รีโนเวทห้องทำงาน ห้องเวิร์คช็อปงานคราฟต์และสตูดิโอถ่ายภาพด้วยตัวเอง ฉบับงานเร่งด่วน งบน้อย [EP2 : เปลี่ยนสีผนัง]

รีโนเวทห้องทำงาน ห้องเวิร์คช็อปงานคราฟต์และสตูดิโอถ่ายภาพด้วยตัวเอง ฉบับงานเร่งด่วน งบน้อย [EP2 : เปลี่ยนสีผนัง]

ความเดิมตอนที่แล้ว : https://ppantip.com/topic/39912695

หลังจากที่ตัดสินใจได้ว่าต้องจัดการความไม่เป็นระเบียบของบ้านและได้ลงมือรื้อบ้านจบไปในครั้งที่แล้ว วันนี้เรากลับมาพร้อมกับเรื่องราวของการเปลี่ยนสีผนังบ้านใหม่ งานที่เราคิดว่าง่าย ไม่ได้มีรายละเอียดอะไรซับซ้อน แต่...เอาเข้าจริง ๆ เรากลับพบว่า...การเปลี่ยนสีผนังห้องเป็นงานเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อนเลยทีเดียว เราต้องเริ่มศึกษาตั้งแต่การเลือกสี ชนิดของสีทาบ้าน สมบัติของสีแต่ละชนิด ราคา และที่สำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องของการปลดปล่อยสารระเหยส่งผลกระทบต่อผู้อาศัยภายในบ้าน
มาเริ่มกันที่สิ่งที่เป็นสาระกันก่อน หลายคนคงสงสัยว่าสีทาบ้านแบ่งได้เป็นกี่ชนิด กี่ประเภท และแต่ละประเภทใช้งานแตกต่างกันยังไง 

สีทาบ้านโดยส่วนใหญ่จะเป็นสีอะคริลิค สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 
1. สีทาภายใน
2. สีทาภายนอก

1. สีทาภายนอก
สีทาภายนอกจะใช้สำหรับทาภายนอกตัวอาคารโดยเนื้อสีของสีทาภายนอกจะมีมากกว่าสีทาภายใน สามารถทนต่อสภาพอากาศได้ดี (ทนความร้อนทนความชื้น) เน้นในเรื่องของการยึดเกาะพื้นผิวทำให้เนื้อสีติดกับพื้นผิวของวัสดุได้อย่างยาวนาน ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น สำหรับผู้ผลิตบางเจ้าสีทาภายนอกอาจจะมีการเติมสารบางตัวที่ยับยั้งการเกิดเชื้อราหรือสารที่ช่วยเพิ่มการสะท้อนของแสงเพื่อเพิ่มสมบัติของการกันความร้อนเข้าสู่ภายในอาคาร

2. สีทาภายใน
สีทาภายในนั้น จะเน้นคุณสมบัติไปที่ความสามารถในการเช็ดถูเนื่องจากอยู่ภายในตัวอาคาร ตัวเนื้อสีทาภายในจะต้องทนต่อการทำความสะอาดภายในบ้าน เนื้อสีมีความบางเบากว่า มีกลิ่นฉุนน้อยกว่า จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่ภายในอาคาร ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ในบางผู้ผลิตนั้นได้เคลมว่าสีของเค้าไม่ปลดปล่อยสารที่เป็นพิษสามารถใช้ในโรงพยาบาลหรือห้องเด็กได้อย่างปลอดภัยและมีใบรับรองซึ่งบางครั้งอาจจะมีราคาที่สูงกว่าสีทาภายในทั่วไป

ใช้สีภายนอกมาทาภายใน ใช้สีภายในมาทาภายนอก…?

