วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร
5 ตุลาคม 2563
.
หัวใจที่สุดของลำพูนก็คือพระธาตุหริภุญชัย องค์พระธาตุปิดทองเหลืองอร่ามงามตา อายุราวหนึ่งพันปี ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวง โดยทั้งหมดตั้งอยู่ในแนวแกนตะวันออกและตะวันตก วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร เดิมทีเป็นพระราชวังของพระเจ้าอทิตยราชกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย องค์ที่ 33 ต่อจากพระนางจามเทวี ปฐมบรมกษัตริย์ของเมืองหริภุญชัย
.
คนโบราณ พระราชวังหรือบ้านก็ตามจะไม่ทำห้องส้วมไว้ในอาคาร จะต้องอยู่นอกอาคาร ตำนานกล่าวว่าครั้งพระจ้าอทิตยราชเมื่อยังประทับอยู่ในพระราชวังแห่งนี้ เวลาเสด็จออกจากห้องพระบรรทมไปห้องส้วม ทุกครั้งจะต้องมีพระยากาเผือกคอยจิกตีตลอดทุกครั้งไปโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่มีครั้งใดที่พระยากาเผือกจะไม่มาจิกตีเลย ในที่สุดมหาเสนาอำมาตย์ผู้ใกล้ชิดจึงแนะนำให้นำทารกแรกเกิดมาเลี้ยงอยู่กับกาจนรู้ภาษานกก็เลยมาเล่าได้ความว่าพระยากาเผือกนั้นไม่อยากให้พระเจ้าอทิตยราชมาขับถ่ายบริเวณที่เป็นห้องส้วมนั้นเนื่องจากใต้บริเวณนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
.
พระเจ้าอทิตยราชจึงโปรดให้ขุดดินลงไปเพื่อเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมา แต่เมื่อลงมือขุดแล้วพระบรมสารีริกธาตุจึงแสดงปาฏิหารย์ลอยขึ้นจากพื้นดินโดยทันที เราเรียกว่า “พระธาตุเสด็จ” พระเจ้าอทิตยราชจึงโปรดให้สร้างเจดีย์ทรงปราสาทคลอบไว้ พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ในผอบแล้วฝังไว้อย่างเดิม
.
ครั้งในสมัยพระยายี่บ่าซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของหริภุญชัย เมื่อพระยามังรายมาตีหริภุญชัยแล้วได้ชัยชนะและขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย ซึ่งก็ยังมีจิตศัทรากับองค์พระบรมธาตุหริภุญชัยอยู่ พระยาเม็งรายจึงทรงก่อพระเจดีย์ทรงลังกาทรงกลมสวมทับลงไป แต่ขนาดไม่ได้ใหญ่โตอย่างปัจจุบัน ครั้นมาจนถึงช่วงยุคของพระเจ้าติโลกราช (ราว พ.ศ.2000) ได้ทรงบูรณะครั้งใหญ่โดยทรงสร้างเจดีย์องค์ใหญ่คลอบทับลงอีกชั้น คือเจดีย์องค์ปัจจุบันที่เราเห็นนั่นเอง
.
ระฆังคว่ำแบบลังกาด้านบนของพระธาตุหริภุญชัยจะไม่มีเข็มขัดรัดเหมือนเจดีย์องค์อื่นในศิลปะหริภุญชัยแต่คงมีดอกประจำยามเป็นดอกไม้สี่กลีบ ระหว่างดอกไม้สี่กลีบแต่ละดอกนั้น บนแผ่นโลหะทองจังโกมีการสลักดุนนูนเป็นพระพุทธรูปยืนสลับพระพุทธรูปปางลีลา เราเชื่อว่าพระพุทธรูปปางลีลาของที่นี่เก่าแก่กว่าพระพุทธรูปปางลีลาของสุโขทัยเสียด้วยซ้ำ
พระธาตุองค์นี้เป็นพระธาตุประจำผู้ที่เกิดปีระกา ฉัตรทั้งสี่ทิศเป็นฉัตรฉลุโดยมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นฉัตรโบราณเก่าแก่ ระบายฉัตรที่อยู่โดยรอบเป็นโลหะฉลุด้วยลายที่ไม่ซ้ำกันซึ่งเป็นลวดลายตั้งแต่แรกสร้างพระเจดีย์และเป็นฉัตรดั้งเดิมฉัตรเดียวที่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์
.
