บทความตามใจฉัน “TENET สายลับ, ย้อนเวลาและชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง”

เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมาภาพยนตร์เรื่อง TENET ได้เข้าฉายเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยนำเสนอแนวคิดอันโดดเด่นและไม่เหมือนใคร นั้นคือหลักการทวนกระแสเวลาแบบย้อนกลับซึ่งทำให้นักแสดงต้องแสดงแบบย้อนกลับไปด้วยซึ่งน่าสนใจมาก
 
แต่จุดที่ผู้เขียนสนใจมากที่สุดคือภาพรวมแนวคิดด้านเวลาในเรื่องนี้ที่นอกจากจะแหวกแนวการย้อนเวลาแบบเดิม ๆ ที่เคยมีมาแล้วยังฉีกหลักคิดแบบเสรีตะวันตกในเรื่องเจตจำนงอิสระอย่างสิ้นเชิง 
ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงหลักคิดดังกล่าวในเรื่องนี้กัน
 
คำเตือน มีการสปอย์เนื้อหาอย่างมากถึงมากที่สุด 
 

 
TENET เป็นภาพยนตร์แนวสายลับที่เกี่ยวกับความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้มนุษยชาติต้องล่มสลายจากฝีมือของกลุ่มคนจากอนาคตที่ต้องการทำลายล้างมนุษย์ในอดีต
 
แค่ตรงนี้ก็มีแนวคิดที่น่าสนใจแล้ว คือสาเหตุที่มนุษย์ในอนาคตต้องการทำลายล้างมนุษย์ในอดีตก็เพราะสภาวะแว้ดล้อมที่เลวร้ายอย่างมากจนยากในการดำรงชีวิตจนมีแผนที่จะย้อนเวลากลับมาทำลายมนุษย์ในอดีตเสียเพื่อให้สภาพแวดล้อมในอนาคตฟื้นฟูจนเหมาะแก่การอยู่อาศัยอีกครั้ง
 
แน่นอนย่อมต้องมีคำถามตามมาว่าทำแบบนี้แล้วไม่เท่ากับว่าเป็นการสังหารตนเองหรือผู้ให้กำเนิดในอดีตจนทำให้ตนเองไม่มีตัวตนในอนาคตหรอกหรือ ซึ่งในเรื่องเล่าว่าคนในอนาคตคิดเอาเองว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดผลกระทบต่อพวกตนเอง
 
แนวคิดดังกล่าวมาจากทฤษฎี time paradox ที่มักเล่าถึงกรณีที่ว่าถ้ามีคนย้อนเวลาไปสังหารผู้ให้กำเนิดตนเอง ผลที่ออกมาตามสามัญสำนึกคือผู้ที่สังหารเองก็จะสลายหายไปเพราะไม่เคยมีตัวตนซึ่งนำมาซึ่งคำถามต่อมาคือแล้วใครจะเป็นคนไปสังหารผู้ให้กำเนิดตนเองก็เมื่อผู้สังหารเองไม่เคยเกิดมา จากความขัดแย้งนี้เองจึงมีการตั้งทฤษฎีใหม่ที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อว่า Alternate Timeline ที่เสนอแนวคิดว่าการสังหารผู้ให้กำเนิดตนเองนั้นไม่ได้ทำให้ลำดับเหตุการณ์ตามกาลเวลาเปลี่ยนไปแต่ทำให้เกิดเส้นเวลาใหม่ที่ผู้สังหารไม่เกิดมาแทน
 
ในเรื่องนั้นจึงมองได้ว่าคนในอนาคตพยายามที่จะย้ายทุกคนบนโลกไปสู่ Timeline ใหม่ที่สภาพแวดล้อมดีกว่าเดิมก็ว่าได้
 

 
การย้อนเวลาในเรื่องนั้นเป็นรูปแบบที่น่าสนใจมากโดยใช้ทฤษฎีการย้อนเอนโทรปีที่สรุปง่าย ๆ สั้น ๆ คือทุกเอนโทรปีจะไหลไปในทิศทางเดียวกับกระแสเวลา ถ้าเรามีเครื่องหรืออุปกรณ์อะไรบางอย่างที่สามารถย้อนกลับการไหลของเอนโทรปีได้ เราก็จะย้อนเวลากลับไปได้ 
ผู้ที่สนใจสามารรถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีการย้อนเวลาในหนัง TENET ได้ที่ Link ข้างล่าง
https://thematter.co/thinkers/entropy-and-time/122645
 
