💚มาลาริน/อิ่มอกอิ่มใจ มีคนมองเห็น...อ.วีระแนะรบ.แจกคนละหมื่น“ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” 8 ล้านคน ช่วยวิกฤตโควิด-19

อ.วีระ” แนะรัฐบาลแจกคนละหมื่น “ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” 8 ล้านคน ช่วยเหลือวิกฤตโควิด-19



นักจัดรายการชื่อดัง เสนอแจกเงินคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วยเหลือวิกฤตโควิด-19 ชี้รับผิดชอบเสียภาษีให้รัฐตั้ง 3 แสนล้าน แต่เจอวิกฤตเศรษฐกิจไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ เลย แนะคนที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 750,000 บาทต่อปีราว 8 ล้านคน ให้คนละ 1 หมื่นบาท ใช้งบประมาณแค่ 8 หมื่นล้านเท่านั้น

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. นายวีระ ธีรภัทร นักจัดรายการชื่อดัง กล่าวในรายการ “ฟังหูไว้หู” ทางสถานีโทรทัศน์เอ็มคอต เอชดี หมายเลข 30 ระบุถึงมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่พบว่ายังเข้าไม่ถึงผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (TAX) เช่น ชนชั้นกลาง ทั้งที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ระบุว่าผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับผลกระทบเต็มๆ เพียงแต่ว่ารัฐบาลไม่พิจารณาเลย ทั้งที่ประเทศอื่นให้ความสนใจและให้ความช่วยเหลือเป็นลำดับต้นๆ เพราะถือว่าคนที่ตกงานก็มีประกันสังคมดูแล ผู้ประกอบการก็มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือผ่อนปรนเรื่องเงินกู้เสริมสภาพคล่อง 

แต่การช่วยเหลือที่เป็นเนื้อเป็นหนังมีอยู่สองวิธี คือ ประเทศที่มีงบประมาณเยอะแจกทุกคน เช่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากร 7 ล้านคน ก็จะแจกเงินทุกคน คนละ 10,000 เหรียญฮ่องกง เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้าไม่แจกทั้งหมดก็จะช่วยเหลือคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น

สหรัฐอเมริกาให้คนละ 1,200 เหรียญสหรัฐ ถ้ามีบุตรให้เพิ่มอีก 500-600 เหรียญสหรัฐ แต่ก็มีเพดานว่ารายได้แค่ไหนถึงจะช่วย ไม่ว่าจะเยอะหรือน้อยก็ไม่สำคัญ แต่คนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีส่วนสนับสนุนสังคมมาตลอด แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทุกรอบ ไม่เคยมีความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา

“คนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ไม่ได้รับการยกเว้น ส่วนใหญ่เป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบมัดมือชก มีจำนวนประมาณ 11 ล้านคน จ่ายเงินให้รัฐบาล 2-3 แสนล้านบาทในแต่ละปี จ่ายแบบนี้ทุกปี” นายวีระกล่าว

นายวีระกล่าวว่า หลายอาชีพได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ เช่น เกษตรกร ทำให้มีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อย และไม่ใช่ว่าทุกคนที่ไปยื่นแบบฯ จะต้องเสียภาษี เพราะเกณฑ์รายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว และมีการยกเว้นรายได้ของช่วงภาษีบางช่วง ก็ไม่ต้องเสียภาษีแต่ก็ต้องยื่น และในอนาคตเมื่อมีรายได้มากขึ้นก็เข้าเกณฑ์จะต้องเสียภาษีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ รัฐบาลช่วยคนกลุ่มต่างๆ ราว 4-5 แสนล้านบาท เช่น ลงทะเบียนเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน ประมาณ 3 แสนล้านบาท ถ้ารวมชดเชยรายได้เกษตรกร รวมกันก็ราว 5 แสนล้านบาท 

“คนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่มี มีมาตรการเดียว ซึ่งมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย คือ ขยายระยะเวลาในการยื่นแบบรายการแสดงการเสียภาษีเงินได้ ปีภาษี 2562 จากเดิมที่จะต้องยื่นภายในวันที่ 31 มี.ค. ให้ยืดไปเป็นวันที่ 31 ส.ค. 2563 แค่นั้นเอง แม้จะมีมาตรการภาษีแต่มันไม่เกี่ยวกับบุคคลธรรมดาเลย ดูความซื่อสัตย์ สุจริต เอาใจใส่ รับผิดชอบของคนเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขนาดเขาให้ขยายเวลาก็มีผู้ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วทั้งหมด 6,623,833 ราย เกินครึ่งของจำนวนผู้เสียภาษีแล้ว” นายวีระกล่าว

เขาอธิบายว่า คนที่ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสองพวก คือ พวกที่ไม่ต้องเสียภาษีแต่ต้องยื่น อาจจะมีคนจัดการให้ อีกพวกหนึ่งคือไปยื่นเพราะจะได้คืนภาษี ส่วนใหญ่ยื่นทางอินเทอร์เน็ต แต่ที่เหลืออีกประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งได้รับการผ่อนผันให้ยืดเวลาออกไป ก็อาจจะมีบางส่วนที่ยังรวบรวมเอกสารไม่เสร็จ หรือบางส่วนที่อาจจะต้องเสียภาษี ให้เวลาหายใจไปจนถึงเดือน ส.ค. หาเงินไปก่อนแล้วก็ไปจ่ายภาษี 

