มิตรรัก นักแฟนตาซี : SS 2 EP 1 ลั่นกลองรบ FPL รีบจอย “The.Macho League” รางวัลและความมันส์รออยู่!


เป็นความรู้สึกแปลกใหม่ดีเหมือนกัน ที่ “มิตรรัก นักแฟนตาซี” ของซีซัน 2019/20 เพิ่งจะลาจอกันไปไม่นาน ซีซันใหม่ 2020/21 ก็กลับมาระเบิดแข้งกันอย่างรวดเร็ว เพราะมีเจ้าโควิด-19 ตัวแสบเป็นเหตุ

อย่างที่ทราบกัน ตอนนี้ Fantasy Premier League เปิดให้จิ้มจัดทีมซีซันใหม่กันแล้ว โดยมีกำหนดการแมทช์แรกคือ 12 ก.ย. ซึ่งแน่นอนว่าจะรวมถึงเป็นเดดไลน์ของ Gameweek 1 ไปด้วย

20 ทีม ที่จะดวลเดือดกันในพรีเมียร์ลีกซีซัน 2020/21 ซึ่งเตรียมเตะแมทช์แรก 12 ก.ย. นี้

อย่างไรก็ดี ใน EP 1 นี้ มันยังเร็วเกินไปที่เราจะมาพูดทีเด็ดเฉพาะเจาะจงกันใน Gameweek 1 จึงขอพูดถึงภาพรวมกว้างๆ ให้ทั้งคนที่เล่นอยู่เดิมแล้ว และยังไม่เคยเล่นมาก่อน ได้เข้าใจ ก่อนจะเริ่มเพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อยๆ ใน EP ต่อไปครับ

จุดเริ่มต้นของมือใหม่

ขอเกริ่นให้ฟังก่อนสำหรับสมาชิกใหม่ ว่า “Fantasy Premier League” คือเกมจัดตัวนักฟุตบอลถูกต้องตามลิขสิทธิ์ของพรีเมียร์ลีก ซึ่งจัดการโดย Premier League เอง สามารถสมัครแอคเคาท์กันได้ที่ https://fantasy.premierleague.com/

หน้าตาหน้าแรกของ Fantasy Premier League ซึ่งมือใหม่สามารถสมัครสร้างทีมได้ไม่ยากเย็น

คอนเซปท์เบสิกของ “แฟนตาซี” คือการให้อำนาจคุณเป็นกุนซือ จัดทีมนักเตะพรีเมียร์ลีกทั้งหมด 15 คน (11 ตัวจริง + 4 ตัวสำรอง ซึ่งสามารถสลับใช้งานได้) โดยมีข้อจำกัดต่างๆ เช่น มีงบประมาณจำกัด, ห้ามมีนักเตะสโมสรนึงเกิน 3 คน เป็นต้น

พอจัดทีมเรียบร้อย คะแนนที่ทีมจะได้ก็มาจากผลการแข่งขันจริง เช่น คุณเลือกบรูโน่ไว้ บรูโน่ยิงหรือแอสซิสต์ในสนามจริง ในเกมก็จะได้คะแนนด้วย หรือคุณเลือกฟาน ไดค์ไว้ แล้วแนวรับลิเวอร์พูลไม่เสียประตู ฟาน ไดค์ก็จะได้คะแนนในเกมด้วย เป็นต้น

หน้าตาตัวอย่างทีม 15 คนที่สามารถเลือกนักเตะต่างๆ มาจัดให้ตามกติกาเงื่อนไข

โดยรายละเอียดที่ลงลึกทั้ง ทำความรู้จักว่าแฟนตาซีคืออะไร, ทำไม Fantasy Premier League น่าเล่น, เริ่มต้นเล่นยังไง ผมเคยเขียนไว้ตอนต้นซีซันก่อน (Intro 101) สามารถ >> คลิกไปอ่านที่นี่เลย <<

นอกจากนั้น ยังมีการอธิบายรายละเอียดของ Fantasy Premier League ทั้งฟังก์ชันต่างๆ, เทคนิคการจัดทีมเบื้องต้น, กฎหลักการเล่น, วิธีร่วมสนุกกับเพื่อนๆ ในลีกย่อย มีลงข้อมูลไว้เช่นกัน (Intro 201) สามารถ >> คลิกไปอ่านที่นี่เลย <<

รายละเอียดใน Intro 101 และ 201 น่าจะยังเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่อยู่ ที่ต้องอัปเดตหน่อย ก็คงเป็นโค้ดจอยลีกของ “The.Macho League” ซึ่งเราจะพูดถึงอีกทีในตอนท้าย EP นี้

ความน่าสนใจของ FPL ซีซัน 2020/21

เกริ่นแนะนำมือใหม่ไปแล้ว ก็ถึงคราวมาพูดถึงซีซันใหม่กันหน่อย เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างปรับเปลี่ยนไป เปรียบเหมือนการเพิ่มความท้าทายให้กับกุนซือแฟนตาซีทุกท่าน

