โควิดให้ประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิต

วันนี้นั่งดู Live ทางเพจ  Techsauce Thailand ที่สัมภาษณ์ผู้บริหารทรูกับซีพี เห็นว่ามีหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทั้งระดับบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน คนว่างงาน ไปจนถึงระดับองค์กรธุรกิจทั้งที่กำลังปรับตัวสู่ New Normal และที่ยังไม่แน่ใจกับอนาคตธุรกิจ ซึ่งจะได้แนวทางในการปรับตัว เรียนรู้ และกำลังใจในการก้าวเดินต่อไปอย่างไม่ต้องหวาดกลัวกับวิกฤติข้างหน้า

โดยส่วนตัวเป็นคนชอบเรียนรู้ จึงอดไม่ได้ที่จะรวบรวมไว้เป็นข้อมูลและนำมาแชร์ค่ะ
 
สรุปความรู้ที่ได้จากการสัมภาษณ์ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในหัวข้อ นวัตกรรม Service Robot รับ New Normal ยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลของประเทศไทย
 
ใครอยากฟังแบบยาว ๆ ได้ข้อมูลครบถ้วน ไปที่ลิงก์นี้เลยค่ะ :
https://www.facebook.com/watch/live/?v=265348944901842&ref=watch_permalink 
 
โควิดให้ประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิต
 
-       โควิดไม่ได้นำแค่วิกฤติ แต่นำความสว่างมาด้วยหลายอย่าง เช่น ทำให้เราต้องบุกเบิกทางใหม่ เกิดธุรกิจใหม่ หรือแตกไลน์ใหม่ ๆ มากมาย ซึ่งข้อดีของการทำธุรกิจแบบใหม่ คือ ยังไม่มีคู่แข่ง หรือคู่แข่งยังตามไม่ทัน เป็นโอกาสของ Business reimagination หรือ การสร้างจินตนาการใหม่ในการทำธุรกิจ 
 
-       โควิดเป็นเหมือนปฏิกริยาเร่ง ให้เราปรับตัว ซึ่งเราปรับไปเยอะมากโดยไม่รู้ตัว ตอนนี้เราชินกับรูปแบบใหม่หลายอย่าง เช่น รูปแบบใหม่ในการทำงาน การใช้ Teleconference ในการสื่อสาร
 
-       โควิดไม่ได้ทำให้เกิดธุรกิจใหม่เท่านี้น แต่ทำให้งานใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วย ที่มีความสำคัญไม่แพ้การเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจก็คือ การ reskill/upskill คนที่อยู่ในองค์กร และคนที่เพิ่งเรียนจบมาใหม่ ๆ เพราะวิชาที่จบมาอาจใช้ไม่ได้กับงานที่เกิดขึ้นใหม่ จึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว 
 
-       การเรียนรู้หลังวิกฤติโควิดจะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่การเรียนรู้แค่ในมหาวิทยาลัยแล้วจบ โชคดีที่เรามีองค์ความรู้อยู่ในอากาศ ที่เราสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา (ออนไลน์) การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ 
 
-       พวกเราอยู่ในยุค New Normal เข้าสู่การศึกษาตลอดชีวิต ต้องปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า ใครเป็นครูได้บ้าง ซึ่งในความเป็นจริง คนทุกคน ทุกอาชีพเป็นครูเราได้ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพที่ผ่านประสบการณ์ผิดถูกมามากมายเป็นครูที่ดีได้ สามารถนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดหรือเรียนรู้จากคนกลุ่มนี้
 
-       ยุคนี้ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลวให้เร็วที่สุดและลุกให้เร็วที่สุด การเรียนรู้จากคนทำงาน เป็นทางที่ง่ายกว่า เราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดล้มเหลวของคนอื่นได้ เพื่อที่จะไม่ต้องผิดพลาดเอง หรือผิดพลาดน้อยลง แต่ความรู้บางอย่างเรานำไปใช้ไม่ได้ ถ้าไม่ลงมือทำ เพราะฉะนั้นเรียนรู้ได้ และลงมือทำด้วย จะเกิดประโยชน์ที่แท้จริง 
 
