นกฟีนิกซ์จีน (เฟิ่งหวง) กับคตินิยมทางเพศที่หลายๆ คนเข้าใจผิด!?

***เนื้อหาในกระทู้นี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้และนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น มิได้มีเจตนาชี้นำหรือสร้างความขัดแย้งในสังคมแต่ประการใด***

         สำหรับคนที่ไม่ชอบอ่านบทความยาวๆ ก็สามารถไปฟังคลิปกันได้นะครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
--------------------

         เชื่อว่าหลายๆ คนคงได้ไปดูภาพยนตร์มู่หลานกันมาแล้วใช่ไหมครับ?

         ซึ่งทุกคนก็คงจะได้พบกับโฉมหน้าของหนึ่งในสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่งดงามแห่งเทพปกรณัมจีนที่มีชื่อว่า "เฟิ่งหวง" หรือฟีนิกซ์จีน (ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า หงส์ นั่นแหละครับ) ที่เป็นสัตว์ประจำตัวของมู่หลาน นางเอกของเรื่องกันแล้ว

         โดยทั่วไปตามคตินิยมจีน หงส์คือสัตว์สัญลักษณ์แทนเพศหญิง เคียงคู่กับมังกรที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์แทนเพศชาย เรื่องนี้คิดว่าใครๆ ก็คงจะทราบกันดีใช่ไหมครับ?

         อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่นกเฟิ่งหวงมีลักษณะที่ตกต้องตามนกฟีนิกซ์ในอารยธรรมอื่นๆ จึงทำให้บางครั้งก็เกิดความสบสันและแยกแยะความแตกต่างกันไม่ออกระหว่างนกเฟิ่งหวงกับนกฟีนิกซ์ในอารยธรรมอื่นๆ และนั่นก็ทำให้การตีความในเรื่องนกเฟิ่งหวงนั้นผิดเพี้ยนและเข้าใจผิดตามไปด้วย!

         ในวันนี้ผมจะมาอธิบายเรื่องต่างๆ ที่หลายๆ คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับนกเฟิ่งหวง และนำเสนอความหมายที่แท้จริงตามคตินิยมจีนของนกเฟิ่งหวงกันนะครับผม

--------------------

         ตามที่ได้พูดไปในด้านบน โดยทั่วไปนกเฟิ่งหวงหรือฟีนิกซ์จีนนั้นจะแทนสัญลักษณ์ของเพศหญิง... อย่างไรก็ตาม นกเฟิ่งหวงตามคตินิยมจีนยังมีความหมายในทางเพศอีกอย่างหนึ่งนั่นคือ "การไม่แบ่งแยกเพศ"

         เอ๊ะ! มันยังไง ไหนบอกว่านกเฟิ่งหวงคือสัญลักษณ์ของเพศหญิง แล้วทำไมถึงมีความหมายว่าการไม่แบ่งแยกเพศ มันดูย้อนแย้งกันแฮะ???

         ใจเย็นๆ ก่อนครับทุกท่าน แล้วค่อยๆ อ่านในสิ่งที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้ให้ดี ไม่เช่นนั้นคุณจะเกิดความสับสนกับความหมายของ "การไม่แบ่งแยกเพศ" ของนกเฟิ่งหวงได้นะครับ

         อันดับแรก... ขอให้เข้าใจเรื่อง "การไม่แบ่งแยกเพศ" ระหว่างความหมายตามคตินิยมจีนกับตามอารยธรรมอื่นๆ เช่น ตะวันตก ก่อนนะครับว่ามันมีความหมายที่แตกต่างกัน

         ในอารยธรรมอื่นๆ เช่น ประเทศแถบตะวันตก การไม่แบ่งแยกเพศของนกฟีนิกซ์หมายถึง นกฟีนิกซ์นั้นอาจไม่มีเพศหรือว่ามีสองเพศในตัวเดียวกันก็ได้ โดยที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการตีความนกฟีนิกซ์ในอารยธรรมตะวันตกก็คือ มันไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องเพศ เพราะเป็นนกอมตะอยู่แล้ว ดังนั้น จะเป็นหญิง ชาย ไม่มีเพศ หรือควบทั้งสองเพศ เลยก็ได้ไม่แตกต่างอะไร

          ซึ่งทางดิสนีย์ได้นำความหมายนี้มาใช้กับภาพยนตร์มู่หลาน โดยเป็นการนำนกฟีนิกซ์แบบตะวันตกมาสวมทับนกเฟิ่งหวงของจีน ซึ่งในกรณีนี้ หากใครที่ไม่เคยได้ศึกษาข้อมูลนกเฟิ่งหวงมาจริงๆ ก็จะไม่รู้เลยว่านี่ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของนกเฟิ่งหวงตามคตินิยมจีน

