แชร์ประสบการณ์สำหรับคนที่สนใจทำงานกับองค์การสหประชาชาติ (UN)

สวัสดีชาวพันทิปทุกคนครับ กระทู้นี้เป็นกระทู้แรกของผม ถ้ามีผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยเอาไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับ ต้องออกตัวก่อนเลยว่าเนื้อหาในกระทู้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมเองนะครับ ไม่ได้เป็นข้อมูล Official ของ UN สำหรับใครที่มีคำถามหรือข้อเสนอแนะอะไรก็ทิ้งข้อความไว้ได้เลยครับ ผมจะพยายามมาตอบครับ

เนื่องจากผมเห็นว่ามีหลายๆกระทู้ในพันทิปที่มีคนสนใจและสอบถามเกี่ยวกับการทำงานในระบบสหประชาชาติหรือ UN ผมลองเข้าไปอ่านดู มีหลายๆกระทู้ที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์มากๆ แต่ก็มีหลายๆกระทู้หรือคอมเมนท์เหมือนกันที่มีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ผมในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ทำงานกับ UN เลยอยากที่จะมาแชร์ประสบการณ์และให้ข้อมูลที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับใครหลายๆคนที่สนใจอยากเข้ามาทำงานใน UN ครับ

ผมขอเกริ่นก่อนว่าตอนนี้ผมเป็น International Professional Staff (P) กับหน่วยงานหนึ่งในระบบสหประชาชาติ ที่เจนีวาครับ ผมใช้คำว่าระบบสหประชาชาติ เพราะว่า UN นั้นมีองค์กรที่แบ่งย่อยออกมาเป็นจำนวนมาก อยากจะรู้ว่าหน่วยงานในระบบสหประชาชาติมีอะไรบ้าง สามารถเข้าไปดูในลิงค์นี้ได้เลยครับ (https://www.un.org/en/sections/about-un/funds-programmes-specialized-agencies-and-others/index.html) ผมเริ่มต้นทำงานกับหน่วยงานหนึ่งในระบบสหประชาติที่กรุงเทพฯ ในสายงานสนับสนุน ตอนนั้นผมเริ่มต้นจากตำแหน่งจูเนียร์สุดเลยก็ว่าได้ครับ ผมทำงานที่กรุงเทพเป็นเวลา 3 ปี เริ่มต้นจากตำแหน่งจูเนียร์สุดแล้วก็ขยับขยายจนขึ้นมาถึงระดับ ICS-5 หรือ GS-5 ครับ ตลอดระยะเวลา 3 ปีผมก็พยายามที่จะสมัครและสอบตำแหน่ง International มาตลอด จนมาปีที่สาม ซึ่งตอนนั้นผมอายุ 28 ก็ได้โพสต์ที่เจนีวาครับ ตอนนี้ผมอยู่ที่เจนีวามาได้เกือบที่จะครบสามปีแล้วครับ ต้องบอกเลยว่าโปรไฟล์ผมธรรมดามาก ผมไม่เคยมีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศ ผมเรียนจบมัธยมจากโรงเรียนรัฐบาลแล้วก็สอบเข้าไปเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ คณะรัฐศาสตร์ ผมเข้ามาทำงาน UN กับวุฒิปริญญาตรีเท่านั้น ภาษาอังกฤษสำหรับผมสามารถใช้สื่อสารในการทำงานได้ไม่มีปัญหาแต่ก็ไม่ได้เป๊ะเวอร์วังอะไร แต่อันนึงที่ผมโดดเด่น คือผมเป็นเด็กกิจกรรม ผมทำกิจกรรมมาตลอดตั้งแต่สมัยที่เรียนมัธยมครับ สำหรับผม สำหรับคนที่ไม่ได้มีโปรไฟล์โดดเด่นอะไร การที่ได้มาทำงาน UN ในระดับนี้จึงเปรียบเสมือนฝันครับ ผมคิดว่าผมน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆคนที่มีความฝันที่อยากที่จะเข้ามาทำงาน UN เหมือนกันกับผมครับ
    
