บันทึกถึง “ทุ่งเสน่หา” ชีวิตที่โลดแล่นไปตามกิเลส กับความไม่แน่นอนที่ไม่อาจหลีกพ้น

ละครจบไปหลายวันแล้ว แต่มีหลายเรื่องที่อยากบันทึกไว้ (ช้าหน่อย จ.- อ. มัวติดดูเล่ห์บรรพกาล เอ๊ย... ต้องใช้เวลาตกตะกอนหลายวัน หยอกเย้า
ถ้าไม่มีใครอ่านแล้วก็ถือว่าเขียนเก็บไว้อ่านเอง แต่อาศัยพื้นที่กระทู้ตามเคย ฮ่าฮ่าฮ่า ฮ่าฮ่าฮ่า ฮ่าฮ่าฮ่า  
 
( ทีแรกว่าจะเขียนถึงตัวละครทีละตัว แต่คิดอีกที บางตัวละคร ถ้าให้เขียนตอนนี้คงมีเฉพาะประเด็นที่มีคนพูดๆ ไปบ้างแล้ว ไม่ขอซ้ำดีกว่า 
จะเขียนเฉพาะที่ทำให้เราได้เก็บไปคิดต่อและที่ค้างคาใจนะคะ ---แค่มิ่งขวัญคนเดียวนี่ก็คงโคตรยาวแล้ว เขียนหมดทุกตัวคงไม่มีใครอ่าน ^^’--- 
 …. แล้วจะเขียนถึงพวกฉากที่ชอบ หรืออื่นๆ แทน แต่ถ้าเขียนไปแล้วมีคนคุยด้วย หรืออยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตรงไหน เดี๋ยวค่อยมาคุยกันเพิ่มค่ะ) 
 
1.       มิ่งขวัญ
 
ด้วยความที่เราอ่านนิยายมาก่อนส่วนหนึ่ง --- 70-80 % --- ทีแรกว่าจะดูให้จบค่อยอ่าน แต่มันอดไม่ได้ เลยแอบอ่านช่วงต้น 
แอบเปิดบทท้ายๆ ไปหน่อยนึงก่อนดู แล้วพอละครฉายๆ ไป ก็แอบส่องตรงกลางๆ ไปอีกหน่อย .... รวมๆ ก็แทบไม่ต่างจากอ่านไปแล้วแหละ หยอกเย้า หยอกเย้า หยอกเย้า
แต่สรุปคือ ด้วยความที่ส่องนิยายมาก่อน รู้บทบาทของมิ่งขวัญพอสมควร เลยทำให้ตั้งใจจับตาดูตัวละครนี้เป็นพิเศษ

มิ่งขวัญในนิยายช่วงต้น คือตัวละครที่เขียนมาเหมือนให้เป็นตัวประกอบของเรื่องจริงๆ บางอย่างเหมือนแค่ไว้อาศัยสายตามิ่งขวัญเพื่อเล่าเรื่องของ
ยุพิณกับไพฑูรย์ เหมือนเป็นเครื่องมือหนึ่งของผู้เขียน ไม่ใช่เพราะเป็นตัวละครสำคัญจริงๆ จนพอกลางๆ (จนถึงท้ายเรื่อง) ก็ยังเหมือนจะสำคัญแต่ก็
เหมือนจะไม่สำคัญอยู่อย่างนั้น บางช่วงก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่าเรื่องเหมือนเดิม แต่ก็มีบางช่วงที่ผู้เขียนจะเล่าเรื่องส่วนของมิ่งขวัญชัดเจนขึ้นมา 

ในละคร สังเกตได้ว่า บทละครเพิ่มความสำคัญให้มิ่งขวัญขึ้นพอสมควร มีฉากกุ๊กกิ๊กกับยุพิณตอนทำแผล 
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
 ฉากแสดงอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจกระฟัดกระเฟียด เตะต้นกล้วยระบายอารมณ์ หรืออย่างน้อยก็หน้ามุ่ยหน้างอเวลาเห็น
ไพฑูรย์ยุพิณสวีทกัน ตอนวอแวให้ยุพิณถักปลอกหมอนให้ รวมถึงตอนที่ไปทวงในคืนก่อนบวช ฯลฯ พอทำให้เอะใจได้ไม่ยาก ว่าตัวละครนี้สำคัญ 