“ขณะที่คนอื่นเขาได้เงินกัน ไอ้นี่ต้องไปสาละวนหาเงินไปเสียให้กรมสรรพากร มันก็ขมสิ ทั้งหาเอกสารด้วย ทั้งหาเงินด้วย เขาอาจจะบอกว่า เฮ้ย คุณมีรายได้ คุณไม่ได้เดือดร้อน ใครจะไปรู้ล่ะ คนที่ทำงานตอนนี้ที่มีรายได้ ก็รายได้ลดลง ไม่ใช่ว่าไม่กระทบนะ กระทบ แต่ว่าในเมื่อราชการ ทางกรมสรรพากร ทางกระทรวงการคลัง ทางรัฐบาล ไหนบอกว่าจะไม่ทิ้งไว้ข้างหลังไง ไอ้นี่ทิ้งไว้โน่นเลย ทิ้งไว้ที่หมอชิต ทิ้งไว้ที่หัวลำโพง รถไฟไปเชียงใหม่แล้ว รถยนต์ไปถึงเชียงรายแล้ว อยู่ที่หัวลำโพง อยู่ที่หมอชิต ยังไม่ได้ออกเลย เคยคิดจะทำบ้างไหม ไม่เคยคิด” นายวีระกล่าว

นายวีระกล่าวว่า คนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก่อนหน้านี้มีทั้งหมด 10 กว่าล้านคน คนที่ได้รับการยกเว้น 6.3 ล้านคน คือรายได้พึงประเมินไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี หลังหักจากค่าลดหย่อนแล้วไม่ต้องเสียภาษี หลังจากนั้นคนที่มีรายได้พึงประเมินตั้งแต่ 150,000-300,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษี 5% มี 2 ล้านคน, คนที่มีรายได้พึงประเมินตั้งแต่ 300,000-500,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษี 10% มีเกือบ 1 ล้านคน, คนที่มีรายได้พึงประเมินตั้งแต่ 500,000-750,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษี 15% มี 5 แสนคน, คนที่มีรายได้พึงประเมินตั้งแต่ 750,000-1,000,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษี 20% มีประมาณ 2 แสนคน, คนที่มีรายได้พึงประเมินตั้งแต่ 1,000,000-2,000,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษี 25% มีประมาณ 2 แสนคน และคนที่มีรายได้พึงประเมินตั้งแต่ 2,000,000 ถึงเกิน 5,000,000 บาทขึ้นไปต่อปี จะต้องเสียภาษี 30-35% มีประมาณ 8 หมื่นคน 

“คุณไม่ช่วยทั้งหมด ผมก็ไม่ว่าอะไร ผมเอาอย่างนี้ ผมคิดว่าคนที่เขาเดือดร้อน รายได้เขาก็ไม่พอกินอยู่แล้ว ถึงจะไม่เสียภาษี 6.3 ล้านคน ที่ยกเว้นเพราะรายได้ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปีหลังหักจากค่าใช้จ่าย ถามว่าคนพวกนี้เดือดร้อนไหม เดือดร้อน

เอาล่ะ คนที่ขึ้นมาจากนั้น คือ รายได้พึงประเมิน 150,000 บาทขึ้นไป ประมาณ 2 ล้านคน และรายได้พึงประเมิน 300,000-500,000 บาทต่อปี เงินเดือนประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน ประมาณ 1 ล้านคน และเงินได้พึงประเมิน 500,000-750,000 บาท ประมาณ 5 แสนคน เอาแค่นี้ก็พอ เอารายได้พึงประเมินตั้งแต่ 0 บาท จนถึง 750,000 บาท ประมาณ 9 ล้านคน คุณอาจจะแบ่งช่วยก็ได้ 6 ล้านคนเดือดร้อนแหงๆ ถึงแม้ว่าจะไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ต้องให้เงินเขาสิ ให้ไม่เท่ากันก็ได้ แล้วแต่จะกรุณา เอาเป็นว่ามีตัวเลขประมาณ 8 ล้านคน ให้คนละ 10,000 บาท ก็ใช้เงินแค่ 8 หมื่นล้านบาท” นายวีระกล่าว

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000039030

ฟังอาจารย์วีระพูดแล้วก็ปลื้มใจ อิ่มอกอิ่มใจค่ะ

ดีใจที่มีคนเห็นความสำคัญของคนเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา

ที่ทำงานปิดทองหลังพระ เสียภาษี หัก ณ ที่จ่ายทุกเดือนทุกบาททุกสตางค์ไม่มีตกหล่น

ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลเยียวยาอะไรค่ะ 

แต่ปลื้มมมม...ที่อาจารย์มองเห็นคนกลุ่มนี้  😃

กลางวันนี้คงไม่หิวข้าวเพราะอิ่มใจอิ่มไปถึงท้องเลยค่ะ...😄

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่