"นาค" (Naga) คือ "มังกร" (Dragon)

"นาค" (Naga) หรือ "มังกร" (Dragon)
สัตว์ทิพย์ในตำนานที่มีอยู่ทั่วโลก
เมื่อพูดถึง "นาค" หรือ "มังกร" หลายคนมักจะคิดว่ามันเป็นเพียงสัตว์ในเทพนิยาย เป็นเรื่องเล่าปรัมปราที่ไม่มีอยู่จริง

ก่อนอื่น ควรมาทำความรู้จักคำศัพท์สองคำนี้กันให้ดีเสียก่อน โดยความหมายของคำว่า "มังกร" นักวิชาการตะวันตกให้ความหมายไว้ว่า เป็นสัตว์ในตำนาน เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายงูหรือสัตว์เลื้อยคลาน เป็นเรื่องลึกลับในหลายวัฒนธรรม

รากศัพท์ของคำว่า "Dragon" ในภาษาอังกฤษ มาจากศัพท์ภาษากรีกว่า "δράκων" (drákon) ซึ่งหมายถึง "งูยักษ์"

ส่วนคำว่า "นาค" ในภาษาไทย มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตว่า "Nāga" (นาคา) อันหมายถึง "งูยักษ์" เช่นเดียวกัน
"นาค" หรือ "มังกร" เป็นสัตว์ในภพภูมิทิพย์ ซึ่งเป็นมิติคู่ขนานกับมิติที่มนุษย์อาศัยอยู่ มีลักษณะกึ่งเทพกึ่งสัตว์เดรัจฉานเฉกเช่นเดียวกับ "ครุฑ" มีหลายชั้นหลายตระกูล นาคหรือมังกรมีมาก่อนสมัยพุทธกาล ส่วนมากอาศัยอยู่ที่เมืองบาดาลใต้น้ำส่วนที่ลึกมาก เช่น แม่น้ำ หนอง คลอง บึงต่างๆ ในทะเล ในมหาสมุทร จนไปถึงในอากาศ เป็นต้น

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา กล่าวถึงนาคไว้หลายตอน งูวิเศษชนิดนี้มี "อิทธิฤทธิ์" มีพิษร้ายแรงกว่างูทั้งหลาย สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แปลงกายเป็นมนุษย์ได้ และเมืองไทยไม่ใช่ที่เดียวที่มีมิติคู่ขนานที่เรียกกันว่า "โลกทิพย์" ในทวีปอื่นๆ บนโลกนี้ พวกเขาก็มีเรื่องราวของสัตว์ในเทพนิยายเหมือนกันกับเรา อยู่ในภพภูมิทิพย์เหมือนกัน แต่อาจเรียกต่างกันไปตามภาษาพื้นเมืองของเขา ที่ซึ่งเขาเคารพนับถือบูชากันมาเป็นพันปีหมื่นปีแล้ว เช่น มังกรของจีน เรียกว่า "龙" (Lóng) หรือมังกรญี่ปุ่นเรียกว่า "龍" (Ryū) เป็นต้น
"龙" (Lóng)

"龍" (Ryū)

“นาค” (มังกร) เป็นบริวารของ “ท้าววิรูปักข์” ซึ่งเป็น ๑ ในท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ โดยมี ๔ ตระกูลใหญ่ ได้แก่ ตระกูลวิรูปักข์ (นาคตระกูลสีทอง) ตระกูลเอราปถ (นาคตระกูลสีเขียว) ตระกูลฉัพพยาปุตตะ (นาคตระกูลสีรุ้ง) ตระกูลกัณหาโคตมะ (นาคตระกูลสีดำ)
วิรูปักข์

เอราปถ

ฉัพพยาปุตตะ

กัณหาโคตมะ

"นาค" มีถิ่นที่อยู่ตามบันไดเวียนชั้นที่ ๑ รอบๆ เขาพระสุเมรุ ตรงส่วนที่จมลงใน "มหาสมุทรสีทันดร" และบางส่วนอยู่บนโลกมนุษย์ โดยมีตั้งแต่ในแม่น้ำ หนอง คลอง บึงต่างๆ ในทะเล ในมหาสมุทร จนไปถึงในอากาศ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น

และ "นาค" ยังมีทั้งพวกที่เกิดในน้ำ (ชลชะ) และพวกที่เกิดบนบก (ถลชะ) โดยกำเนิด ๔ คือ

๑.อัณฑชะ (นาคที่เกิดในไข่)
๒.ชลาพุชะ (นาคที่เกิดในครรภ์)
๓.สังเสทชะ (นาคที่เกิดในที่ชื้นแฉะ)
๔.โอปปาติกะ (นาคที่ผุดเกิดใหญ่โตเลย)

