เรื่องที่คนส่วนใหญ่อยากรู้เกี่ยวกับวิธีรักษารูขุมขนกว้าง 📌📌



1. รูขุมขนเป็นโครงสร้างของผิวหนัง” 🧬🧬
ซึ่งมีพันธุกรรมและเชื้อชาติเป็นตัวกำหนดทั้ง’ขนาดและจำนวนของรูขุมขน’

2. ถ้าลองส่องกระจกแบบใกล้ๆ 
จะเห็นว่า ผิวบริเวณจมูกและแก้มๆด้านใน (medial cheeks) เป็นบริเวณที่เห็นว่ารูขุมขนกว้างชัดเจนที่สุด 

3. สาเหตุของรูขุมขนกว้างแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม 
ซึ่งจะเกิดจากสาเหตุเดียว หรือหลายสาเหตุร่วมกันก็ได้ 
    - เกิดจากการที่ต่อมไขมันสร้างและขับน้ำมันออกมามากกว่าปกติ  เช่น อากาศร้อน กินอาหารที่กระตุ้นต่อมไขมัน (กลุ่มเดียวกับอาหารกระตุ้นสิว), ฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะช่วงตกไข่ ทำให้ผิวมัน รูขุมขนกว้าง ในกลุ่มนี้มักพบว่ามีสิวขึ้นง่ายด้วย 
    - เกิดจากจากอายุที่เพิ่มขึ้นและผิวเสื่อมสภาพจากแสงแดด (aging and photoaging) 
     คอลลาเจนลดจำนวนลงและเส้นใยอีลาสตินที่ให้ความยืดหยุ่นและ
     คอยพยุงโครงสร้างของรูขุนขนเสื่อมไป ทำให้ผิวไม่ฟู ขาดความยืดหยุ่น รูขุมขนดูกว้างขึ้นไม่กระชับ 
    - เกิดจากการมีเส้นขนอยู่ในรูขุมขน 
    เช่น บางคนมีขนที่แก้มหรือที่จมูก (สิวเสี้ยนที่เห็นเป็นจุดดำๆ 
    ซึ่งถ้าส่องกล้องขยายดูจะเห็นว่าจุดดำๆจริงๆแล้วคือ เส้นขนที่กระจุกตัวกันอยู่ในรูขุมขน) 

4. แม้ว่า ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่แก้ไขให้รูขุมขนเล็กลงได้อย่างถาวร 
แต่อย่าเพิ่งหมดหวังค่ะ ทางการแพทย์พอจะมีวิธีที่ช่วยให้รูขุมขนดูเล็กลงได้ (ชั่วคราว)  

5. วิธีที่ช่วยทำให้รูขุมขนกระชับและดูมีขนาดเล็กลง 
แก้ตามสาเหตุ ได้แก่

5.1 ยาทาหรือยากินกลุ่มวิตามินเอ 💊 เช่น ยาทาพวกเรติน เอ, VAA, tretinoin
เหมาะกับคนที่ผิวมัน และมีสิวเยอะ 
ยาจะช่วยปรับการทำงานของต่อมไขมันและควบคุมการผลัดเซลล์ผิวให้เหมาะสม 
แต่มีข้อเสียคือถ้าทาไม่ถูกวิธีจะทำให้หน้าแดงแสบลอกได้ และ #ห้ามใช้ในคนท้อง 
เพราะทำให้ทารกพิการได้ #การใช้ยาควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสภาพผิวและให้คำแนะนำและดูแลตลอดช่วงที่ใช้ยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะยากิน #ไม่ควรหาซื้อมากินเอง 

5.2 การเลือกครีมบำรุงและสบู่ล้างหน้าให้เหมาะกับสภาพผิว 🧴🚿 
ช่วยควบคุมความมันของผิวได้ เช่น คนผิวมันเลือกผลิตภัณฑ์ชนิด เจล, เซรั่มที่ไม่เหนียวข้น, oil free (ปราศจากน้ำมัน), non-comedogenic หรือ non-acnegenic หรือ non-occlusive หรือ won’t clog pores(ไม่อุดตัน) pH balance เช่น pH 5-5.5 ซึ่งฉลากของผลิตภัณฑ์มักจะมีคำเหล่านี้อยู่ 

