สงขลา...ไม่มีขา



สงขลา...ไม่มีขา
 
รูปปั้นนางเงือกที่ตั้งอยู่บนโขดหินริมทะเลบริเวณหาดสมิหลา เป็นภาพที่ผมพอจะนึกขึ้นได้เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดสงขลา 
จังหวัดที่อยู่ทางภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย และผมยังไม่เคยไป
 
 
ทำไมต้องสงขลา...
 
          ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ขณะที่กำลังนั่งไถหน้า Feed บน Facebook เพลิน ๆ อยู่นั้น สายตาผมก็เห็นโพสต์ที่สายการบินไทยแอร์เอเชียจัดโปรโมชั่นลดราคาตั๋วเครื่องบิน ผมเลยกดเข้าไปดูว่าช่วงไหนที่ตั๋วถูก มีจังหวัดไหนน่าสนใจ และยังไม่เคยไปบ้าง เลือกไปเลือกมา ได้ช่วงเวลาเดินทางเป็นเดือนมิถุนายน ส่วนสถานที่ ถ้าไม่ตรัง ก็สงขลา ตอนนั้นคิดว่าตรังอยู่ฝั่งอันดามัน น่าจะได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มากกว่า และมีโอกาสฝนตกมากกว่า เลยเลือกไปสงขลาแทน แล้วกดจองตั๋วเครื่องบินขากลับจากหาดใหญ่ไปดอนเมือง วันจันทร์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เที่ยวเวลา ๑๖.๓๐ น. ส่วนขาไปตั้งใจว่าจะนั่งรถไฟ แล้วก็จองที่พักแบบยกเลิกได้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเดินทางไม่ได้จะได้ไม่เสียค่าจอง
 

- รถด่วนพิเศษ ขบวนที่ ๓๗ -
 
ไปหรือไม่ไปดี...
 
          วันเวลาผ่านไปจนปี ๒๕๖๓ มาถึง สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ เริ่มรุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มเลวร้ายลงเรื่อย ๆ รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีข้อกำหนดต่าง ๆ มากมาย ข้อห้ามเดินทาง การงดให้บริการขนส่งผู้โดยสารทั้งเครื่องบิน และรถไฟ รวมถึงการปิดจังหวัด  จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม มาตรการเหล่านั้นยังคงมีอยู่ สถานการณ์ตอนนั้นมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ผมคิดว่าคงไม่ได้ไปเที่ยวสงขลาและต้องทิ้งตั๋วขากลับแน่ ๆ เลยกดยกเลิกที่พักที่จองไว้ แล้วก็ทำใจ...
 
          เย็นวันหนึ่งผมได้รับอีเมล์จากสายการบินว่า เที่ยวบินที่จองไว้เลื่อนเวลาเป็น ๑๗.๐๕ น. แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยยังคงงดเดินรถไฟสายใต้ จังหวัดสงขลายังห้ามเดินทางเข้าออก และรัฐบาลขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อ ผมก็ยังคิดเหมือนเดิมว่า คงไม่ได้ไปแน่ ๆ แม้จะแอบหวังอยู่ลึก ๆ ว่าจะได้ไปตามแผนที่วางไว้ก็ตาม
 
          แล้วข่าวดีก็มาถึง สถานการณ์เริ่มดีขึ้น มีมาตรการผ่อนคลายระยะต่าง ๆ ต้นเดือนมิถุนายน การรถไฟฯประกาศเดินรถสายใต้บางขบวน จังหวัดสงขลาอนุญาตให้เดินทางเข้าออกจังหวัดได้โดยไม่ต้องกักตัว ผมก็ยังคิดลังเลว่าจะไปดีไหม คิดไปคิดมาอยู่สามสี่วันก็ได้คำตอบว่า ถ้าไปแล้วเสียใจ ดีกว่าเสียใจที่ไม่ได้ไป พอตัดสินใจแล้ว ก็จองตั๋วรถไฟขบวน ๓๗ ไปลงหาดใหญ่ จองที่พัก ยื่นใบลาพักผ่อนให้เรียบร้อย
 
 ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓
          วันนี้เป็นวันสุนทรภู่ เวลา ๑๕.๑๐ น. รถด่วนพิเศษ ขบวนที่ ๓๗ กรุงเทพ – สุไหงโกลก อันยาวเหยียด ก็เคลื่อนตัวออกจากชานชาลา รถไฟยังคงวิ่งไปเรื่อย ๆ จอดสถานีนั้นสถานีนี้ สลับกับที่ต้องลดความเร็วลงเป็นบางช่วง เนื่องจากกำลังก่อสร้างรถไฟทางคู่ ราวหนึ่งทุ่ม พนักงานประจำตู้เดินมาปูเตียง ผมปีนขึ้นไปนอนเตียงบนตามที่จองไว้ ห่มผ้านอนแล้วก็หลับยาว แอร์รถไฟนี่บางทีก็เย็นจนรู้สึกหนาว ถึงสวมเสื้อแจ็คเก็ตไว้อีกตัวก็ตามที
 

- ป้ายสีแดงดูเด่นที่มองเห็นเมื่อออกจากสถานีรถไฟ -
 
หาดใหญ่ที่ไม่ใช่สงขลา
 
         ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ วันนี้เป็นวันครบรอบ ๘๖ ปี การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นาฬิกาบอกเวลา ๕.๑๓ น. ผมปิด Google Map ดูว่าถึงไหนแล้ว และได้คำตอบว่า รถไฟกำลังจะถึงพุนพิน หรือสถานีสุราษฎร์ธานี สถานีประจำจังหวัดที่ไม่ได้ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง วันนี้รถไฟล่าช้ากว่ากำหนดเวลาอยู่มากทีเดียว แล้วผมก็ล้มตัวลงนอนต่อไป
 
          ราว ๗ นาฬิกา รถไฟมาถึงทุ่งสงแล้ว ที่นี่มีทางรถไฟที่แยกไปจังหวัดตรังได้ จึงเรียกว่าชุมทางทุ่งสง ผมรู้สึกว่าน้ำย่อยในกระเพาะอาหารเริ่มทำงานแล้ว พอดีกับที่เห็นเขาขายข้าวเหนียวไก่ทอด เลยสั่งมากินเป็นอาหารเช้า เพราะถ้ารอไปกินที่หาดใหญ่ก็จะนานเกินไป แล้วรถไฟก็ยังคงวิ่งลงใต้ต่อไปเรื่อย ๆ 

- สถานีรถไฟหาดใหญ่ -
 
          ๑๐.๔๕ น. ถึงหาดใหญ่สักที ผมสะพายกระเป๋า แล้วก็ไปยืนใกล้ที่ประตูทางลง เตรียมเอกสารที่ต้องยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับข้อมูลการโดยสารและที่พักปลายทาง เดินตามทางออกมายืนรอเพื่อนที่นัดกันว่าจะมารับตรงหน้าสถานีรถไฟ ไม่นานนักเพื่อนก็มาถึง แล้วพาไปร้านโชคดีแต่เตี๊ยม ผมสั่งติ่มซำมา ๕ อย่างกับบะกุ๊ดเต๋ ๑ ชาม ฟังเรื่องเล่าต่าง ๆ ตามประสาคนที่ไม่ได้เจอกันนาน พออิ่มแล้วก็ตกลงกันว่าจะขึ้นไปเขาคอหงส์ ไปดูเมืองหาดใหญ่จากมุมสูง แล้วค่อยไปเที่ยวในเมืองสงขลากันต่อ 
 

- ติ่มซำ โชคดีแต่เตี๊ยม -
 
          ระหว่างนั่งรถในเมืองหาดใหญ่ ผมก็พบว่า ที่นี่มีตึกแถวร้านรวงต่าง ๆ มากมาย แอบคิดว่าถนนบางเส้นบรรยากาศคล้ายถนนเยาวราชเหมือนกัน ไม่นานนักพวกเราก็ขึ้นมาถึงยอดเขาคอหงส์ ซึ่งเพื่อนก็บอกว่าไม่ได้มาที่นี่นานหลายปีแล้วเหมือนกัน บนยอดเขาจะมีพระพุทธมงคลมหาราชประดิษฐานอยู่ และเป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองหาดใหญ่ได้ไกลสุดตา มองเห็นตึกสูงต่าง ๆ และน้ำในทะเลสาบสงขลาที่สะท้อนแสงอาทิตย์อยู่ไกล ๆ 
 

