ชวนมาถก ว่าด้วยระบบการปกครองบน Snowpiercer (Netflix) และตรรกะตัวละครที่รู้สึกว่ามันแปลก

#แทคสังคมเพราะมันเห็นว่าเกี่ยวกับระบบสังคมของมนุษย์ค่ะ เผื่อมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อาจให้มุมมองที่แตกต่างออกไปได้ 

เนื้อหาคร่าวๆคือ โลกถูกแช่แข็ง ระบบสังคมล่มสลาย คนเลยหนีมาใช้ชีวิตบนรถไฟที่วิ่งรอบโลกโดยมีชนชั้น 4 แบบคือ คนรวยที่ไม่ทำงานแต่มีเงินซื้อตั๋วชั้น 1 ใช้ชีวิตหรูหรา, ชั้น 2 เป็นพวกทำงานเชิงวิชาการ หมอ แล้วก็น่าจะพวกคนที่คอยดูแลคนอย่างพวกโอเปเรเตอร์หรือพวกฝ่ายปกคองที่คอยดูแลรถไฟ, ชั้น 3 แรงงาน ทำทุกอย่างที่ใช้แรงงาน, ท้ายขบวน คือพวกขึ้นรถไฟมาอย่างผิดกฎหมาย จริงๆหลุดออกจากระบบไปแล้วแต่เหมือนฝ่ายปกครองเลี้ยงเอาไว้เพื่อให้มาเป็นแรงงานสำรองแลกกับอาหารเล็กน้อย เป็นกลุ่มชายขอบของสังคม

เราเพิ่งดูจบ ep6 มาแล้วเกิดคำถามกับการคิด การตัดสินใจของตัวละครหลายตัวพอสมควร เรารู้สึกว่าคนบนรถไฟดูจะให้ค่าความสำคัญกับคนชั้น 1 มากเป็นพิเศษ ซึ่งก็เข้าใจได้ด้วยตรรกะในโลกปัจจุบันว่าคนกลุ่มนั้นคือคนมีเงิน (เหมือนว่าจะเป็นผู้ร่วมลงทุนให้รถไฟอันนี้เกิดขึ้นมาด้วย) เพราะงั้นเลยเป็นรูปแบบคนรวยที่มีอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่น

แต่เซ็ตติ้งของหนังมันทำให้เรารู้สึกขัดแย้งกับแนวคิด "คนรวยที่มีอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่น" อ่ะค่ะ ด้วยสถานการณ์ที่ระบบการปกครองในโลกนั้นมันล้มไปแล้ว ผู้รอดชีวิตหนึ่งเดียวก็คือคนบนรถไฟ กฎหมาย เงิน หรืออำนาจแบบที่เห็นๆในความเป็นจริงมันไม่มีค่าในโลกของ Snowpiercer แล้วอ่ะค่ะ (เหมือนกับมีเงินพันล้าน แต่ไม่มีอะไรให้ซื้อ คือระบบเศรษกิจมันล้มไปแล้วง่ะ)  แต่ทำไมคนชั้น 1 ถึงสามารถใช้ชีวิตหรูหราไม่ต้องทำงานได้ และทำตัวราวกับว่าชั้นคือเจ้าของรถไฟโดยที่ไม่มีใครแย้งอะไรเลยแม้กระทั่งคนที่มีอำนาจสูงสุด ชี้เป็นชี้ตายคนทั้งขบวนอย่างคนคุมหัวรถจักรก็ยังต้องยอมให้ 