การปรับราคานักเตะ

แน่นอนแหละ ว่านักเตะที่ทำผลงานซีซัน 2019/20 ได้ร้อนแรง จะต้องมีการดันราคาเพิ่มขึ้นในซีซันใหม่เป็นปกติ โดยมีหลายรายปรับแพงขึ้นแรงไม่เบา เช่น “บรูโน่ แฟร์นันด์ส” ปรับเพิ่มจาก 9.0 ล้านปอนด์ ในช่วงจบซีซันเป็น 10.5 หรือ “เควิน เด บรอยน์” จาก 10.6 เป็น 11.5 เป็นต้น

2 จอมทัพคนสำคัญ “เควิน เด บรอยน์” และ “บรูโน่ แฟร์นันด์ส” ราคาปรับขึ้นโหดไม่น้อย

สิ่งนี้ทำให้กุนซือหลายรายปวดหัว เพราะด้วยระยะเวลาเบรกซีซันที่สั้น ทำให้หลายคนยังคงโฟกัสไปที่ตัวทำคะแนนเดิมๆ อยู่ เมื่อราคาปรับขึ้น การจะเลือกหลายตัวพร้อมๆ กัน จึงยากเป็นธรรมดา

การปรับตำแหน่งของนักเตะ

พวกการปรับเปลี่ยนที่สมควรแล้ว อย่าง “จอห์น ลุนด์สตรัม” เขยิบมาเป็นกองกลาง อันนี้ไม่น่าแปลกใจ แต่กับพวกนักเตะคีย์แมนรายอื่นที่ถูกปรับตำแหน่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นงานหนักอกกุนซือทั้งหลาย เช่น การปรับมาเป็นกองกลางของโอบาเมย็อง, แรชฟอร์ด, กรีนวู้ด

แรชฟอร์ดและโอบาเมย็อง 2 ตัวคะแนนที่ถูกปรับมาเป็นกองกลางในซีซันใหม่นี้

ด้วยราคาที่ตัวเด็ดปรับขึ้น และการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ทำให้กุนซือหลายท่านอาจจะเปลี่ยนมุมมองในการเลือกตัวทำคะแนนหลัก จากการเน้นแนวรับที่แข็งแกร่ง หรือการมีกองหน้าคุณภาพ กลายเป็นการหันมาให้ความสำคัญที่แดนกลาง ซึ่งระดมสตาร์ไว้เพียบ

Blank ทันทีใน Gameweek 1

ซีซันที่แล้วอันแปรปรวน ทำให้เกิด Blank Gameweek หรือมีทีมที่ไม่มีโปรแกรมเตะใน Gameweek 1 ถึง 4 ทีมได้แก่ แมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยู, เบิร์นลีย์, วิลล่า หลัง 2 ทีมจากเมืองแมนเชสเตอร์ เสร็จภารกิจฟุตบอลสโมสรยุโรปช้ากว่าชาวบ้านเค้า

2 ทีมยอดนิยมจากแมนเชสเตอร์ จะมีโปรแกรม Blank ใน Gameweek 1 ทันที

จุดสำคัญคือทั้ง “เรือใบสีฟ้า” และ “ปีศาจแดง” เป็นทีมยอดนิยม (อาจจะรวมเบิร์นลีย์ได้ด้วย หากมีกุนซือชอบความเหนียวแน่นของพวกเขา) จึงกลายเป็นจุดลังเลในการจัดการทีมชุดแรกของเหล่ากุนซือ เพราะหากหันไปเลือกตัวจากทีมอื่น ก็ต้องสแปร์งบประมาณไว้สำหรับนักเตะ 2 ทีมแมนเชสเตอร์ ที่อาจจะดึงเข้าทีมใน Gameweek ถัดไป

โปรแกรมเตะแน่นเอี้ยด

การที่ซีซัน 2019/20 จบช้ามาจนถึงเดือน ส.ค. รวมทั้งกลางปีหน้ามีศึกยูโร 2021 ที่เลื่อนมา 1 ปี ทำให้พรีเมียร์ลีกไม่มีทางเลือกที่จะบีบโปรแกรมที่จำนวนนัดเท่าเดิม แต่ระยะเวลารวบรัดขึ้นกว่าเดิมถึง 5 สัปดาห์

นอกจากนั้นฟุตบอลถ้วยต่างๆ ทั้งในประเทศอย่างเอฟเอ คัพ และลีก คัพ หรือเหล่าทีมท้อปที่ต้องไปลุยฟุตบอลสโมสรยุโรป แม้จะมีการปรับกฎบ้าง เช่น ไม่มีรีเพลย์ในเอฟเอ คัพ หรือไม่มีเตะเหย้า-เยือนในรอบรองฯ คาราบาว คัพ แต่แมทช์แข่งขันก็ยังคงยั้วเยี้ยไม่น้อยกว่าเดิมเท่าไหร่ โดยเฉพาะเดือน ธ.ค. ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำของแดนผู้ดี