โดยทั่วไปแล้วเราจะไม่นิยมนำสีทาภายในไปใช้ภายนอก เนื่องจากโครงสร้างของสีทาภายในไม่เหมาะสมที่จะใช้ด้านนอกอาคารหลักๆจะเป็นในเรื่องของความคงทน ซึ่งจะเกิดการเสื่อมสภาพได้เร็วกว่าปกติ ในทางกลับกันเราก็จะไม่ใช้สีภายนอกอาคารภายในตัวอาคาร เหตุผลก็คือ การใช้สีภายนอกอาคารด้านในอาคารนั้นเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะโดยทั่วไปแล้วสินค้าภายนอกอาคารจะมีราคาแพงมากกว่าสีน้ำภายในอาคารอยู่พอสมควร 

ดังนั้นเราจึงควรใช้สีทาอาคารให้ถูกกับประเภทของการใช้งาน เพื่อให้ความเหมาะสมในการใช้งานนั้นๆและยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของเราได้อีกด้วย

ส่วนคนที่มีข้อสงสัยว่าต้องเลือกสีจากเจ้าไหน อันนี้ต้องลองไปศึกษาข้อดีข้อเสียของผู้ผลิตแต่ละเจ้าดูเนื่องจากว่าแต่ละแบรนด์ก็มีการใส่สารเติมแต่งแต่งต่างชนิดกันไป บางรุ่นเน้นในเรื่องของความสะอาด ความปลอดภัย บางรุ่นเน้นเรื่องของความคงทนในด้านการเช็ดถู ซึ่งขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของเราครับ

เรื่องของ “สีรองพื้น” ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องของ “สีทับหน้า”
สีรองพื้นก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสีทับหน้า เพราะสีรองพื้นจะช่วยให้การทาสีทับหน้าทำได้ง่ายขึ้น เพิ่มความสามารถในการยึดเกาะ ลดโอกาสในการหลุดร่อนของสีทับหน้า คราบเชื้อรา คราบเกลือ ดังนั้นเพื่อให้สีทับหน้าติดทนนานเราจึงต้องทาสีรองพื้นก่อนทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นผนังใหม่ หรือทาสีทับผนังเดิม

สำหรับบ้านที่มีผนังปูนที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ส่วนใหญ่จะพบปัญหาการหลุดร่อนของเม็ดทราย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการลอกสีเก่าออก ทาสีรองพื้นปูนเก่า แล้วจึงตามด้วยสีทับหน้าอีกครั้ง

เนื่องจากบ้านของเราเป็นพื้นผิวปูนใหม่ อายุไม่เกิน 5 ปีและสีที่เราใช้ก็เป็นโทนเข้มกว่าสีของผนังเดิม เราเลยเลือกที่จะไม่ทารองพื้นทารองพื้น (งกแหละ ดูออก)



"ได้เวลาช้อปปิ้งแล้ว…"

ก่อนทาสีเราก็ต้องเลือกซื้อสีก่อน ในปัจจุบันการเลือกสีทาบ้านเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่าย เช่น เรื่องของการจำลองพื้นที่ก่อนและหลังการทาสี ก็แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ไว้ให้เราได้ลองกดเข้าไปใช้ เพื่อให้เราได้เห็นภาพและตัดสินใจได้ง่าย การมีเฉดสีที่หลากหลายและครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ได้มากขึ้น โดยใช้หลักของการผสมแม่สีก่อน จากนั้นค่อยใส่ลงไปในสีพื้น 

แน่นอนว่าเมื่อปัญหาเรื่องข้อจำกัดของการผลิตหมดไป ร้านค้ามีสีให้เราเลือกได้อย่างมากมายแบบไม่มีข้อจำกัด ปัญหาที่เหลือก็จะตกมาหาเราเพราะจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าจะใช้เฉดสีไหนจึงจะเข้ากลับบ้านของเรา ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลว่าจะบริหารจัดการปัญหานี้ยังไง
เมื่อได้ฉีดสีที่ต้องการมาแล้ว จากนั้นเราก็ไปที่ Home store ใกล้บ้าน ตรงไปที่แผนกสี เลือกผู้ผลิตตามที่เราชอบ จากนั้นก็แจ้งพนักงานว่าต้องการสีชนิดไหน ถ้าไม่มีรหัสสีไปอาจจะต้องเทียบจาก Pantone ของผู้ผลิตแต่ละเจ้าก่อน

เมื่อตกลงได้เฉดสีที่ต้องการแล้ว พนักงานจะนำสีพื้นมาใส่เครื่องพร้อมทั้งกดรหัสสี เครื่องจะทำการเติมแม่สีลงไปในถังสีพื้นที่ได้เตรียมไว้ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการผสมสีด้วยการเขย่า เมื่อเสร็จแล้วพนักงานจะนำสีขึ้นมาแปะไว้ตรงประตูปิดเพื่อให้เราเช็คอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้สีตามต้องการแล้วจากนั้นเราก็ไปเลือกซื้ออุปกรณ์อื่น ๆ ต่อ

