4 เหตุผลที่ทำให้ X-Men คือแฟรนไชส์ หนังซูเปอร์ฮีโร่ ที่เรารัก


ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ โลกภาพยนตร์ในแต่ละปีจะถูกยึดครองโดย ‘หนังซูเปอร์ฮีโร่’ ที่ดัดแปลงมาจากสองค่ายคอมิกยักษ์ใหญ่อย่าง Marvel และ DC จนผู้ชมเลือกดูกันไม่หวาดไม่ไหว ไหนจะโปรเจ็กต์หนังระดับบล็อคบัสเตอร์ภาคต่อที่จ่อคิวรอกันอีกเป็นกระบุงลากยาวไปจนถึงหลังปี 2020 โน่นเลย ทว่า ‘ปริมาณ’ ของแฟรนไชส์หนังแนวนี้ ก็หาได้พ้องพานกับ ‘คุณภาพ’ ของตัวหนังเสมอไป เพราะมีแฟรนไชส์หนังซูเปอร์ฮีโร่เพียงแค่ไม่กี่เรื่องที่มีคุณภาพ-รวมถึงเสน่ห์-มากพอ จนทำให้เราสามารถตกหลุมรักได้อย่างหมดใจเหมือนกับแฟรนไชส์ X-Men จากมาร์เวลที่ถูกค่าย 20th Century Fox ซื้อสิทธิ์ดัดแปลงไปทำเป็นหนัง-นับจากช่วงต้นยุค 2000 เป็นต้นมา และเหล่านี้คือเหตุผลง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนว่า ทำไมเราจึงตกหลุมรักแฟรนไชส์หนังตระกูล X-Men มาได้ยาวนานถึงเกือบสองทศวรรษขนาดนี้

(X-Men Origins: Wolverine)

1) เพราะมันดัดแปลงจากคอมิกที่มีจักรวาลอันแสนซับซ้อน
สแตน ลี และ แจ็ค เคอร์บี สองศิลปินผู้ล่วงลับแห่งมาร์เวล คือผู้สร้างสรรค์ซูเปอร์ฮีโร่ทีมนี้ขึ้นมาในโลกคอมิกเมื่อปี 1963 (ถัดจาก Fantastic Four เมื่อปี 1961-ซึ่งถือเป็นซูเปอร์ฮีโร่ทีมแรกสุดของค่ายที่ช่วยขยับขยายขอบเขตการเล่าเรื่องในแนวทางนี้ให้ออกมาซับซ้อนและสมจริงมากขึ้น) โดยเส้นเรื่องของ X-Men จะอิงกับภารกิจของทีมและชีวิตส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคน (เช่นเดียวกับ FF) โดยในเวลาต่อมา X-Men ก็เริ่มเป็นที่นิยม จนแตกแยกย่อยออกมาเป็นหัวคอมิกต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งบ้างก็เกี่ยวพันกับสมาชิกในทีมเก่า ไม่ก็เล่าถึงการผจญภัยของทีมใหม่ (เช่น X-Factor, X-Force, Generation X, ฯลฯ)

(X-Men)
(X2)

โดยแฟรนไชส์หนังของ X-Men ได้ดึงเอาจุดเด่นของประวัติศาสตร์อันยาวนานของจักรวาลนี้มาปรับใช้ พร้อมคงความซับซ้อนและความสมจริงของต้นฉบับเอาไว้ได้อย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะหนังสามภาคแรกอย่าง X-Men (2000, ไบรอัน ซิงเกอร์), X2 (2003, ซิงเกอร์) และ X-Men: The Last Stand (2006, เบร็ตต์ แร็ตเนอร์) ที่นำเอาตัวละครคลาสสิกของแฟรนไชส์มาถ่ายทอดได้อย่างมีชีวิตชีวา น่าเอาใจช่วย และน่าติดตาม ทั้งในฉากแอ็กชั่นและฉากดราม่า – ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้ได้กลายมาเป็น ‘แบบอย่าง’ แรกๆ ของแฟรนไชส์หนังซูเปอร์ฮีโร่ร่วมสมัยในยุคถัดมาไม่มากก็น้อย

(X-Men: First Class)

