ส่องแพทเทิร์นก่ออิฐสวย ๆ ที่บ้านป้อมเพชร อยุธยา


       ช่วงนี้ใครมาเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พี่อิฐอยากขอแนะนำให้ลองมาที่ “บ้านป้อมเพชร” โรงแรมและร้านอาหารบรรยากาศดี ๆ ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา อีกหนึ่งผลงานการออกแบบของ Onion ที่สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมบนพื้นที่จำกัด ผ่านการก่อสร้างด้วยอิฐแดงใหม่ ไว้ในเมืองเก่า ผสมผสานกับงานไม้ ซึ่งความพิเศษของที่นี่ คือรูปแบบการก่ออิฐแดงที่ไม่เหมือนใคร จนเราอยากหยิบยกมาให้ทุกคนได้เห็นกันใกล้ ๆ ว่ารูปแบบที่สถาปนิกใช้ก่ออิฐแดงนั้นมีอะไรบ้าง

       จุดเด่นที่จะเห็นเป็นสิ่งแรกเมื่อเดินทางมาถึงที่นี่ คือกำแพงอิฐแดงทำมือสูงตะหง่าน และเมื่อมองลงมาที่พื้นก็จะเจอกับอิฐแดงอีกเช่นกัน เรียกได้ว่า 90% ของพื้นที่ สถาปนิกได้เลือกใช้อิฐแดงให้อยู่ในทั้งงานก่อโครงสร้าง และงานตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าของห้องรีเซฟชั่น และเรือนย่างกุ้ง ประตูด่านแรกที่ใคร ๆ ก็ต้องเดินผ่าน เมื่อเข้ามาถึงด้านในจะเจอกับบันไดอิฐแดงเล็ก ๆ ทางเดินขึ้นสู่ชั้น 2 และดาดฟ้าที่ทำหน้าที่เป็นบาร์ในตอนกลางคืน หรือแม้แต่ด้านล่าง และฝั่งของส่วนที่เป็นโรงแรมเองก็ล้วนก่อสร้าง ตกแต่งด้วยอิฐแดงเกือบทั้งสิ้น ให้ความรู้สึกอบอุ่น เข้ากับบรรยากาศเก่า ๆ แต่ก็มีความโมเดิร์นแบบสไตล์ร่วมสมัยที่ควรคู่แก่การมาสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง


ก่อตั้งตรง รับกับทรงของอาคาร
       การก่อรูปแบบแรกถูกใช้ในการก่อเป็นกำแพงกั้นพื้นที่ทั้ง 2 ข้าง และป้ายสำหรับติดตั้งชื่อของโรงแรม โดยวางอิฐแดงให้อยู่ในแนวตั้งตามความยาวของตัวอิฐ เลือกโชว์ผิวสัมผัสของด้านหน้ากว้าง และมีการสลับฟันปลาระหว่างแถว ซึ่งเป็นรูปแบบการก่อที่เรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่สถาปนิกกลับเพิ่มลูกเล่นให้กับความเรียบง่ายนี้ด้วยการก่อในแนวตั้ง แทนที่จะเป็นแนวนอนเหมือนการก่อแบบทั่วไป


45 Degree Herringbone ฉบับ Onion
       ยังคงอยู่กับการก่ออิฐแดงในรูปแบบแนวตั้ง แต่การก่อในรูปแบบนี้จะมีการเอียงตัวเล็กน้อยประมาณ 45 องศา ให้อิฐมาบรรจบกันเป็นรูปทรงมุมสามเหลี่ยม หรือตามที่สากลเรียกกันว่าการก่อรูปแบบ 45 Degree Herringbone นิยมใช้ในงานก่ออิฐปูพื้น ซึ่งที่บ้านป้อมเพชรก็ใช้การก่อนี้ในงานปูพื้นเช่นกัน แต่ก็อยู่ในกำแพงบางส่วนด้วย เมื่อมองในส่วนที่เป็นกำแพงในแนวนอน เราจะเห็นด้านข้างของอิฐที่วางเฉียง คล้ายซ้อนทับกันไปเรื่อย ๆ ส่วนในแนวตั้งจะเห็นเป็นเส้นกั้นตรงยาวลงมา แต่ถ้ามองในส่วนของพื้นจะเห็นเป็นมุมสามเหลี่ยม นับเป็นความพิเศษของการออกแบบที่ถึงแม้วิธีก่อจะเหมือนกัน แต่เมื่ออยู่กันคนละบริบท สิ่งที่เห็นก็จะแตกต่างกันไปด้วย


สูงบ้าง ต่ำบ้าง สรรค์สร้างศิลปะ
       เพื่อให้สถาปัตยกรรมที่ออกมาดูไม่แข็งทื่อจนเกินไป แต่ยังต้องการให้สถานที่ดูอบอุ่น และสะท้อนกลิ่นอายความเป็นอยุธยา สถาปนิกจึงยังใช้อิฐแดง นำมาก่อแบบไม่เท่ากันสำหรับเป็นผนังสูงทั้งในส่วนของอาคารเรือนย่างกุ้ง และผนังด้านข้างของส่วนที่เป็นโรงแรม ภาพที่เห็นคืออิฐแดงที่เรียงแบบสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกันไป จนเกิดเป็นพื้นผิวที่แตกต่าง ซึ่งสร้างมิติ และเสน่ห์ใหม่ ๆ ให้กับผนัง ยิ่งในช่วงที่มีแสงแดดตกกระทบก็จะะสวยเป็นพิเศษเลยล่ะครับ


อิฐแดงจิ๋ว แต่แจ๋ว
       ความพิเศษนี้อาจไม่ได้เกิดจากรูปแบบการก่อ แต่เกิดจากการออกแบบอิฐแดงขนาดใหม่ และสั่งผลิตเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นอิฐแดงรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กกระทัดรัด เท่าฝ่ามือ นำมาเรียงต่อกันโดยไม่มีรูปแบบตายตัว ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง เท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง แสดงให้เห็นถึงความไม่เนี๊ยบจนเกินไป เป็นความต้องการของสถาปนิก และสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของอิฐแดงทำมือได้เป็นอย่างดี


       เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับแพทเทิร์นก่ออิฐสวย ๆ ที่พี่อิฐนำมาฝาก ถ้าอยากเห็นด้วยตาตัวเองล่ะก็ พี่อิฐขอแนะนำเลยว่าต้องมาให้ได้ เพราะของจริงสวยมาก แถมบรรยากาศดี อบอุ่น กรุ่นกลิ่นกรุงเก่า ผสมผสานกับสไตล์ร่วมสมัยที่ไม่ได้หาดูกันได้บ่อย ๆ 



อ่านบทความสาระความรู้ และไอเดียดี ๆ เกี่ยวกับอิฐแดงเพิ่มเติมได้ที่ https://itdang2009.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่