พาชมห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ขออนุญาตนำทุกท่านไปชมห้องสมุดที่สวยที่สุดในประเทศ ณ ตอนนี้  ใช่แล้วครับ ผมจะพาท่านไปชม  ห้องสมุดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยการรีวิวพาชมห้องสมุดฯ ในครั้งนี้  ผมตั้งใจจะให้ทุกท่านได้รู้จักกับห้องสมุดที่สวยที่สุดแห่งนี้ และอยากให้ท่านได้ลองไปใช้บริการดูสักครั้ง
เป็นห้องสมุดที่สร้างขึ้นตามแนวคิดของการเป็นห้องสมุดสมัยใหม่อย่างแท้จริง การออกแบบและตกแต่งภายในห้องสมุดนั้นสมกับฐานะของการเป็นห้องสมุดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งเรื่องราวของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปโฉมนั้นก็น่าสนใจ  เพราะเป็นห้องสมุดที่ก่อร่างสร้างขึ้นใหม่อย่างสวยงามด้วยหัวใจรักของศิษย์เก่าท่านหนึ่งที่อยากจะตอบแทนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ด้วยการให้อะไรสักอย่างที่มีความยั่งยืน  และเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปด้วย

สำหรับตัวผม  ผมคิดว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องราวของการให้ที่ยิ่งใหญ่ ที่กลายเป็นการให้องค์ความรู้อย่างไม่จบสิ้นแก่สังคมไทยด้วย  ว่าแล้วก็ไปชมเรื่องราวของห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แห่งนี้กันครับ


(สำหรับข้อมูลที่ผมเขียนอธิบายในกระทู้นี้  มาจากการพุดคุยสัมภาษณ์ท่านอาจารย์ศุภวัฒน์  และพี่อนงค์ บรรณารักษ์ของห้องสมุดแห่งนี้   ส่วนภาพถ่ายและคลิปวีดีโอนั้นเป็นการใช้ภาพและคำบอกเล่าให้การช่วยอธิบายเล่าเรื่องให้ชัดเจนมากขึ้น  โดยท่านที่ต้องการชมเฉพาะวีดีโอเพียงอย่างเดียวก็สามารถเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดได้เช่นกันครับ)


คลิปวีดีโอพาชมห้องสมุดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นห้องสมุดที่รีโนเวทใหม่แล้ว  โดยตำแหน่งเดิมของห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อยู่ในตำแหน่งชั้นที่ 2-3-4 ของอาคารคณะ  เป็นห้องสมุดมีมาตั้งแต่แรกพร้อมกับการสร้างอาคารคณะแล้ว  จนกระทั่งในวันหนึ่งมีศิษย์เก่าท่านหนึ่งต้องการบริจาคเงินให้แก่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการเรียนการสอนของนิสิตรุ่นน้อง  โดยมีวัตถุประสงค์ว่าอยากจะบริจาคเงินเพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนด้วย   โดยศิษย์เก่าท่านนี้คือคุณเสริมสิน  สมะลาภา 

-โดยคุณเสริมสิน  สมะลาภาเป็นผู้บริจาคเงินเพียงท่านเดียว  บริจาคด้วยจำนวนเงินมากพอสมควร  คุณเสริมสิน  สมะลาภาจึงมาปรึกษากับท่านคณบดี  รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์  กาญจนัษฐิติ   ท่านคณบดีจึงอยากจะให้เอาเงินมาปรับปรุงห้องสมุดให้ทันสมัยน่าจะดีกว่า   เพราะจะเป็นศูนย์กลางของนิสิตที่เป็นประโยชน์มากกว่าจะเอาเงินไปทำอย่างอื่น  และห้องสมุดเป็นเหมือนองค์ความรู้ที่ยั่งยืนของนิสิตด้วย

-ระยะเวลาในการออกแบบและปรับปรุงใช้เวลาประมาณ 2 ปี (การก่อสร้างใช้เวลา 1 ปี 4 เดือน) โดยรีโนเวทใหม่และเปิดใช้ได้ใหม่ในวันที่ 9 กันยายน 2562  นับเป็นเวลาปีกว่า ๆ แล้วที่เป็นให้บริการหลังจากปรับปรุงรูปโฉมใหม่ทั้งหมด 

