[CR] รีวิวการใช้งาน Boox Note 2

เคยมาตั้งกระทู้ขอความเห็นเรื่องซื้อ Tablet เมื่อนานมาแล้ว ตอนนั้นสรุปเลือกเป็น Ipad Mini 5 (และสุดท้ายก็เอา Ipad 2018 จอ 9.7 นิ้ว มือสองมาใช้อีกเครื่อง)

ประเด็นที่สุดท้ายแล้วไปๆ มาๆ ซื้อ Boox Note 2 อีกเครื่องจนเป็นรีวิวในวันนี้ เกิดจากข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ค้นพบจากการใช้ Ipad มาเป็นเวลาสัก (นับนิ้วก่อน) โอเค ยังไม่ครบปีหรอก

นั่นคือปัญหาสายตาค่ะ

ช่วงที่ซื้อ Ipad Mini 5 เวลาไล่ๆ กันนั้นเราก็ตัดแว่นสายตาด้วย ตอนนั้นค่าสายตา (ข้างนึงสั้นอีกข้างนึงเอียง) อยู่ที่ -150 จนเมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้วค้นพบว่าสายตาสั้นขึ้นอีก วัดใหม่ ค่าเอียงเท่าเดิม แต่สั้นเข้าไปที่ -200

จริงๆ มันก็สั้นไม่มากน่ะนะ แต่ปัญหาที่พบจากการใช้ Ipad Mini 5 สลับกับ Ipad 2018 ก็คือ ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ (อ่านหนังสือ) สายตาก็แย่ลง ปวดตา ล้าตา บางวันตื่นเช้ามาคือตาไม่โฟกัส (จริงๆ มันก็คืออาการที่ใช้สายตามากไปนั่นแหละ)

ที่ถูกต้องคือต้องใช้สายตาให้มันถนอมมากกว่านี้ แต่เราจำเป็นต้องใช้จริงๆ แล้วตัว Ipad ตอบโจทย์ทุกอย่าง ดีทุกอย่าง แต่มันแสบตาจริงๆ เลยรู้สึกว่าสายตาฉัน ยังไงก็ต้องถนอมหน่อยมั้ย เลยกัดฟันถอย Boox Note 2 มา ที่ไม่เอารุ่น Nova 2 ทั้งๆ ที่เคยดูไว้ เนื่องจากจออยู่ที่ 7.8 นิ้ว ซึ่งก็พอๆ กับ Ipad mini 5 (7.9 นิ้ว) เหตุผลส่วนหนึ่งที่ตอนแรกใช้ Ipad mini 5 ไปๆ มาๆ ก็ยังต้องซื้อ Ipad 2018 มาใช้ก็คือ เวลาเปิดอ่านไฟล์ pdf หนังสือราชการซึ่งตัวค่อนข้างจะเล็ก เปิดใน Ipad mini แล้วสั่ง crop ก็ยังตัวเล็กไปหน่อยอยู่ดี แต่พอเปิดอ่านด้วย Ipad 2018 แล้วอ่านสบายตากว่า ทำให้พอตัดสินใจซื้อ e-reader เครื่องใหม่ เลยตัดตัวที่จอต่ำกว่านี้ทิ้ง 

อีกอย่างก็คือตัวเราใช้ onedrive เป็นหลัก เนื่องจากใช้ office 365 เลยได้แถม onedrive 1 TB มา แล้วก็ใช้มานานแล้ว ซึ่งเคยเจอปัญหากับ Boox Kepler Lite เนื่องจากเป็น android 4.2.2 แล้ว onedrive มันไม่ support แล้ว เลยเลือกรุ่นเป็น android 9.0 ไปเลย จึงมาจบที่ Boox Note 2

เปรียบเทียบขนาดของ Boox Note 2 กับ Ipad Mini 5

จากการทดสอบสารพัดแอพที่มีตอนนี้เพื่อใช้งาน แอพสำหรับเปิด pdf ที่ดีที่สุด เบา ไม่หน่วงเครื่อง ใช้งานง่ายต้องยกให้ Neo reader 3.0 (แน่นอนมันมากับเครื่อง Boox)

เนื่องจากเราเน้นอ่านเอกสาร pdf ในรีวิวนี้ขอไม่ทดสอบการเปิดอ่านพวกแอพทางการอย่าง meb หรือ hytext นะคะ เนื่องจากใน 2 แอพนี้เกือบทุกเล่มที่วางขายจะมีไฟล์ epub อยู่แล้ว ซึ่งขนาดหน้าจอไม่มีผลต่อการใช้งานใดๆ 