- พระพุทธมงคลมหาราช -
 
สมิหลา...ชลาทัศน์
 
          บ่ายโมงกว่า ๆ ริมหาดสมิหลา ใกล้กับวงเวียนคนอ่านหนังสือ หลังจากเพื่อนพาผมขับรถเลียบหาดชลาทัศน์ย้อนขึ้นมาจากทางเก้าเส้ง พวกเราจอดรถแล้วเพื่อนก็นำเสนอถนนบริเวณนั้นที่เทศบาลนครสงขลาปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ บางคนก็เรียกว่า ไมอามี่สงขลา เพื่อนผมไม่รอช้า ไปยืนถ่ายรูปกับถนนเส้นนั้นอย่างรวดเร็ว ผมมองดูรอบ ๆ ก็เห็นคนอื่นกำลังหามุมที่สวยที่สุดแล้วถ่ายรูปอยู่กับถนนเส้นนั้นเหมือนกัน พร้อมกับคิดในใจว่า ถ้าทุกจังหวัดพัฒนาถนนหนทางให้สวยงาม ให้มีพื้นที่สำหรับชาวเมืองและนักท่องเที่ยวได้ใช้ถ่ายรูปสวย ๆ แบบนี้ก็คงจะดีเหมือนกัน
 

 - ไมอามี่สงขลา -
 
          เราเดินเลียบหาดมาเรื่อย ๆ จนถึงรูปปั้นนางเงือกที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของหาดแห่งนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ แม้เป็นเวลากลางวัน แต่ก็ยังมีคนไปถ่ายรูปกับรูปปั้นนางเงือกอยู่ตลอดเวลา ผมเดินไปดูอยู่ห่าง ๆ แต่ไม่ได้ถ่ายรูป สภาพอากาศที่สงขลาในฤดูฝนแบบนี้ ก้อนเมฆสีขาวลอยเต็มท้องฟ้าแทบจะทุกวัน บางครั้งก็มีฝนตกลงมาพอให้เปียกบ้าง ทำให้ถ่ายรูปได้ยากกว่าวันที่ท้องฟ้าสดใส หลายครั้งผมเลยต้องเลือกเก็บความสวยงามด้วยดวงตาทั้งคู่มากกว่า
 

- หาดสมิหลา -
 
          “...สงขลาฝั่งนที กลิ่นสารภียังตรึงเตือน แสงเดือนเตือนตรึงใจ สนแกว่งไกวดูแสนงาม...” เสียงเพลงที่เคยฟังดังขึ้นในความคิด ภาพต้นสนริมหาดที่พลิ้วไหวไปตามสายลมก็คือเนื้อร้องในบทเพลงนั่นเอง เพลงนี้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "ดรรชนีนาง" สร้างจากบทประพันธ์ของ"อิงอร" ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๐๔ นานมากแล้ว
 
- ประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับนิทานพื้นบ้าน และเกาะหนูเกาะแมว -
 
          พวกเรายังคงเดินเลียบหาดต่อไปใต้ทิวต้นสนที่ขึ้นเป็นแนวยาว สลับกับลมทะเลที่พัดเข้ามาเป็นระยะ พอให้ได้คลายความร้อนลงบ้าง ภาพที่มองเห็น คือ พ่อค้าแม่ค้าเดินขายของ บ้างก็นั่งวาดรูปเหมือน รูปละ ๑๕๐ บาท บ้างก็จูงม้าเดินไปมา เผื่อมีใครอยากนั่งถ่ายรูปบนหลังม้า ก็คิดราคา ๕๐ บาท ถ้าให้ม้าพาเดินริมหาดด้วยก็ ๑๕๐ บาท บางครอบครัวก็หอบลูกจูงหลานมานั่งพักผ่อนกินลมชมวิวกันก็มี 
 
- ตึกแถวเก่า เยื้องกับร้านผัดไทยไผ่เบตง -
 
หิวข้าวหรือยัง?
 