( แต่ก็ไม่ได้มั่นใจได้ 100% อยู่ดีว่านี่พระเอกแน่ๆ --- ตรงนี้เป็นความฉลาดในการวางตัวนักแสดงอย่างหนึ่ง ไพฑูรย์, ไพรวัลย์, มิ่งขวัญ 
นักแสดงมี position เป็นพระเอกสูสีกันทุกคน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร แม้แต่บทผู้หมวด/ผู้กองนิพัฒน์ที่เป็นนักแสดงใหม่ แต่ออร่าก็พอตัว 
ที่อาจทำให้ไขว้เขวได้เหมือนกันว่าหรือจะดันพระเอกใหม่? )

นอกจากนี้ก็คือลำดับการพัฒนาการของตัวละครมิ่งขวัญค่อนข้างมองเห็นได้ชัดกว่าตัวละครอื่น เพราะมีเส้นแบ่งสถานภาพที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา 
วัยเด็กหนุ่ม / เมื่อบวชเรียนครองเพศบรรพชิต / ตอนเป็นทหารเกณฑ์ / หลังปลดประจำการ 

โดยทั้งหมดนี้เส้นแบ่งสำคัญเส้นหนึ่งของมิ่งขวัญคือการบวช 
ในสมัยก่อนเขาจะมีคำเรียก “คนดิบ” และ “คนสุก”  คนดิบคือเมื่อเกิดมา เรียนรู้โลก แต่ยังไม่รู้ธรรม ตราบเมื่อได้บวชได้เรียน 
ให้พระธรรมเป็นเครื่องขัดเกลาย่างกิเลสทั้งรัก โลภ โกรธ หลง จนมันสุก มันอ่อนฤทธิ์ลงไป จึงกลายเป็นคนสุก สุขด้วยรสพระธรรม 
และความเข้าใจธรรมจะพาให้เข้าใจโลกมากขึ้นเมื่อสึกกลับมาใช้ชีวิตฆราวาส โบราณจึงเรียกคนที่บวชเรียนว่าทิด ที่มาจากคำว่า บัณฑิต 
หมายถึง ผู้ที่ศึกษาแล้ว   ....ซึ่งเราเห็นสิ่งเหล่านี้ชัดเจนในตัวมิ่งขวัญจริงๆ แล้วก็เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่อง

ในบรรดากิเลสทั้งหมด รักคือกิเลสที่ตัดได้ยากที่สุด ถ้าใช้ภาษานิยายหน่อยก็ต้องบอกว่าเป็นสายใยบางเบาแต่แน่นเหนียว 
ต่อให้รู้ทั้งรู้ก็ใช่ว่าจะตัดได้ง่ายๆ ... สำหรับทิดมิ่งขวัญก็เช่นเดียวกัน เมื่อตอนที่บวชอยู่ความรู้สึกเหล่านี้เหมือนต้นหญ้าที่ถูกหินทับไว้ 
ด้วยการอยู่ในสถานะที่ต้องสำรวม และการไม่ได้เห็นบ่อยๆ (ภาษาพระเรียก ไม่มีผัสสะมากระทบ) ทำให้ความรู้สึกรักของมิ่งขวัญ 
ดูเหมือนจะสงบลง กระทั่งแม้แต่ตอนที่รู้ว่ายุพิณถูกบังคับให้แต่งกับไพรวัลย์ มิ่งขวัญมีอาการหวั่นไหวน้อยมาก ไม่ใช่ไม่มี 
แต่บางเบาจนดูเหมือนคนตัดใจไปแล้วไม่พยายามยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว แต่พอโชคชะตายกหินที่ทับหญ้านั้นออก 
ด้วยการให้มิ่งขวัญติดทหารจนต้องสึก ต้นหญ้าความรักที่เหมือนหมดฤทธิ์ไปแล้วก็กลับงอกงามทันที ตั้งแต่วันแรกที่ดึงรูปยุพิณออกจาก
อัลบั้มภาพบ้านป้าสำเภา ตอนที่แปะรูปไว้ดูตอนร้องเพลงในงานแต่งไพฑูรย์ 