โดยในบทความนี้ได้มีการกล่าวอ้างถึง คาร์โล โรเวลลี(Carlo Rovelli)เป็นนักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยาชาวอิตาลีว่า อดีต ปัจจุบันและอนาคตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเรียงตามลำดับแต่มันเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในคราวเดียว 
 
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผู้เขียนแนะนำว่าให้ผู้อ่านลองมองเส้นเวลาทั้งหมดเหมือนเป็นวิดีโอเทปดู (ถ้าไม่รู้จักวิดีโอเทปให้ลองนึกถึงไฟล์วิดีโอแล้วกัน)
 
มนุษย์จะมองว่าตรงไหนคือปัจจุบันจากจุดที่ตนเห็น(ดูวิดีโออยู่ในขณะนั้น)และเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปคืออนาคต ถ้าเรากด rewind หรือเล่นวิดีโอแบบย้อนหลังก็จะเหมือนว่าเราสามารถย้อนเวลาไปในอดีตได้
 
ขอให้ขีดเส้นใต้ตรง “อดีต ปัจจุบันและอนาคตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเรียงตามลำดับแต่มันเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน” ไว้
 

 
ในหนังเรื่องนี้มีคำใบ้สำคัญเกี่ยวกับทฤษฎีการย้อนเวลาและการแก้ไขอดีตอยู่ 2 ประโยคด้วยกัน
 
1. “There is no freewill” แปลว่า เจตจำนงเสรีไม่มีจริง การที่พวกเราคิดว่าตนเองมีอิสระที่จะทำอะไรใด ๆ ก็ได้แล้วสิ่งที่เกิดในอนาคตจะเป็นไปตามสิ่งที่เราได้กระทำนั้น หนังได้เสนอว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นความคิดดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง อดีต ปัจจุบันและอนาคตนั้นล้วนถูกกำหนดไว้แล้วทั้งสิ้น ความพยายามในการขัดขืนดิ้นรนใด ๆ นั้นไม่มีผลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือเลวร้ายกว่านั้นคือการขัดขืนดิ้นรนใด ๆ ที่ได้กระทำจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้น
 
2. “สิ่งที่เกิดไปแล้วก็จะเกิดอยู่ดี” เป็นการเน้นย้ำประโยชน์ที่ 1 ว่าทุกสิ่งได้มีการกำหนดไว้แล้วและจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ 
 

 
แนวคิดที่ว่า อดีต ปัจจุบันและอนาคตนั้นล้วนถูกกำหนดไว้แล้วทั้งสิ้น นั้นน่าสนใจว่ามันไปเกี่ยวข้องกับเทวะตำนานและเรื่องเล่าต่าง ๆ อย่างน่าสนใจซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นจะกล่าวถึงคำทำนายอนาคตและความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงมันซึ่งมักจบลงที่คำทำนายกลับกลายเป็นจริง 
ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของ Kronos(โครโนส) ที่ได้รับคำทำนายถึงชะตากรรมว่าลูกของตนจะมาโค่นอำนาจตนเองจึงพยายามป้องกันโดนกลืนกินลูกของตนเองที่เกิดมาเสีย นี่ทำให้ Rhea(เรีย) ภรรยาและพี่สาวของโครโนสขอความช่วยเหลือจากไกอาเพื่อแอบไปให้กำเนิด ซูสหรือเซอุส บุตรคนที่ 6 ของโครโนสซึ่งต่อมาได้โค่นอำนาจโครโนสลงตามคำทำนายและกลายมาเป็นเทพสายฟ้าและเทพเจ้าสูงสุดในตำนานกรีกต่อไป
 
 

 
ซึ่งเรื่องราวและตำนานทำนองนี้ล้วนปรากฏไปทั่วโลก แม้แต่ไทยเอง เช่นใน รามเกียรติ์ ที่พิเภกพยากรณ์ว่าบุตรตรีของทศกัณฐ์ที่พึ่งเกิดจะเป็นเหตุให้กรุงลงกาประสบภัยหายนะให้นำทารกลอยน้ำไปเสีย รวมถึงตอนที่พิเภกทำนายฝันให้ทศกัณฐ์เมื่อลักพาตัวนางสีดามาแล้วว่าต่อไปจะเกิดสงคราม เผ่าพงศ์วงศ์ยักษ์จะสูญสิ้น วิธีแก้ต้องให้ทศกัณฐ์ส่งนางสีดาคืนพระรามไปแต่ทศกัณฐ์ปฏิเสธและเป็นเหตุให้พิเภกไปเข้ากับพระรามในภายหลังซึ่งต่อมากลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระรามชนะสงคราม
 
