[CR] รีวิว...โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี สัมผัสประวัติศาสตร์แบบใกล้ชิดและหลอนนิดๆ


          สวัสดีชาวพันทิปครับ จังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดท่องเที่ยวยอดฮิตผมว่าหลายคนในพันทิปน่าจะเที่ยวจนพรุนประเภทหลับตาเดินได้แล้วแหละ และด้วยความเป็นจังหวัดท่องเที่ยวทำให้แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตต่างๆคนอาจจะเยอะจนล้นในวันหยุด วันนี้ไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่(ค่อย)มีใครไปเที่ยวกันครับ
          กระทู้นี้รวดเดียวจบเหมือนเดิมนะครับ ไปกันเลยครับ

          โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรีอยู่ริมถนนแสงชูโตเลยครับ อยู่ระหว่างสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรีและสถานีตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี ซึ่งถ้าคุณขับรถถึงหน้าสถานีตำรวจแปลว่าขับเลยมาเรียบร้อยแล้ว
          ตัวโรงงานจะตั้งลึกเข้าไปจากถนนประมาณ 200 เมตรด้านหน้าเป็นสนามหญ้าและต้นไม้ทำให้ถ้าไม่สังเกตอาจจะขับเลยได้ง่ายๆ  ผมมีข้อมูลของที่นี่น้อยมากครับ รู้แค่ว่าเขาเปิดเป็นที่ท่องเที่ยว แต่เวลาเปิด-ปิด ต้องลงทะเบียนหรือไม่ ต้องติดต่อใครเพื่อขอเข้าชมหรือไม่ ไม่มีข้อมูลเลย รู้แค่ว่าปิดวันพฤหัสกับวันอาทิตย์เท่านั้น

          วันที่ไปก็อย่างที่เห็น มีที่กั้นวางเอาไว้แต่ก็ไม่ใช่วันที่ปิดทำการ ตกลงเปิดหรือปิดก็ไม่รู้ เพื่อความแน่ใจว่าเข้าได้เลยเดินเข้าไปถามพี่ที่เขากำลังตัดหญ้าอยู่ที่สนาม พี่เขาบอกว่าเข้าไปดูได้เลย แต่ภายในอาคารห้ามเข้าแค่นั้นเอง...เอาล่ะ พี่คนตัดหญ้าอนุญาต เข้าได้

          ประวัติของที่นี่เท่าที่หาข้อมูลได้คือสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนายช่างชาวเยอรมัน เริ่มเดินเครื่องจักรผลิตตั้งแต่ พศ.2478 แต่มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการคือ พศ.2481 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา รักษาการนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธี

          พื้นที่โรงงานกว่า 70 ไร่นอกจากพี่ๆที่ตัดหญ้าอยู่อีกฟากของสนามแล้วก็ไม่มีใครเลย เดินเงียบๆในบรรยากาศเงียบเชียบ ดีนะไปตอนเช้าถ้าตอนเย็นๆน่าจะหลอนเอาเรื่อง ในช่วงที่เปิดใหม่ๆสมัยนั้น โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรีถือว่าเป็นโรงงานกระดาษที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดของประเทศ ผลิตกระดาษเพื่อนำไปทำธนบัตรโดยวัตถุดิบหลักคือเยื่อไม้ไผ่ ถึงกับมีเส้นทางรถไฟเข้ามาส่งวัตถุดิบในโรงงานเลยสมัยนั้นชาวบ้านลือกันว่าเป็นทางรถไฟเข้าฐานทัพญี่ปุ่น
         
          สิ่งขัดใจอย่างหนึ่งของการเดินชมที่นี่คือ ไม่มีข้อมูลอะไรให้อ่านหรือเรียนรู้ได้เลยทั้งๆที่อารมณ์ในการเดินทำให้นึกถึงเกาะ Hashima ที่ญี่ปุ่นที่เป็นสถานที่ร้างแบบนี้เหมือนกัน ถ้ามีอะไรให้เรียนรู้สักหน่อยจะเพลินกับการเดินได้มากกว่านี้
          พื้นที่กว่า 70 ไร่ของที่นี่เดิมมีสถานที่หลายแห่งที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้พนักงานที่ทำงานที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น สถานพยาบาล สโมสรพักผ่อนสำหรับพนักงาน หอพัก หรือแม้กระทั่งสนามเทนนิส แต่วันนี้ไม่รู้ว่าอาคารใหนคืออะไร

       
          พื้นที่ภายในอาคารบางส่วนผมยังคิดว่าน่าจะเข้าไปชมได้ แต่ต้องปรับปรุงพื้นที่ทำเส้นทางเดินให้เรียบร้อย เพราะด้านในผมว่ามีอะไรให้ดูเยอะเหมือนกัน
          โรงงานนี้มีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์เด่นในสมัยนั้นเช่น ปล่องไฟโรงงานที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่ามาถึงเมืองกาญแล้ว และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ คนบ้านเหนือและบ้านใต้ในสมัยนั้นได้กลิ่นก็จะรู้ได้เลยว่ามาจากโรงงานกระดาษแน่นอน อีก 1 อย่างคือเสียงหวูดบอกเวลาสำหรับคนงานที่ดังไกลขนาดชาวบ้านใช้เป็นเครื่องมือบอกเวลาได้เลย ซึ่งจะดังเวลา 8โมงเช้า 4โมงเย็น และเที่ยงคืนตามเวลาเข้าทำงาน

           เดินวนครบ 1 รอบใช้เวลาไปเกือบๆ 1 ชั่วโมง กลับออกมาอย่างงงๆ เป็นโรงงานที่สวย มีประวัติศาสตร์และสิ่งน่าสนใจเต็มไปหมด แต่ขาดข้อมูลและการจัดการสถานที่อย่างมาก ตอนออกไปแล้วยังคุยกับภรรยาว่า ถ้าจัดสถานที่ดีๆ ทำเส้นทางให้เดินด้านนอกและด้านในบางส่วนที่น่าสนใจและเดินชมได้ ส่วนใหนสวยๆก็ทำเป็นคาเฟ่แนวลอฟท์ก็น่าจะดี...แต่ก็นะ ได้แต่เสียดาย ใครไปกาญจนบุรีลองแวะไปเยี่ยมชมดูครับ สวยทีเดียว
v
v
v
v
v
v
v
v
v
v
หากชอบการรีวิวของผม ไปดูรีวิวที่ผมทำไว้ในช่องทางอื่นๆได้นะครับ แนะนำ คอมเม้นท์ตามสบายครับ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Youtube:    https://www.youtube.com/channel/UC6Zil4A2qZK5-GcNPFI3Lcg
Website:    https://www.gate1terminal1.com/
Instagram: https://www.instagram.com/gate1_terminal1
Facebook:  https://www.facebook.com/followmeonearth/
ชื่อสินค้า:   โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่