-       การเรียนรู้ ต้องรู้จักตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำหรือลงมือแก้ปัญหา เช่น ในสังคมหรือชุมชนมีปัญหาเกิดขึ้น อาจคิดว่าจะช่วยแก้ไขได้อย่างไร การศึกษาบ้านเราควรเปลี่ยนจากการเรียนรู้ แล้วลงมือทำเลย เวลาเรียนจบจะได้ไม่ต้องเสียเวลาฝึก แต่ทำได้เลย 
 
-       ความสำเร็จดีใจแค่วันเดียว ความรู้ที่เรามี ถ้าเราคิดว่าเราทำได้ดีที่สุด แสดงว่าเราแพ้แล้ว เพราะวินาทีเดียวกัน คนในโลกนี้มากมายพยายามคิดเรื่องใหม่ ๆ และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา 
 
-       ในอดีตการฟุ้งกระจายของข้อมูลความรู้ กว่าจะไหลมาถึงเรา อาจใช้เวลาหลายเดือน แต่ตอนนี้ไม่เหมือนเดิม เช่น มีผู้ผลิตวัคซีนต่านโควิด-19 มากถึง 200-300 ชนิด ซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดของโลก คนอีกฟากหนึ่งก็จะรู้ กลายเป็นว่าการกระจายองค์ความรู้เกิดขึ้นในเสี้ยววินาที เราจึงต้องเรียนรู้ทุกวัน เหมือนกินอาหาร 3 มื้อ 
 
-       วันนี้มหาวิทยาลัยทั่วโลก ลุกขึ้นมาทำออนไลน์แพลตฟอร์ม หลายคนทำคลิปสอนออนไลน์ เราสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน 
 
โควิดกับดิจิทัล ยกระดับประสิทธิภาพการแข่งขัน
 
ดิจิทัลไม่ใช่แค่ไอทีกับอีคอมเมิร์ชอย่างเดียว ดิจิทัลมาแล้วเปลี่ยนศักยภาพประเทศไทยหลายด้าน เช่น 
 
-       ด้านการเกษตร ประเทศไทยโชคดีที่มีน้ำเยอะ แต่เราขาดการบริหารจัดการทีดี ทำให้น้ำไหลลงทะเลหมด หากเรานำระบบดิจิทัลมาบริหารจัดการน้ำ เช่น ใช้ระบบดาวเทียม ทำ agri map ใช้โดรนตรวจฟาร์มและใส่ปุ๋ย ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มาก
 
-       ด้านการท่องเที่ยว ในช่วงที่ทุกคนยังตั้งหลักไม่ได้ ถ้าใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย เช่น ทำระบบติดตามนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดความปลอดภัย และตรวจสอบได้ 
 
-       ระบบดิจิทัลในองค์กร หรือ Digitization ทำให้องค์กรเป็นดิจิทัลมากขึ้น เช่น การจัดทำระบบบริหารทีมงาน เพื่อให้รู้ว่าอยู่ทีไหน ทำงานอย่างไร ติดปัญหาอะไร หรือการใช้โปรแกรมจัดประชุม ติดตามผล กำหนด KPI (True Virtual World) 
 
-       องค์กรมีกระบวนการรับคนเก่ง ประเทศไทยถ้าต้องการเป็นจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ก็ต้องมีกระบวนการสร้างคนเก่ง ดูจากสิงคโปร์มีคนเก่งมากมาย เพราะประเทศเขาทำระบบนิเวศให้ดี ก็สามารถดึงดูดคนเก่งเข้าไปได้ ประเทศไทยก็สามารถดึงดูดคนเก่ง หรือดึงดูดการลงทุน ให้ย้ายฐานการผลิต/การลงทุนมาได้ ถ้าเราทำระบบให้ดีให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างงานให้เด็กไทย คนไทย และจะเกิดองค์ความรู้ ที่ทำให้ทัดเทียมระดับโลกได้ ที่สุดเราก็จะสามารถส่งออกเด็กไทยไปทำงานต่างประเทศได้เช่นกัน 
 
