ใกล้ครบรอบ 20 ปี กับการเปิดตัวและวางจำหน่าย Nokia 3310 ในประเทศไทย มือถือที่คนไทยและผู้ใช้ทั่วโลก ขนานนามว่าเป็นมือถือที่ใช้งานได้ยอดเยี่ยมและคุ้มค่าที่สุดรุ่นหนึ่งในช่วงต้นทศวรรษ 2000’s การันตีด้วยยอดขายทั่วโลกกว่า 126 ล้านเครื่อง! เป็นมือถือที่เป็นตัวจุดประกายให้วงการมือถือรุ่งเรืองถึงขีดสุด ผ่านมาแล้ว 20 ปี กับมือถือรุ่นหนึ่งที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์มือถือไทย วันนี้เราจะมาย้อนรอยความสำเร็จของมือถือขวัญใจมหาชนรุ่นนี้ บทความนี้เป็นบทความข้อมูลเชิงลึก เล่ายาวไปถึงการเปิดตัว การวางขาย จนถึงวันสุดท้ายที่อำลาวงการเหลือเพียงแต่ชื่อให้ทุกคนคิดถึง รวบรวมจากแหล่งข่าว แหล่งข้อมูลสำคัญ และประสบการณ์การใช้งานจริงเท่าที่ผู้เขียนจะเขียนได้ เรามาย้อนรำลึกความทรงจำอันสวยงามนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ
ย้อนกลับไปในช่วงต้นปีพุทธศักราช 2541 โนเกียได้เปิดตัวมือถือรุ่น 5110 เป็นมือถือทรงแท่ง หน้าตาเรียบหรู แต่มาพร้อมฟังก์ชั่นเปลี่ยนหน้ากากด้านหน้าที่เรียกว่า Xpress-On Covers สร้างปรากฏการณ์มือถือขวัญใจวัยรุ่น ด้วยค่าตัวที่ไม่แพงมากในตอนนั้น (ประมาณ 2 หมื่นบาท) ประกอบกับความสามารถมากมายโดยเฉพาะเกมเจ้างูน้อย (Snake) เวอร์ชันแรกที่กลายเป็นเกมฮิตสุดคลาสสิกของโนเกีย โดยเวอร์ชันที่ขายในไทยจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสามรุ่น ประกอบไปด้วยรุ่น 5110 ระบบจีเอสเอ็ม สองวัตต์ รุ่น 5130 ระบบเวิลด์โฟน 1800 และรุ่น 5110i ไมเนอร์เชนจ์ที่มาพร้อมหน้ากากดีไซน์ใหม่พร้อมแบตเตอรี่ที่ความจุเยอะกว่า รองรับระบบจีเอสเอ็ม สองวัตต์ วางจำหน่ายในช่วงปี 2543
ต้นปีพุทธศักราช 2542 โนเกียได้เปิดตัวมือถือรุ่น 3210 สานต่อความสำเร็จจาก 5110 ด้วยดีไซน์ใหม่ ย้ายเสาอากาศเข้าไปในตัวเครื่อง หน้ากาก Xpress-On ที่เปลี่ยนได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นมือถือรุ่นแรกสุดของโนเกียที่รองรับเครือข่ายแบบ Dual Band (900/1800Mhz) ถัดจากโนเกียรุ่น 6150 ที่เปิดตัวในช่วงปี 2541 โดยมีการถ่ายทอดสดงานเปิดตัวผ่านสถานีโทรทัศน์ iTV ในขณะนั้นด้วย สนนราคาเปิดตัวอยู่ที่หลัก 2 หมื่นบาท รวมราคาเปิดเบอร์พร้อมค่าบริการรายเดือนจากทุกเครือข่ายมือถือ และในปีเดียวกันนั้นเอง บริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส (เอไอเอส) ประเทศไทย ได้มีการเปิดตัวมือถือระบบเติมเงินเป็นครั้งแรกในประเทศ โดยใช้ชื่อเครือข่ายว่า “วัน ทู คอล” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ง่ายยิ่งกว่านับ 1-2-3” โดยวางจำหน่ายเป็นชุดโทรศัพท์มือถือพร้อมใช้งานที่มาพร้อมซิมการ์ดและบัตรเติมเงิน (Phone Kit) และชุดซิมการ์ด (Starter Kit) สำหรับผู้ที่ใช้ระบบจีเอสเอ็มสองวัตต์เดิม โดยมีการใส่มือถือโนเกียรุ่น 5110 และ 3210 ลงไปในชุด Phone Kit ของวันทูคอลในปีพุทธศักราช 2543 สนนราคาค่าตัวอยู่ที่ 10,990 และ 13,900 บาทตามลำดับ
