บทความตามใจฉัน “Vtuber กับการรุกตลาดโลก” Part1

Youtube เว็บไซต์เผยแพร่วิดีโอชื่อดังและได้รับความนิยมอย่างมากจนไม่มีผู้ใช้ internet คนไหนที่ไม่รู้จัก
จากความนิยมนี้ทำให้ต่อมามีคนอาศัย youtube เป็นสื่อในการเผยแพร่วิดีโอที่ตนเองผลิตขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ ทั้งเป็นงานอดิเรก,เพื่อความสนุกหรือเพื่อหารายได้อย่างจริงจัง คนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกกันว่า youtuber(ยูทูบเบอร์) ประเภทวิดีโอที่ยูทูบเบอร์เผยแพร่นำเสนอนั้นมีมากมายหลากหลายหัวข้อ ครอบคลุมตั้งแต่การทำอาหาร, งานไม้, ก่อสร้าง, ทำสวน, เล่นเกม, งานประดิษฐ์, วิทยาศาสตร์, อิเล็กทรอนิกส์, ถ่ายรูป, อาวุธปืน, รายการผี, สรุปข่าว, บันทึกประจำวัน และอีกมากมาย

จนกระทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เกิดการนำเสนอรูปแบบใหม่ขึ้นซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงขึ้นตามลำดับในปัจจุบัน
รูปแบบการนำเสนอนี้รู้จักกันในชื่อ Vtuber(วีทูบเบอร์)
 

 
Vtuber(วีทูบเบอร์) ย่อมาจาก Virtual YouTuber (วิชวล ยูทูบเบอร์) เป็นการใช้ตัวละครเสมือนในการนำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ แทนคนจริง ๆ 
การนำเสนอแบบนี้ถูกพบครั้งแรกบน youtube เมื่อวันที่ 13 เดือนมิถุนายน 2011 บนช่องที่ชื่อว่า Ami Yamato ซึ่งเป็นช่องแนว Vdo diary หรือการบันทึกเรื่องราวบน Vdo โดยใช้ Software ตัดต่อที่ชื่อ Sony Vegas Pro
ปัจจุบัน Vdo นี้ถูกนับว่าเป็นการนำเสนอรูปแบบของ Vtuber ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการเผยแพร่บน internet แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ถูกยอมรับว่าเธอเป็น Vtuber คนแรกของโลก

ผู้อ่านสามารถดู VDO แรกของ Ami Yamato ได้ที่ Link ข้างล่าง
https://www.youtube.com/watch?v=5pciLZ8ffPY
 
Vtuber คนแรกของโลกเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2016 โดยเป็นคาแรกเตอร์รูปร่างมนุษย์เพศหญิงชื่อว่า Kizuna AI โดยวิดีโอแรกนั้นเป็นคลิปลำดับที่ 1 ถูกเผยแพร่ผ่าน Youtube เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2016 โดยนำเสนอการสร้าง account Twitter ของเธอ ก่อนที่จะทำการเผยแพร่คลิปวิดีโอลำดับที่ 0 ซึ่งเป็นการเปิดตัว Kizuna AI อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ปีเดียวกันโดยสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่น ทั้งนี้ไม่ทราบสาเหตุที่ทำไมคลิปลำดับที่ 1 ถึงได้เผยแพร่ก่อนลำดับที่ 0 ส่วนตัวคาดว่าเพราะความผิดพลาดจากการอัพโหลดวิดีโอผิดไฟล์
 
อย่างไรก็ตาม Kizuna AI นี้เองได้บัญญัติศัพท์ Virtual YouTuber ขึ้นเป็นครั้งแรกจากการแนะนำตัวเธอว่าเป็น Virtual Reality Youtuber ซึ่งต่อมาถูกย่อลงให้เหลือแค่ Virtual Youtuber และคำนี้ถูกใช้ในการอธิบายตัวตนของเธอตั้งแต่นั้นมา
 
ผู้อ่านสามารถดูคลิปวิดีโอลำดับที่ 0 ซึ่งเป็นการเปิดตัว Kizuna AI ได้ที่ Link ข้างล่าง
https://www.youtube.com/watch?v=NasyGUeNMTs
 