สำหรับใครที่สนใจที่จะเข้ามาทำงานในระบบของ UN ก่อนอื่นเลยผมต้องบอกว่างานใน UN ในจิตนาการของใครหลายๆคนกับในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เหมือนกันครับ เนื้องานใน UN มีความหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง องค์กรและประเด็นที่เราทำงานครับ หลายคนคิดฝันว่าถ้าทำงาน UN จะได้เดินทางไปเยี่ยมเด็กสวยๆในค่ายผู้ลี้ภัยแบบแองเจลินา โจลี่ ถ้าเราทำงานในสาย Humanitarian หรือทำงานใน Refugee Camp ก็อาจจะมีโอกาสได้เห็นภาพแบบนั้นครับ แต่สำหรับงานส่วนใหญ่นั้น โดยเฉพาะงานทางด้านแอดมิน HR หรือไฟแนนซ์ มันต่างกันลิบลับกับภาพที่จินตนาการครับ งานส่วนใหญ่จะอยู่แต่กับหน้าคอมพิวเตอร์ ตอบอีเมล์ จัดประชุมหรือทำงานเอกสารครับ งานบางงานอาจจะต้องมีเดินทางไปมิชชั่นบ้าง แต่ก็ไม่ได้สนุกอะไรเพราะส่วนใหญ่ก็ต้องยุ่งและเครียดกับการเตรียมตัวหรือการประชุมครับ กลับจากมิชชั่นแล้วยังต้องทำมิชชั่นรีพอร์ตอีก การเดินทางไปทำงานไม่ได้สนุกเหมือนกับการเดินทางไปเที่ยวครับ  

ที่เกริ่นไปข้างต้นว่าใน UN มีองค์กรยิบย่อยเยาะมาก ต้องบอกว่าโชคดีที่กรุงเทพเป็นที่ตั้งของสำนักงาน Regional Commission Office (UNESCAP), Regional office, และ Country Offices ขององค์กรต่างๆในระบบสหประชาชาติครับ นอกจากนี้อีกเทรนหนึ่งที่กำลังมาแรงคือการเปิด Shared Services Centers ของหลายๆหน่วยงานในระบบสหประชาชาติ ซึ่งกรุงเทพของเราก็เป็นหนึ่งในเมืองที่หลายองค์กรเลือกมาเปิด เพราะค่าครองชีพถูกกว่าหลายๆเมืองใหญ่ เช่น เจนีวา นิวยอร์ก การที่มีหน่วยงานจำนวนมากในกรุงเทพทำให้เรามีตำแหน่งงานสำหรับคนท้องถิ่นมากกว่าในหลายๆประเทศครับ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจนก้าวข้ามมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนสูงซึ่งส่งผลให้หลาย Country Office ของ UN ในเมืองไทยทยอยลดขนาดหรือมีแผนที่จะปิดตัวลง แต่ความโชคดีที่บอกไปว่าเรายังมี Regional office หรือ Shared Services Centers อยู่ทำให้เรายังมีตำแหน่งงานสำหรับคนท้องถิ่นอยู่ ถ้าอยากรู้ว่ากรุงเทพของเรามีสำนักงาน UN อะไรอยู่บ้าง สามารถเข้าไปดูได้ในหน้าเว็ปนี้เลยครับ (https://thailand.un.org/en/about/un-entities-in-country)
 
สำหรับรูปแบบการจ้างงานของ UN นั้นแบ่งได้เป็นสองแบบคือ Staff Contract กับ Non-Staff Contract โดยที่ Staff Contract ของ UN นั้นสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 3 แบบคือ 
- Temporary Appointments (TA) ตามชื่อเลยครับ คือเป็นตำแหน่งชั่วคราวน้อยกว่าหนึ่งปีแล้วสามารถที่จะต่อสัญญาได้สูงสุดรวมกันไม่เกิน 2 ปีครับ
- Fixed-Term Appointments (FTA) ตำแหน่งนี้โดยทั่วไปจะเป็นสัญญาจ้าง 1-2 ปีแล้วสามารถที่จะต่อสัญญาต่อไปได้อีกเรื่อยๆ ซึ่งสัญญาจ้างนี้เป็นอะไรที่หลายๆคนหมายปองและมีการแข่งขันที่สูงครับ
- Continuing Appointments อันนี้เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีระยะเวลา จ้างไปเรื่อยๆ ซึ่งสัญญาจากแบบนี้หายากมากหรือแทบที่จะไม่มีการให้อีกแล้วครับ

ในส่วนของตำแหน่งนั้นสามารถแบ่งได้เป็นตำแหน่งท้องถิ่นและตำแหน่งอินเตอร์ครับ สำหรับตำแหน่งท้องถิ่นนั้นจะแบ่งเป็นสองแบบคือ General Service contracts (GS) อันนี้เป็นสายงานสนับสนุนครับและ National Officers (NO) อันนี้จะเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ทำงาน Technical ครับ 

