ทำงานลำบากเพราะมือเปียก 😥 จากภาวะเหงื่อออกมากที่มือ (Palmar hyperhidrosis)



ภาวะเหงื่อออกมากที่มือ (Palmar hyperhidrosis) 
พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากเหงื่อออกที่รักแร้
ถึงแม้ว่าจะเจอน้อยกว่า แต่สร้างปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันจากมือที่เปียก 
ทั้งการทำงานและความสัมพันธ์กับคู่รัก

อาการ 💦
1. เหงื่อออกชัดเจน เช่น เปียกมือ
2. มีอาการชัดเจนอย่างน้อย สัปดาห์ละครั้ง ต่อเนื่อง 6 เดือน
3. ไม่มีสาเหตุอื่น เช่น ไทรอยด์ (Hyperthyroidism)
4. เป็นทั้ง 2 มือ 
5. ไม่มีเหงื่อออกเวลานอนหลับ 
6. มักพบว่าเริ่มมีอาการ เมื่ออายุน้อยกว่า 25 ปี และอาจมีประวัติครอบครัวด้วย

วิธีการรักษา ได้แก่ 

1. ทายาลดเหงื่อ (Antiperspirants) 
มักจะใช้ได้ผลกับเคสที่อาการน้อย

2. ฉีดโบท็อก ที่ฝ่ามือ ช่วยลดเหงื่อได้ 
ผ่านกลไกที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทที่ทำให้เหงื่อออก 
ข้อเสียข้อวิธีนี้คือ เจ็บ (ฝ่ามือมีเส้นประสาทมาก) แต่สามารถใช้ยาชาช่วยลดอาการเจ็บลงได้ 
และในช่วงแรกหลังจากรักษาอาจจะมีอาการกล้ามเนื้อมืออ่อนแรงได้ชั่วคราว 
โดยกล้ามเนื้อจะค่อยๆมีแรงเหมือนเดิม ผลการรักษาอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน

3. การใช้ไอออนโตเฟอเรซิส (Iontophoresis) 
วางมือลงในถาดที่มีน้ำ (tap water) และกระแสไฟฟ้าแบบต่ำๆ (low voltage) 
ซึ่งการแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้า จะช่วยลดการหลั่งเหงื่อได้ 
แต่ข้อจำกัดของวิธีนี้ คือ ต้องทำบ่อย อย่างน้อย 4 ครั้งต่อสัปดาห์ 
และใช้เวลา 30-40 นาทีต่อครั้ง

4. กินยาที่ออกยับยั้งระบบประสาทโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic drug) 
ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะผลข้างเคียงมาก ต้องใช้อย่างระมัดระวังโดยมีแพทย์แนะนำใกล้ชิด 
มักเลือกใช้กับเคสมี่เหงื่อออกมากหลายๆตำแหน่ง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น (Generalized hyperhidrosis or treatment-resistant cases)

5. การผ่าตัดส่องกล้อง (videothoracoscopic thoracic sympathectomy T2-T3) 
เหมาะกับเคสที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นๆ เช่นกัน

สรุป 
การรักษาคล้ายกับเหงื่อที่รักแร้ แต่มีข้อแตกต่าง บางอย่าง 
- มีการใช้ไอออนโตเฟอเรซิส (Iontophoresis) แต่ยังมีข้อจำกัดว่าไม่ค่อยแพร่หลาย และต้องทำบ่อย 
- การทายาไม่ค่อยได้ผลสำหรับเหงื่อที่มือ
- โบท็อกใช้ได้ผลปานกลาง (ยังไม่ดีเท่ารักแร้)

พญ.มานิตา อัตถสุริยานันท์ (หมอยุ้ย)
แพทย์เฉพาะทางผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง
เพจ   Dr.Yui คุยทุกเรื่องผิว 

Reference
1. Romero FR, Haddad GR, Miot HA, Cataneo DC. Palmar hyperhidrosis: clinical, pathophysiological, diagnostic and therapeutic aspects. An Bras Dermatol. 2016;91(6):716-25.
2. The etiology, diagnosis, and management of hyperhidrosis: A comprehensive review. JAAD sep 2019.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่