          และด้วยเหตุนี้ นกฟีนิกซ์ในอารยธรรมตะวันตกจึงหมายถึง "ความเท่าเทียมกันทางเพศ" หรือ "ความไม่แตกต่างทางเพศ" จะเป็นชาย หญิง หรือเพศใดๆ ก็ตามล้วนเท่าเทียมและไม่มีความแตกต่าง

         แต่ในคตินิยมจีนไม่ใช่เช่นนั้นนะครับผม! เพราะคนจีนให้ความสำคัญในเรื่องเพศอย่างมาก ทุกๆ คน ทุกๆ สิ่งมีชีวิตจะต้องมีเพศเป็นของตัวเอง และจะต้องมีคู่ของเพศตัวเองที่เป็นเพศตรงข้ามครับ เช่น มนุษย์จะต้องมีเพศชายและหญิงอยู่คู่กัน ซึ่งมนุษย์แต่ละคนก็มีได้แค่คนละเพศ ไม่ชายก็หญิง (จะมาควบเป็นทั้งสองเพศเลยแบบคนปัจจุบันนี้ไม่ได้นะฮ้าาาาา ;D)

         ซึ่งมันเป็นความเชื่อทางเพศตามหลักหยินหยาง หยินคือผู้หญิง หยางคือผู้ชาย แต่จะเป็นทั้งสองเพศพร้อมกันไม่ได้!

         อีกทั้งคตินิยมจีนกำหนดให้ชายหญิงมีคุณสมบัติและความสามารถแตกต่างกันไปคนละด้าน ชายเก่งอย่าง หญิงเก่งอย่าง ดังนั้น สังคมคนจีนจึงมีการแบ่งหน้าที่ระหว่างชายกับหญิงอย่างชัดเจน บางอย่างชายทำได้แต่หญิงห้ามทำ บางอย่างก็หญิงทำได้แต่ชายห้ามทำ อย่างไรก็ตามการทำในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ทำก็เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของกันและกันด้วย ซึ่งเป็นความหมายตามหลักหยินหยางที่เป็นคู่กัน แต่ไม่ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน
 
         เห็นไหมครับว่าการตีความแบบตะวันตกกับจีนนั้นแตกต่างกันมากเลยทั้งๆ ที่ใช้คำๆ เดียวกัน... ก็ไม่แปลกหรอกครับที่จะมีหลายๆ คนจะสับสน

         ในคติความเชื่อของชาวจีน "การมีเพศ" ถือว่าเป็นลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูง สิ่งมีชีวิตไหนที่ไม่มีเพศ หรือมีสองเพศในร่างเดียว ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ เช่น พวกมารปิศาจบางตนก็จะมีเพศสภาพในลักษณะนี้

         ดังนั้น ความไม่แบ่งแยกเพศของนกเฟิ่งหวง (ฟีนิกซ์จีน) จึงหมายถึง ชายหญิงเคียงคู่ไม่แบ่งแยก เฉกเช่นหยินหยางที่ต้องอยู่คู่กันเสมอ เพราะธรรมชาติของหงส์ เมื่อจับคู่กันแล้วก็จะอยู่ด้วยกันตลอดไป และนั่นจึงทำให้นกเฟิ่งหวงต้องมี 2 ตัวครับ นั่นก็คือ เฟิ่ง ที่เป็น "ตัวผู้" กับ หวง ที่เป็น "ตัวเมีย" เป็นหงส์ชายหญิงเคียงคู่กัน ต้องมาสองตัวคู่กันเสมอ เน้นเลยนะครับว่าต้อง "เสมอ" นะครับ เพราะถ้ามาไม่ครบคู่มันจะเปลี่ยนเป็นอีกความหมายทันทีครับ ซึ่งจะเป็นอะไรเดี๋ยวจะอธิบายในส่วนถัดไป

         งานศิลปะของจีนในช่วงต้น เช่น ราชวงศ์ชาง โจว ฉิน ฮั่น มักจะแสดงภาพหงส์คู่ที่เอาหางมาเกี่ยวรัดกันไว้พร้อมสัญลักษณ์หยินหยาง อันแสดงถึงความไม่แบ่งแยกชายหญิงนั่นเอง!