"รูปโบรชัวร์ในตำนาน ที่หลายๆ คนเห็นจนชินตา"
จนเข้าสู่ไตรมาสที่สาม ปีพุทธศักราช 2543 โนเกียได้ออกมือถือรุ่นใหม่ที่มาพร้อมระบบแชทในชื่อรุ่น 3310 สานต่อความสำเร็จของ 3210 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สนุกสุดฤทธิ์กับชีวิตชิดแชท”
มาพร้อมกับดีไซน์ใหม่ ขนาดกะทัดรัด จับกระชับมือ เปลี่ยนหน้ากากได้ทั้งหน้าและหลัง
หน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่ แสดงผลตัวเลขได้เต็มตา เมนูแบบอะนิเมชั่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากโนเกียรุ่น 7110 มัลติมีเดียโฟนในปี 2542 มาพร้อมความสามารถใหม่มากมาย
โดยเฉพาะโปรแกรมแชทที่สามารถส่งข้อความหาคนหลายๆ คนได้ในครั้งเดียว โปรแกรมแต่งเสียงเรียกเข้าที่แต่งได้ถึง 7 เสียง มาพร้อมเกมใหม่ถึง 4 เกม โดยเฉพาะเจ้างูน้อยภาคสองที่ปรับปรุงกราฟฟิกใหม่ และเกมตะลุยอวกาศที่เรียกได้ว่าเล่นเพลิน แบตเตอรี่ที่สามารถสแตนบายได้นานเป็นสัปดาห์โดยไม่ต้องชาร์จ
"ภาพโบรชัวร์ของ GSM1800 เครดิตจาก soccersuck.com"
โนเกีย 3310 เริ่มวางจำหน่ายในช่วงไตรมาสที่สี่ ปี 2543 โดยวางราคาจำหน่ายไว้ที่ 13,900 บาท โดยเอไอเอสนำเข้ามาจำหน่ายพร้อมกับการเปิดตัวเครือข่ายมือถือใหม่อย่างดิจิตอล จีเอสเอ็ม 1800 ที่สามารถโรมมิ่งกับระบบจีเอสเอ็ม สองวัตต์ ขยายการใช้งานให้ครอบคลุมมากขึ้น ส่วนเวิลด์โฟน 1800 นั้นก็วางจำหน่ายใน ราคาใกล้เคียงกัน
"ราคามือถือระบบ DTAC ปี 2544"
จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงต้นปี 2544 มีการเปลี่ยนแปลงด้านมือถืออย่างมาก เริ่มตั้งแต่เวิลด์โฟน 1800 ที่มีการรีแบรนด์ดิ้ง เปลี่ยนชื่อเป็นดีแทค (DTAC) ภายใต้คอนเซปต์ “ง่ายสำหรับคุณ” มาพร้อมนโยบายใหม่ คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที โดยมีโปรโมชั่นรายเดือนสามแบบให้เลือกคือ DLite ค่าบริการรายเดือน 250 บาท โทรนาทีละ 4 บาท DMedium อัตราค่าโทรเหมาจ่าย 750 บาท โทรนาทีละ 3 บาท DMax อัตราค่าโทรเหมาจ่าย 1,200 บาท โทรนาทีละ 2 บาท ทุกโปรโมชั่น ราคาเดียว ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนระบบเติมเงิน มีมือถือพร้อมใช้ DPrompt ค่าโทรนาทีละ 5 บาท มีทั้งชุดโทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ ซิมการ์ดและบัตรเติมเงิน และชุดซิมการ์ดขายแยกต่างหาก โดยมีการนำเอาโนเกีย 3310 มาจำหน่ายลงในกล่องสีม่วง วางจำหน่ายในราคา 8,900 บาท และปรับลดราคาลงเหลือ 7,900 บาทตามลำดับ