เรื่องราวอื่นที่คล้าย ๆ กันก็สามารถพบได้ใน รามเกียรติ์ เช่นเรื่องราวของควายเผือกทรพาที่ได้รับคำสาป(บางแหล่งว่าเป็นคำทำนาย)ว่าบุตรชายของตนจะสังหารตนเองจึงไล่สังหารบุตรชายที่เกิดมาทุกตัวจนทำให้มีแม่ควายตัวหนึ่งหนีไปคลอดลูกในถ้ำออกมาเป็นตัวผู้และตั้งชื่อให้ว่าทรพี หลังฝากฝังให้เทวดาเลี้ยงดูแล้วก็จากไป ซึ่งต่อมาทรพีก็สังหารทรพาตามคำสาปหรือคำทำนายในที่สุด
 
ในเรื่องราวสมัยใหม่ก็มีการพูดถึงความพยายามที่จะแก้ไขอนาคตซึ่งจบลงที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นยังไงก็จะเกิดขึ้นอยู่ดีเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น Terminator 3 ที่แม้จะทำลายชิปสมองกลไปแล้วในภาค 2 แต่ Skynet และสงครามระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรแม้จะล่าช้าไปแต่สุดท้ายก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดีและจอห์น คอนเนอร์ก็กลายมาเป็นผู้นำเหล่ามนุษย์เหมือนที่ในอนาคตเป็น
 

 
จากเรื่องเล่าและตำนานต่าง ๆ ที่ยกมาทำให้เห็นได้ว่าหลายครั้งความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตกลับกลายมาเป็นปัจจัยให้อนาคตเป็นไปอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งใน TENET เองก็เช่นกัน เราจะเห็นได้ว่าหลายครั้งที่การกระทำของตัวละครกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อนาคตเป็นไปอย่างที่เป็น เช่น ฉากขับรถไล่ล่าที่พระเอกไปเจอรถที่วิ่งถอยหลังและเป็นสาเหตุให้การชิงตัวประกันล้มเหลวซึ่งต่อมาคนดูจะได้เห็นว่ารถที่วิ่งถอยหลังนั้นก็คือพระเอกเองที่ย้อนเวลากลับมาเพื่อพยายามชิงอัลกอริทึ่มจนเป็นสาเหตุให้การชิงตัวประกันของพระเอกเองล้มเหลว ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีกหลายครั้งในเรื่อง TENET
 
“อดีต ปัจจุบัน อนาคตถูกกำหนดไว้แล้วและไม่สามารถแก้ไขได้”
 

 
นี่ทำให้เรื่องราวในเรื่องจึงเป็น “โชคชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง” เราไม่มีอิสรภาพใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกสิ่งจะเป็นไปตามที่ถูกกำหนดไว้ อะไรที่จะเกิดสุดท้ายมันก็จะเกิดอยู่ดี ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ชวนสิ้นหวังอย่างมาก 
 
แล้วตัวละครในเรื่องรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถยอมรับชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้วแบบนี้ได้ นี่นำมาสู่วิธีการรับมือที่ตัวละครในเรื่องใช้และพยายามแนะนำพระเอกที่ยังใหม่กับข้อเท็จจริงนี้ให้นำไปใช้
 
“รู้ให้น้อยที่สุด”
 

 
ถ้าเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะไม่เป็นทุกข์แล้วจะไม่พยายามไม่ให้มันเกิดขึ้น
ถ้าเราไม่รู้ว่าใครจะตายก็จะไม่เป็นทุกข์แล้วจะไม่พยายามที่จะช่วยเค้า
ถ้าเราไม่รู้ว่า…ก็จะไม่พยายาม…..
 