ราคาของสีจะเปลี่ยนแปลงตามเฉดที่เราใช้ ยิ่งเป็นสีโทนทึบ ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วยเนื่องจากต้องใช้แม่สีในการผลิตค่อนข้างสูงกว่าสีโทนอ่อน
ส่วนราคาของสีพื้นนั้นจะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่เราเลือกใช้ เช่น ต้องการสีที่มีคุณสมบัติเช็ดล้างได้ดี หรือสีที่มีความสะอาดมากกว่าปกติสำหรับห้องเด็กหรือโรงพยาบาล ก็จะมีราคาแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเเกรดของสีชนิดนั้น ๆ ซึ่งราคาของสีทั้งหมดนี้สามารถเช็คได้กับพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ก่อนสั่งผลิตได้ จึงทำให้เราสามารถวางแผนงบประมาณได้ค่อนข้างง่ายเลยทีเดียว

สำหรับอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการทาสีผนังบ้านนั้นก็จะมีอยู่ไม่กี่ชิ้น หลัก ๆ เลยก็จะเป็นตัวของลูกกลิ้งสำหรับพื้นผิวขนาดใหญ่ แปรงทาสีขนาดเล็กเพื่อใช้สำหรับเก็บซอกมุมต่างๆ และอุปกรณ์อีกชิ้นที่ขาดไม่ได้ คือกระบะสำหรับเทสี ซึ่งจะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น



"ยากกว่าการทาสีก็คือการเตรียมพื้นที่ก่อนการทาสี…"

การเตรียมพื้นที่ที่ดีจะช่วยให้เราสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น ลดเวลาในการทำความสะอาดและเก็บงานได้เยอะเลยทีเดียว เพราะ สิ่งที่น่ากังวลกว่าการทาสีแล้วไม่สม่ำเสมอ คือ การทาสีแล้วเลอะลงบนพื้นที่ที่เราไม่ต้องการ ซึ่งนั่นแปลว่าเราจะต้องซื้อสีที่ 2 มาเพื่อเก็บงาน และเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์
 
โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเตรียมพื้นที่ก่อนทาสีง่าย ๆ ด้วยการใช้สก๊อตเทปและหนังสือพิมพ์ ปกปิดพื้นที่ที่เราไม่ต้องการจะทาสีไว้ แต่...เราจะไม่ใช้สก๊อตเทปแปะลงไปตรงๆ บนฝ้าเพดาน เพราะเสี่ยงที่จะให้ให้สีของฝ้าเพดานหลุดออกตอนแกะสก๊อตเทป (โดยส่วนใหญ่ฝ้าเพดานจะทำจากยิปซั่มบอร์ด และการยึดเกาะระหว่างสีและพื้นผิวของยิปซั่มบอร์ดจะมีความอ่อนแอกว่าปกติซึ่งปัญหาที่พบโดยส่วนใหญ่คือการหลุดร่อน)

ในขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย ยิ่งถ้ามีหน้าต่างหรือมีอุปกรณ์ติดตั้งผนังเยอะ ๆ ยิ่งต้องใช้เวลามากกว่าผนังบ้านปกติหลายเท่า แต่เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ ที่เหลือก็ไม่มีอะไรยากแล้ว



"เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้วก็ได้เวลาลุย…"

เมื่อเตรียมผนังพร้อมแล้วขั้นตอนต่อไปก็เทสีลงในกระบะ ใช้ลูกกลิ้งค่อย ๆ กลิ้งบนกระบะเพื่อให้สีค่อยๆซึมเข้าไปในลูกกลิ้ง จากนั้นค่อย ๆ รีดเนื้อสีบางส่วนออกเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลิ้งดูดซับเนื้อสีมากจนเกินไปซึ่งอาจจะหยดเลอะเทอะขณะทาสี สังเกตง่ายๆ ลูกกลิ้งเหมาะสมจะไม่พบการหยดของสีเวลาเรายกลูกกลิ้งขึ้น