-บริษัทที่ทำการออกแบบห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ใหม่ในครั้งนี้คือบริษัท  ดีพาร์ทเมนท์ ออฟ อาร์คิเทคเจอร์ จำกัด  (Department of ARCHITECTURE Co.,Ltd.)  ซึ่งเป็นบริษัทของศิษย์เก่าคณะสถาปัตย์ จุฬา เช่นกัน  เป็นบริษัทออกแบบที่สามารถดำเนินงานได้ตามความต้องการที่ผู้บริจาคเงินต้องการให้เป็น 

-ซึ่งแนวคิดในการออกแบบคือเป็นการดีไซน์ฟอร์ออล (Design for all) หรืออารยสถาปัตย์ (Universal design)  โดยทำให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับนิสิตทุกคน   โดยมีความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปจากห้องสมุดเดิมคือ  แต่เดิมห้องสมุดจะเข้าจากบริเวณชั้น 2 ของตึกซึ่งพอเข้ามาแล้วก็จะเป็นห้องสมุดแบบเดิม  แต่เมื่อปรับปรุงรีโนเวทใหม่แล้วทางผู้ออกแบบได้มีการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้บริการและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่แล้ว   คือผู้ใช้บริการอาจจะไม่ได้เข้าห้องสมุดเพื่อมาหยิบหนังสืออ่านเหมือนเดิมแล้ว   แต่เปลี่ยนเป็นความต้องการพื้นที่ในการทำงานมากกว่า ในรูปแบบที่เรียกว่า  Co-working space  ดังนั้นพื้นที่ชั้น 2 ที่เดิมเป็นชั้นล่างสุดของห้องสมุดจึงถูกปรับให้เป็น Co-working space  รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานนิทรรศการต่าง ๆ ได้ด้วย   โดยโต๊ะทำงานมีลูกล้อที่สามารถพับเก็บได้  ส่วนผนังด้านข้างที่เห็นเป็นเหมือนตะแกรงนั้นสามารถปรับใช้เกี่ยวติดชิ้นงานต่าง ๆ ได้  ฯลฯ  ตามแนวคิดของการออกแบบสากลที่ว่า  พื้นที่จะใช้ทำอะไรก็ได้ที่มันไม่ตายตัวแต่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างได้มากที่สุด  โดยเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการใช้พื้นที่เอาไอเดียการใช้งานมาใช้ประโยชน์เพื่อเชื่อมโยงกันได้

-พอขึ้นมาชั้นที่ 3 ของอาคาร ก็จะเป็นห้องสมุดจริง ๆ ที่ปรับโฉมใหม่แล้ว  โดยมีส่วนของเคาน์เตอร์ของบรรณารักษ์ สำหรับการยืม-คืนหนังสือตามปกติ  แต่ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปคือพื้นที่ของการเก็บหนังสือและการอ่านหนังสือ  คือถ้าเป็นห้องสมุดโดยทั่วไปจะมีชั้นหนังสือต่าง ๆ เยอะมาก  อาจจะใช้พื้นที่สำหรับการวางชั้นหนังสือมากกว่าพื้นที่สำหรับการนั่งอ่านหนังสือด้วย   ดังนั้นเมื่อรีโนเวทใหม่จึงปรับแนวคิดใหม่โดยให้ชั้นหนังสือต่าง ๆ ถูกเก็บไว้ที่ผนังบริเวณรอบนอก  โดยให้เหลือพื้นที่ส่วนใหญ่ตรงกลางไว้สำหรับพื้นที่การนั่งอ่านหนังสือ   ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีหนังสือโอบล้อมผู้ใช้บริการอยู่  และพื้นที่ที่เหลือตรงกลางห้องทำให้ผู้ใช้บริการได้มาเจอกัน มานั่งรวมกันได้มากขึ้น  โดยในส่วนของชั้น 3 นี้จะมีการเปิดเพลงเบาคลอให้ผู้ใช้บริการได้ยินด้วย 

-ชั้น 4 ของอาคาร  ที่เป็นชั้น 2 ของห้องสมุดจริง ๆ จะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือห้องหนึ่งที่เป็นห้องเงียบที่เป็นส่วนตัว (ดูตามคลิปประกอบการอธิบายในนาทีที่ 12.15 ) และอีกห้องหนึ่งที่เป็นห้องออดิทอเรียมซึ่งมีที่นั่งลดหลั่นลงมาเหมือนอัฒจันทร์  ไว้สำหรับการจัดบรรยายและการเสวนาได้ (ดูตามคลิปประกอบการอธิบายในนาทีที่ 17.17 )  ดังนั้นจึงเป็นแนวคิดของห้องสมุดสมัยใหม่ที่ต้องการให้ห้องสมุดเป็นสถานที่ซึ่งก่อให้เกิดความรู้  โดยความรู้นั้นอาจจะมาจากคำบรรยายก็ได้  หรือความรู้เกิดจากคนก็ได้  โดยการเชิญบุคคลต่าง ๆ มาเป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้ ฯลฯ  เป็นการผสมผสานกันเพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์มากขึ้น