แต่แม้ว่าความรักของมิ่งขวัญจะกลับมางอกงามใหม่ แต่เมื่อครั้งนี้ก็ยังไม่พ้นรอยเดิมที่ต้องเห็นยุพิณมีคู่รักอยู่แล้ว แต่...(อีกแล้ว) 
สิ่งที่แตกต่างคือปฏิกิริยาของมิ่งขวัญ ที่มีการแสดงออกที่แตกต่างกับตอนที่เห็นยุพิณ-ไพฑูรย์ ตรงนี้อิฉันค่อนข้างชอบดีไซน์ของมิ่งขวัญในละคร 
ที่เห็นความแตกต่างของคนดิบ-คนสุกเมื่อพบความทุกข์ชัดเจน เด็กหนุ่มมิ่งขวัญ มีความเว้าวอนวอแวยุพิณในบางโอกาส (จนคนดูบางคนแอบไม่ชอบ
บอกว่าเหมือนพยายามตีท้ายครัวเพื่อน) มีความกระเง้ากระงอดกระฟัดกระเฟียด (ที่โคตรน่าเอ็นดู --- อันนี้ส่วนตัว ><) ตอนเห็นคู่รักสวีทกัน 
แต่พอเป็นทิดมิ่งขวัญ เราจะเห็นแค่อาการน้อยเนื้อต่ำใจอยู่บ้าง แต่ก็ดูมีความเข้าใจและร่วมยินดีมากกว่า ความสัมพันธ์กับยุพิณ แม้จะยังวนเวียนไปมาหาสู่
แต่ก็วางตัวแบบแค่เพื่อนจริงๆ จะมีการแสดงออกถึงความห่วงใยมากขึ้นหน่อยก็ช่วงที่รู้ว่าผู้กองมีศรีกัญญาเข้ามา  

...ตรงนี้ค่อนข้างต่างจากในนิยายที่มิ่งขวัญแสดงออกสองช่วงต่างกันไม่มากเท่านี้ แต่ไปมีบทบรรยายความรู้สึกนึกคิดที่ต่างกันแทน  
--- พอเปรียบเทียบกัน ตอนดูละครแรกๆ เราก็แอบไม่ชอบใจที่มิ่งขวัญ(ก่อนบวช)แสดงออกเยอะไปกว่าในนิยาย แต่พอดูมาถึงช่วงหลังถึงเข้าใจว่า
น่าจะเป็นความตั้งใจเล่าเรื่องของละครแหละ เพราะละครต้องเล่าด้วยการแสดงออกของตัวละคร ไม่เหมือนนิยายที่ตัวละครแสดงออกคล้ายๆ กัน
แต่ไปเล่าความรู้สึกในใจตัวละครว่าคิดอะไรอยู่ แต่ละช่วงคิดต่างกันยังไงในการกระทำที่ต่างกันไม่มากได้ ---

อีกตอนที่ชอบ และรู้สึกถึงความเป็น “คนสุก” ของมิ่งขวัญ คือตอนที่ยุพิณพยายามขอเช่าพระเพื่อเอาไปให้ผู้กองใส่ ตอนแรกมิ่งขวัญปฏิเสธ
เพราะสำหรับเขา พระเครื่องสามองค์นั้น ไม่ใช่ของมีราคา แต่คือของมีค่าทางจิตใจ คือสมบัติทั้งชีวิตของผู้ชายชื่อมิ่งขวัญ แต่สุดท้ายเขากลับ
ถอดพระทั้งหมดให้ยุพิณไปเปล่าๆ โดยไม่ได้รับเงินมาสักบาทเดียว (เล่นเอาในทวิตเตอร์ด่ากันขรมเลย ฮ่าฮ่าฮ่า) ตรงนี้ส่วนตัวเรากลับไม่ได้
รู้สึกว่ามิ่งขวัญซื่อ(จนบื้อ) หรือรักมาก(จนโง่)อย่างที่ใครๆ ว่า แต่กลับเห็นว่ามันคือบทที่แสดงความเข้าใจของมิ่งขวัญที่มีต่อยุพิณ
มิ่งขวัญไม่ได้แค่รักยุพิณอย่างเดียวแล้ว แต่มีความเข้าใจ เข้าถึงหัวใจถึงความรู้สึกถึงเหตุผลในการกระทำที่ดูเหมือนเห็นแก่ตัวของยุพิณ
เป็นการขยับสเต็ปของความรักขึ้นไปอีกขั้น 

