[รีวิว] การสอบชิงทุนเรียนปริญญาตรีที่ฮังการี ฟรี 3 ปี! Stipendium Hungaricum

สวัสดีเพื่อน ๆ ทุกคน ผมชื่อวิทครับ ผมสอบได้ทุนการศึกษา Stipendium Hungaricum ระยะเวลา 3 ปี ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี วันนี้ผมอยากที่จะมาแชร์ประสบการณ์สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจในการเรียนต่อที่ต่างประเทศ โดยใช้ทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ว่าทำยังไง ใช้แนวทางไหน ต้องผ่านอะไรบ้าง ถึงจะสามารถเป็นผู้รับทุนได้ครับ
 
เพื่อน ๆ หลาย ๆ คนอาจมีความฝันที่จะได้ไปเรียนต่างประเทศสักครั้งในชีวิต จากหลาย ๆ สาเหตุต่าง ๆ กันไป ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีความฝันที่จะได้ไปต่างประเทศเช่นกันตั้งแต่เด็ก แต่อย่างที่รู้กัน การที่จะไปต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ยากแสนยากเหลือเกิน เนื่องด้วยทั้งเรื่องเงิน เรื่องการเดินทาง ค่าเทอมที่มีราคาสูงหลายแสนบาท และ รวมไปถึงคนที่จะมาดูแล และ วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้หลาย ๆ คนได้ทิ้งโอกาสที่จะทำตามความฝันนั้นไป เนื่องด้วยข้อจำกัดเหล่านี้
 
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้นั้น มีโอกาสให้กับนักเรียนทั่วโลก ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ให้ทำตามความฝัน เรียนหนังสือในต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องใช้ทุนของตัวเอง เช่น ทุนนี้ที่ผมสอบได้ เป็นทุนจากรัฐบาลฮังการี ที่ให้กับนักเรียนทั่วทุกมุมโลก ให้เรียนฟรีในประเทศฮังการีได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเทอม ค่าที่พัก และ ค่าอาหาร ขอเพียงแต่พูดภาษาอังกฤษให้ได้เท่านั้น
 
ทุนนี้มีชื่อว่า Stipendium Hungaricum (สติเพนเดียม ฮุงการิคุม) เป็นภาษาละติน แปลว่า “ทุนฮังการี” เป็นทุนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาลฮังการีกับรัฐบาลอื่นบนโลก เพื่อให้โอกาสกับนักเรียนประเทศอื่นๆให้เรียนมหาลัยที่ฮังการีได้ โดยตัวทุนนั้นจะเปิดทุกเดือนพฤษจิกายน ถึง มกราคม ทุก ๆ ปี (11 – 01) โดยจะมีการอัพโหลดเอกสารต่าง ๆ (ช่วงแรก) การสอบคัดเลือก (ช่วงที่ 2) และ การรอคอยทุน (ช่วงที่ 3)
 
ทุนนี้จะให้นักเรียนที่ได้ทุน เรียนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก ในมหาวิทยาลัยประเทศฮังการีได้ โดยเสียค่าเล่าเรียน 0 บาท มีค่าหอ 4000 บาท (พอสำหรับหอใน) และ ค่าอยู่อาศัย 4200 บาท เป็นทุนที่ดีมาก ปรกติแล้ว ราคาเรียน 1 เทอมของมหาวิทยาลัยในฮังการีในอยู่ที่ 50,000 บาท ถึง 200,000 บาท ถือว่าเป็นอะไรที่คุ้มมาก และ การศึกษาที่ฮังการีนั้นได้รับการยอมรับอย่างมากในสหภาพยุโรป
 
ทุกคนสามารถไปดูทุนได้ที่เว็บไซต์เลย แต่ปีนี้ปิดแล้ว ต้องรอช่วงปลายปีปีนี้ ถ้ารวมเวลาเตรียมเอกสาร เริ่มตอนปลายตุลา น่าจะทำได้โดยไม่ต้องเร่งรีบเกินไป และ เอกสารครบถ้วน เข้าชมเว็บไซต์ได้ทางนี้เลยคับ การออกแบบเว็บใช้งานง่าย และ ส่งอีเมลล์ได้ตรงเวลามาก:
https://apply.stipendiumhungaricum.hu/
 