นอกจากอาการบาดเจ็บที่ต้องระมัดระวังขึ้น การสลับตัวโรเตชั่น ก็จะถูกนำมาใช้แน่

การแข่งขันที่ถี่ยิบ ย่อมส่งผลต่อการบริหารนักเตะของหลายทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงการเกิดทั้ง Double และ Blank Gameweek ที่อาจจะเปลี่ยนไปจากซีซันก่อนๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดทีมของกุนซือแฟนตาซีอย่างเราแน่นอน

กลยุทธ์การจัดทีมเบื้องต้น

ถึงจะเกริ่นไปว่าจะยังไม่ลงรายละเอียด สำหรับการจัดทัพรับ Gameweek 1 ที่จะเริ่มเตะกัน 12 ก.ย. แต่มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กลยุทธ์ทั้งหลายแหล่ จะอิงจากการสร้างทีมให้พร้อมสำหรับนัดแรกที่สุด เพราะออกตัวดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

อย่างไรก็ดีในหัวข้อนี้ เราอยากให้คุณมองไปไกลกว่าแค่การทำแต้มใน Gameweek 1 เพราะเส้นทางของ FPL ค่อนข้างยาวไกล การมีกลยุทธ์ในการจัดทีมที่ลงตัวในระยะยาว ยังไงก็ย่อมดีกว่าการโกยคะแนนประเดี๋ยวประด๋าว แล้วต้องไปเสียตัวช่วย หรือเสียแต้มลบโดยไม่จำเป็น

ลองหาความสำคัญของแต่ละตัว

อย่างแรก อยากให้กุนซือทุกท่านลองจัดตัวให้ครบ 15 ตัว โดยสามารถระบุความสำคัญของแต่ละตัวได้ โดยอาจจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ง่ายๆ เช่น ตัวทำคะแนนหลัก, ตัวสำหรับโรเตชั่น, ตัวเลือกทิ้ง

“โม ซาล่าห์” ตัวทำคะแนนหลักที่หลายคนอาจจะชั่งใจเลือกมีติดทีมไว้

เมื่อได้หมวดหมู่ของแต่ละตัวแล้ว เราจะสามารถเลือกโฟกัสว่า เราจะหยิบเอานักเตะตัวอื่นที่ใกล้เคียงมาใส่แทนแล้วดีกว่ามั้ย เช่น ตัวทำคะแนนหลักคือ “โม ซาล่าห์” ราคา 12.0 ล้านปอนด์ ถ้าจะใส่ตัวอื่นมาแทนอย่าง “มาร์คัส แรชฟอร์ด” ราคา 9.5 ล้านปอนด์ ส่วนต่างที่เราได้ 2.5 ล้านปอนด์ จะไปปรับตำแหน่งอื่นได้ดีขึ้นมั้ย

2.5 ล้านปอนด์ อาจจะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเลือกทิ้งอย่าง “คีแนน เดวิส” 4.5 ล้านปอนด์ เขยิบไปเป็นตัวโรเตชั่น (เป็นตัวหลักทีม แต่ไม่ได้ทำคะแนนถล่มทลาย) อย่าง “คริส วู้ด” ราคา 6.5 ล้านปอนด์ได้ เราก็จะเริ่มเห็นทางเลือกมาเปรียบเทียบว่า ซาล่าห์+เดวิส กับ แรชฟอร์ด+วู้ด อันไหนคุ้มกว่ากัน

“คริส วู้ด” กองหน้าในข่ายตัวโรเตชั่น ซึ่งซีซันที่แล้วไม่หวือหวา แต่ก็ทำได้ถึง 14 ประตู

แน่นอนมองเบื้องต้นแล้ว การมีซาล่าห์น่าจะคุ้มค่ากว่าการมีแรชฟอร์ด (อันนี้มองภาพรวม ไม่ได้สนใจ Blank Gameweek 1) แต่ถ้ามองกว้างขึ้น วู้ดอาจจะเป็นตัวหมุนเวียนที่สำคัญกว่าเดวิส ที่ไม่การันตีลงสนามให้วิลล่า (หรือถึงลง เราก็เลือกใส่เป็นแค่สำรอง) ครั้นจะขยับเปลี่ยนเดวิสในอนาคต ก็คงทำได้ยากเพราะค่าตัวแสนถูก ต้องเพิ่มงบประมาณพอตัว หากจะเลือกตัวอื่น แบบนี้เป็นต้น

(ขออนุญาตต่อในคอมเมนท์ เพราะใกล้ครบ 10,000 ตัวอักษรตามกำหนด)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่