- General Service contracts – จะเริ่มต้นจาก GS-1 ถึง G-7 (GS - 7 เป็นตำแหน่งสูงสุดในกลุ่มงานสนับสนุนครับ)
- หลังจาก GS-7 ก็จะเป็น National Officers (NO) – มี 3 ระดับคือ - NO-A, NO-B, NO-C (NO-C เป็นระดับสูงสุดครับ)

ในส่วนของตำแหน่งอินเตอร์นั้นแบ่งเป็น International Professional (P) ซึ่งจะเริ่มจาก P1 to P5 แล้วตามมาด้วยระดับ Director มีสองระดับคือ D1 และ D2 แล้วตามด้วยระดับ Assistant Secretary General (ASG) ครับ อยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้ในนี้เลยครับ (https://careers.un.org/lbw/home.aspx?viewtype=SC&lang=en-US)

UN จะใช้ระบบที่เรียกว่า UN Common System ครับ เกือบทุกหน่วยงานในระบบ UN จะใช้ฐานเงินเดือนเดียวกัน ซึ่งกำหนดโดย International Civil Service Commission (ICSC) สำหรับ Staff Contract ของ UN นั้นจะอยู่ภายใต้ UN Staff rules regulations เกือบทุกองค์กรใน UN Common System จะใช้กฏเดียวกันครับ แล้วเมื่อไรที่เราย้ายงานจากองค์กรหนึ่งไปยังอีกองค์กรหนึ่งในระบบ UN Common System สวัสดิการต่างๆ เงินบำนาญ วันลา ที่เราเก็บสะสมไว้ก็สามารถจะย้ายตามไปด้วยครับ ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ บางองค์กรในระบบ UN ก็ไม่ได้ใช้ระบบ UN Common System นะครับ เช่น กลุ่มงานธนาคารโลก ดังนั้นรูปแบบของ Staff Contract ขององค์กรเลห่านั้นก็อาจจะแตกต่างออกไป  

เทรนในการจ้างงานในปัจจุบันคือการลดจำนวน Staff Contract แล้วหันมาจ้างงานในรูปแบบของ Non-staff contract มากขึ้นครับ เนื่องจากตำแหน่ง Staff มีสวัสดิการที่ค่อนข้างเยาะและองค์กรมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งรูปแบบของ Non-staff contract จะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กรครับ ที่เด่นๆและหลายๆคนจะคุ้นเคยกันคือ Service Contract (SC) ซึ่งออกโดย UNDP และองค์กรที่ใช้บริการจาก UNDP เช่น UN WOMEN, UNODC, UNFPA เป็นต้น อีกคอนแทรคนึงที่มีเยาะคือ Individual Contractor Agreement (ICA) อันนี้ออกโดย UNOPS และองค์กรที่ใช้บริการจาก UNOPS เช่น UNHCR เป็นต้น นอกจากคอนแทรคที่กลาวมานี้ใน UN ยังมีสัญญาจ้างแบบรายวันหรือแบบเหมาจ่ายด้วยครับ เช่น SSA, IC, Retainer, Lump-sum เป็นต้น
 
ในส่วนของ Benefits Package นั้น ถ้าถือ Staff Contract ก็สามารถที่จะเช็คเงินเดือน สวัสดิการได้จากในเว็ปไซต์ของ UN ได้เลยครับ ข้อมูลทุกอย่างเปิดเผยและใช้มาตราฐานเดียวกัน (https://careers.un.org/lbw/home.aspx?viewtype=SAL&lang=en-US) ในส่วนของ Non-staff contract นั้น เงินเดือนและสวัสดิการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กรเลยครับ บางองค์กรมีการให้สวัสดิการที่เกือบจะเท่ากับ Staff Contract เลยก็มีครับ อันนี้ต้องเข้าไปดูรายละเอียดในหน้าเว็ปของแต่ละองค์กรเองครับ