 
Kizuna AI ได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างดีมากโดยมีผู้กดเป็น subscribers ช่องของเธอสูงถึง 2 ล้านบัญชีภายในเวลาเพียง 10 เดือน เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตการท่องเที่ยวญี่ปุ่นเมื่อปี 2018 และในปีเดียวกันยังได้รับเชิญจาก HNK ช่องทีวีชื่อดังของญี่ปุ่นให้เป็นผู้สัมภาษณ์ชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัลโนเบลอีกด้วย
ผู้อ่านสามารถดูวิดีโอการสัมภาษณ์โดย Kizuna AI ดังกล่าวได้ที่ Link ข้างล่าง(ภาษาญี่ปุ่น)
https://www3.nhk.or.jp/news/special/nobelprize2018/maruwakari01.html
 
ความนิยมของ Kizuna AI ทำให้ Vtuber คนอื่น ๆ เริ่มเกิดตามมาเป็นจำนวนมาก โดยในเดือนกรกฎาคม 2018 มีจำนวน Vtuber รวมทั้งสิ้นมากกว่า 1 หมื่นคน ยอดรวม subscribers อยู่ที่ 12.7 ล้านและมียอดรับชมรวมกันทั้งสิ้น 720 ล้านครั้ง 
มีข้อสังเกตว่าในชณะนั้น Vtuber ส่วนใหญ่สื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียวแต่ก็ยังได้รับความนิยมอย่างสูงไม่เฉพาะเพียงในกลุ่มชาวญี่ปุ่นเท่านั้นแต่ยังรวมถึงชาวต่างชาติอีกด้วย
 

ทำไหม Vtuber ถึงได้รับความนิยมอย่างมากแม้แต่ในกลุ่มชาวต่างชาติทั้งที่สื่อสารกันไม่ได้
การที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้ Vtuber ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมก่อน
 
ปัจจัยความสำเร็จของ Kizuna AI ที่ถือเป็น Vtuber คนแรกนั้นคือความใกล้ชิดกับผู้ชม กิจกรรมพื้นฐานของ Vtuber คือการพูดคุยกับผู้ชมผ่านช่องทาง Chat message ซึ่งการสื่อสารโต้ตอบข้อความของผู้ชมที่ส่งเข้ามาแบบ Realtime นั้นทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ามีความใกล้ชิดกับ Vtuber มากกว่าการดูวิดีโอที่ตนเองเป็นเพียงผู้ชมฝ่ายเดียวโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย นี่กลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้ Vtuber เริ่มได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคนั้น โดยในปัจจุบันการ Live สดตอบ Chat เริ่มเป็นที่แพร่หลายทั้งใน YouTube เองและจากผู้ให้บริการเจ้าอื่น ๆ จุดเด่นนี้จึงไม่โดดเด่นอีกต่อไป
 
 
ปัจจัยต่อมาที่ผู้เขียนมองว่าเป็นจุดแข็งที่แท้จริงของการเป็น Vtuber นั้นคือเค้าหรือเธอนั้น “สามารถที่จะเป็นใครหรืออะไรก็ได้โดยไม่มีข้อจำกัด”
 
นี่ทำให้ Vtuber หลังจาก Kizuna AI นั้นมีความหลากหลายของคาแรกเตอร์อย่างมากทั้งในแง่ของ รูปร่างหน้าตา, ลักษณะนิสัย โดยมีทั้งที่เป็นมนุษย์, ไม่ใช่มนุษย์, รูปร่างเหมือนหรือคล้ายมนุษย์ และอื่น ๆ มากมายตามบทบาทที่เค้าหรือเธอนั้นได้รับหรืออยากจะเป็น ซึ่งดึงดูดความสนใจจากผู้ชมที่มีความชอบแตกต่างกันออกไปได้
 
ในบทความของ BBC ชื่อ The virtual vloggers taking over YouTube ได้เขียนไว้น่าสนใจมากคือชาวญี่ปุ่นนั้นมักมีปัญหาในการแสดงออกอย่างเปิดเผย จึงทำให้มีความต้องการที่จะสามารถส่งสารในสิ่งที่ตนเองคิดออกมาได้โดยไม่เปิดเผยตัวตน (ขอเสริมว่าชาวญี่ปุ่นมีความกังวลในการรักษาความเป็นส่วนตัวสูงด้วย) ซึ่ง Vtuber ตอบโจทย์ตรงนี้ได้พอดี

ผู้อ่านสามารถอ่านบทความดังกล่าวได้ใน Link ข้างล่าง (ภาษาอังกฤษ)
https://www.bbc.com/worklife/article/20181002-the-virtual-vloggers-taking-over-youtube?referer=https%3A%2F%2Fen.wikipedia.org%2F
 