อ่านเพชรพระอุมาใน meb นี่สะใจเวอร์มาก

ลักษณะการอ่านไฟล์ pdf ของเราคือเอกสารหนังสือราชการต่างๆ ซึ่งโดยปกติอยู่บนพื้นฐานกระดาษขนาด A4 จริงๆ ขนาดหน้าจอที่ใกล้เคียงที่สุดที่ Boox มีคือรุ่น Boox Max ซึ่งมีขนาดจออยู่ที่ 13.3 นิ้ว แต่ปัญหาของรุ่นนี้คือไม่มีไฟ front light ซึ่งจำเป็นสำหรับเราในการอ่านเอกสารทุกสถานที่ ทุกเวลา แถมขนาดจอก็ใหญ่เกินไปสำหรับการพกพาไปข้างนอกสถานที่ด้วย 

การอ่านเอกสารบน Boox Note 2 เราจะเน้นการใช้งานฟังก์ชั่น Crop เป็นหลัก เพื่อให้ได้ตัวอักษรที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยคุณภาพไฟล์ดีใกล้เคียงกับการอ่านจากกระดาษ  ไม่ต้องเพ่งสายตามาก 

เปรียบเทียบขนาดไฟล์เอกสารหน้าเดียวกันบน Boox Note 2 กับ บนกระดาษขนาด A4

ทดสอบอ่านจากการนั่งเก้าอี้ ถือเอกสาร (หรือเครื่อง) อยู่ในระดับใกล้เคียงสายตาที่สุดเท่าที่จะทำได้ (พยายามไม่ก้ม จะได้อ่านได้นาน) พบว่าขนาดตัวอักษรบนจอ Boox Note 2 เล็กกว่าขนาดตัวอักษรบนกระดาษ A4 ไม่มากนักอยู่ในระดับที่สามารถอ่านได้โดยไม่ต้องเพ่ง (ถ้าเป็นหนังสือสั่งการตัวจะเล็กกว่าราชกิจจานุเบกษา) ข้อดีเหนือกว่าการอ่านจากกระดาษคือ กระดาษจะเป็นสีขาวสว่าง อ่านนานๆ แล้วปวดตา แต่บนเครื่อง Boox คือ ออกนวลเหลืองน้อยๆ (ส่วนหนึ่งเราเปิดไฟจอผสมกันโทนสีอุ่นกับเย็น) รู้สึกสบายตากว่ามาก 

เปรียบเทียบการอ่านเอกสาร pdf ระหว่าง Boox Note 2 กับ Ipad mini 5

ส่วนการทำงานกับแอพ onedrive พบว่าทำงานเข้ากันได้เป็นอย่างดี เปิดอ่านเอกสารได้ค่อนข้างคล่องตัวเลย การเปิดอ่านจากตัวแอพ onedrive เอง เนื่องจากต้องเลื่อนลง จะปรากฏอาการหน่วงน่ารำคาญมากกว่า (ซึ่งปกติบน ipad เราก็ไม่ชอบ) เราจะใช้การเปิดอ่านเอกสารแบบแตะขอบเปลี่ยนหน้า ซึ่งใช้การเปิดอ่านบนแอพอื่นจะคล่องกว่า ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องโหลดไฟล์ลงเครื่องก่อน ซึ่งตรงนี้ใช้แอพ xodo เปิดจะทำได้ แต่ถ้าจะอ่านด้วย Neo Reader ของเครื่องเอง จะต้องโหลดไฟล์มาลงเครื่อง จึงใช้ xodo ดีกว่า แต่จะมีข้อเสียคือ xodo ไม่ได้ทำแอพมารองรับการแสดงผลบนจอ e-ink  พวกเมนูปรับแต่งหน้าต่างๆ จะมองไม่เห็น อันนี้เรากะๆ เอาเปิดเทียบกับเวอร์ชั่น ios ก็พอใช้งานได้

การเปิดแอพอื่นๆ มีจังหวะหน่วงเล็กน้อยตามประสาจอ e-ink แต่ไม่ช้าจนหงุดหงิดแบบ Boox Kepler Lite ซึ่งน่าจะเป็นผลจาก cpu ที่เป็น Octa-core 2.0 GHz กับ แรม 4 gb 

การบริโภคแบต ตัวนี้แบตมีความจุ 4300 mAh ถึงจอจะใหญ่ แต่แบตค่อนข้างอึด ส่วนหนึ่งคิดว่าเนื่องจากความจุเครื่องเป็น emmc ซึ่งเปิดอ่านไว ประหยัดพลังงาน แล้วไม่สามารถเพิ่มการ์ดความจุได้แล้ว (ในตัว Kepler เพิ่มการ์ดได้ ซึ่งจากการทดสอบมีปัญหาว่ากินแบตมากกว่าไม่ใส่การ์ด) ระบบทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การบริโภคแบตก็ลดลง ตอนนี้เรายังไม่ได้ทดสอบแบต แต่รู้สึกว่าค่อนข้างอึด เราเคยอ่านติดต่อกันประมาณ 10 ชม. เปิดไฟหน้าจอตลอด แบตลดไปประมาณเกือบครึ่งนึง พอเครื่องเป็นพอร์ต usb-c ทำให้ชาร์จได้ไวมากๆ (แต่ไม่รองรับ fast charge นะ) มันทำให้การอ่านนานๆ ไม่สะดุดเลย