นาค (มังกร) มีวิชาเวทมนตร์คาถาต่างๆ ด้วย ชื่อว่า "วัตถุวิชา" คือ วิชาที่เสกวัตถุให้เป็นไปตามปรารถนา เช่น วิชาเสกใบไม้เป็นนก เสกใบมะขามเป็นแตนเป็นต่อ ฯลฯ และ "ภูมิวิชา" คือ วิชาเสกสถานที่หรือวัตถุให้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น วิชาเสกท้องทะเล เสกมหาสมุทร ให้เป็น "นาคพิภพ" เป็นที่ตั้ง "วิมาน" และทิพยสมบัติต่างๆ เป็นต้น
ประเภทพิษของ "นาค"

๑.ปูติมุขะ ถ้ากัดผู้ใดแล้วรอยแผลจะเปื่อยเน่า น้ำเหลืองไหล ถ้าไม่มียารักษาจะถึงแก่ความตายในเวลารวดเร็ว

๒.กฎฐะมุขะ ถ้ากัดผู้ใดแล้วร่างกายเหยื่อจะแข็งทื่อไปทั้งตัว แขนขางอไม่ได้ และจะปวดอย่างแสนสาหัส และตายอย่างรวดเร็ว

๓.อัคคิมุขะ ถ้ากัดผู้ใดแล้วจะเกิดอาการเร่าร้อนไปทั้งตัวดุจไฟเผา แผลจะมีลักษณะคล้ายถูกไฟไหม้

๔.สัตถะมุขะ ถ้ากัดผู้ใดแล้วจะตายทันทีเหมือนถูกฟ้าผ่า

โดยพิษนาคทั้ง ๔ ประเภทนี้ ยังสามารถทำอันตรายได้อีกอย่างละ ๔ วิธี คือ

๑.ทัฏฐะวิสะ เมื่อขบกัดแล้วจะเกิดพิษซ่านไปทั่วร่างกาย

๒.ทิฏฐะวิสะ ใช้วิธีมองแล้วพ่นพิษออกทางตา

๓.ผุฏฐะวิสะ ใช้ลมหายใจพ่นเป็นพิษแผ่ซ่าน

๔.วาตาวิสะ มีพิษที่กาย จะแผ่พิษจากตัว
“นาค” มีทั้งที่เสพกามคุณ และทั้งที่ไม่เสพกามคุณ มีอายุสั้นบ้าง อายุยืนนานบ้าง

เวลาที่ต้องการท่องเที่ยวไปในมนุษย์โลก บางทีก็ไปในร่างกายเดิมของตน บางทีก็เนรมิตกาย เป็นเสือ เป็นราชสีห์ เป็นมนุษย์ ฯลฯ แล้วจึงท่องเที่ยวไป

และถึงแม้จะเนรมิตกายเป็น "มนุษย์" ได้ แต่ก็ไม่สามารถจะคงร่างเนรมิตไว้ได้ตลอดไป เพราะจะต้องปรากฏร่างเป็นนาคตามเดิม เมื่ออยู่ในอาการประจำ ๕ อย่าง คือ

๑.ในขณะปฏิสนธิ (เมื่อเกิด)
๒.ในขณะลอกคราบ (เหมือนงูทั่วไป)
๓.ในขณะเสพเมถุน กับ "นางนาค"
๔.ในขณะนอนหลับโดยปราศจากสติ
๕.ในขณะตาย
ประเทศในทวีปยุโรปเองก็มีนาค (มังกร) เช่นกัน แต่ถูกจินตนาการแต่งเสริมเติมแต่งไปเยอะ เช่น มีปีกเหมือนค้างคาว เป็นต้น
ส่วนนาคของทางอเมริกาใต้ ในอารยธรรมเมโสอเมริกาโบราณ เช่น พวกแอซเท็ก (Aztec) เรียกว่า “งูขนนก” เพราะมันเหาะได้ คือ มังกรยาวๆ ชนิดหนึ่ง พวกเขานับถือเป็นเทพเจ้า เรียกว่า "เควทซัลโคลท์" (Quetzalcoatl) เป็นเทพแห่งลมและฝน คล้ายเป็นผู้สร้างโลกและมนุษย์ มีการบูชาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เทพองค์นี้มีชื่อต่างๆ กันในแต่ละที่แต่ละภาษา เช่น คูคุลคัน (Kukulkan) ในภาษาของพวกมายา (Maya) เป็นต้น
"เควทซัลโคลท์" (Quetzalcoatl)

"คูคุลคัน" (Kukulkan)

"นาค" หรือ "มังกร" จึงเป็นสัตว์ในตำนานที่มีปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของมนุษย์ทั่วทั้งโลก

แม้แต่ "ไฮดรา" (Hydra) มังกร ๙ เศียรมีพิษในตำนานกรีกโบราณ ที่ถูกปราบโดยวีรบุรุษนามว่า "เฮอร์คิวลิส" (Hercules) ก็คือ "นาค" นั่นเอง ซึ่ง ๙ เศียรนั้นยังเล็กน้อย เพราะตำนานในแถบบ้านเรานั้นเห็นไปถึง ๑๐๐ เศียร ๑,๐๐๐ เศียรก็มี
"ไฮดรา" (Hydra)

