเพื่อส่งมอบตามสัญญาที่ครบตามกำหนด จึง “ลาก” ราคายางขึ้น และเมื่อได้ยางครบตามกำหนดส่งมอบตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว กลุ่มผู้ค้าก็ “ชะลอ” การซื้อลง ส่งผลให้ราคายางลดลง
 
“ผู้ที่เก็บสต๊อกยางไว้มาก ๆ โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้ายางขนาดเล็ก-ขนาดกลาง กับสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ยาง กลุ่มยาง วิสาหกิจยาง จะประสบภาวะขาดทุนทันที ถ้านำยางออกขาย ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 90% ขณะที่กลุ่มผู้ค้ายางในตลาดฟิวเจอร์มาร์เก็ตก็ต้องหาซื้อยางเพื่อส่งมอบตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก็ต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้นมาก ในขณะที่ขายล่วงหน้าไว้ราคาต่ำประมาณกว่า 30% ก็ขาดทุนเป็นเงินจำนวนมาก ไม่น่าจะต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท
 
ดังนั้น กลุ่มผู้ซื้อขายยางล่วงหน้าจึงลากราคายางขยับสูงขึ้น เพื่อให้กลุ่มผู้ค้ายางจะได้คายยางในสต๊อกออกมา แต่กลุ่มผู้ค้ายางขนาดเล็ก ขนาดกลาง สถาบันเกษตรกร บางส่วนไม่ยอมคายสต๊อกออก ต่างเก็บไว้เพราะหวังว่าราคาจะวิ่งต่อ จนกลุ่มนักลงทุนยางในตลาดฟิวเจอร์มาร์เก็ตได้ยางครบก็ชะลอการรับซื้อ ดังนั้น ราคายางจึงลงระลอกใหญ่ เพื่อให้ราคายางในตลาดขยับลงมาอยู่ในระดับปกติ แล้วซื้อเก็บสต๊อกไว้อีก 3 เดือน เพราะตลาดโลกยังมีความต้องการสูง ทิศทางราคายางจะไต่มาสูงที่ 60-70 บาท/กก. อีกระลอกก็จะเป็นการถอนการขาดทุนคืน” ผู้ส่งออกยางรายหนึ่งให้ความเห็น
 
ที่สำคัญก็คือกลุ่มนักลงทุนที่ตลาดฟิวเจอร์มาร์เก็ตรับทราบข้อมูลยางละเอียดว่า กลุ่มไหนมีสต๊อกยางและจำนวนเท่าใด ตลอดจนเงินทุนจำนวนเท่าใด เพราะกลุ่มผู้ค้ายางรายย่อย รายเล็ก รายขนาดกลาง และสถาบันเกษตรกร มีต้นทุนที่สายป่านไม่ยาว จำเป็นจะต้องทยอยขายยางออกมา แม้ว่าราคาจะไม่ได้ตามที่ต้องการก็ตาม
 
กดราคาต่ำถัวขาดทุน
 
ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยังโรงงานผลิตถุงมือยางรายใหญ่ถึงสถานการณ์ราคาน้ำยางสดที่ร่วงลงหนักในขณะนี้ว่า เป็นผลจากการที่ชาวสวนยางแห่กรีดยางออกมาขายในช่วงข่าวดี พร้อมกับเชื่อว่าน้ำยางสำหรับผลิตถุงมือยางจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำยางขึ้นไปสูงมากเมื่อเทียบกับยางแห้ง ยางก้อนถ้วย จนส่งผลให้พ่อค้าที่รับซื้อน้ำยางปรับตัวไม่ทัน กำลังซื้อก็ยังเท่าเดิม เมื่อแรงเทขายเข้ามามากก็รับไม่ไหว จึงเอฟเฟ็กต์ทำให้ราคายางลดลง ชาวสวนยางก็ถูกกดราคาลงมาได้ง่าย เพราะน้ำยางสดจะต้องขายกันวันต่อวัน เก็บไว้ไม่ได้
 
“กลไกตลาดกำลังปรับตัวสู่สมดุล เพราะราคาน้ำยางขึ้นไปมากผิดปกติ ตอนนี้พ่อค้าที่ซื้อสต๊อกราคาสูงไว้ก็ได้รับผลกระทบ เป็นธรรมดาที่จะต้องซื้อน้ำยางราคาถูกลงไปเพื่อถัวราคากัน ซึ่งเป็นกลไกการค้าปกติ ไม่ว่ารัฐบาลจะไล่ตรวจสต๊อกหรือไม่ก็ตาม พ่อค้าก็รับซื้อได้เท่านี้ ไม่มีแรงซื้อแล้ว ก่อนหน้านี้ที่ผ่านมาสถานการณ์ราคายางก็ไม่ได้ดีมาก 5 เสืออาจจะไม่ได้มีอยู่แล้ว เพราะขายกิจการให้จีนไปบ้าง ที่เหลือก็ลดกำลังการผลิต ถ้ายางดีจริงคงไม่เป็นแบบนี้”
 
น้ำยางหล่นต่ำกว่าราคาประกัน
 
นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา กล่าวว่า ตอนนี้ในพื้นที่ทางลานน้ำยางรับซื้ออยู่ที่ 42 บาท/กก. จาก 72 บาท/กก. เท่ากับลดลงไปประมาณ 20 บาท/กก. บางพื้นที่พ่อค้าอ้างว่า น้ำยางเข้ามามาก ถังเก็บน้ำยางข้นเต็ม ไม่มีโกดังเก็บ แต่ทางภาคใต้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน บางพื้นกรีดยางไม่ได้ และบางพื้นที่เกิดโรคยางใบร่วง ปริมาณยางน้อย ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องออกมาตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน
 