ด้านในพระวิหารหลวงประดิษฐานพระประธานขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ในศิลปะล้านนาแบบเชียงแสนสิงห์สอง คือพระพุทธรูปที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย พระพักตร์รูปไข่ค่อนข้างเล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระวรกายบอบบาง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่และยาวลงมาจรดพระนาภี
และที่สำคัญอีกองค์หนึ่งคือองค์พระพุทธเจ้าน้อยหล่อจำลองขยายขนาด (พระพุทธเจ้าปางประสูติ) ซึ่งองค์ต้นแบบเป็นองค์ขนาดเล็กที่ขุดพบได้ที่นี่ กรมศิลปากรพิสูจน์แล้วยืนยันอายุที่ 800-1000 ปี เป็นปฏิมากรรมในศิลปะลพบุรี คิ้วต่อเป็นปีกกา พระพักตร์เหลี่ยม พระเศียรมีแค่ส่วนนูนของพระเศียร ยังมิได้มีพระรัศมีเป็นเปลวแหลมขึ้นไปเพราะยังมิได้ตรัสรู้ ประติมากรรมชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าเรามีรูปเคารพในลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะปางแรกประสูตรตั้งแต่ในสมัยศิลปะหริภุญชัยมาแล้ว
------------------------
เทศกาล “โคมแสนดวงที่เมืองลำพูน” ปี 2563
.
เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน เป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีลอยกระทง หรือ ประเพณียี่เป็ง ที่ปฏิบัติสืบทอดมายาวนาน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาพระธาตุหริภุญชัย และถวายสักการะพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองลำพูน
.
เย็นวันนั้น (5 ตุลาคม 2563) เราเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว (เช่า) จากจังหวัดเชียงใหม่ครับ (เพราะจองที่พักไว้ที่เชียงใหม่) จริงๆก็เปิดนำทางโดย google map ไป แนะนำให้ไปทางถนนหลักหมายเลข 11 (ซูปเปอร์ไฮเวย์) ถึงวัดประมาณ 1 ทุ่ม หาที่จอดรถไม่ยาก สามารถจอดรถไว้ริมถนนด้านหน้าวัดได้แบบสบายๆ ด้านในวัดถูกประดับประดาไปด้วยโคมไฟที่จัดให้ประชาชนได้ซื้อเพื่อนำไปแขวนถวายเป็นพุทธบูชาพระธาตุฯ และถวายสักการะพระนางจามเทวี ทุกคนต่างมีสีหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุขโดยรายล้อมไปด้วยแสงไฟของโคม และเสียงของธรรมชาติคละด้วยเสียงตีระฆังกังวานเป็นครั้งคราวพร้อมเสียงพูดคุยกันเบาๆของพุทธศาสนิกชน
การเข้าวัดเพื่อมากราบพระและเที่ยวงานวัดช่วงหัวค่ำก็ถือเป็นสีสันหนึ่งเช่นกัน เพราะนอกจากการได้มากราบพระแขวนโคมแล้ว เรายังได้ชมพระธาตุฯ และสิ่งปลูกสร้างที่สร้างด้วยศิลปะที่งดงามทรงคุณค่าบริเวณวัดทามกลางแสงไฟที่สุกสว่างอีกด้วย หลงรักเลยครับกับบรรยากาศงานวัดที่ไร้เสียงประดิษฐ์จากเครื่องอิเล็กทรอนิคทั้งปวง
.
.
-------------------------
Note:
1. มื้อเที่ยง พอดีเราซื้อบัตรทานติ่มซำแบบบุฟเฟต์ไว้ที่ห้องอาหารจีนของโรงแรมแชงการีล่า เป็นห้องอาหารจีนที่บริการอาหารจีนแบบเสฉวน แต่รสชาติออกมาทางถูกลิ้นคนไทย และที่แปลกตาแต่ถูกใจคือของหวานตบท้ายซึ่งเป็นเมนูของหวานประจำเมืองอู่ฮั่นที่มีชื่อว่าหมี่จิ่ว(米酒) โรยหน้าด้วยดอกสารภีแห้งครับ
2. อาหารเย็นฝากท้องไว้ที่ร้านข้าวต้มย้งสาขา 1 บริเวณเยื้องๆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร้านนี้ร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน อาหารออกเร็ว การบริการเป็นระบบ เรียกออเดอร์ง่าย เรียกจ่ายเงินไว แต่ถ้าช่วงพีคจะหาที่จอดรถยากสักหน่อย นอกจากลูกค้านั่งทานที่ร้านแล้วที่นี่เขายังรับแพนด้ากับแกร็บฟู้ดด้วย
-------------------------
คุณหมูยอ
ออกเดินทาง 5-7 ตุลาคม 2563
บันทึกไว้เมื่อ 24 ตุลาคม 2563
------------------------
[CR] เชียงใหม่-ลำพูน ตอน 1 ย่ำค่ำที่ลำพูน วัดพระธาตุหริภุญชัยและเทศกาลโคมแสนดวง
CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้