เจาะลึกประเด็นระเบิดเขย่าเลบานอน ในรายการ “รอบโลกเดลี่” กับกรุณา บัวคำศรี


รายการรอบโลกเดลี่ (พุธที่ 5 ส.ค. 2563) กรุณา บัวคำศรี ได้รายงานข่าวถึงเหตุการณ์ระเบิดในเลบานอนที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 4 ส.ค. เวลา 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย หรือ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ว่ามีเหตุการณ์ระเบิดซึ่งมีแรงสั่นสะเทือนเท่ากับแผ่นดินไหวระดับ 3.5 แมกนิจูด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่าแรงระเบิดจากสารแอมโมเนียม ไนเตรท 2 พันกว่าตันครั้งนี้ 
เทียบได้กับแรงระเบิด TNT 240 ตัน ซึ่งระเบิดนิวเคลียร์ฮิโรชิมา มีความแรงราว 15,000 ตัน หรือ 1.6 เท่าของระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่าเมื่อ 80 ปีก่อน ปัจจุบันโลกสามารถพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ที่มีศักยภาพได้มากกว่านั้น ได้แก่ ซาร์ บอมบา ระเบิดนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่พัฒนาขึ้นโดยรัสเซีย ซึ่งหากทิ้งลงไปยังกรุงเบรุต แรงระเบิดนั้นแทบจะทำลายเกือบทั้งประเทศเลบานอนเลยทีเดียว

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเหตุระเบิดจากสารเคมีประเภทเดียวกัน เมื่อปี 2015 ที่จีนเองก็เคยเกิดเหตุการณ์ที่ท่าเรือนครเทียนจิน โดยคลังเก็บแอมโมเนียมจำนวน 800 ตันเกิดระเบิดขึ้นและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 173 ราย ซึ่งนอกเหนือจากจีนแล้ว ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สเปน และเม็กซิโกเองก็เคยเกิดเหตุระเบิดทำนองนี้ ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาเกิดที่เยอรมนี ในปี 1921 ที่โรงงานเคมี เมืองลุกวิดฮาเฟน 
ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากถึง 561 ราย ส่วนในอเมริกา รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี 1947 กับเรือขนส่งสินค้า มีผู้เสียชีวิต 581 ราย

 
เลบานอนเป็นประเทศเล็ก ๆ ตั้งอยู่ชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลเมเดอร์ติเรเนียนในตะวันออกกลาง มีประชากรราว 6.8 ล้านคน พรมแดนติดกับซีเรียทางภาคเหนือถึงภาคตะวันออก และทางใต้ติดกับอิสราเอล เลบานอนเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างซีเรียกับอิสราเอลตั้งแต่ปี 1982 
โดยทั้งสองประเทศเคยเข้ายึดครองพื้นที่บางส่วนของเลบานอน ก่อนจะถอนกองทัพออกไปในปี 2005
การยึดครองเลบานอนของอิสราเอล ทำให้เกิดองค์กรที่ชื่อว่าฮิซบอลเลาะห์ขึ้น เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวทั้งทางทหารและการเมือง
เพื่อต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล องค์กรฮิซบอลเลาะห์ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากทั้งอิหร่านและซีเรีย 
โดยสหรัฐฯ และอิสราเอลขึ้นบัญชีดำว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นกลุ่มก่อการร้าย และก่อนหน้าเหตุระเบิดครั้งนี้ไม่นาน
เพิ่งเกิดเหตุตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ โดยอิสราเอลกล่าวหาว่า ฮิซบอลเลาะห์พยายามแทรกซึมเข้าไปในพรมแดนอิสราเอล
ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอลให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า อิสราเอลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดครั้งนี้

 

ที่น่าสนใจคือ จุดเกิดเหตุระเบิดคลังสินค้าครั้งนี้ เกิดขึ้นใกล้กับจุดเกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่ลอบสังหารราฟิก ฮาริรี อดีตนายกรัฐมนตรีของเลบานอนในวันวาเลนไทน์เมื่อปี 2005 และเกิดขึ้นก่อนการประกาศคำพิพากษาคดีลอบสังหารนี้ ที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ถูกตั้งข้อหาเพียง 2 วัน
 ในครั้งนั้นมือระเบิดฆ่าตัวตายใช้ระเบิดทีเอ็นทีประมาณ 1,800 กิโลกรัมมัดเข้ากับรถยนต์ และเข้าไปจอดรอขบวนรถของฮาริรีก่อนจะจุดชนวนระเบิด 
เมื่อขบวนรถของนายกรัฐมนตรีผ่านไป ผู้คนในกรุงเบรุตรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของระเบิดครั้งนั้น เหมือนกับเหตุระเบิดคลังสินค้าในครั้งนี้ 
ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตอีก 22 คน และได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 200 คน
 
 
หลังเกิดเหตุมีหลายฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ โดยรัฐบาลเลบานอนได้กล่าวหาซีเรีย เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีฮาริรีต้องการให้ซีเรียถอนกำลังออกจากเลบานอน แต่การถอนกำลังซีเรียออกจากเลบานอนก็ทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ตกเป็นผู้ต้องสงสัยเช่นกัน เพราะการถอนกำลังของซีเรีย ทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ขึ้นมามีอำนาจในเลบานอน และตั้งแต่นั้นมาเราก็เห็นกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ขึ้นมามีบทบาทการการเมือง
 ซึ่งต่อมาในปี 2007 คณะตุลาการศาลพิเศษซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ ได้ออกหมายจับสมาชิกกลุ่มฮิซบอเลาะห์ 5 คน เป็นชายทั้งหมด โดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และยืนกรานว่าจะไม่ส่งตัวใครให้ยูเอ็น โดยศาลพิเศษของยูเอ็นจะประกาศคำพิพากษาในวันที่ 7 สิงหาคมนี้


เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุจริงๆ หรือมีบางอย่างแอบแฝง ?

สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ทาง
 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ 
  
ติดตามได้ในรายการรอบโลกเดลี่ ได้ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี
เวลา 20.15 น. เป็นต้นไป ทาง PPTV HD ช่อง 36
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่