"กล่องโนเกีย 3310 ระบบ Dprompt ของดีแทค เครดิตจากพี่ท่านหนึ่งใน Facebook"
ในส่วนของเอไอเอสนั้นก็ได้มีการนำเอาโนเกีย 3310 มาพ่วงขายกับวันทูคอลในแพ็คเกจกล่องสีเขียว อัตราค่าโทร นาทีละ 5 บาท วางจำหน่ายในราคา 9,900 บาท และลดราคาลงมาเรื่อยๆ
กระแสความนิยมในตัวโนเกีย 3310 ในขณะนั้นเรียกว่าดังแบบพุ่งกระฉูด ในยุคที่ข่าวสารไอทียังไม่แพร่หลายเหมือนในยุคนี้ ด้วยกระแสแบบปากต่อปากถึงฟังก์ชั่นที่เรียกว่าจัดเต็มมากในสมัยนั้น ทั้งเกมส์ที่เล่นสนุก การแต่งริงโทนที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้ใช้ ถึงขั้นมีหนังสือแต่งริงโทนวางขายกันตามชั้นหนังสือ หน้ากากเปลี่ยนได้หลากหลาย ที่ตามมาในยุคนั้นคือการเปลี่ยนสีไฟตัวเครื่องเป็นสีฟ้าและสีขาวให้เหมือนกับโนเกียรุ่น 8250 และ 8850 มือถือตัวบนราคาสุดแพงในยุคนั้น และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ความทนทานชนิดตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ของมัน มีหลายคนเอาไปใช้เป็นเครื่องระบายอารมณ์เวลาทะเลาะกับแฟน ปาทิ้งกันเป็นว่าเล่น บางคนเล่าถึงขั้นว่าตกจากตึกชั้นสามลงมาก็ไม่พัง ตกชักโครก แค่เอาเครื่องไปแยกอะไหล่แล้วเป่าให้แห้งก็ใช้ได้แล้ว ประกอบกับช่วงปี 2544 เป็นช่วงที่ทั้งเอไอเอสและดีแทคกำลังทยอยปิดสัญญาณมือถือระบบอนาล็อก (1G) ทำให้ลูกค้าเซลลูล่าร์ 900 ของเอไอเอส และ เวิลด์โฟน 800 ของแทค ต้องทำการเปลี่ยนมือถือเพื่อมาใช้ระบบดิจิตอล (2G) โดยตัวเลือกที่ดีและคุ้มราคาที่สุดตอนนั้นก็คือโนเกีย 3310 นั่นเอง ทำให้มือถือรุ่นนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงมนุษย์เงินเดือน หรือแม้แต่เจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมก็เลือกที่จะใช้รุ่นนี้กัน ขนาดที่ว่าโนเกียออกรุ่น 3330 ที่เพิ่มฟังก์ชั่น Mobile Internet (WAP) หรือแม้แต่รุ่น 3350 ที่มีฟังก์ชั่นส่งข้อความเป็นภาษาไทยได้ ก็ไม่สามารถทำยอดขายสู้ 3310 ในเวลานั้นได้เลย
"รูปโนเกีย 3330 สังเกตว่าขอบด้านข้างจอจะเปลี่ยนเป็นแถบสีกรมท่าแทนแถบสีขาว"
จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2544 ได้มีการเปิดตัวเครือข่ายใหม่ในบ้านเรา นั่นคือ Orange กับสโลแกน “อนาคตสดใส อนาคต Orange” มาพร้อมโปรโมชั่นสุดคุ้ม โทร 5 เบอร์คนสนิทราคาพิเศษ พร้อมกับเอาโนเกีย 3310 มาลดราคาแบบเทกระจาดในราคาเพียง 4,990 บาท มีทั้งระบบเติมเงิน Just Talk และระบบรายเดือน Talk Plan ที่ค่าโทรถูกสุดๆ ในยุคนั้น ทำให้กระแสความนิยมของ 3310 เพิ่มขึ้นอย่างถล่มทลาย ชนิดที่ว่าหันไปทางไหนก็มีแต่คนใช้ 3310 เรียกได้ว่าเป็นมือถือขวัญใจมหาชนอย่างแท้จริง