 
จุดที่น่าสังเกตคือ การที่ Vtuber ใช้ตัวตนที่สร้างหรือสมมุติขึ้นมานั้นกลับทำให้ผู้ชมกล้าที่จะสื่อสาร, ตอบโต้หรือเล่นไปกับบทบาทของ Vtuber คนนั้นได้ง่ายขึ้นและสะดวกใจกว่าตัวตนที่เป็นมนุษย์จริง ๆ และทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกไปกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ Vtuber นำเสนอได้ง่าย ซึ่งมีผลให้ความนิยมใน Vtuber เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและดึงดูดให้เกิด Vtuber คนใหม่หรือการก่อตั้งบริษัทใหม่ ๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Vtuber โดยเฉพาะขึ้นมา
 
กลับมาที่ประเด็นหลักคือ ทำไม Vtuber ซึ่งส่วนใหญ่เกือบ 100% ในขณะนั้นสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียวนั้นกลับได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวต่างชาติด้วย ผู้เขียนเห็นว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก 
 
1. เกิดการนำบางช่วงบางตอนของการ Steaming มาตัดต่อพร้อมใส่คำแปลเป็นภาษาอังกฤษลงไปแล้วเผยแพร่ซ้ำ ทำให้ผู้ใช้ภาษาอังกฤษเข้าใจและเข้าถึงความบันเทิงที่นำเสนอโดย Vtuber ได้
 
2. ผลจากการเปิดรับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานผ่านสื่อบันเทิงเช่นการ์ตูน, ซีรี่ย์, เกมหรืออนิเมชั่น ทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจและเปิดรับรูปแบบการนำเสนอของ Vtuber ทั้งการใช้กราฟฟิกแบบการ์ตูนญี่ปุ่น, ภาษาญี่ปุ่น, ธรรมเนียมค่านิยม, วัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นได้
 
นี่ทำให้ Vtuber แพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวต่างชาติทั้งที่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น
 
 ถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า ถ้า Vtuber ได้รับความนิยมขนาดนี้แล้วทำไมถึงไม่มี Vtuber ที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษล่ะ
 
ผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่า Vtuber คนแรกที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลักคือใครแต่เชื่อกันว่า Vtuber ภาษาอังกฤษคนแรก (และเจ้าตัวอ้างว่าตนเองคือคนแรก) คือ Vtuber อิสระที่ชื่อ Sapphy Stars เผยแพร่วิดีโอครั้งแรกทาง youtube เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2018
 
ผู้อ่านสามารถเข้าไปชมวิดีโอแรกของ Sapphy Stars ได้ที่ Link ข้างล่าง
https://www.youtube.com/watch?v=eVkw7PkPrcY
 

 
จากวิดีโอของ Sapphy Stars จะเห็นได้ว่าคุณภาพของตัวละครค่อนข้างจำกัด ยิ่งเมื่อเทียบกับ Kizuna AI ยิ่งเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน ทั้งนี้เพราะ Kizuna AI ถูกสร้างด้วยเทคโนโลยี 3D โมเดลด้วยทุนสร้างที่สูงทำให้สามารถขยับท่าทางและแสดงอารมณ์ได้หลากหลายกว่า ขณะที่ Vtuber ทั่วไปรวมถึง Vtubber หน้าใหม่สังกัดบริษัทใหญ่ ๆ เองจะสร้างด้วยเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกับ Animoji (หรืออีกชื่อว่า 3D Emoji บ้างก็เรียกว่า Live 2D) ที่ต้นทุนการสร้างต่ำกว่าและสามารถถ่ายทำรายการจากที่บ้านได้ด้วย Smart Phone โดยไม่ต้องมาสตูดิโอ
 
จากบทความในเว็ป vtuberstudio.com ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนในการสร้าง 3D โมเดลแบบ Kizuna AI ว่าสูงสุดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 57,050 USD (1,825,600 บาทที่ค่าเงิน 1USD = 32 บาท) โดยค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดคือส่วนของ Motion capture ที่มีราคาค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 2,000 USD หรือสามารถสูงได้ถึง 50,000 USD หรือมากกว่าได้ตามคุณภาพและความซับซ้อนในการเคลื่อนไหวของโมเดล
 