-       โควิดช่วยเปลี่ยน mindset ของคน ตอนนี้คนส่วนใหญ่เริ่มเปิดใจแล้วว่า ดิจิทัลสำคัญ ถ้าไม่มีระบบดิจิทัลก็เท่ากับขาดอาวุธ 
 
-       เราสามารถใช้คนรุ่นใหม่เป็น change agent ช่วยสร้างระบบนิเวศหรือการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เช่น ให้เด็กที่จบใหม่ไปฝึกครูอาจารย์ในการใช้ดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอน หรือฝึกคนของภาครัฐ
 
-       ให้คนรุ่นใหม่นำเทคโนโลยีไปกระจายให้เกษตรกร ซึ่งต้องเป็น agenda ใหญ่ของประเทศที่ต้องช่วยกันเหมือนการเปลี่ยนฮวงจุ้ยของประเทศ 
 
-       โควิดไม่ได้ทำร้ายแค่ประเทศไทย แต่ทำร้ายทุกประเทศในโลกเท่ากันหมด แต่เมื่อเศรษฐกิจหยุดชะงัก ต้องใช้งบประมาณมาฟื้นฟู เปรียบเหมือนการซ่อมรถ เราจะซ่อมให้รถวิ่งได้เท่าเดิม หรือจะติดปีกให้รถบินได้ วันนี้เครื่องจักรเศรษฐกิจเดิมใช้ได้ไม่เหมือนเดิม ทุกประเทศไปติดศักยภาพการแข่งขันเพิ่มแล้ว ประเทศไทยเราก็ควรจะต้องติดเครื่องจักรใหม่ ให้การพัฒนาประเทศไปอยู่ที่ New S-Curve เราควรถือโอกาสนี้ปรับโอกาส สร้างการแข่งขันสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ให้ประเทศไทยเป็นแรงดึงดูด โดยปรับกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เหมาะสม เพื่อดึงธุรกิจที่เป็นเทคโนโลยีใหม่มาเมืองไทย จะช่วยสร้างงานใหม่ ๆ ได้มาก เป็นโอกาสเปลี่ยนรอยต่อของประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด 
 
-       ในสถานการณ์ปกติผู้นำทางธุรกิจกำหนดกติกาการแข่งขันเสมอ แต่ทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดผู้นำใหม่ ใครที่มี level of flexibility คือสามารจะปรับตัว ปรับได้มากก็เป็นโอกาสทอง โอกาสไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เมื่อวันนี้เกิดขึ้นแล้วก็ควรจะเปลี่ยนวันนี้
 
ทรูและซีพีทำหุ่นยนต์และใช้ในภาคการผลิต 
 
-       ยุคก่อนเป็นยุคของอีคอมเมิร์ช ที่ทำให้อาลีบาบาประสบความสำเร็จ แต่ยุคนี้เป็นยุคหุ่นยนต์ ซึ่งมีออกมามากมาย ที่ราคาไม่แพง สามารถเข้าถึงได้ เพราะผู้คนเปิดรับหุ่นยนต์มากชึ้น โดยเฉพาะ i-robot เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น โดรน หุ่นยนต์จะมีบทบาทมาก อุตสาหกรรมใหญ่มาก และตลาดก็ใหญ่มากเช่นกัน จึงเป็นโอกาสของเด็กไทย นักธุรกิจไทย รวมถึงประเทศไทยที่จะดึงคนเก่งมาช่วยสร้างระบบนิเวศให้ดีขึ้น เพื่อให้มีการเชื่อมต่อได้มากขึ้น หากเราปรับดี ๆ ก็พร้อมเป็นผู้นำได้เลย 
 
-       กลุ่มซีพีใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมมานานแล้ว กลุ่มทรูก็มีหุ่นยนต์ สมัยก่อนเน้นเรื่องการนำเข้าหุ่นยนต์ แล้วใช้ซอฟแวร์ในการพัฒนา แต่ปัจจุบันเน้นการมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ล่าสุดได้รับรางวัลจากรัสเซีย เป็นหุ่นยนต์ที่ทำด้วยคนไทยทั้งตัว ได้รางวัลที่หนึ่งเหรียญทอง ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และจะพยายามพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักการจะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย ให้ทุนวิจัย ทำเป็นนวัตกรรม เปิดให้คนมาต่อยอดแพลตฟอร์ม ใน 6-7 ปีข้างหน้าจะมีหุ่นยนต์มากขึ้น 
 