-สำหรับหนังสือในห้องสมุดนั้น  มีทั้งหนังสือเดิมที่อยู่ในห้องสมุดแล้ว  และมีหนังสือใหม่ที่คุณเสริมสิน  สมะลาภา บริจาคเพิ่มเติมให้ด้วย  การจัดเรียงหนังสือนั้นจัดเรียงแบบระบบทศนิยมดิวอี้ (Dewey Decimal Classification)   โดยหนังสือที่มีให้บริการอยู่ในชั้น 3 ของอาคาร หรือชั้นแรกที่เป็นห้องสมุดจริง ๆ นั้น เป็นหนังสือในหมวด 720 ถึง 729 ที่อยู่ในหมวดสถาปัตยกรรมโดยตรง (ดูตามคลิปประกอบการอธิบายในนาทีที่ 7.35 )  และหนังสือในชั้นบนสุดที่มีชั้นหนังสือโอบล้อมห้องออดิทอเรียมจะเป็นหนังสือในหมวด 000 ถึง 900  ในหมวดทั่วไป (ดูตามคลิปประกอบการอธิบายในนาทีที่ 14.15 )

-หนังสือที่มีให้บริการอยู่ในห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์นี้  นอกจากจะมีหนังสือทั่วไปตามหมวดต่าง ๆ ที่บอกแล้ว ยังมีหนังสือในหมวดสถาปัตยกรรมศาสตร์ฉบับเก่า ๆ และหนังสือหายากด้วย  ทำให้มีหนังสือครอบคลุมได้หมดทั้งศาสตร์ในวิชาการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์  รวมไปถึงในศาสตร์ทางงานศิลปะที่เกี่ยวข้องด้วย  เพราะว่าในศาสตร์ของการออกแบบจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงเรื่องราวทางด้านศิลปะด้วย  จึงถือว่าเป็นสหสาขาซึ่งกันและกันด้วย (เป็นขอบข่ายการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาตั้งแต่ 2 แขนงขึ้นไปร่วมกัน)

-สำหรับโทนสีในห้องสมุดนั้น  ตั้งใจออกแบบให้มีโทนสีดำเพราะว่าเป็นแนวโน้มการออกแบบของโลกปัจจุบัน  ที่ส่วนใหญ่มักจะโชว์สัจจะของวัตถุ ยกอย่างเช่น ผนังปูนก็โชว์ให้เห็นสีของปูน  พื้นไม้ก็โชว์ให้เห็นลายเนื้อไม้เลย  ฯลฯ  ดังนั้นถ้าใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีสีสันมันจะทำให้ดูขัดแย้งกัน  ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับตัวโครงเหล็ก (ในส่วนของบันไดแนวตั้ง) ด้วย  เพราะฉะนั้นในห้องสมุดที่รีโนเวทใหม่จึงเป็นการออกแบบด้วยโทนสีดำ เทา และสีของคอนกรีตเป็นหลัก   คือจริง ๆ แล้วตัวหนังสือเองก็มีสีสันอยู่แล้ว เมื่อหนังสือถูกจัดวางอยู่ในห้องที่มีโทนสีดำจึงทำให้ตัวรูปเล่มของหนังสือมีความโดดเด่นขึ้นมาทันที   รวมทั้งแนวคิดในการออกแบบที่ทำให้ผู้ใช้บริการที่ยืนเลือกหนังสืออยู่ ณ ชั้นหนังสือในหมวดใดก็ตาม  จะมองไม่เห็นตัวสันของหนังสือที่อยู่จัดวางไว้ในหมวดอื่นหรือชั้นหนังสืออื่นเลย เพื่อทำให้ไม่รกสายตาในการเลือกหาหนังสือด้วยมุมมองที่บดบังด้วยการออกแบบให้เห็นเฉพาะส่วนที่เป็นผนังเท่านั้น  (ดูตามคลิปประกอบการอธิบายในนาทีที่ 21.36 )
 




พาพันขยันพาพันเคลิ้มพาพันไฟท์ติ้ง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่