ผู้อ่านสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการสร้าง Vtuber ของ vtuberstudio.com ได้ที่ Link ข้างล่าง
https://vtuberstudio.com/news/100/
 
 
จากบทความชื่อ the economics of virtual youtube ของเว็ป medium.com ได้เขียนเกี่ยวกับรายได้ของ Vtuber ไว้ว่ารายได้หลักนั้นมาจากการ Donate(โดเนท) หรือบริจาคให้แก่ Vtuber ที่ผู้ชมชื่นชอบผ่านช่องทางสื่อสารด้วยข้อความที่ชื่อว่า Super Chat หรือช่องทางของผู้ให้บริการเจ้าอื่น ๆ แต่ทว่าการโดเนทผ่านช่องทางนี้นั้นไม่ใช่ว่าเงินทั้งหมดจะถึงมือ Vtuber ทั้งหมด 
 
โดยทั่วไปแล้วเงินที่โดเนทมานั้นจะถูกหัก 30% เป็นค่าบริการของระบบ Chat ก่อนที่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของบริษัท Vtuber และอีกส่วนให้แก่ตัว Vtuber เองโดยมีการคาดว่าตัว Vtuber เองจะได้ส่วนแบ่งจากยอดโดเนทประมาณ 20-30% จากยอดเต็ม โดยบางบริษัทอาจจะมีการให้เงินเดือนเป็นรายได้แก่ Vtuber อีกช่องทางหนึ่งด้วย
แต่รายได้ดังกล่าวทั้งหมดนั้นยังไม่หักลบค่าใช้จ่ายด้านภาษีซึ่ง Vtuber แต่ละคนจะต้องรับภาระเอง
 
ผู้อ่านสามารถอ่านบทความเต็มได้ใน Link ข้างล่าง
https://medium.com/@gomi_san/the-economics-of-virtual-youtube-e544af220b58
 
 
จากการลงทุนที่สูงและรายได้หลักจากยอดโดเนทที่ถูกหักไปถึง 30% นั้นทำให้บริษัท Vtuber เองก็รู้ดีว่าจะพึ่งรายได้จากช่องทางนี้อย่างเดียวไม่ได้และมองหาช่องทางอื่น ๆ ในการสร้างรายได้ เช่น ค่าสมาชิกช่อง, ค่าโฆษณา, รายได้จากสปอนเซอร์ ซึ่งทั้งบริษัทหรือแม้แต่ตัว Vtuber เองก็รู้ว่ารายได้จากตรงนี้นั้นผันผวนได้ง่าย เช่น ถ้าเกิด Vtuber คนหนึ่งถูกแบนให้ไม่สามารถ Live สด บน Super Chat ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แค่นี้ก็กระทบต่อรายได้ของทั้ง Vtuber เองและบริษัทแล้ว
 
แผนดำเนินธุรกิจของบริษัท Vtuber จึงมุ่งไปที่การสร้างชื่อและความนิยมในตัว Vtuber จากนั้นก็ใช้โมเดลธุรกิจมาตรฐานที่ใช้กันถึงปัจจุบันนั้นคือการขายสินค้าต่าง ๆ เกี่ยวกับตัว Vtuber เอง

แต่กระนั้นส่วนแบ่งตลาด Vtuber ในญี่ปุ่นเองก็เริ่มอิ่มตัวและจำนวนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังเริ่มหดตัวลงเรื่อย ๆ เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงขณะที่มีผู้เล่นหน้าใหม่หรือ Vtuber คนใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ หากเป็นเช่นนี้ สุดท้ายบรรดาบริษัทและ Vtuber เหล่านี้ก็จะกินเองในที่สุด ซึ่งไม่ดีต่อธุรกิจและบริษัทเองรวมถึงตัว Vtuber ด้วย
 
วิธีการแก้ไขเรื่องตลาดอิ่มตัวแบบกำปั้นทุบดินเลยคือหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่มสิ
และนี่คือสาเหตุของความคิดในการเริ่มบุกเบิกตลาดโลกของ Vtuber ญี่ปุ่น
 

 
to be continued in “Vtuber กับการรุกตลาดโลก” Part2
 
ปล.ตอนนี้ผมได้เปิด Facebook Page “บทความตามใจฉัน” 
โดยบทความจะหลายหลากคละประเภทกันไปความตามความสนใจนั้นขณะนั้น ถ้าสนใจก็กดติดตามได้ครับ
https://www.facebook.com/uptomejournal/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่