เกี่ยวกับหลักสูตรที่มีการให้ทุน จากที่ค้นดูตอนนี้ (4 สิงหา 63) เจอที่เป็นหลักสูตรปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ สำหรับผู้ที่ถือสัญชาติไทย อยู่ทั้งหมด 87 หลักสูตรครับ (34 สาขาวิชา) โดยมีหลักสูตรดังนี้ ซึ่งปีหน้า 2021/2022 อาจจะเปลี่ยนไป:
1.     วิทยาการคอมพิวเตอร์ (software/program)
2.     วิทยาการคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (เป็น software project manager)
3.     วิศวกรรมวิทยาการคอมพิวเตอร์ (hardware + software)
4.     วิศวกรรมเกษตร
5.     วิศวกรรมชีวเคมี
6.     วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (พวกเทคโนโลยีพลังงานสะอาด)
7.     วิศวกรรมอาหาร
8.     วิศวกรรมพืชเรือนกระจก
9.     วิศวกรรมเคมี
10.  วิศวกรรมโยธา
11.  วิศวกรรมการออกแบบทางอุตสาหกรรม
12.  วิศวกรรมการตรวจสอบและจัดการผืนดิน
13.  วิศวกรรมขนส่ง
14.  วิศวกรรมวัสดุ
15.  วิศวกรรมไฟฟ้า
16.  วิศวกรรมเครื่องกล
17.  วิศวกรรมยานยนต์
18.  วิศวกรรมชลประทาน
19.  วิศวกรรมแมคคาตรอนิกส์ (หุ่นยนต์โรงงาน)
20.  วิศวกรรมป่าไม้ (พวกตัดไม้ซุง)
21.  วิศวกรรมสัตว์ป่า (การจัดการสัตว์ป่าในอุทยาน)
22.  การจัดการเทคนิค
23.  สาธารณสุขและการป้องกันโรค
24.  พยาบาลศาสตร์ (มีหลายสาขา เช่น กายภาพบำบัด นักกำหนดอาหาร)
25.  นักบินอากาศยาน
26.  คณิตศาสตร์
27.  ฟิสิกส์
28.  ชีววิทยา
29.  เคมี
30.  วิทยาศาสตร์โลก
31.  ภูมิศาสตร์
32.  ภาษาอังกฤษและอเมริกันศึกษา (AKA มนุษย์อิงก์)
33.  ศึกษาศาสตร์
34.  จิตวิทยา

สำหรับปริญญาโทนั้น มีหลักสูตรที่เยอะกว่าปริญญาตรี “มาก” มีถึง 104 หลักสูตร และ มีความหลากหลาย “มาก” เช่น เภสัช บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ สถาปนิก ปริญญาเอกนั้น ยิ่งมีจำนวนมากกว่าปริญญาโท อยู่ที่ 184 หลักสูตร และ ได้เงินใช้จ่ายมากกว่าปตรีกับปโท สองเท่า 
 
ดังนั้นคนที่จบปตรีหรือกำลังเรียนอยู่ ก็มีโอกาสเป็นนักเรียนทุนได้นะ
 
การเลือกมหาวิทยาลัยที่เราอยากเรียนนั้น เราจะสามารถเลือกได้สองที่ ผมได้เลือกอันดับที่หนึ่ง สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ (ชื่อเล่น: ELTE) และอันดับที่สอง ผมเลือก สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์บูดาเปสต์ (ชื่อเล่น: BME) ทั้งสองอันเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ (ระวังเลือกเป็นภาษาฮังการี 55) และเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นของประเทศฮังการี ในกรุงบูดาเปสต์
 
เอกสารที่ต้องเอาอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์นั้น มีเยอะ ๆ กับระบบ TCAS ของไทย เท่าที่ผมจำได้นั้นจะมีประมาณนี้คือ
·         ข้อมูลส่วนตัวที่ต้องกรอกลงเว็บ เช่น รูปภาพ ชื่อ โรงเรียน เกรด ผลงานทางวิชาการ ความสามารถพิเศษ GPA มัธยมปลาย
·         อัพโหลดเอกสารที่เกี่ยวข้อง ภาษาอังกฤษ เช่น ใบจบมัธยม, ใบเกรดสามปี ที่สำคัญคือ ต้องมีผลทดสอบภาษาอังกฤษ IELTS หรือ TOEFL ถ้าไม่มีมหาวิทยาลัยจะไม่รับ
·         ใบเอกสารการตรวจร่างกายกับโรงพยาบาลเป็นภาษาอังกฤษ ตามที่ทุนบอก ตรงนี้เราจะมาแยกแยะกันว่ามีอะไร
ในส่วนของเกรด ม.ปลาย จะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละมหาลัย เช่น บางอันคิดเฉพาะคะแนนสอบเข้า (ซึ่งจะมีการสอบเอนทรานซ์ด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัย หลังจากผ่านไประยะนึง) แต่ยิ่งได้ GPA เยอะยิ่งดี เพราะบางมหาวิทยาลัย คิดเกรดและผลงานที่เคยทำไว้ เป็นคะแนน 50 เปอร์เซ็น เช่น มหาวิทยาลัยแดแบร็ตแซน
 