"โนเกีย 3310 ใส่ซิมออเร้นจ์กับหน้ากากรุ่น 3330 ที่ไปเจอมาที่ตลาดปัฐวิกรณ์โดยบังเอิญ"
จนกระทั่งสิ้นปี 2544 กระแสของโนเกีย 3310 ก็ยังไม่หมดลง ตอนนั้นทางเอไอเอสก็ได้เปลี่ยนชื่อเครือข่ายจีเอสเอ็ม สองวัตต์ เป็น จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ แถมเพิ่มกำลังส่งสัญญาณให้แรงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าเพื่อรองรับการใช้งานเครือข่าย GPRS ที่เพิ่งมาใหม่ จนความนิยมในตัวมือถือโนเกีย 3310 ใกล้ถึงจุดอิ่มตัว แต่ความนิยมของรุ่นนี้ก็ยังมีอยู่ไม่ขาดสาย ทำให้โนเกียส่งมือถือรุ่น 3315 ซึ่งเป็นร่างไมเนอร์เชนจ์ของ 3310 มาขายในตลาดเอเชียแปซิฟิกด้วยค่าตัว 6,900 บาทแต่ได้ฟังก์ชันการใช้งานที่เยอะกว่า 3310 หลายอย่าง ทั้งระบบล็อคปุ่มกดอัตโนมัติ โปรแกรมแต่งรูปภาพ และที่พิเศษที่สุดคือ สามารถส่ง SMS เป็นภาษาไทยได้ เท่านั้นยังไม่พอ รุ่นนี้สามารถเอาหน้ากากของ 3310 มาใส่ได้อีก ทำเอาคนใช้ 3310 ช็อคไปตามๆ กัน แต่ทางโนเกียก็ออกเฟิร์มแวร์ใหม่ เอาฟังก์ชั่นบางอย่างที่มีใน 3315 มาใส่ให้กับ 3310 ทำเอาธุรกิจอัพเกรดเฟิร์มแวร์รุ่งเรืองมากในตอนนั้น รวมถึงธุรกิจปลดล็อคเลข IMEI ซึ่งสามารถปลดล็อกมือถือที่ติดสัญญาเครือข่าย สามารถนำมือถือไปใช้กับเครือข่ายไหนก็ได้ จนนำไปสู่การปิดระบบยืนยันตัวตนผ่านเลข IMEI ของเครือข่ายมือถือ ทำให้ผู้ใช้มือถือสามารถเปลี่ยนเบอร์ เปลี่ยนเครือข่ายได้อย่างอิสระ กระแสของโนเกีย 3310 และ 3315 มาสิ้นสุดลงในช่วงปี 2546 กับการเปิดตัวมือถือโนเกียรุ่น 1100 และ 2100 บวกกับการเข้ามาของมือถือจอสีถ่ายรูปได้ที่ดังเป็นพลุแตกในตอนนั้น ทำให้ความนิยมของมือถือจอขาว-ดำเริ่มลดน้อยลง
"Nokia 3315 ภาคต่อ 3310 ที่หลายคนเคยใช้"
จนกระทั่งในปี 2554 โนเกีย 3310 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความทนทานจนเริ่มมีคนเอาไปเล่นในมุกตลกของทางเมืองนอก และในปี 2558 โนเกีย 3310 ก็ได้มีการถูกนำไปใช้เป็นอีโมจิของประเทศฟินแลนด์ บ้านเกิดของมือถือโนเกีย และมีการออกภาคต่อของ 3310 เวอร์ชั่นใหม่ที่รองรับเครือข่าย 3G ในปี 2560
ผ่านมา 20 ปีแล้ว โนเกีย 3310 ก็ยังเป็นมือถือที่หลายๆ คนยังคิดถึง ไม่ว่าจะในฐานะมือถือเครื่องแรกของใครหลายคน มือถือที่ทนมือทนเท้าที่สุดรุ่นหนึ่ง หรือแม้แต่ในยุคที่ 5G กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแต่ตราบใดที่มือถือ 2G ที่หลายๆ คนคิดถึงอย่าง 3310 ยังใช้ได้ ก็ยังมีคนใช้มือถือรุ่นนี้เป็นเครื่องสำรองในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน สำหรับตัวผู้เขียนนั้น ก็ยังใช้รุ่นนี้อยู่เรื่อยๆ และยังมีแบตเตอรี่และอะไหล่สำรองติดตัวไว้ใช้ และก็คงใช้ไปเรื่อยๆ จนกว่าคลื่น 2G จะหายไปจากประเทศไทยนั่นล่ะนะ...
