เปิดเผยวิธีการได้ 2 สัญชาติ ไทย-มาเลเซีย

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหลายข่าวพูดถึงกฎหมาย 2 สัญชาติระหว่างไทยกับมาเลเซีย เนื่องจากถูกมองว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่สงบ
ทำให้ผมงงอยู่หลายครั้ง ว่าทำไมคนในแถวชายแดนใต้ จึงมีสัญชาติมาเลเซียด้วยได้  เพราะว่า รัฐธรรมนูญของมาเลเซียนั้น ไม่ได้ยอมรับสัญชาติที่ 2
แต่เหตุผลใดที่ทำให้ ชาวมลายูในชายแดนใต้ มี 2 สัญชาติได้ ด้วยความสงสัย จึงเข้าไปค้นคว้าข้อมูลมาช่วงหนึ่งแล้วประกอบความเข้าใจของตัวเอง
กฎหมายสัญชาติของมาเลเซียระบุไว้ว่า บุคคลที่จะได้รับสัญชาติมาเลเซีย แบ่ง 2 เป็นกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มคนที่เกิดก่อนวันชาติ หรือ 16 กันยายน 1963
อีกกลุ่มก็คือ กลุ่มคนที่เกิดหลังวันชาติ นับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 1963 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือนับย้อนไปถึง 56 - 57 ปีก่อน จนถึงเวลาตอนนี้  

เงื่อนไขของผู้ที่ได้สัญชาติในกรณีก่อนวันชาติคือ

1.เป็นพลเมืองมาตั้งแต่ยุคสหพันธรัฐมาลายาก่อนหน้านี้แล้ว คือช่วงประมาณหลังปี 1948
2.เป็นผู้ที่เกิดในมาเลเซียในวันเอกราชหรือหลังจากนั้นหรือก่อนเดือนตุลาคม 1962
3.เป็นผู้ที่เกิดในมาเลเซียหลังเดือนกันยายน 1962 โดยที่บุพการีคนใดคนหนึ่ง มีสัญชาติมาเลเซียอยู่หรือไม่เกี่ยวพันกับสัญชาติใด
4.เป็นผู้ที่เกิดนอกมาเลเซียในวันหรือหลังวันเอกราช โดยที่บิดาเป็นพลเมืองของมาเลเซียมาตั้งแต่เกิดหรือเกิดในมาเลเซียหรือมีการรับรองการเกิดโดยรัฐบาลมาเลเซียหรือรัฐบาลของรัฐ
5.เป็นผู้ที่เกิดนอกมาเลเซียในวันหรือหลังวันเอกราช โดยที่บิดาได้รับสัญชาติหลังจากเกิดภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี หรือนานกว่านั้นเท่าที่รัฐบาลจะอนุญาต โดยมีการรับรองโดยกงสุลมาเลเซียในประเทศนั้นๆ (เป็นบิดาที่เกิดในแบบที่ 4) หรือหากเกิดในสิงคโปร์ บรูไน บอร์เนียวเหนือ หรือซาราวะก์ จะต้องได้รับรองโดยรัฐบาลสหพันธ์

ส่วนกรณีที่เกิดหลังวันชาติก็คือ

1.เป็นผู้ที่เกิดในมาเลเซีย โดยที่บุพการีคนใดคนหนึ่งได้รับสัญชาติมาเลเซียตั้งแต่เกิด
2.เป็นผู้ที่เกิดนอกมาเลเซีย โดยที่บิดาเกิดในมาเลเซียและได้รับสัญชาติมาเลเซียมาตั้งแต่เกิดหรือตั้งแต่ได้รับการจดทะเบียนจากรัฐบาลสหพันธ์หรือรัฐบาลของรัฐ
3.เป็นผู้ที่เกิดนอกมาเลเซีย โดยที่บิดาได้รับสัญชาติหลังจากเกิดภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี หรือนานกว่านั้นเท่าที่รัฐบาลจะอนุญาต โดยมีการรับรองโดยกงสุลมาเลเซียในประเทศนั้นๆ (เป็นบิดาที่เกิดในแบบที่ 2) หรือหากเกิดในบรูไนหรือดินแดนที่ถูกกำหนดไว้ จะต้องได้รับการรับรองโดยยังดีประตวนอากง และรัฐบาลสหพันธ์
4.เป็นผู้ที่เกิดในประเทศสิงคโปร์และมีบุพการีคนใดคนหนึ่งถือสัญชาติมาเลเซียและไม่ได้มีสัญชาติอื่นใดที่ไม่ได้ถูกระบุไว้
5.เป็นผู้ที่เกิดในมาเลเซีย โดยที่ไม่ได้มีสัญชาติประเทศอื่นใดตามที่ระบุไว้

