พระและสสส พร้อมมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาจัดเสวนา ปันกันอิ่ม สู่โควิด-19


            เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา จัดงานเสวนา 'ปันกันอิ่ม จากวิกฤตสู่โอกาสเกื้อกูลสังคม' เปิดโมเดลความสำเร็จ 'คลองเตยปันกันอิ่ม” ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของการแบ่งปัน 'ชุมชนอิ่มท้อง ร้านค้าอยู่รอด' พร้อมเดินหน้าขยายอีก 5 ชุมชน ภายใต้แนวคิด 'ปันกันอิ่ม' ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมในระดับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า แนวคิด 'ปันกันอิ่ม' เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2561 มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.  ริเริ่มโครงการปันกันอิ่ม เพื่อให้คนไทยสามารถทำบุญได้ง่าย เพียงมีเงิน 20-30 บาท วิธีการคือ นำเงินไปฝากไว้กับแม่ค้าหรือซื้ออาหารฝากพ่อค้า-แม่ค้าไว้ จากนั้นพ่อค้า-แม่ค้าจะให้กับคนที่ไม่มีอาหารกิน ทำให้คนที่เดือดร้อนได้รับสิ่งที่บรรเทาความทุกข์ นับเป็นการทำบุญที่น่าอนุโมทนามาก ที่อาตมาเรียกว่าเป็นการทำบุญก็เพราะว่าผู้ให้ได้สละเงิน สละสิ่งของ หรืออาหารให้แก่ผู้ที่เขาเดือดร้อนก็ถือว่าเป็นการทำบุญเรียกว่าเป็นการบำเพ็ญทาน ภาษาบาลีเรียกว่าทานมัย การทำบุญไม่ได้แปลว่าจะต้องทำกับพระหรือไม่จำเป็นต้องถวายวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำกันมากๆ ทำได้ง่ายและก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งเกิดทั้งประโยชน์แก่ผู้รับและผู้ให้ ผู้รับก็มีความสุข ผู้ให้ก็มีความสุข สุขที่ใจสมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุน สสส. กล่าวว่า แนวคิดปันกันอิ่มภายใต้โครงการฉลาดทำบุญ เปิดโอกาสให้คนในสังคมได้เข้าถึงประสบการณ์ในการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผ่านการให้และแบ่งปัน 'โครงการปันกันอิ่ม' ถือเป็นนวัตกรรมการทำบุญรูปแบบใหม่จากบทเรียนวิกฤตโควิด-19 ที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน เหมาะกับยุคสมัยโดยใช้คูปองแทนการให้เงิน และการแบ่งปันนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยหนุนเสริมให้สังคมอยู่รอด โดยมีกลไกคือร้านขายอาหารเป็น 'สะพานบุญ' เชื่อมระหว่างผู้ให้และผู้รับ วิธีนี้นอกจากช่วยให้ผู้รับอิ่มท้องแล้ว ร้านอาหารในชุมชนก็อยู่รอด ทำให้ในชุมชนมีเงินหมุนเวียน นับได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชนที่จะช่วยให้เกิดสังคมที่มีความเกื้อกูล มีวิถีชีวิตสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ขณะนี้มีร้านเข้าร่วมโครงการ 68 ร้านค้า และศูนย์อาหาร 1 แห่ง
ขอบคุณ:https://www.banmuang.co.th/news/bangkok/195919
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่