.
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่าน และสกู๊ปต่อไปที่จะเขียนถึงจะเป็นเรื่องอะไรก็คอยติดตามนะคะ
.
ปามมี่ สาวเชียงใหม่
.
31 พฤษภาคม 2563
[Scoop] ครบรอบ 20 ปี Nokia 3310 ตำนานมือถือขวัญใจมหาชน
ย้อนกลับไปในช่วงต้นปีพุทธศักราช 2541 โนเกียได้เปิดตัวมือถือรุ่น 5110 เป็นมือถือทรงแท่ง หน้าตาเรียบหรู แต่มาพร้อมฟังก์ชั่นเปลี่ยนหน้ากากด้านหน้าที่เรียกว่า Xpress-On Covers สร้างปรากฏการณ์มือถือขวัญใจวัยรุ่น ด้วยค่าตัวที่ไม่แพงมากในตอนนั้น (ประมาณ 2 หมื่นบาท) ประกอบกับความสามารถมากมายโดยเฉพาะเกมเจ้างูน้อย (Snake) เวอร์ชันแรกที่กลายเป็นเกมฮิตสุดคลาสสิกของโนเกีย โดยเวอร์ชันที่ขายในไทยจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสามรุ่น ประกอบไปด้วยรุ่น 5110 ระบบจีเอสเอ็ม สองวัตต์ รุ่น 5130 ระบบเวิลด์โฟน 1800 และรุ่น 5110i ไมเนอร์เชนจ์ที่มาพร้อมหน้ากากดีไซน์ใหม่พร้อมแบตเตอรี่ที่ความจุเยอะกว่า รองรับระบบจีเอสเอ็ม สองวัตต์ วางจำหน่ายในช่วงปี 2543
ต้นปีพุทธศักราช 2542 โนเกียได้เปิดตัวมือถือรุ่น 3210 สานต่อความสำเร็จจาก 5110 ด้วยดีไซน์ใหม่ ย้ายเสาอากาศเข้าไปในตัวเครื่อง หน้ากาก Xpress-On ที่เปลี่ยนได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นมือถือรุ่นแรกสุดของโนเกียที่รองรับเครือข่ายแบบ Dual Band (900/1800Mhz) ถัดจากโนเกียรุ่น 6150 ที่เปิดตัวในช่วงปี 2541 โดยมีการถ่ายทอดสดงานเปิดตัวผ่านสถานีโทรทัศน์ iTV ในขณะนั้นด้วย สนนราคาเปิดตัวอยู่ที่หลัก 2 หมื่นบาท รวมราคาเปิดเบอร์พร้อมค่าบริการรายเดือนจากทุกเครือข่ายมือถือ และในปีเดียวกันนั้นเอง บริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส (เอไอเอส) ประเทศไทย ได้มีการเปิดตัวมือถือระบบเติมเงินเป็นครั้งแรกในประเทศ โดยใช้ชื่อเครือข่ายว่า “วัน ทู คอล” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ง่ายยิ่งกว่านับ 1-2-3” โดยวางจำหน่ายเป็นชุดโทรศัพท์มือถือพร้อมใช้งานที่มาพร้อมซิมการ์ดและบัตรเติมเงิน (Phone Kit) และชุดซิมการ์ด (Starter Kit) สำหรับผู้ที่ใช้ระบบจีเอสเอ็มสองวัตต์เดิม โดยมีการใส่มือถือโนเกียรุ่น 5110 และ 3210 ลงไปในชุด Phone Kit ของวันทูคอลในปีพุทธศักราช 2543 สนนราคาค่าตัวอยู่ที่ 10,990 และ 13,900 บาทตามลำดับ