-       กุล่มทรูพัฒนาต่อเนื่อง ในแง่องค์กร เราวาง mindset หรือโครงการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ต่อยอดใหม่ เพราะเครือซีพีมีค่านิยมองค์กรในการสร้างนวัตกรรม ในส่วนซีพีก็มีการทำโครงการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ โครงการเถ้าแก่ ซึ่งเป็นการบ่มเพาะความรู้ทางธุรกิจ สอนกันตั้งแต่เรื่องการวางแผนทางการเงิน การคิดแบบเถ้าแก่ ทำแบบเถ้าแก่ หรือสอนให้รู้จักคิดให้ครบรอบ ส่วนทางทรูก็มีหลายโครงการ เช่น การประกวด True Innovation Awards ซึ่งมีทั้งระดับแสดงไอเดียและระดับทำโครงการจริง 
 
คำแนะนำสำหรับองค์กรที่เริ่มเข้าสู่เส้นทางของความยั่งยืน 
 
-       ในยุคนี้ถึงยุคหน้า เรื่องของความยั่งยืนมีความสำคัญ ซึ่งความยั่งยืนไม่เหมือน CSR เพราะความยั่งยืนต้องให้เป็นเนื้อเดียวกับการทำธุรกิจ สิ่งเดียวที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ ต้องคำนึงถึงเรื่องของความยั่งยืน โดยต้องทำไปพร้อมกันทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าต้นทุนมากขึ้น จึงต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย ซึ่งเทคโนโลยีหลายอย่างก็จะทำให้ลดต้นทุนลงได้ เช่น พลังงานโซล่าเซลล์ ทั้งนี้ กลุ่มซีพีได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนระดับโลก ซึ่งเป็นเหมือนสมุดพกในการทำธุรกิจ
 
-       การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน มีขั้นตอนอยู่ แต่หากไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ให้คิดจากความเสี่ยงของธุรกิจ ว่ามีอะไรจะมากระทบผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร เช่น คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน ผู้บริหาร โดยคิดทุกมิติ แล้วจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งจะทำให้องค์กรระวังตัวและพาทุกคนไปด้วยกันอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังต้องกำหนดตัวชี้วัด เป้าหมาย และต้องทำให้ทั้งองค์กรเกิดความตระหนัก ไม่ใช่ทำแค่ทีมเดียว เป็นเร่องที่ต้องค่อย ๆ สร้าง Mindset 
 
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ 
 
-       ช่วงวิกฤติทำให้เกิดข้อดีในข้อเสีย อย่ามองแง่ร้ายอย่างเดียว คนส่วนมากเห็นแต่ข้อด้อย แต่คนที่จะอยู่รอดได้ มองเห็นข้อดีในข้อร้าย ในวิกตินี้ถึงจะมีคนล้ม แต่คนที่อยู่ได้ก็เกินครึ่ง ถ้าเราทำได้ ก็จะอยู่รอดได้ จึงควรต้องเปลี่ยนวิกฤติเป็นจุดแข็งให้ได้ 
 
-       ถือโอกาสของวิกฤติโควิด ทำการ Upskill/Reskill พนักงานไปในตัว หรือตัวเราเองไปเลย อย่ารอให้สถานการณ์กลับสู่ปกติ หรือบอกว่าเราไม่พร้อม เชื่อว่าโควิดจะไม่ยาวนานมาก เพราะเป็นวิกฤติร่วมของคนทั้งโลก ทุกคนต่างอยากหาทางแก้ 
 
-       ให้กำลังใจทุกคน และมองว่า อย่าแค่ใช้วิกฤตินี้ทำสิ่งที่เหมือนเดิม แต่ให้ปรับตัวเองรับ New Normal เลย เพราะหลังจากนี้ทุกสิ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่