ผมแนะนำว่า ถ้าตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเรียนคณะอะไร ก็ควรมีเกรดด้านนั้น ๆ ที่สูง เช่น คณะวิศวะ ก็ควรมีเกรดวิทย์ คณิตสูง คณะมนุษย์ ก็ควรมีคะแนนอิงก์สูง (หรือถ้าเกรดไม่ดีมาก ก็ควรมีผลงานหรือกิจกรรมที่ทำ ที่เอาไปเขียนใน essay เรียงความได้ กิจกรรมนั้นต้องแสดงอยู่ทั้งหมดสองอย่าง 1.คุณเป็นคนมีความสามารถ เช่น มีความรับผิดชอบ มีความทะเยอทะยาน มีความคิดสร้างสรร 2.คุณมีความรู้ เช่น เคยไปแข่ง เคยทำโปรเจค เคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านนั้น หรือ มีความชอบทางด้านนั้นมาก)
 
แต่ว่า ที่สำคัญยิ่งกว่าเกรด คือ คุณต้องพูดภาษาอังกฤษได้! การพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จะทำให้ชีวิตเมืองนอกในมหาวิทยาลัยนั้น กลายเป็นหายนะในทันที เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัย ภาษาอังกฤษจะกลายเป็นเครื่องมือหลักในการเรียน เป็นสื่อในการรับข้อมูล มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ใน Stipendium Hungaricum จะกำหนดผล IELTS Academic ไว้ที่ 5.5/9.0 ขึ้นไป และ TOEFL 70++ หรือวัดระดับที่ B2 ระดับการรับรู้ภาษาอังกฤษที่ B2 นั้น จะการันตีว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นจะราบรื่นอย่างแน่นอน แต่!ถ้าไม่ถึงตามเกณฑ์เฉพาะที่มหาวิทยาลัยนั้น ๆ ตั้งไว้ คุณก็จะไม่ผ่านการคัดออกรอบแรกของมหาวิทยาลัย และ ผลสอบต้องอายุไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น การจะสอบ ควรเตรียมตัวไว้ 6 เดือน สำหรับคนที่ยังไม่ได้คล่องภาษาอังกฤษมาก และเสพสื่อ/วัฒนธรรมภาษาอังกฤษจำนวนมาก เพราะการสอบแพงมาก ประมาณ 6000 – 7000 บาทเลย ตรงนี้คือส่วนที่ยากที่สุด สำหรับคนที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งถึง B2
 
เรื่องของ Essay ที่ต้องเขียนให้กับมหาวิทยาลัยนั้น จะให้เขียนทั้งหมด 2000 ตัวอักษร เพื่ออธิบายว่าทำไมคุณถึงควรได้ทุน และ อะไรคือเป้าหมายของคุณในการได้ทุน ผมแนะนำว่า ควรเขียนให้แสดงถึงศักยภาพทางภาษา ใช้คำที่กระชับ แต่มีพลัง เนื้อหาที่เขียน ให้เน้นความสำเร็จที่เคยทำในอดีต นี่แสดงถึงศักยภาพส่วนบุคคล ความเก่ง และ ความสามารถที่มี ที่จะแสดงให้เห็นว่าคุณมี personality trait ที่เหมาะสมต่อการให้ทุน อาทิ การสอบได้ที่ 1 ที่ 2 การเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน การเป็นประธานนักเรียน การเป็นทูตเยาวชน การทำโปรเจคแข่งกับเพื่อน การเป็นโปรแกรมเมอร์ การทำงานพิเศษทางวิชาการ การเข้าร่วมค่ายโอลิมปิกวิชาการ การเป็นหัวหน้าโครงการ การเปิดรับต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ การมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น นอกจากนั้น สามารถเขียนความฝันของตนเองจากใจจริง ว่าทำไมถึงอยากสำเร็จ ทำไมถึงอยากเรียนที่ประเทศฮังการี และ ต้องการทำอะไรให้กับโลกใบนี้บ้าง มีความฝันอะไรบ้าง จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญมากในการแสดงวิสัยทัศน์ที่ดีของตัวเองออกมา ให้กรรมการเห็น สรุปคือ มีอะไรดี ๆ จัดมา! What is your goal for the world, and how would you achieve it?
 