2) เพราะมันมีทีมซูเปอร์ฮีโร่สุดเจ๋ง …ที่รับบทโดยนักแสดงฝีมือดี
แฟรนไชส์ X-Men คือแหล่งรวมตัวละคร ‘มนุษย์กลายพันธุ์’ (Mutant) สุดเจ๋งที่โดดเด่นทั้งในแง่ของ ‘พลังพิเศษ’ อันแปลกประหลาด, นิสัยใจคอ และชีวิตปูมหลัง-ซึ่งแตกต่างกันออกไป จนทำให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยง ผูกพัน รวมถึงตื่นตาตื่นใจไปกับตัวละครแต่ละตัวได้ไม่ยาก โดยมนุษย์กลายพันธุ์ผู้มีเรื่องราวชีวิตเป็นของตนเองเหล่านี้ ยังถูกถ่ายทอดโดยบรรดานักแสดงฝีมือดี-ที่บางคนก็มีรางวัลใหญ่ๆ การันตีมาแล้วด้วยซ้ำ

(Logan)

ไม่ว่าจะเป็น ฮิวจ์ แจ็คแมน ผู้รับบท วูล์ฟเวอรีน ที่มีกรงเล็บอะดาแมนเทียมอันไร้เทียมทาน-ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในตัวละครภาพจำของแฟรนไชส์นี้ จนมีหนังของตัวเองอย่าง X-Men Origins: Wolverine (2009, เกวิน ฮูด), The Wolverine (2013, เจมส์ แมนโกลด์) และ Logan (2017, แมนโกลด์) / แพทริค สตวร์ต และ เจมส์ แม็กอะวอย ผู้รับบท โปรเฟสเซอร์ เอ็กซ์ วัยชราและวัยหนุ่ม (ตามลำดับ) ผู้ดูแลเหล่าเด็กผู้มีพรสวรรค์ / เอียน แม็กเคลเลน และ ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์ ผู้รับบท แม็กนีโต ตัวร้ายพลังแม่เหล็กสองช่วงวัย (ซึ่งเราจะพูดถึงกันในหัวข้อถัดไป) / ไรอัน เรย์โนลด์ส ผู้รับบท เดดพูล มนุษย์อมตะจอมกวนบาทาใน Deadpool ภาคแรก (2016, ทิม มิลเลอร์) และภาคสอง (2018, เดวิด เลตช์) / รวมถึงสาวๆ นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง ฮัลลี เบอร์รี และ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ผู้รับบท สตอร์ม ผู้ควบคุมลมฟ้าอากาศ และ มิสทีก สาวขบถนักจำแลงแปลงร่าง (ตามลำดับ) เป็นต้น

(แม็กเคลเลนใน X2)
(ฟาสส์เบนเดอร์ใน X-Men: Days of Future Past)

3) เพราะมันมี แม็กนีโต เป็น ‘ตัวร้าย’ ที่เราทั้งรักทั้งชัง
ตัวละครตัวแรกๆ ของแฟรนไชส์ที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของเรา อาจไม่ใช่บรรดาซูเปอร์ฮีโร่หน้าใสใจดี หากแต่เป็นแม็กนีโต-วายร้ายรุ่นใหญ่ที่นอกจากจะสร้างความประทับใจด้วย ‘พลังแม่เหล็ก’ อันทรงอานุภาพแล้ว ลักษณะนิสัยและเรื่องราวของเขาในแฟรนไชส์ก็ยังทำให้ผู้ชมอย่างเราไม่รู้จะรักหรือเกลียดเขาดี เพราะถึงแม้เขาจะต้องการทำลายล้างมวลมนุษยชาติ-ผู้ตั้งแง่เป็นศัตรูกับมนุษย์กลายพันธุ์อันเป็นพวกพ้องของเขา ทว่าเมื่อพิจารณาถึงปมขัดแย้งอันแสนขมขื่นในอดีตที่ทำให้เขาโกรธเกลียดมนุษย์แล้ว เราก็อดสงสารเขาไม่ได้

(X-Men: First Class)