ทีนี้ทำยังไงถึงจะได้เข้ามาทำงานUN จากประสบการณ์ส่วนตัวต้องบอกว่าต้องใช้ทั้งความสามารถและโชคครับ ในทีนี้จะขอพูดถึงตำแหน่งท้องถิ่นในเมืองไทยเท่านั้นนะครับ เพราะตำแหน่ง International มันจะซับซ้อนกว่านี้มากครับ ในแง่ของการแข่งขันต้องบอกเลยว่าการแข่งขันใน UN ค่อนข้างสูง ในตำแหน่ง General Service (GS) นั้นจริงๆใน VA จะระบุว่าต้องการแค่วุฒิมัธยมกับประสบการณ์ทำงาน แต่ในความเป็นจริงคนที่สมัครหรือเข้ามาทำงานนั้น หลายๆคนมี Profile เวอร์วังอลังการมาก บางคนก็พูดได้หลายภาษา บางคนจบโท มาจากต่างประเทศและหลายคนมีประสบการณ์การทำงานสูงกว่า requierment มาก ยิ่งถ้าเป็นโพสต์ National Officers (NO) แล้วบอกเลยว่าคนที่เข้ามาทำงานส่วนใหญ่มีประสบการณ์ค่อนข้างสูงหรือไม่ก็จบกันมาเวอร์วัง ด้วยการแข่งขันที่สูงแบบนี้จึงบอกเลยว่าถ้าจะสมัครต้องเตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อม ข้อแนะนำที่ผมจะให้คือสมัครไปเลยครับ สมัครไปแล้วก็คาดหวังอย่างพอประมาณ อย่าไปคาดหวังมากเพราะการแข่งขันมันค่อนข้างสูงแล้วถ้าไม่ได้ก็อย่าเสียใจ สมัครต่อไปเรื่อยๆอย่าหยุดความพยายามครับ

คำแนะนำสำหรับน้องๆจบใหม่สิ่งหนึ่งที่อาจจะช่วยเสริม CV น้องคือการไปเก็บประสบการณ์จากการทำงานกับ NGO สถานฑูต หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น USAID, EU ครับ ซึ่งหลายๆหน่วยงานใน UN จะชอบคนที่มาจากสายงานเหล่านี้ โดยที่งาน NGO ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เราได้ลงไปทำงานจริงๆในพื้นที่ ซึ่งน้องๆจะได้เรียนรู้จากการได้ลงมือทำและน้องจะมองเห็นภาพของงานพัฒนาตั้งแต่ระดับล่างสุด เมื่อน้องเข้ามาทำ UN น้องก็จะเข้าใจและเห็นภาพรวมทั้งหมด อยากจะบอกทุกคนว่าอย่าไปติดภาพ NGO ว่ามีแต่ความรุนแรง ไปประท้วงต่อต้านโน่นนี่หรือทำ NGO แล้วต้องกินแกลบ อยากบอกว่า NGO มีหลายสายและหลายระดับมาก International NGO บางที่เงินเดือนและสวัสดิการเยาะมากกว่าภาคเอกชนซะอีก ประสบการณ์ส่วนตัวของผมคือพอผมเรียนจบปริญญาตรี ผมก็สมัครงานกับ International NGO เลย ผมทำงานกับ NGO ประมาณ 8-9 เดือนก่อนที่จะสมัครและสอบเข้ามาทำที่ UN ช่วงที่ผมทำงาน NGO ถึงแม้จะเป็นเวลาสั้นๆแต่ผมได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์เยาะมากจริงๆ
 
การเข้ามาฝึกงานใน UN ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราได้เข้ามาเรียนรู้ระบบการทำงานของ UN หลายคนมาฝึกงานแล้วได้งานต่อก็มี แต่มีหลายที่ที่มีนโยบายห้าม Intern สมัครตำแหน่ง Staff ภายใน 6 เดือนหลังจากที่จบการฝึกงาน ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กรต้องดูดีๆ รูปแบบงานและการฝึกงานใน UN นั้นมันแตกต่างกัน บางองค์กร Intern ได้ทำงานเต็มที่ ได้คิด ได้เสนออะไรใหม่ๆ ไม่ต่างกับเจ้าหน้าที่ประจำเลย แต่ก็มีบางองค์กรที่เข้ามาฝึกงานแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย ฉะนั้นต้องดูหน่วยงานและแผนกดีๆก่อนที่จะสมัคร การจะเข้ามา Intern นั้น สำคัญคือเราต้องมีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าเราต้องการอะไรและเราจะ contribute อะไรให้กับองค์กรได้บ้าง การสมัครฝึกงานแทบจะไม่แตกต่างจากการสมัครงานปกติเลย มีการต้องส่งใบสมัคร เขียน Motivation Letter แล้วบางที่มีการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์อีก จากประสบการณ์ทุกครั้งที่ผมเปิดรับ Intern ที่เจนีวา ผมจะได้รับใบสมัครไม่ต่ำกว่า 200-300 ใบจากทั่วโลก ฉะนั้นถ้าอยากจะฝึกงานที่ UN เราควรที่จะเริ่มสร้างโพลไฟล์ตั้งแต่ที่เราเรียนหนังสือครับ ทำกิจกรรม สร้าง Resume เราให้มีความน่าสนใจและแตกต่างจากคนอื่น 

(อ่านต่อด้านล่างครับ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่