ดังนั้น กรณีใดที่สามารถทำให้คนในชายแดนใต้ สามารถข้ามฝั่งหรือถึงขั้นไปเรียน ไปทำงาน หรือมีสิทธิ์เท่ากับพลเมืองมาเลเซียได้ จึงอาจจะเป็นตามนี้:

1.พ่อแม่เป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย แล้วเข้ามาคลอดลูกในประเทศมาเลเซีย จึงได้รับสัญชาติมาเลเซีย แล้วกลับไปแจ้งเกิดรับสัญชาติไทยที่ไทย เนื่องจากกฎหมายไทยรองรับ 2 สัญชาติได้ 
2.พ่อหรือแม่หรือทั้ง 2 คนเป็นคนมาเลเซีย มาแต่งงานกับแม่ที่อยู่ในประเทศไทย แล้วมาอยู่มาเลเซียด้วยกัน เมื่อคลอดบุตรมา บุตรจึงได้รับสัญชาติมาเลเซีย แล้วจึงไปแจ้งเกิดรับสัญชาติไทยอีกทีหนึ่ง
3.แบบเดียวกับข้อ 2 แต่พ่อแม่ยังอยู่ในไทย เมื่อลูกคลอด จึงได้รับสัญชาติมาเลเซียโดยอัตโนมัติ แล้วไปแจ้งเกิดรับสัญชาติไทย
4.วิธีการอื่นๆ ที่อาจจะพอหาช่องโหว่ของกฎหมายระหว่าง 2 ประเทศได้

บอกก่อนว่า เนื่องจากกฎหมายมาเลเซีย ไม่เคยรองรับสัญชาติที่ 2 ดังนั้น การแจ้งเกิดในทั้ง 2 ประเทศ อาจจะมีส่วนใดหนึ่งที่ปกปิดไว้กับอีกประเทศ
เช่นพ่อแม่แบบข้อที่ 1 คลอดลูกในมาเลเซีย จดทะเบียนในฐานะตามข้อ 5 แล้วกลับไปที่ไทยและแจ้งเกิดในฐานะที่พ่อแม่มีสัญชาติไทยแต่เกิดต่างแดน
โดยหน่วยงานของมาเลเซียจะเข้าใจว่าบุตรที่เกิดมานั้นมีแค่สัญชาติมาเลเซียเท่านั้น ส่วนไทยนั้น จะปกปิดหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์จะบังคับไป
กฎหมายของมาเลเซีย ระบุไว้ว่า ถ้าพบเห็นการมี 2 สัญชาติ ก็จะถูกถอนสัญชาติมาเลเซียทันที หรืออาจจะมีการดำเนินคดีด้วยหากมีความเสียหายหนัก
การถือบัตรประชาชนของ 2 สัญชาติ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกปิดและผิดกฎหมายของมาเลเซีย ส่วนในไทย ไม่ค่อยมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะไม่ได้ห้ามไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่บอก ใครจะรู้ ประโยชน์ของการถือสัญชาติมาเลเซียคือ การได้รับสิทธิ์พิเศษอย่างที่คนมาเลเซียควรจะได้ อาจจะมีสิทธิภูมิบุตรด้วย
เช่น การเรียน การรับการรักษา และอีกหลายๆ อย่าง ด้วยความที่ชายแดนใต้และรัฐกลันตันซึ่งอยู่ติดกับชายแดน มีควาผูกพันกันอย่างมิตรญาติสหายเก่า
ทำให้การข้ามไปมาหาสู่ ไม่ต่างอะไรกับการข้ามจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดเท่านั้นเลยด้วยซ้ำ ยิ่งมีการถือ 2 สัญชาติด้วยแล้ว ทุกอย่างก็ยิ่งดูง่ายขึ้นมาก
ด้วยความเจริญของรัฐกลันตัน โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างโกตาบารู ไม่เพียงแต่อาจเข้ามาเรียนหรือมาทำธุระเฉพาะแล้ว ยังมีการย้ายถิ่นฐานไปด้วย
โกตาบารู มีความเจริญที่ใกล้เคียงกับหาดใหญ่ เอื้อด้วยศาสนาและภาษาการพูดเดียวกันกับตน ทำให้มีคนในชายแดนไม่น้อยที่เลือกจะย้ายถิ่นฐานเลย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่