ในตำนานศาสนาคริสต์ที่รับมาจากพวกฮิบรู (Hebrew) ก็มีเรื่องราวของมังกรหรืองูใหญ่เหมือนกัน ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลเรียกมันว่า "ลิเวียธาน" (Leviathan) โดยเจ้าตัวลิเวียธานนี้เป็นสัตว์ประหลาดที่มาจากทะเลลึก มีลักษณะคล้ายมังกรหรืองูยักษ์ คือ จะมีลำตัวยาว ขนาดใหญ่ ศีรษะยาว ฟันแหลมคม นัยน์ตาดุร้าย มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพลังเวทย์ร้ายกาจมาก ใช้มนตร์ได้ เป็นสัตว์ที่ควบคุมผืนน้ำท้องทะเล บางที่ก็เชื่อว่าควบคุมฤดูฝนได้ด้วย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพายุครั้งใหญ่ ส่วนใหญ่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อมนุษย์ เนื่องจากชอบอยู่อย่างสันโดษ บางคนถึงกับนับว่ามันเป็นจ้าวแห่งมังกรของผืนน้ำเลยทีเดียว
"ลิเวียธาน" (Leviathan)

ทางอารยธรรมอียิปต์โบราณ ก็มีนาค (มังกร) เหมือนกันกับเขา โดยเรียกในภาษาอียิปต์โบราณว่า "อาเปป" (Apep) หรือ "อาเปปิ" (Apepi) แต่ในภาษากรีกเรียกว่า "อาโปฟิส" (Apophis)
"อาโปฟิส" (Apophis)

ในปกรณัมนอร์ส มังกรหรืองูยักษ์ "ยอร์มุนกานดร์" (Jörmungandr) ที่มีขนาดตัวที่ยาวใหญ่จนสามารถพันรอบ "โลก" หรือ "มิดการ์ด" (Midgard) อันเป็นภพภูมิ (มนุษย์) ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของมหาพฤกษาอิกดราซิล (Yggdrasil) ได้นั้น ก็คือ "นาค" เช่นกัน

ตรงนี้ถ้าใครคิดว่า "ยอร์มุนกานดร์" เป็นนาคหรือมังกรที่ตัวใหญ่ที่สุดแล้วนั้น ถือว่าคิดผิด เพราะยังมีนาคหรือมังกรที่มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่ายอร์มุนกานดร์หลายเท่าอยู่อีก เช่น พญานันโทปนันทนาคราช ที่มีพระวรกายใหญ่โตขนาดที่สามารถพันรอบเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของจักรวาลได้ถึง ๗ รอบ แต่ยอร์มุนกานดร์พันได้แค่รอบโลก แค่ภพภูมิมิดการ์ด และพันได้เพียง ๑ รอบเท่านั้น
"ยอร์มุนกานดร์" (Jörmungandr)

สำหรับต้นไม้อิกดราซิล หรือต้นไม้แกนกลางจักรวาลที่คอยเชื่อมโยงโลก (ภพภูมิ) ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันในปกรณัมของชาวนอร์สนั้น เปรียบเสมือนเขาโอลิมปัส (Olympus) อันมีวิมานปราสาทของซูส (Zeus) สถิตอยู่บนยอดเขา หรือเขาพระสุเมรุ (Sumeru) ซึ่งมีวิมานปราสาทของพระอินทร์ (Indra) หรือท้าวสักกะ (Sakka) สถิตอยู่บนยอดเขา

แล้วภพภูมิที่อยู่บนยอดของต้นอิกดราซิลนั้น ก็คือ "แอสการ์ด" (Asgard) อันมีวิมานปราสาทของโอดิน (Odin) สถิตเป็นใหญ่ที่นี่

ทว่าแอสการ์ดนี่แล คือ "ดาวดึงส์" (Tavatimsa) ในภาษาของชาวพุทธ กล่าวง่ายๆ คือ ทั้งยอดเขาโอลิมปัส ยอดเขาพระสุเมรุ และยอดต้นอิกดราซิล คือ ภพภูมิ "ดาวดึงส์" นั่นเอง

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นของ "ทิพย์" ทั้งเขาพระสุเมรุทั้งภพภูมิพวกนี้ล้วนเป็นของทิพย์ คือ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของมนุษย์ (ไม่ได้เป็นมนุษย์ต่างดาวอะไรทั้งสิ้น) มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนหลัก มีความกว้าง-ยาว-ลึก ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่เป็นแกนกลางจักรวาล (ไม่ได้ตั้งอยู่บนโลก) แล้วก็จมลงไปในมหาสมุทรสีทันดรที่ล้อมรอบอยู่อีกครึ่งหนึ่ง เหลือ ๘๔,๐๐๐ โยชน์
ต้นอิกดราซิล (Yggdrasil)

เขาโอลิมปัส (Olympus)

เขาพระสุเมรุ (Sumeru)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่