คือพอลองมาคิดๆดูแล้ว บนรถไฟมันก็เหมือนกับการจำลองระบบชนชั้นในชีวิตจริงใช่มะ แต่ว่าในโลกความจริงเงินยังมีอำนาจสูงสุดอยู่ เพราะมันคือตัวกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนทุกๆอย่างในสังคมมนุษย์ มันก็ยังคงมีคุณค่าในตัวมันเอง แต่โลกบนรถไฟเงินมันไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนเรารอดตาย แต่เป็นแรงงานที่ทำให้ระบบของรถไฟยังวิ่งอยู่ได้ รวมไปถึงปศุสัตว์ เกษตร สุขาภิบาล ฯลฯ คือสิ่งที่ทำให้คนเรามีชีวิตรอดมาถึง 7 ปี เพราะฉะนั้น โลกบนรถไฟสิ่งที่มีค่าคือแรงงานคนที่จะทำให้เกิดทรัพยากรมาเลี้ยงดูคนทั้งหมดได้ แต่ทำไมกลุ่มแรงงานถึงกลายเป็นกลุ่มประชากรเกือบชั้นล่างสุด ทั้งๆที่เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนระบบบนรถไฟมากที่สุด 

มองง่ายๆก็เหมือนคนรวยที่ไม่ทำงาน แต่มีเงินแลกสิทธิที่อยู่บนรถไฟ คนที่ไม่มีเงินก็ใช้แรงงานแลกสิทธิที่อยู่แทน แต่ในเมื่อระบบเงินมันล้มไปแล้วต่อให้ผลิตเงินเองได้มันก็ไม่มีค่าแล้วรึเปล่าคะ เพราะงั้นเลยงงว่าทำไมคนรวย (ที่มีแต่เงิน ซึ่งไม่มีค่าบนระบบรถไฟแล้ว) ยังสามารถมีอำนาจได้อยู่ ในเมื่อถ้าคนรวยจะก่อม๊อบ จะประท้วง จะทำอะไรก็ตามก็ไม่มีผลต่อระบบบนรถไฟอยู่แล้ว เพราะพวกนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิต วันๆเอาแต่รับจากคนอื่นอย่างเดียว

กลับกัน ถ้าคนชั้น 3 หยุดงานกันจริงๆ นั่นแปลว่ามีโอกาสที่ระบบจะล้มทั้งหมด จากที่มันสุ้มเสี่ยงอยู่แล้วก็มีโอกาสที่จะตายกันทั้งขบวนได้เพราะไม่มีแรงงาน ทั้งๆที่เป็นงั้นแต่กลุ่มนี้กลับไม่มีสิทธิมีเสียง หรือมีอำนาจใดๆเลย ทั้งๆที่เป็นตัวขับเคลื่อนของสังคมมันน่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องถูกโอ๋มากที่สุดสิ แต่กลับไปโอ๋กลุ่มคนรวยที่มองยังไงก็ไร้ประโยชน์ คือถ้าจับคนรวยทั้งหมดโยนออกนอกรถไฟไปเลย รถไฟก็ยังอยู่ได้ และอาจจะอยู่ดีขึ้นด้วยเพราะลดตัวหารไป

เราเลยรู้สึกว่ามันขัดแย้งกันอ่ะค่ะ ในโลกที่แรงงานสำคัญสุดแต่กลับไปให้ความสำคัญของกลุ่มที่ไม่มีอะไรมาใช้เพื่อขับเคลื่อนรถไฟเลย กลุ่มคุมรถไฟสามารถวางแผนระบบชนชั้นมาได้ตั้งขนาดนี้ แต่ความไม่เมกเซ้นตรงนี้กลับมองไม่เห็นหรือทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมเลยหรอ งงมาก ถ้ากลุ่มคนรวยต้องทำงานด้วยมันจะไม่อะไรเลย ตั้งแต่ดูมา 6 ep นอกจากเรื่องมากดราม่าควีนและจิบน้ำชาในห้องอาหารแล้ว เราก็ไม่เห็นกลุ่มคนรวยทำอะไรที่เป็นประโยชน์พอให้เก็บเอาไว้เลยค่ะ อย่างพวกกลุ่มวิศวกร คนดูแลระบบอย่างเมลานีงี้โครตสำคัญ แต่กลับจะโดนเก็บแล้วเก็บอีก แล้วทุกคนก็มองข้ามกลุ่มที่ไม่ทำไรเลยอย่างคนรวยไปเฉยๆ มันแปลกอ่ะค่ะ ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกว่าแปลก หรือเราพลาดสารอะไรไป รบกวนใครดูมาคุยกันค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่