การแสดงผลของรุ่นนี้มีจุดเด่นคือปรับแต่งได้ 4 แบบ คือ 
- Normal Mode
- Speed Mode
- A2 Mode
- X Mode
ละเอียดที่สุดคือ Normal Mode หยาบที่สุดคือ X Mode ยิ่งหยาบเงาที่ตกค้างบนหน้าจอจะยิ่งเยอะ แต่ก็จะแสดงผลไม่ค่อยหน่วง ปกติเราจะใช้ Speed Mode มากที่สุด ตัวหนังสือยังคมชัด แต่ไม่หน่วงเกินไป ซึ่งตอนใช้ Boox Kepler Lite จะมีให้เลือกแค่ Normal กับ A2 เท่านั้น ซึ่งการเลือกการแสดงผลมีผลต่อการกินแบตด้วยเช่นกัน


นอกจากนี้ก็เป็นการทดสอบแอพท่องเน็ตตัวอื่นๆ สามารถใช้ Chrome ได้ เปิดเน็ต โหลดไฟล์ได้ไม่ช้าจนหงุดหงิด เปิดแอพ pantip, pocket, readawrite, ธัญวลัย ก็โอเค อ่านได้ไม่เลวเลย 

ที่ไม่แนะนำคือ facebook ถึงเราจะลงตัว lite แต่มองว่าก็ยังบริโภคแรมเยอะไป ทำให้เครื่องหน่วงโดยไม่จำเป็น สรุปคือไปใช้บน ipad ดีกว่า 

เกือบลืมในส่วนของการอ่านการ์ตูน เราทดสอบให้ดูการอ่านทั้งไฟล์ในเครื่อง (รูปภาพ) กับการอ่านจากแอพอย่าง meb ตอนเราใช้ Boox Kepler Lite จะมีปัญหากับการอ่านการ์ตูนใน meb เพราะเป็นไฟล์ pdf สถานเดียว ไม่ใช่นิยายที่มีไฟล์ epub ซึ่งเพิ่มขนาดตัวอักษรได้ แล้วตัวแอพ meb จะมีปัญหาอยู่อย่างนึงคือ ไม่สามารถ crop ข้างกระดาษออก เพื่อให้ตัวอักษรใหญ่ขึ้น เลยค่อนข้างเป็นปัญหา พอมาอ่านบนจอขนาด 10.3 นิ้วคือ ไม่ต้องสนใจขอบกระดาษาอะไรแล้ว ใหญ่สะใจ ไม่ต้องเพ่งเลย อันนี้คือดีมาก (เราอ่านบน ipad mini ยังไม่ฟินเท่านี้เลย)

อ่านการ์ตูนที่เป็นไฟล์รูปภาพ ทำได้ดี

อ่านการ์ตูนในแอพ meb นี่ คำว่าฟินยังน้อยไป

รุ่นนี้สามารถสแกนลายนิ้วมือได้ด้วย การใช้งานคือเอาไว้ล็อคจอ ล็อคแอพ ใช้งานคล้ายกับบน ipad  อ่านลายนิ้วมือค่อนข้างแม่น แต่ช้ากว่าบน ipad ในระดับที่รับได้

น้ำหนักเครื่องเปล่าอยู่ที่ 378 กรัม ใส่เคสแล้ว ก็คงไม่เกิน 400 กรัม (มั้ง) สรุปคือเราพกใส่กระเป๋ามาทำงานได้พร้อมกันกับ ipad mini ข้อเสียของเคสที่แถมมา (และยังหาเคสอื่นแทนไม่ได้) คือไม่สามารถพักปกเพื่อตั้งอ่านได้ ไม่ค่อยสะดวกสำหรับเราเท่าไหร่ ต้องปรับตัวกับท่านั่ง (นอน) ในการใช้งาน 