          หลังจากใช้เวลาอยู่ที่นี่สักพัก เพื่อนผมก็เริ่มหิว ตกลงกันว่าจะไปหาอะไรกินแถวถนนนางงาม ย่านเมืองเก่า เลยไปกินผัดไทยร้านไผ่เบตง ผัดไทยหนึ่งจานร้านนี้ให้เยอะมาก ราคาก็ไม่แพง ขนาดไปถึงร้านตอนบ่ายสอง ยังมีลูกค้านั่งอยู่ที่ร้านสองสามโต๊ะ และมี Grab Food มาสั่งเป็นระยะ ๆ 
 
- ผัดไทยทรงเครื่อง ๕๐ บาท -
 
          ผมมองเห็นภาพวาด Street Art ข้างตึกเก่า ๆ เริ่มมีสีซีดลงไปแล้ว คงเขียนไว้นานหลายปี กินผัดไทยเสร็จก็ไปนั่งคุยกันต่อที่ร้าน Secret Garden ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากร้านผัดไทยเท่าไหร่ เพื่อนสั่งกาแฟคนละแก้ว ผมสั่งเค้กขนุนมาลองกินหนึ่งชิ้น เพราะพึ่งเคยเห็นและอยากรู้ว่ารสชาติจะเป็นยังไง คำตอบก็คือ เนื้อเค้กนุ่มกำลังดี รสชาติหวานนำ หวานตาม แล้วก็หวานตลอดไป ขนุนก็ส่งกลิ่นหอมแรง โดยเฉพาะเวลาเคี้ยวอยู่ในปาก โดยรวมก็อร่อยดี แต่ออกจะหวานไปหน่อย

- ภาพวาดบนผนัง สีเริ่มซีดลงแล้ว -
 
          ๑๖.๓๐ น. ได้เวลาแยกย้าย เพื่อนต้องกลับบ้าน เลยขับรถมาส่งผมที่ Lyn’s Home Boutique Hostel ที่ถนนนครใน ผมเช็คอินเข้าที่พัก วางแผนไว้ว่าเย็นนี้จะไปถนนคนเดิน
 
 
- โฮสเทลสีแดง -
 
          ที่นี่น่าจะเป็นโฮสเทลแห่งเดียวในย่านเมืองเก่าสงขลา เป็นตึกเก่าที่ปรับปรุงใหม่ ด้านหน้าทาสีแดงสด เมื่อเข้ามาด้านใน ตรงกลางจะเป็นลานเปิดโล่ง คล้ายกับตึกแถวหรือบ้านแบบจีนซึ่งมักจะมีบ่อน้ำ และลานกว้างอยู่กลางบ้าน แมวที่ประจำอยู่ที่นี่มีสองตัว ตัวสีดำสนิท ชื่อโกปี๋ อีกตัวมีสีขาวสลับดำ ชื่อ แป๊ะ แต่ดูไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ ไม่ยอมให้จับเลย
 

- โกปี๋ -

- แป๊ะ -
     
- ในโฮสเทล -
 
            ๑๗.๔๕ น. ถึงเวลาไปถนนคนเดินแล้ว จากโฮสเทลไปประมาณ ๗๐๐ เมตร ตามถนนนครใน ผ่านห้างท้องถิ่น คือ ห้างลีสรรพสินค้า สาขาตลาดทรัพย์สินฯ ก็จะถึงถนนคนเดิน “สงขลาแต่แรก” ที่จัดขึ้นทุกเย็นวันเสาร์ ร้านค้าและคนที่มาเดินตลาดเยอะพอ ๆ กัน มีทั้งเสื้อผ้า อาหาร และผลไม้ ขายกันไม่แพง ผมเดิน ๆ ดู แล้วได้ขนมบอก ขนมโดน แล้วก็ส้มโชกุนอีก ๑ กิโลกรัม ซื้อมาน้อยเพราะวันนี้กินไปเยอะแล้ว เลยยังไม่ค่อยหิวเท่าไหร่ พอเดินดูจนทั่วแล้วก็กลับที่พัก คืนนั้นฝนตกลงมาอีกตามเคย
 
       
- ถนนคนเดินสงขลาแต่แรก -
 

- ขนมโดน -
 
     
- ในยามค่ำ -
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  Backpack บันทึกนักเดินทาง เที่ยวไทย จังหวัดสงขลา
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่