มาถึงเรื่องของการตรวจสุขภาพ จะเสียเงินสุทธิประมาณ 1,500 บาท ตรวจ x-ray ตรวจตับอักเสบบี ตรวจเอดส์ ตรวจการฉีดวัคซีน โดยโรงพยาบาลประจำจังหวัด น่าจะทำเอกสารให้ได้หมดทุกโรงพยาบาล ให้โรงพยาบาลออกหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ ใครมีสมุดบันทึกการฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็ก ๆ ก็สามารถนำมาให้โรงพยาบาลรับรองได้ ถ้าไม่มี อาจต้องฉีดใหม่
 
พอส่งเอกสารให้กับโครงการแล้ว มหาวิทยาลัยที่เราสมัครจะมีการติดต่อมาทางอีเมลล์ -- อีเมลล์มีความสำคัญมาก ต้องเช็คบ่อย ๆ ทั้งก่อน และ หลังได้รับทุน – แล้วจะแจ้งวิธีการสอบเอนทรานซ์โดยมหาวิทยาลัยว่าทำอย่างไร มหาวิทยาลัยบางที่สอบปากเปล่าทั้งหมด ให้ทำข้อสอบต่อหน้ากรรมการผ่าน skype เช่น ELTE (ใน skype ควรตั้งชื่อสไกป์เป็นชื่อจริง มิฉะนั้นกรรมการอาจโทรมาอันที่เป็นชื่อเรา แต่ inactive ไปแล้ว) บางมหาวิทยาลัย เช่น BME ให้สอบ 100% ผ่านในเว็บไซต์ และบางอันเช่น Debrecen อาจเอาแค่ 50% คะแนนสอบ อีกครึ่งเป็นสอบปากเปล่า แล้วแต่แต่ละที่ว่าจะจัดการสอบแบบไหน
 
การสอบที่ผมเจอนั้น สองที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ที่แรก Computer Science, ELTE สอบผ่าน skype จะมี narrator 1 คน และ กรรมการสอบอีก 1 ชุดที่จะฟังอย่างเดียว มีสองวิชาคือ คณิตศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ โดยของผมเป็นวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ที่ใช้จะเป็น วิยุตคณิต คือ คณิตศาสตร์ไม่ต่อเนื่อง อาทิ ลอการึทึม สมการพหุนาม พีชคณิต ทฤษฎีเซต ทฤษฎีกราฟ (พวกจุดโหนดที่เอามาต่อกันเป็นรังผึ้ง) ต่างกับวิศวกรรมศาสตร์ ที่ใช้คณิตศาสตร์ต่อเนื่องมากกว่า อาทิ แคลคูลัส ตรีโกณมิติ พีชคณิต (ตรงนี้ออกเหมือนกัน เพราะทั้ง computer science และ engineer ใช้ตรงนี้เหมือนกัน) 
ในส่วนของภาษาอังกฤษ ตรงนี้ไม่ได้ยากเท่าไหร่ กรรมการอยากรู้ว่าเรารู้ภาษาพอที่จะสื่อสารได้ไหมเท่านั้น จะมีธีมมาให้เรา อาทิ ธีมครอบครัว ธีมการเมือง ธีมประเทศ ธีมสถานที่ท่องเที่ยว ธีมการเรียน เป็นต้น ไม่มีทางที่จะรู้ว่าจะได้อันไหน
***ตรงภาษาอังกฤษนี้ ผมโดน skip ข้ามไปเลย เพราะว่าแนะนำตัวไปยาว ๆ ตบด้วยภาษาฮังการีสักหนึ่งชุด (ไม่แนะนำให้ทำ) 2 นาที เค้าเลยบอก “ok, let’s do math” 555 การสอบของผมเลยจบในเวลา 10 นาที รวมสอบคณิตศาสตร์ จริง ๆ ต้อง 20 นาที นี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ***
 
การสอบ Computer Engineering ของ BME ไม่มีการพูดคุย เป็นการสอบ 15 ข้อ 2 ชุด 30 ข้อ มีวิชาคณิตศาสตร์ และ ฟิสิกส์ คณิตและฟิสิกส์เนื้อหาเดียวกับม.ปลายไทย มีแบบฝึกหัดให้ฝึกในเว็บสอบเอนทรานซ์ของ BME โดยความยากให้ 3/5 หมายถึง ง่ายกว่า GATPAT อย่างมีนัยสำคัญ การสอบทั้งสองชุด ต้องทำให้เสร็จใน 90 นาทีโดยประมาณ คณิตศาสตร์ยากกว่าฟิสิกส์ ควรเตรียมตัวไว้มากกว่า สำหรับคนที่ต้องการเข้า BME นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่