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ตรงนี้ต่อเนื่องไปถึงซีนที่ยุพิณด่ามิ่งขวัญ ตอนที่ไปบอกข่าวเรื่องผู้กอง ตอนแรกที่ดูเราก็เคืองนะ (ในทวิตเดือดใหญ่ สงสารพี่มิ่ง กลัวพี่มิ่งเจ็บ) 
แต่กลับไปมองหน้าไปดูซ้ำ เราว่ามิ่งขวัญไม่ได้โกรธหรือเจ็บที่ยุพิณด่าเลยนะ มีแต่ความเข้าใจและเป็นห่วงจริงๆ 
ยิ่งชัดมากตอนที่ยุพิณเป็นลมทรุดลงไปแล้วมิ่งอุ้มขึ้นมา (---แทนที่จะเป็นพี่ชายเขาอุ้มป่ะ แหม่!! ฮ่าฮ่าฮ่า)

และอีกส่วนเรารู้สึกว่าฉากให้พระเป็นบททดสอบจิตใจของมิ่งขวัญ (ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องความรัก) เราเคยรู้อยู่แล้วว่าการให้ทาน คือการฝึกให้จิตใจ
รู้จักการสละออก โดยเริ่มจากการสละทรัพย์สินของนอกกายเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามีเหลือเฟือพอจะสละง่ายก่อน แต่ทานที่จะเป็นกุศลมาก วัดกันที่
การสละสิ่งที่ยากสละ สิ่งที่เรายึดติดมาก ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่รัก หรือความรู้สึกในใจในตัวตน มิ่งขวัญสละของที่ใจยึดถือว่าเป็นสมบัติชิ้นเดียว
ไม่ใช่เพื่อความรักด้วย เพราะถ้าให้เพราะบ้ารัก คงให้ตั้งแต่คำแรกที่ขอแล้ว และอีกอย่างถึงให้ไปก็ใช่ว่ายุพิณจะมารัก ตรงข้ามถ้าผู้กองปลอดภัย
กลับมา เขาได้แต่งงานกัน คือยิ่งหมดสิทธิ์ไปอีก...  แต่ที่มิ่งขวัญสละ ก็เพื่อคลายทุกข์ให้ยุพิณ คลายทุกข์ให้สัตว์ผู้ยากต่างหาก 
(โทษนะคะ.... นี่มิ่งขวัญ หรือพระโพธิสัตว์ มีบำเพ็ญบารมีไปทีละข้อด้วย ><)
 
สรุป  เมื่อดูทุ่งเสน่หาจนจบเรื่อง และพิจารณาย้อนกลับไป สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดจากละครเรื่องนี้ ก็คือชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ตัวละครกลุ่มหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นป้าสำเภา ป้าจำเรียง ยุพิณ ไพฑูรย์ ไพรวัลย์ จันทร จินดา แก้วใจ ฯลฯ ที่แต่ละคนต่างใช้ชีวิตโลดแล่นไปตามสถานการณ์ที่พบเจอ 
ตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ไปตามกิเลสที่เข้ามายั่วยวน หลอกล่อ กระทั่งบีบคั้น แต่มีตัวละครตัวหนึ่งที่ดูแตกต่างจนโดดเด่นออกมา ก็คือมิ่งขวัญ 

และสิ่งที่ทำให้เขาแตกต่าง ไม่ใช่เพราะไม่มีกิเลส ไม่งั้นคงกลับไปบวชเป็นพระอริยะไปแล้ว แต่เพราะถึงมิ่งขวัญจะยังเป็นคนธรรมดาใช้ชีวิต
ด้วยแรงขับเคลื่อนของกิเลสเหมือนอย่างคนอื่นๆ แต่เขามีธรรมะเป็นกรอบเป็นแนวทางที่ทำให้ตอบสนองต่อกิเลส ต่อผัสสะที่เข้ามากระทบ
เป็นไปด้วยความเข้าใจ จนแสดงออกมาเป็นความคิดการกระทำที่ต่างออกไปจากคนอื่นๆ นั่นเอง 

นี่คือสิ่งที่เราเห็นจากตัวละครมิ่งขวัญ (นอกเหนือจากความรักเดียวใจเดียว กับสีหน้าซื่อๆ เหงาๆ) ที่ทำให้ต้องเขียนถึงเป็นอันดับหนึ่ง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่