         สรุปคือ ความหมายที่แท้จริงของการไม่แบ่งแยกเพศของนกเฟิ่งหวงนั้นก็คือ ชายหญิงต้องอยู่เคียงคู่กัน เฉกเช่น เฟิ่ง และ หวง ที่จะจับคู่อยู่ด้วยกันตลอดไปนั่นเอง! ไม่ใช่จะเป็นเพศอะไรก็ได้ หรือไม่มีเพศก็ได้ หรือควบเป็นทั้งสองเพศเลยเหมือนนกฟีนิกซ์แบบตะวันตกนะครับ

         อ้าว! แล้วนกเฟิ่งหวงที่หมายถึงผู้หญิงล่ะจะตีความยังไง!?

         ก็ง่ายๆ เลยครับ ในเมื่อนกเฟิ่งหวง 2 ตัวหมายถึงคู่ชาย-หญิง นกเฟิ่งหวงตัวเดียวก็หมายถึงเพศหญิงไงล่ะครับ!

         เฮ้ย! มันง่ายๆ ขนาดนั้นเลยเหรอ!

         เรื่องนี้มีที่มาที่ไปครับ นั่นคือคนจีนในยุคต่อมาได้ต้องการที่จะแบ่งแยกสัตว์ประจำเพศของมนุษย์ออกจากกันให้ชัดเจน ดังนั้น จากที่นกเฟิ่งหวงเคยมีสองตัวคือ เฟิ่ง กับ หวง ก็เลยถูกนำมารวมเป็นตัวเดียวกันและแปลงเพศสภาพกลายเป็นเพศหญิงเท่านั้นครับ! และด้วยเหตุนี้ความหมายของคำว่า เฟิ่งหวง จึงเปลี่ยนตามไปด้วยครับ!

         จากเดิมที่ เฟิ่งหวง มีความหมายว่า "หงส์คู่ชายหญิง" แต่เมื่อพวกมันถูกเอามารวมเป็นตัวเดียวแล้ว เฟิ่งหวง จึงมีความหมายว่า "ราชันย์แห่งนก" แทนครับ! ซึ่งเจ้านกเฟิ่งหวงตัวเดียวนี่แหละครับที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนเพศหญิงเพียงเพศเดียว ในขณะที่สัตว์สัญลักษณ์เพศชายก็ถูกแทนที่ด้วยมังกร นั่นจึงทำให้ในยุคหลังๆ คนจีนจะใช้สัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นชายหญิงด้วยสัญลักษณ์มังกรคู่กับหงส์ แทนที่จะเป็นหงส์สองตัวเหมือนในยุคก่อนๆ ครับ!

         ดังนั้น นกเฟิ่งหวงจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงเพียงอย่างเดียวตลอดมาหลังจากนั้นครับผม!

         คราวนี้ มันคงจะมีคำถามมาว่า แล้วเราจะใช้นกเฟิ่งหวงเป็นสัญลักษณ์แทนเพศชายได้หรือไม่?

         คำตอบคือ... ไม่ได้ครับ!

         พอผมตอบแบบนี้ หลายๆ คนคงเริ่มแย้งกันแล้วใช่ไหมครับว่า ไม่จริง! ก็เห็นเยอะแยะไปตามซีรีย์ หนัง นิยาย และสื่อบันเทิงจีนอื่นๆ ที่เอานกเฟิ่งหวงมาใช้เป็นสัตว์ประจำตัวพระเอกหรือตัวละครผู้ชายอีกตั้งหลายๆ คน บางเรื่องถึงกับให้พระเอกเป็นนกเฟิ่งหวงเลยด้วยซ้ำ จะมาบอกว่านกเฟิ่งหวงใช้กับผู้ชายไม่ได้ได้ยังไง!? มั่วแล้ว!

         ใจเย็นๆ ก่อนครับ และฟังสิ่งที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้ให้ดีๆ แล้วคุณจะเข้าใจว่าทำไม ในหลายๆ กรณีนกเฟิ่งหวงถึงนำมาใช้กับผู้ชายได้ครับ จริงๆ ไม่ใช่แค่ในสื่อบันเทิงนะครับ ในประวัติศาสตร์จีนจริงๆ ผู้นำหลายๆ คนก็มีการนำนกเฟิ่งหวงมาใช้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของตัวเองเหมือนกัน

         การที่จะนำนกเฟิ่งหวงมาใช้กับผู้ชาย สามารถทำได้ครับ แต่ต้องไม่ใช่การตีความในเรื่องเพศ ครับ เพราะผู้ชายมีมังกรเป็นสัญลักษณ์แทนเพศของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น หากเป็นการตีความในเรื่องอื่นๆ เช่น  ความรู้ความสามารถ ลักษณะอุปนิสัย ลักษณะความเป็นผู้นำ ของผู้ชายคนนั้นๆ อันนี้ได้ครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ พวกผู้นำชายที่มีอำนาจของจีนหลายๆ คนก็ใช้นกเฟิ่งหวงมาเป็นสัญลักษณ์ของตัวเอง แสดงถึงความเป็นคนมีบุญบารมี จิตใจดีมีเมตตาและคุณธรรมสูงส่งที่จะนำพาความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมือง เพราะนกเฟิ่งหวงในแง่ของการตีความด้านอุปนิสัยของมนุษย์จะหมายถึง ความเมตตากรุณาและคุณธรรมสูงส่ง

         หรือที่ชัดๆ ก็คือ บังทอง ในสามก๊กที่ได้ฉายาว่า หงส์ดรุณ นั่นไงครับ! ที่บังทองถูกเปรียบให้เป็นหงส์ ก็เพราะเขาเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเทียบเท่ากับขงเบ้งที่ถูกเปรียบให้เป็น มังกร การเปรียบเทียบในกรณีนี้ก็คือตัวอย่างการนำนกเฟิ่งหวงมาใช้ตีความผู้ชายในเรื่อง "ความเฉลียวฉลาด" นั่นเองครับ

         ส่วนในกรณีที่ซีรีย์หรือหนังจีนหลายเรื่องมีตัวละครชายเป็นนกเฟิ่งหวงเลยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดเลยครับ เพราะอย่างที่ผมได้อธิบายไปตั้งแต่แรกแล้วว่านกเฟิ่งหวงนั้นมีทั้งเพศผู้คือ "นกเฟิ่ง" และเพศเมียคือ "นกหวง" ซึ่งก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ต้องมีเพศชายกับหญิงอยู่คู่กัน ดังนั้นตัวละครชายในซีรีย์หรือหนังจีนจึงเป็นนกเฟิ่งหวงได้ครับ ซึ่งในกรณีนี้เป็นการ "สวมบทบาท" ไม่ใช่ "การตีความเชิงสัญลักษณ์" เช่นเดียวกับซีรีย์หรือหนังจีนอีกหลายๆ เรื่องที่ก็มีตัวละครหญิงเป็นมังกรเช่นกัน... เอาจริงๆ หลายคนมักคิดว่ามังกรมีแต่เพศผู้ แต่จริงๆ แล้วมังกรก็มีเพศเมียนะครับจะบอกให้!

          ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ "เจ้าแม่หนี่วา" ผู้สร้างมนุษย์และช่วยโลกจากน้ำท่วมด้วยการอุดรอยรั่วบนท้องฟ้าในตำนานของจีนนั่นไงครับ! นอกจากนี้ก็ยังมี "ธิดามังกร" ซึ่งแต่งงานกับยักษ์ผานกู่และให้กำเนิดบุตรชายนามว่าซินเหิงด้วย... เห็นไหมครับว่ามังกรก็มีเพศหญิง แม้ว่าในเชิงสัญลักษณ์ มังกรจะเป็นตัวแทนของเพศชายก็ตาม

         แถมให้อีกหน่อยแล้วกันนะครับ... อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่านกเฟิ่งหวงไม่สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเพศชายได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นเล็กๆ น้อยๆ อยู่เหมือนกันครับ นั่นก็คือการเปรียบเทียบทางเพศในเรื่องทั่วๆ ไปที่ไม่จริงจัง เช่น ผู้ชายที่มีรูปร่างหน้าตาดีจนละม้ายคล้ายผู้หญิงก็อาจจะเปรียบผู้ชายคนนั้นว่ามีลักษณะเหมือนนกเฟิ่งหวงได้ เป็นการเปรียบถึงความงดงามน่าหลงใหลเหมือนเพศหญิง หรือเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ที่มีความน่ารักน่าชังก็อาจเปรียบว่าเป็นนกเฟิ่งหวงได้แสดงถึงความอ่อนเยาว์และไร้เดียงสา 
--------------------

         และนี่ก็คือเรื่องราวของนกเฟิ่งหวงที่ผมได้นำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

        ก็ขอขอบคุณทุกๆ ท่านนะครับที่มารับชมกระทู้นี้ หากมี comment อะไรก็เชิญพูดคุยกันได้เลยนะครับ  หัวเราะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่