ส่วนการจดบันทึก ยังไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ แต่จากการทดสอบ แอพโน้ต ที่มากับเครื่อง ไม่สามารถเอาเข้าไฟล์ pdf ได้ ได้แต่รูป ส่วนการ export เลือกได้ว่าจะเป็นรูปหรือ pdf ส่วนการเปิดอ่าน pdf ด้วย neo reader สามารถจดโน้ตลงไปบนไฟล์ได้เลย แต่การส่งออกจะได้เฉพาะไฟล์ pdf เท่านั้น ซึ่งตอนนี้เราใช้วิธีเปิดไฟล์ pdf แล้วแคปเจอร์หน้าจอเป็นรูป เอาไปเปิดด้วยแอพโน้ต แล้วส่งออกไปอีกที (ส่วนใหญ่การใช้งานเราเป็นแบบนี้อยู่แล้ว) ซึ่งแน่นอนว่า การจดโน้ตต่างๆ ยังสู้บน ipad ไม่ได้ 

สรุปเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างแพงไปมากสำหรับการอ่านเอกสารของเรา แต่เรายอมจ่าย ผลจากการใช้งานมาประมาณ 2 อาทิตย์ รู้สึกตาไม่ค่อยล้า ไม่มีอาการแสบตา น้ำตาไหลแล้ว อาจจะไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่เพราะต้องพก 2 เครื่อง แต่เราเลือกแยกการใช้งานกัน คือใช้เน็ตตามปกติเราก็ใช้ ipad mini ไป แต่เมื่อไหร่ที่เราจะต้องอ่านเอกสารนานๆ ไม่ใช่อ่านแป๊บๆ นี่เราจะทำบน Boox note 2 เท่านั้น พบว่าค่อนข้างลงตัว ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน (แน่นอนว่า ถ้าออกไปทำงานนอกสถานที่ พวกตรวจงาน เราพกไปแค่ ipad mini อยู่แล้ว) ตอนนี้เราเลยใช้ ipad 2018 น้อยลงมาก แต่คิดว่าก็คงยังได้ใช้อยู่ เพราะถ้าจะดูหนังดูซีรี่ย์ เราเลือกใช้ ipad 2018 จะเหมาะกว่า

กว่าจะซื้อได้คือใช้เวลานานมาก เพราะจริงๆ ดูมาตั้งแต่ประมาณเกือบ 2 ปีก่อน ซึ่งไม่ค่อยมีคนรีวิวหน้าจอขนาดนี้ด้วย คิดว่าส่วนใหญ่คงเลือก Nova กัน สมัยเราซื้อ Kepler Lite คือตอนนั้นยังไม่มีขนาดจอประมาณ 7 นิ้วกว่าๆ เลย มาออกทีหลังจำได้ว่าเจ็บใจมาก 

การเลือกซื้อเครื่อง e-reader สำหรับการเลือกขนาดหน้าจอ คงต้องดูการใช้งานว่าเราใช้งานอะไรเป็นหลัก ถ้าอ่าน pdf กับ การ์ตูน เลือกหน้าจอ 7-8 นิ้วขึ้นไปคือดีที่สุด ถ้าอ่านแต่นิยาย epub จอประมาณ 6 นิ้วก็เพียงพอ ซึ่งขนาดของหน้าจอนี่แหละที่เป็นตัวกำหนดงบประมาณ เราคิดว่าไม่ควรเลือก e-reader จากงบประมาณเลย เพราะการใช้ e-reader ต้องเป็นคนที่มีความต้องการพิเศษกว่าปกติ เป็นการยากมากที่คุณจะมี e-reader ก่อน tablet ตัวอื่นๆ หวังว่ารีวิวนี้จะช่วยให้คุณมีข้อมูลสำหรับตัดสินใจซื้อหา e-reader นะคะ ว่าเหมาะกับคุณหรือไม่ หรือควรเลือกตัวไหน

ปล. ในเครื่องแถมฟิล์มกันรอย แต่ติดยากมากค่ะ ติดแล้วฟองอากาศเพียบเราลอกทิ้งไปแล้ว จนท.ของ hytext บอกอาจจะติดยากเพราะจอรุ่นนี้เป็นแบบด้านก็ได้

ปล.2 ปากกาใช้เหน็บกับห่วงตรงปกเคสเป็นการออกแบบที่ห่วยมาก แม้จะใช้สายคล้องปากกาแล้วก็ตาม

ปล.3 เชื่อมต่อคีย์บอร์ดบลูทูธได้ แต่เปลี่ยนภาษาไทยไม่ได้ (เป็นเฉพาะคีย์บอร์ดแยก ในเครื่องเปลี่ยนภาษาได้ปกติ) คือความสามารถขาดๆเกินๆ มากเฟิร์มแวร์ควรจะดีกว่านี้ นี่ดีนะว่ามี navigation ball ตั้งค่าเมนูลัดเองได้ เลยสะดวกขึ้นมาก

ปล.4 ไปทดลองหาแอดทดแทน facebook มาค่ะ พบว่าแอพ swipe นี่เบา ไม่หน่วง ใช้งาน facebook ได้ดีเลย
ชื่อสินค้า:   Boox Note 2
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่