การดิ้นรนต่อสู้กับสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้นั้นมันเจ็บปวดเกินไป การไม่รู้ ยอมรับและปล่อยไปตามครรลองจะช่วยให้รักษาสภาพจิตใจได้
 
ในช่วงท้ายเรื่องตอนเตรียมการบุกเข้าจู่โจมฐานทัพศัตรูโดยทีมแดงที่อยู่ในกระแสเวลาปกติและทีมน้ำเงินที่ทวนกระแสเวลานั้นมีตัวละครหนึ่งที่ยกคำถามขึ้นมาว่าทำไมต้องไม่ให้ทั้ง 2 ทีมเห็นกัน คำตอบคือสิ่งนี้เอง

เพราะถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับอีกคน เมื่อทั้ง 2 เจอกันอีกครั้งจะเกิดอาการกระอักกระอวนขึ้นเพราะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอีกฝ่าย ทำให้เกิดความทุกข์และความพยายามที่ไร้ประโยชน์อันนำมาซึ่งความทุกข์ที่หยั่งลึกยิ่งกว่าเดิม
ซึ่งในหนังได้แสดงเหตุผลที่ไม่ให้เจอกันนี้อย่างชัดเจนในกรณีของพระเอกและคู่หูของเค้า
 

 
กระนั้นก็ตามไม่มีใครจะอดคิดที่จะขัดขืนดิ้นรนต่อโชคชะตา แม้แต่พระเอกเอง
ในตอนจบนั้นพระเอกได้ให้โทรศัพท์เครื่องหนึ่งแก่ Kat ไว้แล้วกำชับว่า ถ้ามีอะไรแปลก ๆ หรือไม่สบายใจให้โทรมา
 
“แก้ไขอดีตโดยรู้ให้น้อยที่สุด”
 
ซึ่งนี่ทำให้พระเอกสามารถย้อนเวลากลับมาเพื่อปกป้องเธอจากการลอบสังหารได้
แต่นั้นก็เป็นการยืนยันต่อคำพูดที่ว่า “There is no freewill”
สุดท้ายการที่พระย้อนเวลากลับมาช่วยครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “สิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งเรื่องนั้นจะเกิดขึ้นจริง”
 

 
ฉากสุดท้ายที่ Kat และลูกชายของเธอเดินกลับบ้านด้วยกันก่อนหนังจะจบลงนั้น สำหรับผู้เขียนแล้วฉากเพียงฉากเดียวนี้กลับสามารถจุฉากจบไว้ได้ถึงสามแบบในคราวเดียว ขึ้นกับตัวผู้ชมเองโดยอ้างอิงกับ Keyword สำคัญของหนัง 2 ประโยค “รู้ให้น้อยที่สุด” และ “อย่าคิด ให้รู้สึก”
 
ถ้าคุณรู้มาก ความรู้นี้จะนำคุณสู่ฉากจบแบบ Bittersweet end คุณรู้ว่าเด็กคนนี้เป็นใคร คุณจะมีชีวิตที่ข้องเกี่ยวกับเค้าโดยที่รู้ว่าจุดจบของเค้าจะเป็นอย่างไร ความรู้สึกนี้จะติดตัวคุณไปตลอดชีวิตและคุณรู้ดีกว่าไม่มีทางที่จะแก้ไขได้
 
ถ้าคุณรู้น้อย ก็จะเห็นเป็นแค่ภาพของสองแม่ลูกเดินทางกลับบ้านอย่างมีความสุข แต่นั้นก็เหมือนการยอมปิดหูปิดตามืดบอดเพื่อที่จะไม่ต้องเจ็บปวดใด ๆ จากชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้ว
 
ฉากจบที่สามนั้นคุณต้อง “อย่าคิด ให้รู้สึก”
เมื่อใช้เพียงความรู้สึก คุณจะไม่สามารถยืนยันอะไรได้ จริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ 

บางทีลูกของ Kat อาจจะเป็นคู่หูของพระเอกในอนาคตก็ได้หรือบางทีอาจจะไม่ใช่ เค้าแค่มีพวงกุญแจแบบเดียวกันเท่านั้น
ในโลกที่ทุกสิ่งถูกกำหนดไว้แล้วความชัดเจนรั้งแต่จะทำให้เจ็บปวดแต่ถ้ามืดบอดก็จะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้ 

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องให้ทุกอย่างชัดเจน แค่คุณ “รู้สึก” ว่ามันน่าจะเป็นอย่างไรแค่นั้นก็พอแล้ว
 

 
ปล.ตอนนี้ผมได้เปิด Facebook Page “บทความตามใจฉัน” 
โดยบทความจะหลายหลากคละประเภทกันไปความตามความสนใจนั้นขณะนั้น ถ้าสนใจก็กดติดตามได้ครับ
https://www.facebook.com/uptomejournal/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่