“เที่ยวปันสุข” ฟื้นฟูเที่ยวในประเทศ แค่ครึ่งปีแรก .. กระจายรายได้ 2 แสนล้านบาท

“เที่ยวปันสุข”   แคมเปญเปิดตัวฟื้นฟูเที่ยวในประเทศ ครึ่งปีแรก กระจายรายได้ 2 แสนล.



 
"  ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน) พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยออกเดินทางรวมแล้ว 28.3 ล้านคนต่อครั้ง ลดลง 63% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 สร้างรายได้ 200,000 ล้านบาท ลดลง 62% "

เผยแพร่: 21 ก.ย. 2563 20:22   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

        กระแสเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้นตัว หลังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระหึ่มแคมเปญ “เที่ยวปันสุข” ในช่วงไตรมาสสอง เผยอีกครึ่งปีหลังการท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกฟื้นเศรษฐกิจประเทศทั้งระบบ

การระบาดของไวรัสโควิด 19 ยังคงสั่นสะเทือนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางทั่วโลก ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้

       อย่างไรก็ตาม ททท.ก็ได้ปรับกลยุทธ์หลายอย่าง เพื่อให้การท่องเที่ยวเดินหน้าต่อไป โดยออกแคมเปญต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ชดเชยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป

หนึ่งในแคมเปญสำคัญคือโครงการ “เที่ยวปันสุข” ซึ่งรัฐบาลกำหนดขึ้น เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสอง โดยรัฐสนับสนุนการท่องเที่ยวในส่วนที่เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถโดยสาร และค่ารถเช่า เป็นต้น และมีส่วนแคมเปญอื่น ๆ เชื่อมโยงกันคือ แคมเปญกำลังใจเน้นให้บุคคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร ได้ท่องเที่ยวพักผ่อน และแคมเปญเราไปด้วยกัน เน้นช่วยเหลือค่าที่พักและอาหารเป็นหลัก

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศทำให้คาดการณ์ว่าจำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศหรือตลาด "ไทยเที่ยวไทย" สะสมสำหรับปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 80-100 ล้านคนต่อครั้ง จากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 120 ล้านคนต่อครั้ง

      อย่างไรก็ตาม สถานกาณ์การท่องเที่ยวเริ่มดีดตัวกลับมาดีขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไตรมาสที่สอง นับตั้งแต่ออกแคมเปญเที่ยวปันสุข ซึ่งให้ส่วนลดค่าใช้จ่ายตั๋วเครื่องบิน ซึ่งเป็นค่าใช้จายหลักในการเดินทางท่องเที่ยวแต่ละครั้ง

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนี้ การท่องเที่ยวภายในประเทศ จะกลายเป็นความหวังสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ททท.จะเดินหน้าแสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติม เพื่อเป็นส่วนช่วยในการฟื้นฟู เพิ่มความถี่การเดินทาง และเพิ่มจำนวนวันพักค้างให้มากขึ้น

เฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงเริ่มปีงบประมาณใหม่ มั่นใจว่าการท่องเที่ยวไทยจะคึกคักเป็นพิเศษ ททท.จึงเตรียมมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยหรือทำงานในประเทศ กลุ่มไทยเที่ยวต่างประเทศ และกลุ่มผู้จัดประชุมสัมมนาต่าง ๆ ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ

       ล่าสุดททท. ได้ร่วมกับ อาลีเพย์ (AliPay) ในการกระตุ้นการเดินทางในหมู่คนจีนที่อยู่ในประเทศไทยกว่า 200,000 คน ด้วยการมอบสิทธิพิเศษในการท่องเที่ยว ผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย พร้อมสนับสนุนให้ อาลีเพย์ ได้ทำงานกับผู้ประกอบการชาวไทยเพื่อสานต่อเครือข่ายในอนาคต
เช่นเดียวกับที่เร่งผลักดันนักท่องเที่ยวคนไทย ที่นิยมเที่ยวนอกจำนวนกว่า 12 ล้านคนอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันหากงบประมาณปี 2564 ออกมา ก็เชื่อว่าองค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐจะสามารถเดินทางเพื่อประชุม สัมมนา ได้อีกครั้ง

" ปัจจุบันคนไทยเริ่มปรับตัวสู่ยุค นิวนอร์มอล การใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และการเดินทางท่องเที่ยว ตอนนี้ไม่ไปต่างประเทศ ททท.จึงต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแทน ล่าสุดจับมือกับพันธมิตรเอกชนมากมาย เราทำทุอย่างที่จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้เดินหน้า ” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

      นอกจากนี้แล้ว เตรียมแผนที่จะกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงวัย ให้สามารถเข้าถึงโครงการและใช้สิทธิได้ง่ายขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิลำเนา เช่น ให้คนกรุงเทพฯสามารถใช้สิทธินี้เพื่อเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯได้ หวังกระตุ้นอัตราเข้าพักของโรงแรมในกรุงเทพฯ หรือ คนเชียงใหม่สามารถใช้สิทธินี้ เพื่อเข้าพักโรงแรมในเชียงใหม่ได้

“จากโครงการเที่ยวปันสุขซึ่งเสนอสิทธิประโยชน์ด้านราคาให้ถูกลง ตอนนี้ก็เหมือนขยายผลให้เกิดความต่อเนื่อง ททท.หวังว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งระบบ” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว

ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน) พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยออกเดินทางรวมแล้ว 28.3 ล้านคนต่อครั้ง ลดลง 63% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 สร้างรายได้ 200,000 ล้านบาท ลดลง 62%

ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ณ วันที่ 23 สิงหาคม2563 เปิดเผยตัวเลข ล่าสุด มียอดจองโรงแรมเพียง 625,000 ราย คิดเป็นวงเงิน 1,874 ล้านบาท โดยรายละเอียดมีการจองโรงแรมทั้งสิ้น 3,823 แห่ง และมีการเข้าพัก (เช็กอิน) แล้ว 207,243 ห้อง และมีการแจ้งออกจากที่พัก (เช็กเอาต์) แล้ว จำนวน 198,241 ห้อง โดยราคาห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 2,980 บาท

      จังหวัดที่มียอดเข้าพักมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 
1. จังหวัดชลบุรี จำนวน 33,960 ห้อง 
2. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 17,371 ห้อง 
3. กรุงเทพฯ จำนวน 14,148 ห้อง 
4. จังหวัดเชียงใหม่ 13,831 ห้อง 
และ 5.จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 12,063 ห้อง.

เพี้ยนลาเวนเดอร์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่