5.3 ไม่ล้างหน้าบ่อยเกินไป เลี่ยงการสครับผิวหน้า 
เพราะการล้างหน้าบ่อยกว่าวันละ 2 ครั้ง และการขีดสครับผิว จะรบกวนผิว 
ทำให้ผิวเสียสมดุล ถ้าทำมากไปอาจจะทำลายชั้นผิว (skin barrier defect) 
ผิวสูญเสียน้ำง่ายขึ้น สารก่อภูมิแพ้ก็เข้าสู่ผิวได้ง่ายขึ้น ผิวระคายเคืองมากขึ้น 

5.4 การทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวเสื่อมจากแดด 🏖🌤
เลือกกันแดดที่ประสิทธิภาพดี เช่น SPF 30-50, PA +++ ทาปริมาณมากเพียงพอ 
รังสียูวี โดยเฉพาะ UVA ในแสงแดดทำให้คอลลาเจนและอิลาสตินเสื่อมและผิวจะขาดความยืดหยุ่น

5.5 ทาครีมบำรุงเพื่อให้ผิวดูชุ่มชื้นเปล่งปลั่ง 💦💦
เวลาที่แสงตกกระทบกับผิวเราจะทำให้รูขุมขนดูไม่กว้าง 
ผิวชุ่มชื้นคือผิวที่ฟูอิ่มน้ำ ไม่เหมือนผิวที่มีน้ำมันเคลือบด้านบนไว้เฉยๆ แต่ด้านล่างขาดความชุ่มชื้น (ผิวมันไม่ได้แปลว่าผิวชุ่มชื้นนะ) 

5.6 เลเซอร์บางชนิดช่วยให้ผิวด้านบนดูเรียบเนียนขึ้นได้ / กลุ่ม laser resurfacing ต่างๆ ทำแล้วมีแผลตกสะเก็ด เช่น กลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาหลุมสิว (PICO 1064 nm, e matrix, fine scan, vinus viva, Fxco2) 

5.7 เลเซอร์ (energy base device) ที่เน้นให้ความร้อนสู้ผิวชั้นล่าง กลุ่มนี้ทำเสร็จแล้วไม่มีแผล
ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนและทำให้ผิวดูกระชับขึ้น จะช่วยอำพรางรูขุมขนได้ 
เช่น การใช้คลื่นวิทยุ (RF) เช่น Thermage
       พลังงานอัลตร้าซาวน์ที่มีความจำเพาะเจาะจง (microfocus ultrasound with visualization) 
       เช่น Ulthera, HIFU 
ซึ่งการตัดสินใจทำเลเซอร์ชนิดใดควรปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ แต่ละที่อาจจะมีเครื่องแตกต่างกันไป 

5.8 เลเซอร์กำจัดขน อาจจะช่วยได้ในคนที่มีขนที่แก้ม จมูก หรือใบหน้า 

5.9 การเติมฟิลเลอร์เนื้อบางเบา เพิ่มความชุ่มชื้นอิ่มฟูให้กับผิว 
เหมาะกับคนที่ผิวแห้ง ที่ทาครีมเท่าไหร่ก็ยังไม่ดีขึ้น หรือคนที่ต้องการปรับ skin quality 
ให้ผิวดูอิ่มฟู ฉ่ำวาว ซึ่งจะไม่ใช่ฟิลเลอร์แบบที่ใช้ปรับรูปหน้านะคะ 

5.10 สิวอักเสบอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ควรรีบรักษา เพราะถ้าผิวอักเสบนานๆจะเพิ่มโอกาสกลายเป็นหลุมสิว 
และ ห้ามแกะกดสิวเองนะคะ เพราะถ้ากดไม่ออกจะยิ่งอักเสบทิ้งรอย หรือกลายเป็นแผลเป็นได้ ยิ่งทำให้ความหวังที่จะมีผิวเรียบเนียน อยู่ไกลออกไป 😭

ถ้าอ่านแล้วชอบ พิมพ์ว่า “ชอบ” 💬   เป็นกำลังใจให้หมอด้วยนะคะ  
หมอยุ้ย เพจ Dr. Yui คุยทุกเรื่องผิว ❤️

Reference 
1. Facial Pores: Definition, Causes, and Treatment Options. Dermatol Surg 2016;42:277–285.
2. Enlarged Facial Pores: An Update on Treatments. Cutis 2016;98:33-36.

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่