อีกทั้งมิตรภาพอันแน่นแฟ้นแบบ ‘เพื่อนกึ่งศัตรู’ ที่เขามีต่อโปรเฟสเซอร์ เอ็กซ์-ผู้ต่อต้านแนวคิดหัวรุนแรงของเขามาตลอด-โดยเฉพาะในหนังชุดหลังๆ อย่าง X-Men: First Class (2011, แม็ตธิว วอห์น), X-Men: Days of Future Past (2014, ซิงเกอร์) และ X-Men: Apocalypse (2016, ซิงเกอร์) นั้น ก็ยังน่านับถือและชวนให้ซาบซึ้งตามไปด้วย – ซึ่งทั้งแม็กเคลเลนและฟาสส์เบนเดอร์ผู้รับบทนี้ในวัยชราและวัยหนุ่ม ก็สามารถถ่ายทอดด้านที่เป็นมนุษย์อันซับซ้อนและยากที่ผู้ชมจะตัดสินได้ง่ายๆ ของแม็กนีโตออกมาอย่างหมดจดงดงาม “เขาเป็นทั้งคนที่มีอุดมการณ์ เป็นนักรบที่มีวิสัยทัศน์ มีความเจ็บปวด ทุกข์ทน และดื้อรั้น มันจึงเป็นบทบาทที่ควรค่าแก่การถ่ายทอดแบบสุดๆ” แม็กเคลเลนกล่าวถึงตัวละครของเขา

(X-Men: Days of Future Past)

4) เพราะมันชูธงเรื่องสิทธิ ‘ความแตกต่างหลากหลาย’ เสมอมา

เมื่อ X-Men มีเรื่องราวเกี่ยวกับเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์ที่ ‘แปลกแยก’ จากมนุษย์ทั่วไปมาตั้งแต่คอมิกต้นฉบับ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘ความแตกต่างหลากหลาย’ จะกลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกสะท้อนผ่านแฟรนไชส์หนังเรื่องนี้ตามไปด้วย นำทีมโดยหนังสามภาคแรก (X-Men, X2, X-Men: The Last Stand) ที่บรรดานักวิจารณ์ล้วนชื่นชมในการพูดถึง ‘สิทธิที่จะแตกต่าง’ ของมนุษย์กลายพันธุ์เหล่านี้-ซึ่งเป็นตัวแทนของ ‘คนชายขอบ’ ในสังคมที่ถูกแบ่งแยกเสมอมา นับตั้งแต่ชาวเควียร์ไปจนถึงคนพิการ-ได้อย่างลึกล้ำและสั่นสะเทือนหัวใจ (ฉากเฉลยปมเกลียดมนุษย์ของแม็กเนโตใน X-Men: Apocalypse นั้นทำเอาหลายคนถึงกับหลั่งน้ำตา)

(The New Mutants)

ขณะที่ขบวนหนังในอนาคตก็ยังดูจะคงคอนเซ็ปต์ดราม่านี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้ง Dark Phoenix (7 มิ.ย. 2019, ไซมอน คินเบิร์ก) ที่เล่าถึงชีวิตอันแสนรันทดของ จีน เกรย์ (โซฟี เทอร์เนอร์) สาวพลังจิตระดับโอเมก้าผู้วิวัฒน์พลังของตนไปจนถึงขีดสุด, The New Mutants (2 ส.ค. 2019, จอช บูน) ที่ตั้งใจบิดหนังซูเปอร์ฮีโร่ทีมผู้ต่างมีปมอดีตให้กลายมาเป็นหนังสยองขวัญวัยรุ่นแบบกลายๆ รวมถึง Gambit (2020) ที่โฟกัสไปยังชีวิตวุ่นวายของพ่อหนุ่มผู้ปล่อยพลังจิตผ่านสิ่งของ-ที่ได้ แชนนิง ทาทัม มาโปรดิวซ์และนำแสดง และกำลังอยู่ในระหว่างการสรรหาผู้กำกับที่จะมากำหนดทิศทางในก้าวต่อไปของแฟรนไชส์ที่เรารักชุดนี้


ติดตามรับชม

X-Men Origins: Wolverine : เอ็กซ์เม็น กำเนิดวูลฟ์เวอรีน
วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม เวลา 18.00 น.ทางช่อง MONO29

สามารถชมทางออนไลน์ได้ที่ : https://mono29.com/livetv

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: https://movie.mthai.com/





แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่