ลูกกินนมแบบไหนเรียก Over breastfeeding

ลูกกินนมแบบไหนเรียก Over breastfeeding 
 
     การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะนมแม่ มีสารอาหารครบถ้วน ช่วยให้ร่างกายของทารกแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี และยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้อีกด้วย องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือน 👶 กินนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยที่คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเสริมอะไร 
     หลัง 6 เดือน จึงค่อยให้เริ่มกินอาหารเสริมอย่างอื่นนอกจากนมแม่ และให้ได้เรื่อยๆ จนอายุ 2-3 ขวบ คุณแม่ก็ยังสามารถให้ลูกกินนมแม่ร่วมกับอาหาร 5 หมู่ได้ เพราะอย่างที่ทราบว่านมแม่จำเป็นต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของลูก ดังนั้น ยิ่งกินได้นานเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีกับลูกมากเท่านั้น 
     แม้นมแม่จะมีประโยชน์ แต่การให้นมลูกกินก็ต้องคำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสมด้วย เพราะถ้ากินนมเยอะเกินไป ก็อาจเกิดภาวะที่เรียกว่า Over breastfeeding ได้ อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าแล้วภาวะนี้คืออะไร มีวิธีสังเกตและป้องกันอย่างไร ไปรู้จักกันเลยครับ 👇
 
Over breastfeeding คือ 
     การที่ทารกกินนมแม่มากเกินไป จนระบบย่อยอาหารไม่สามารถย่อยนมที่กินเข้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลูกรู้สึกไม่สบายท้องจนต้องแหวะหรือสำลักนมออกมา โดยภาวะนี้เกิดขึ้นได้ทั้งเด็กที่กินนมจากเต้าและกินนมจากขวด 🍼
 
Over breastfeeding เกิดจากอะไร
     โดยทั่วไป เด็กมักจะกินนมเมื่อรู้สึกหิว และจะหยุดเมื่อรู้สึกอิ่ม การกินนมมากเกินจำเป็นจึงเกิดขึ้นได้ยาก โดยภาวะนี้มักจะเกิดกับเด็กที่กินนมจากขวดมากกว่ากินจากเต้า เพราะถึงแม้ว่าที่ขวดนมจะมีการบอกปริมาณอย่างชัดเจน แต่คุณแม่บางคนก็อาจจะกังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงพยายามป้อนนมให้ลูกกินจนหมดขวด นอกจากนี้ การที่ทารกดูดนมจากขวดได้ง่ายและเร็วกว่าการดูดจากเต้า ก็อาจทำให้กินนมมากเกินไปได้เช่นกัน
     ปัญหาสุขภาพของคุณแม่ 👩 ก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้เด็กเกิดภาวะ Over breastfeeding ได้ เช่น ถ้าคุณแม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blue) ก็อาจทำให้คุณแม่หลงๆลืมๆ และย้ำคิดย้ำทำ จนทำให้ป้อนนมให้ลูกกินบ่อยเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจใช้นมแก้ปัญหาเพื่อให้ลูกหยุดร้อง เป็นต้น
อาการแบบไหนที่บอกว่าลูก Over breastfeeding 
 
📌 อาเจียน แหวะนม นมไหลออกจากปากหรือจมูก หรือสำลักนม บางคนอาจมีถ่ายเหลวร่วมด้วย
📌 แน่นท้อง ท้องป่องมาก จนลูกร้องงอแงหลังกินนม 
📌 ลูกไม่ยอมดูดนม และดูไม่ค่อยสบายตัว ทั้งๆ ที่ปกติก็ดูดนมได้ 
📌 น้ำหนักตัวขึ้นเร็วมากกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติน้ำหนักตัวของเด็กจะขึ้นประมาณ 20-60 กรัมต่อวัน
📌 ไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการแหวะนม อาเจียน ปวดท้อง หรือร้องงอแง 
วิธีป้องกันไม่ให้ลูก Over breastfeeding 
             