กระแสความนิยมในตัวโนเกีย 3310 ในขณะนั้นเรียกว่าดังแบบพุ่งกระฉูด ในยุคที่ข่าวสารไอทียังไม่แพร่หลายเหมือนในยุคนี้ ด้วยกระแสแบบปากต่อปากถึงฟังก์ชั่นที่เรียกว่าจัดเต็มมากในสมัยนั้น ทั้งเกมส์ที่เล่นสนุก การแต่งริงโทนที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้ใช้ ถึงขั้นมีหนังสือแต่งริงโทนวางขายกันตามชั้นหนังสือ หน้ากากเปลี่ยนได้หลากหลาย ที่ตามมาในยุคนั้นคือการเปลี่ยนสีไฟตัวเครื่องเป็นสีฟ้าและสีขาวให้เหมือนกับโนเกียรุ่น 8250 และ 8850 มือถือตัวบนราคาสุดแพงในยุคนั้น และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ความทนทานชนิดตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ของมัน มีหลายคนเอาไปใช้เป็นเครื่องระบายอารมณ์เวลาทะเลาะกับแฟน ปาทิ้งกันเป็นว่าเล่น บางคนเล่าถึงขั้นว่าตกจากตึกชั้นสามลงมาก็ไม่พัง ตกชักโครก แค่เอาเครื่องไปแยกอะไหล่แล้วเป่าให้แห้งก็ใช้ได้แล้ว ประกอบกับช่วงปี 2544 เป็นช่วงที่ทั้งเอไอเอสและดีแทคกำลังทยอยปิดสัญญาณมือถือระบบอนาล็อก (1G) ทำให้ลูกค้าเซลลูล่าร์ 900 ของเอไอเอส และ เวิลด์โฟน 800 ของแทค ต้องทำการเปลี่ยนมือถือเพื่อมาใช้ระบบดิจิตอล (2G) โดยตัวเลือกที่ดีและคุ้มราคาที่สุดตอนนั้นก็คือโนเกีย 3310 นั่นเอง ทำให้มือถือรุ่นนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงมนุษย์เงินเดือน หรือแม้แต่เจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมก็เลือกที่จะใช้รุ่นนี้กัน ขนาดที่ว่าโนเกียออกรุ่น 3330 ที่เพิ่มฟังก์ชั่น Mobile Internet (WAP) หรือแม้แต่รุ่น 3350 ที่มีฟังก์ชั่นส่งข้อความเป็นภาษาไทยได้ ก็ไม่สามารถทำยอดขายสู้ 3310 ในเวลานั้นได้เลย
ผ่านมา 20 ปีแล้ว โนเกีย 3310 ก็ยังเป็นมือถือที่หลายๆ คนยังคิดถึง ไม่ว่าจะในฐานะมือถือเครื่องแรกของใครหลายคน มือถือที่ทนมือทนเท้าที่สุดรุ่นหนึ่ง หรือแม้แต่ในยุคที่ 5G กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแต่ตราบใดที่มือถือ 2G ที่หลายๆ คนคิดถึงอย่าง 3310 ยังใช้ได้ ก็ยังมีคนใช้มือถือรุ่นนี้เป็นเครื่องสำรองในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน สำหรับตัวผู้เขียนนั้น ก็ยังใช้รุ่นนี้อยู่เรื่อยๆ และยังมีแบตเตอรี่และอะไหล่สำรองติดตัวไว้ใช้ และก็คงใช้ไปเรื่อยๆ จนกว่าคลื่น 2G จะหายไปจากประเทศไทยนั่นล่ะนะ...
.
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่าน และสกู๊ปต่อไปที่จะเขียนถึงจะเป็นเรื่องอะไรก็คอยติดตามนะคะ
.
ปามมี่ สาวเชียงใหม่
.
31 พฤษภาคม 2563