ขณะที่ราคายางกำลังทยอยลง รัฐบาลก็ได้ประกาศโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท เพื่อมาชดเชยส่วนต่าง เมื่อยางถูกกดดันให้ราคาลง ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินจากภาษีอีกระลอก
 
ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 จะยึดหลักเกณฑ์จ่ายเงิน “ส่วนต่าง” ราคายาง เหมือนกับโครงการระยะที่ 1 กล่าวคือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาท/กก. จะกำหนดเวลาประกันรายได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563-1 มีนาคม 2564 ถ้าหากรัฐบาลประกาศราคาประกันยางในขณะนี้ก็จะต้องจ่าย “ส่วนต่าง” ราคาน้ำยางสดทันที กก.ละ 10 บาท
  
ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคย.) กล่าวว่า ตอนนี้ราคายางแผ่นรมควัน-น้ำยางสดขยับลง สาเหตุมาจากน้ำยางสดพีกขึ้น ถังเก็บน้ำยางไม่เพียงพอ และอุตสาหกรรมน้ำยางข้นการผลิตสูงขึ้นจนไม่สามารถจะผลิตได้ทัน และในส่วนยางรมควันตลาดต้องชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป “ล็อกดาวน์
 
ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) บังคับใช้กฎหมาย กยท. มาตรา 8 (4) ดูแลผู้ประกอบการยางครบวงจร ตั้งแต่พ่อค้ายาง ผู้ประกอบการยาง เกษตรกรยาง
 

 
"ไอลอว์" ยัน ร่าง รธน.ฉบับประชาชน ชงยกเลิกยุทธศาสตร์20ปี-แผนปฏิรูปประเทศ
https://www.matichon.co.th/politics/news_2438322
 
“ไอลอว์” ยัน ร่าง รธน.ฉบับประชาชน ชงยกเลิกยุทธศาสตร์20ปี-แผนปฏิรูปประเทศ
 
เมื่อวันที่ 12 พ.ย.63 เพจเฟซบุ๊ก ไอลอว์ ได้เผยแพร่ บทความเรื่อง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ เตรียมบรรจุเพื่อพิจารณาโดยรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563″ ว่า 
 
เป็นร่างที่มีข้อเสนอครอบคลุมการแก้ปัญหาการเมืองที่มีอยู่รอบด้านมากที่สุด หนึ่งในนั้น คือ การเสนอให้ ยกเลิก “แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี” และ “แผนปฏิรูปประเทศ” ที่เพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก ​แม้ชื่อของแผนการเหล่านี้จะฟังดูสวยหรู แต่เบื้องหลังทั้งผู้เขียน ผู้อนุมัติประกาศใช้ และผู้ตีความบังคับใช้ กลับเป็นองคาพยพของ คสช. ทั้งสิ้น
 
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” หรือจะเรียกให้ถูกต้องคือ “ยุทธศาสตร์ คสช.” เป็นอีกหนึ่งประเด็นในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สมควรถูกแก้ไขหรือยกเลิก แม้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตอกย้ำความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติว่า จะเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความต่อเนื่อง แต่เวลาไม่นานหลังการประกาศใช้ในปี 2561 ก็แสดงให้เห็นชัดว่ายุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ไม่สามารถป้องกันประเทศจากวิกฤติต่างๆ ได้
 
ยุทธศาสตร์ของ คสช. เป็นหนึ่งในเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. ทำให้ชนชั้นนำภาครัฐที่นำโดยกองทัพกับนายทุนผูกขาดสามารถมีบทบาทควบคุมการออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปถึง 20 ปี ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทหารและนายทุน ประธานคณะกรรมการก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเอง นอกจากนี้ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติเกือบทั้งหมดต่างเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช. ด้วยเหตุนี้ไม่ว่ารัฐบาลในอนาคตจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม แม้จะสามารถชนะเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่การออกนโยบายหรือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลนั้นจะอยู่ภายใต้แนวทางยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. วางเอาไว้
 
รัฐบาลสืบทอดอำนาจของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ เจ้าของยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น จึงยังเห็นชัดว่ายุทธศาสตร์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาล คสช. แต่ในทางกลับกันหากเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ คสช. ก็อาจถูกกลไกยุทธศาสตร์ล้มรัฐบาลได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ ส.ว. แต่งตั้งจาก คสช. มีอำนาจหน้าที่ติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่ากระทำของรัฐบาลขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด ก็ให้ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่มาชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องถูกปลดจากองค์กรซึ่งมีที่มาโยงใยจาก คสช. ทั้งหมด
 
แผนยุทธศาสตร์ที่เขียนขึ้นนั้นมีระยะใช้งาน 20 ปี คือตั้งแต่ปี 2561-2580 นับถึงปี 2563 แม้จะเพิ่งประกาศใช้ไม่นาน ก็สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการที่จะนำประเทศไทยไปเผชิญความท้าทายกับโลกอนาคต ดังจะเห็นได้จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นหลังยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่พบแนวทางในการแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่การยกระดับรายได้ของคนไทยให้เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วภายใน 20 ปี ก็ดูจะสวนทางการสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตกต่ำและเหลี่ยมล้ำมากยิ่งขึ้น ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. จะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยที่จะคอยเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ และเป็นเครื่องมือทางการเมืองของ คสช. เท่านั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่