ขณะทาสีค่อย ๆ กลิ้งลูกกลิ้งลมบนผนังอย่างช้า ๆ ในทิศทางจากบนลงล่างหรือล่างขึ้นบน สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง และต้องขีดเส้นใต้ไว้ตรงนี้เลย คือ อย่ารีบเร่งกลิ้งลูกกลิ้งขึ้นลงแบบเร็ว ๆ เพราะ ปัญหาที่จะตามมาคือ สีจะดีดออกจากลูกกลิ้งแทนที่จะติดบนผนัง เลอะขึ้นไปบนฝ้าเพดาน พื้นบ้านและรวมถึงเสื้อผ้าของคุณ หลังจากนั้นความพินาศก็จะตามมาอย่างรวดเร็ว ต้องใจเย็นๆ
ค่อยๆทาสีให้เต็มพื้นที่ที่เราต้องการ โดยให้เว้นช่องว่างไว้เล็กน้อยระหว่างพื้นผิวที่เป็นรอยต่อระหว่างผนังและฝ้าเพดาน ตรงตำแหน่งนี้เราจะใช้แปรงทาสีขนาดเล็กเก็บงาน เพราะมันเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลูกกลิ้งเข้าไปอยู่ใกล้ฝ้าเพดานโดยที่ไม่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ 
เมื่อจบการทาสีทับหน้ารอบแรกแล้ว ผนังที่ได้จะไม่ค่อยสม่ำเสมอมีรอยด่างดำเป็นระยะระยะซึ่งตรงนี้ไม่ต้องตกใจเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราต้องทำการเก็บสีรอบที่ 2 อยู่แล้ว ระยะห่างในการทาสีทับหน้ารอบที่ 1 และ 2 นั้น ควรรอให้สีแห้งประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้สีเกิดการเซ็ตตัวก่อนการทาสีครั้งใหม่
เมื่อจบการทาสีทับหน้ารอบที่ 2 สีผนังที่ได้ก็จะเรียบเนียนสมความตั้งใจ แต่ว่าสีที่เราได้หลังจากทาสีเสร็จใหม่ๆนั้นจะมีความสดใสกว่าสีจริงอยู่พอสมควร ดังนั้นเราต้องรอ 4-6 ชั่วโมงเพื่อให้สีแห้งสนิทจริงๆถึงจะเห็นเพจสีที่แท้จริงของผนัง

จากนั้นก็ทาให้ครบตามแผนที่วางไว้ เสร็จแล้วจะได้ห้องตามที่เราต้องการ
เป็นยังไงกันบ้างกับ EP นี้ เรื่องสีที่ดูเหมือนจะง่าย ๆ แต่แท้จริงแล้วก็มีรายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อนอยู่เต็มไปหมด ปัญหาบางอย่างต้องลงมือทำถึงจะเห็นจริง ๆ

หลาย ๆ ครั้ง การเร่งรีบทำอะไรเกินไปแทนที่งานจะเสร็จเร็วกลับกลายเป็นว่าต้องเสียเวลามาแก้ปัญหากับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เช่น การกลิ้งลูกกลิ้งแบบเร็วๆ

หลาย ๆ ครั้ง สิ่งที่เราเห็นในตอนแรกก็ไม่ได้เป็นเรื่องจริงอย่างที่มันควรจะเป็น เราเองก็ตกใจกับสีที่เห็นในครั้งแรกว่ามันมีความสดใสมากกว่าที่เราอยากได้ มีความตระหนก มีความกังวลใจว่ามันไม่ตรงกับความต้องการ แต่เมื่อเราทิ้งระยะเวลาสักพักให้กับมัน ให้อะไร ๆ มันเข้าที่เข้าทาง สุดท้ายแล้วสิ่งที่มันควรจะเป็นก็แสดงให้เห็นเอง

สิ่งเหล่านี้ มันคงเป็นเสน่ห์ของการที่เราได้ลงมือทำบางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเอง ได้รู้จักคิด รู้จักวางแผน รู้จักความผิดพลาด รู้จักการแก้ปัญหาและที่สำคัญมันสอนให้เรารู้จักการรอคอย

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่เราได้แชร์ในวันนี้จะเป็นประโยชน์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับหลาย ๆ คนที่กำลังตัดสินใจอยากจะทำอะไรด้วยตัวเองแต่ไม่กล้าที่จะลงมือทำ ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วผลที่ได้อาจจะไม่ได้ดีเหมือนกับที่มืออาชีพทำ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เรากล้าและตัดสินใจเริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

สวัสดีครับ
หมีสร้างบ้าน
“You are what your craft…”
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่