📌 หยุดป้อนนมทันทีที่ลูกส่งสัญญาณว่าอิ่ม เช่น เบือนหน้าหนี ปัดขวดนม แสดงอาการไม่พอใจ ดูดนมช้าลง หรือเว้นช่วงการดูดนมนานขึ้น
📌 พยายามให้ลูกกินนมจากเต้าจนกว่าจะถึงเวลาหย่านม 
📌 เอาลูกออกจากเต้า อุ้มลูกให้เคลื่อนไหวไปมา เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ 
📌 แต่ถ้ายังร้องอยู่ คุณแม่อาจใช้จุกหลอกช่วยได้ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่ายังดูดอยู่ 
📌 ถ้าร้องเพราะติดเต้าทั้งๆที่กินนมไปเพียงพอแล้ว แนะนำให้คุณแม่ปั๊มนมออก เพื่อให้ปริมาณน้ำนมเหลือน้อยที่สุด จากนั้นจึงค่อยให้ลูกดูด 
📌 ไม่ควรให้นมทุกครั้งที่ลูกร้อง โดยเฉพาะหลังจากที่เพิ่งกินนมเสร็จ
 
อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหา Over breastfeeding ก็คือ คุณแม่ควรรู้ว่า ทารกควรกินนมแม่ปริมาณเท่าไหร่ใน 1 วัน 
📌 วันแรกที่เกิดควรให้ลูกเข้าเต้าเลย โดยปริมาณน้ำนมที่ให้คือ 1 ช้อนชา หรือ 5 ซีซี โดยให้ 8-10 ครั้ง/วัน เช่นเดียวกับวันที่ 2 
📌 วันที่ 3 จนถึงอายุ 1 เดือน ปริมาณที่ควรให้คือ 1-1.5 ออนซ์  โดยให้ 8-10 ครั้ง/วัน 
📌 อายุ 1 เดือน ให้ปริมาณ 2-4 ออนซ์ แต่ให้ลดจำนวนครั้งลงเหลือ 7-8 ครั้ง/วัน
📌 อายุ 2-6 เดือน ให้เพิ่มปริมาณเป็น 4-6 ออนซ์ วันละ 5-6 ครั้ง
📌 ช่วงอายุ 6-12 เดือน ให้ปริมาณ 6-8 ออนซ์ วันละ 4-5 ครั้ง
📌 1 ขวบขึ้นไป ให้ 6-8 ออนซ์ วันละ 3-4 ครั้งหลังอาหาร
 
     ซึ่งถ้าลูกกินนมมากพอแล้ว แต่ยังร้องไห้อีก พี่หมอแนะนำให้คุณแม่ลองสังเกตอาการดู เพราะบางทีลูกอาจจะร้องไห้โยเยเพราะสาเหตุอื่น ไม่ได้ร้องเพราะหิวอย่างเดียว แต่ถ้าสังเกตว่าลูกกินนมได้น้อยกว่าปกติ หรือมีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ก็สามารถพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาได้นะครับ 

     ส่วนคุณแม่มือใหม่ ถ้ายังไม่มั่นใจเรื่องการให้นมลูก ก็สามารถปรึกษาคลินิกนมแม่ได้ คุณหมอจะได้ช่วยแนะนำหลักการการให้นมที่ถูกต้อง รวมถึงปริมาณที่เหมาะสมกับลูกของเรา เพราะเด็กแต่ละคนมีความต้องการไม่เท่ากัน เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยและป้องกันการกินนมมากเกินไปจนเกิดปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมา  
 
     ถ้าคุณแม่คนไหนมีน้ำนมให้ลูกไม่พอกิน ก็ไม่ต้องกังวลใจหรือรู้สึกผิดนะครับ เพราะสิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกไม่ได้มีเพียงแค่น้ำนมเท่านั้น แต่ความรักและความเอาใจใส่ของเราต่างหากที่มีความหมายกับลูกมากที่สุด
 
              เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนนะครับ 😘 😘 😘
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่