ปลูกมะเขือเทศแบบกลับหัว 🌱🌱

การปลูกพริกและมะเขือเทศแบบกลับหัว.. เอาไปแขวนประดับก็สวยดีไปอีกแบบนึง ลองเอาไปปลูกกันดูครับ ไม่ยากเลย ได้ทั้งเป็นไม้ประดับและได้ต้องเอาผลไปรับประทานด้วย
ใครกำลังปิ๊งไอเดียอยากหา วิธีปลูกมะเขือเทศ ไว้ในครัวสวนที่บ้าน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เรามีเคล็ด (ไม่) ลับ มาบอกต่อกันค่ะ
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่ามะเขือเทศรับประทานผลสดมีหลายพันธุ์ ทั้งขนาดผลเล็กและผลใหญ่ เช่น มะเขือเทศสีดา มะเขือเทศผลใหญ่ มะเขือเทศเชอร์รี่ มะเขือเทศราชินี ฯลฯ สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อต้นมีอายุประมาณ 70-90 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ อายุตั้งแต่เริ่มปลูกถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งหมดประมาณ 4-5 เดือน
การจะเลือกปลูกมะเขือเทศพันธุ์ใดนั้นขึ้นอยู่กับความชอบ วิธีปลูกก็ไม่ยากทำได้เช่นเดียวกับผักสวนครัวทั่วไป โดยปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดตลอดวัน ต้องพิถีพิถันเรื่องการเตรียมดินปลูกมากสักหน่อย เนื่องจากมะเขือเทศชอบดินที่มีการระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูง เมื่อเริ่มต้นด้วยดินปลูกที่ดี โอกาสสำเร็จก็ยิ่งสูง
มะเขือเทศขยายพันธุ์ง่ายด้วยการเพาะเมล็ด อาจลองนำเมล็ดจากผลที่สุกเต็มที่มาล้างเมือกลื่นออกให้หมด ผึ่งในที่ร่มให้แห้งแล้วหว่านเมล็ดลงในกระบะเพาะ ประมาณ 10 วันเมล็ดจะเริ่มงอกและแตกใบจริง หรือใช้เมล็ดพันธุ์ที่บรรจุซองจำหน่ายก็ได้ถ้าไม่มั่นใจว่าจะเพาะเมล็ดสำเร็จหรือไม่ ให้ลองเพาะในกล่องพลาสติกใสที่มีฝาปิด โดยโรยเมล็ดบาง ๆ ลงบนกระดาษทิชชู รดน้ำให้ชุ่มทิ้งไว้เพื่อสังเกตการณ์ เพียง 3-4 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกและมีใบเลี้ยงเล็กๆ โผล่ให้เห็น ก็สามารถย้ายลงวัสดุปลูกต่อได้เช่นกัน
หลังจากเมล็ดงอกจนต้นกล้ามีอายุได้ 15 วันหรือเริ่มมีใบจริง ค่อยย้ายปลูกลงในกระถางหรือถุงปลูกขนาดเล็ก เมื่อต้นกล้าอายุ 30 วันจึงย้ายปลูกลงแปลงหรือภาชนะที่เตรียมไว้ ถ้าปลูกลงแปลงควรใช้ระยะระหว่างต้นและแถวประมาณ 50 x 70 เซนติเมตร สำหรับมะเขือเทศแบบไม่ใช้ค้าง
ส่วนพันธุ์ที่ต้องใช้ค้างใช้ระยะประมาณ 30 x 70 เซนติเมตร โดยทำค้างเมื่อต้นเริ่มเลื้อยหรืออายุประมาณ 8-10 วันหลังย้ายปลูก อาจทำค้างแบบใช้ไม้ปักผูกเป็นกระโจม หรือใช้เชือกผูกต้นมะเขือเทศไว้ที่ราวลวดก็ได้ สำหรับการปลูกมะเขือเทศในสวนครัวนิยมปลูกแบบขึ้นค้าง แล้วตัดแต่งกิ่งแขนงออกโดยเหลือเพียง 1-2 กิ่งต่อต้น เพื่อให้ได้มะเขือเทศผลใหญ่ขึ้น ทั้งยังช่วยลดปัญหาโรคแมลงที่อาจซ่อนตัวตามกิ่งใบด้วย
เคล็ดลับการดูแลต้นมะเขือเทศให้เติบโตอย่างแข็งแรงและออกดอกผลให้อย่างสม่ำเสมอก็คือ การให้น้ำ ผู้ปลูกต้องให้น้ำตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงผลเริ่มแก่อย่างสม่ำเสมอ กระทั่งผลมะเขือเทศเริ่มเปลี่ยนสีจึงลดการให้น้ำลงเพื่อป้องกันผลแตก อย่างไรก็ตามไม่ควรให้น้ำจนดินขังแฉะเพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคโคนเน่าได้
อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการใส่ปุ๋ย แนะนำให้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยมูลไส้เดือนทุก 20 วัน เมื่อต้นเริ่มผลิดอกออกผลก็เริ่มให้ปุ๋ยบำรุงผล ท่านใดสะดวกก็สามารถทำปุ๋ยหมักจากเศษผักผลไม้หรืออินทรียวัตถุที่หมักเองได้ไม่ยาก วิธีนี้ช่วยประหยัดค่าปุ๋ย แถมยังช่วยให้คุณมีปุ๋ยใส่ให้มะเขือเทศอย่างสม่ำเสมอด้วย
ส่วนปัญหาที่พบอยู่เสมอ นั่นคือโรคและแมลงศัตรู สำหรับการปลูกมะเขือเทศมักพบโรคใบแห้ง โรคโคนเน่า ผลเน่า เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว และหนอนเจาะผล การป้องกันกำจัดให้ได้ผลผู้ปลูกต้องรู้สาเหตุแล้วแก้ให้ตรงจุด โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น ใช้เชื้อปฏิปักษ์อย่างเชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันกำจัดโรคโคนเน่า ส่วนแมลงศัตรูนั้นใช้สมุนไพรไล่แมลง สารชีวภัณฑ์ หรือน้ำส้มควันไม้ ผสมน้ำในอัตราส่วนที่แนะนำ ฉีดพ่นต้นและใบมะเขือเทศทุกสัปดาห์ ในช่วงเย็นเมื่อไม่มีแสงแดด ก็ได้ผลดี
เมื่อต้นแข็งแรงก็ย่อมผลิดอกออกผลให้เราเก็บกินกันอย่างชื่นใจ ยิ่งได้มองผลมะเขือเทศกำลังเปลี่ยนสียิ่งมีความสุข แนะนำให้เก็บผลเมื่อเริ่มสุกแดงประมาณหนึ่งในสามแล้วเก็บในตู้เย็น จะเก็บได้นานกว่าเก็บผลสุกสีแดงทั้งผล มาลองปลูกมะเขือเทศกินเองคนละต้นสองต้นกันค่ะ แล้วจะพบว่าไม่ยากอย่างที่คิด
🌱🌱เกร็ดน่ารู้
มะเขือเทศมีหลายพันธุ์ให้นำมาบริโภค รวมทั้งมะเขือเทศพื้นบ้านของไทย แต่ทุกพันธุ์ต่างก็มีสารไลโคปีนที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง แต่บางท่านอาจมีอาการแพ้ ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนังและแผลในปาก มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือทำให้ปวดศีรษะสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก baanlaesuan.com
ขอให้มีความสุขกับการปลูกครับ ^_^
#tiktok @theninwow​
#​ทำ​สวน​ปะหละ
#​แม่​ฉันท​ำสวน

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่